ข้ามไปเนื้อหา

ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท้าวศรีสุนทรนาฎ
(แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)
ไฟล์:Sri Suthornnat.jpg
เกิด5 มกราคม พ.ศ. 2396
พระตะบอง ประเทศสยาม
เสียชีวิต15 กันยายน พ.ศ. 2473 (77 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศสยาม
คู่สมรสเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
หม่อมอนุยันต์ศิริวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ยัน พนมวัน)
บุตรคุณหญิงพิพิธภัณฑ์พิจารณ์ (มณี โชติกเสถียร)
เล็ก บุนนาค
หม่อมหลวงต่อ พนมวัน
บิดามารดาพระสุพรรณพิศาล (กอง อภัยวงศ์) (บิดา)
ญาติเจ้าจอมมารดาเอี่ยมบุษบา (พี่สาว)
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (หลานสาว)

ท้าวศรีสุนทรนาฏ มีชื่อตัวว่า แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา (สกุลเดิม อภัยวงศ์; 5 มกราคม พ.ศ. 2396 — 15 กันยายน พ.ศ. 2473) บุตรีของพระสุพรรณพิศาล (กอง อภัยวงศ์) บุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน อภัยวงศ์) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบองคนแรก

อนึ่งท้าวศรีสุนทรนาฏเป็นน้องสาวของเจ้าจอมมารดาเอี่ยมบุษบา พระชายาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (ซึ่งเจ้าจอมมารดาเอี่ยมบุษบาเป็นทวดในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ)[1][2] ทั้งนี้ท้าวศรีสุนทรนาฏยังเป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6[3]

ประวัติ

ชีวิตช่วงต้น

ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) มีนามเดิมว่า แก้ว อภัยวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2396 ณ เมืองพระตะบอง เป็นบุตรีของพระสุพรรณพิศาล (กอง อภัยวงศ์) เมื่อท้าวศรีสุนทรนาฏมีอายุได้ 7 ขวบ ในปี พ.ศ. 2407[4] พระสุพรรณพิศาลผู้เป็นบิดาได้รับคำสั่งให้คุมไพร่พลไปรื้อปราสาทหินขนาดน้อยแห่งหนึ่งเพื่อขนเข้ามาก่อสร้างในกรุงเทพฯ เมื่อทำการครั้งนั้นพระสุพรรณพิศาลพาบุตรคนหนึ่งและท้าวศรีสุนทรนาฏไปด้วย แต่เกิดเหตุโจรเข้าปล้นฆ่าพระสุพรรณพิศาลและบุตรเสียชีวิต แต่ตัวท้าวศรีสุนทรนาฏนั้นได้รับการช่วยเหลือจากบ่าวไพร่ด้วยอุ้มพาหลบหนีไปยังเมืองพระตะบองได้[4] เมื่อข่าวทราบถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้มีท้องตราออกไปยังเมืองพระตะบองว่าพระสุพรรณพิศาลเสียชีวิตในหน้าที่ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำนุบำรุงครอบครัวของพระสุพรรณพิศาลมิให้เดือดร้อน[4]

พระยาอภัยภูเบศรผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง ได้ส่งท้าวศรีสุนทรนาฏเข้ามายังกรุงเทพฯ ซึ่งในขณะนั้นน้องสาวของท้าวศรีสุนทรนาฏที่ชื่อบัวได้ถวายตัวอยู่ในพระบรมมหาราชวังโดยมีพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงเดือน ทรงอุปการะ[4] ส่วนท้าวศรีสุนทรนาฏได้รับการอุปการะจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม[4]

เมื่อเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหมรับไปเลี้ยง ท้าวศรีสุนทรนาฏได้หัดรำละคอนได้เรียนจากครูที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หลายคน ซึ่งท้าวศรีสุนทรนาฏเป็นศิษย์เอกของคุณน้อยงอกซึ่งเล่นเป็นตัวไกรทองได้ดีหาที่เปรียบไม่ได้[5] ท้าวศรีสุนทรนาฎนั้นเล่นเป็นตัวละคอนได้หลายตัวแต่ถนัดเล่นเป็นไกรทองฝีมือวิเศษไม่มีใครเทียมในสมัยเดียวกัน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่ นางแก้ว อำนาจณรงค์ราญ พนมวัน ณ อยุธยา เป็น ท้าวศรีสุนทรนาฏ ถือศักดินา 600[6]

เป็นครูละคร

ท้าวศรีสุนทรนาฏเป็นผู้ที่ชำนาญด้านการฟ้อนรำ ได้เป็นครูละคอนในกรมมหรสพซึ่งเป็นทั้งครูและผู้บังคับควบคุมละครผู้หญิงของวังหลวง เจ้าพระยารามราฆพได้เชิญท่านไปอยู่ที่บ้านนรสิงห์เพราะท่านเป็นครูฝึกหัดฟ้อนรำให้ เจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุธเทวามาตั้งแต่เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม[7]

หลังจากที่คุณเล็ก บุตรสาวคนที่สองได้ถึงแก่กรรม ท้าวศรีสุนทรนาฏจึงรับเอาเครือแก้ว อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นหลานมาไว้ในการดูแล[3] ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพระนางเจ้าสุวัทนาเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ท้าวศรีสุนทรนาฎก็เข้าไปเป็นผู้ใหญ่อยู่ที่ตำหนัก[7]

อนิจกรรม

ในวัยชราท้าวศรีสุนทรนาฏป่วยหลายครั้งแต่ก็สามารถแก้ให้หายเป็นปกติ จนการป่วยครั้งที่สี่ พบว่าอาการหนักมากหมดหนทางจะแก้ไข จึงถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2473 สิริรวมอายุได้ 76 ปี[7] พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงรับเป็นเจ้าภาพในงานศพของท้าวศรีสุนทรนาฏ การนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีเสด็จไปการพระราชทานเพลิงศพท้าวศรีสุนทรนาฏแทนพระองค์ ภายหลังพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีโปรดให้แบ่งอัฐิเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกพระราชทานใส่โกศเงินแล้วเชิญอัฐิของท้าวศรีสุนทรนาฏไปบรรจุที่เขามอวัดประยุรวงศาวาสราชวรวิหารที่ช่องบรรจุเคียงข้างเล็ก บุนนาค ธิดา ส่วนอัฐิอีกหนึ่งส่วนพระราชทานใส่โกศแก้วเจียระไนพระราชทานแก่หม่อมหลวงต่อ พนมวันไปรักษาไว้[ต้องการอ้างอิง]

ชีวิตส่วนตัว

ท้าวศรีสุนทรนาฎมีธิดากับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สองคนคือ

  1. มณี บุนนาค สมรสกับพระยาพิพิธภัณฑ์พิจารณ์ (เจริญ โชติกเสถียร) ต่อมาเป็น คุณหญิงพิพิธภัณฑ์พิจารณ์
  2. เล็ก บุนนาค สมรสกับพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) เป็นพระมารดาของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมรสอีกครั้งกับหลวงบริหารยุคลบาท (แหวน จารุดุล) มีบุตรสี่คน

ต่อมาหม่อมแก้วเมื่อออกจากการปกครองของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์แล้วจึงได้เป็นภรรยาของนายพันตรี [หม่อมอนุยันต์ศิริวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ยัน พนมวัน)]] และมีบุตรด้วยกันคนเดียวคือ หม่อมหลวงต่อ พนมวัน โดยหม่อมหลวงต่อรับราชการอยู่ในกรมมหรสพ

หลังจากที่หม่อมอนุยันต์ศิริวงศ์ถึงแก่กรรม ท้าวศรีสุนทรนาฎได้พาบุตรธิดากลับออกไปอยู่กับญาติฝ่ายสกุลอภัยวงศ์ที่พระตะบอง ครั้นเมื่อธิดาได้เติบโตขึ้นแล้ว ญาติฝ่ายสกุลบุนนาคเกรงว่าธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) จะได้สามีไม่สมกัน จึงชวนให้ท้าวศรีสุนทรนาฎพาครอบครัวเข้ากรุงเทพฯ[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. Pantip - ๘๓ พรรษา สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ พระกุลเชษฐ์แห่งพระบรมราชวงศ์ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
  2. Princess Bejaratana
  3. 3.0 3.1 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ - พระประสูติการ
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 200
  5. Pantip - เจ้าจอม หม่อมละคร ในกรุงรัตนโกสินทร์
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๗, ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๓๐๔๘
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 เรือนไทย - ชาลวันและเถรขวาด ความคล้ายคลึง
  8. หนังสือบทละคร เรื่องไกรทอง หน้า 236
  9. 9.0 9.1 หนังสือบทละคร เรื่องไกรทอง หน้า 235
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ง, ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๒๔๗๑
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๔๑, ตอน ๐ง, ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗, หน้า ๒๙๔๙