ข้ามไปเนื้อหา

จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไกเซอร์วิลเลียม)
วิลเฮ็ล์มที่ 2
จักรพรรดิเยอรมัน
พระมหากษัตริย์แห่งปรัสเซีย
ครองราชย์15 มิถุนายน 1888 – 9 พฤศจิกายน 1918
ก่อนหน้าฟรีดริชที่ 3
ถัดไปไม่มี; ระบอบจักรพรรดิล่มสลาย
พระราชสมภพ27 มกราคม ค.ศ. 1859(1859-01-27)
วังมกุฎราชกุมาร กรุงเบอร์ลิน
ราชอาณาจักรปรัสเซีย
สวรรคต4 มิถุนายน ค.ศ. 1941(1941-06-04) (82 ปี)
ตำหนักโดร์น เมืองโดร์น
ไรชส์ค็อมมิสซารีอาทนีเดอร์ลันด์
ฝังพระศพ9 มิถุนายน ค.ศ. 1941
ตำหนักโดร์น เมืองโดร์น
คู่อภิเษกเอากุสเทอ วิคโทรีอา แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซ็อนเดอร์บวร์ค-เอากุสเทินบวร์ค
(อภิเษก 1881, สวรรคต 1921)
ชายาเออร์มิน ร็อยส์แห่งเกรซ
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม วิคทอร์ อัลแบร์ท
ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น
พระราชบิดาฟรีดริชที่ 3
พระราชมารดาเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี
ศาสนานิกายลูเทอแรน
ลายพระอภิไธย

จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 (เยอรมัน: Wilhelm II) หรือพระนามเต็มคือ ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม วิคทอร์ อัลแบร์ท แห่งปรัสเซีย (เยอรมัน: Friedrich Wilhelm Viktor Albert von Preußen) ทรงเป็นจักรพรรดิเยอรมัน (ไคเซอร์) และกษัตริย์แห่งปรัสเซียองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น ครองราชสมบัติในปี 1888 จนถูกประกาศให้สละราชสมบัติในปี 1918 จากความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงมีลูกพี่ลูกน้องหลายองค์ที่เป็นกษัตริย์และราชินีในหลายประเทศ วิลเฮ็ล์มใช้ชีวิตส่วนใหญ่ก่อนเป็นจักรพรรดิอยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่สอง จนกระทั่งในปี 1888 สมเด็จปู่อย่างไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 1 เสด็จสวรรคต ส่วนสมเด็จพ่ออย่างไคเซอร์ฟรีดริชที่ 3 ครองราชย์ต่อได้เพียงเก้าสิบวันก็สวรรคต ส่งผลให้ในปีดังกล่าว วิลเฮ็ล์มได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรรดิเยอรมันและกษัตริย์แห่งปรัสเซีย ซึ่งหลังขึ้นครองราชย์ไม่ถึงสองปี พระองค์ก็ทรงปลดนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษผู้สร้างจักรวรรดิอย่างอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค

ภายหลังจากปลดบิสมาร์ค ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 2 เข้าควบคุมนโยบายชาติโดยตรง และริเริ่มโครงการ "เส้นทางใหม่" ที่ดูก้าวร้าวเพื่อประสานสถานะในฐานะมหาอำนาจของโลกที่ได้รับการยอมรับนับถือ ต่อมาในช่วงรัชสมัยของพระองค์ เยอรมนีได้ครอบครองดินแดนในจีนและแปซิฟิก (เช่นอ่าวเจียวโจว หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา และหมู่เกาะแคโรไลน์) และกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของยุโรป อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงมักจะทำลายความก้าวหน้าดังกล่าวโดยการกล่าวข่มขู่ต่อประเทศอื่น ๆ และแสดงความคิดเห็นต่อมุมมองของพวกหวาดกลัวชาวต่างชาติโดยไม่ปรึกษารัฐมนตรีของพระองค์ ในทำนองเดียวกัน ระบอบการปกครองของพระองค์ได้สร้างความแปลกแยกจากชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ของโลก โดยการริเริ่มสร้างกองทัพเรือขนาดใหญ่ ท้าทายการควบคุมโมร็อกโกของฝรั่งเศส และการสร้างสายรถไฟผ่านแบกแดด ซึ่งเป็นการคุกคามต่อการปกครองของบริติชในอ่าวเปอร์เซีย ดังนั้น ในสองทศวรรษของศตวรรษที่ 20 เยอรมนีสามารถพึ่งพาประเทศที่อ่อนแอกว่าอย่างออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังเสื่อมถอยในฐานะพันธมิตร

ถึงแม้ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 2 ทรงเพิ่มความแข็งแกร่งให้เยอรมนีในฐานะมหาอำนาจด้วยการสร้างกองทัพเรือน้ำลึก และส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ แต่พระองค์มักมีแถลงการณ์อย่างไม่รอบคอบ และดำเนินนโยบายต่างประกาศอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้นานาประเทศเริ่มมองพระองค์เป็นศัตรู หลายคนมองว่านโยบายการต่างประเทศของพระองค์ เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมัน อย่างในปี 1914 เยอรมนีให้การรับประการว่าจะสนับสนุนทางทหารต่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในช่วงวิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม ซึ่งผลักให้ยุโรปเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ใช่ผู้มีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในยามสงคราม พระองค์ยกให้กิจการการทหารและการสงครามทั้งหมด อยู่ในการตัดสินใจของคณะเสนาธิการใหญ่ การมอบหมายอำนาจอย่างกว้างขวางนี้ส่งผลให้เกิดระบอบเผด็จการทหารโดยพฤตินัยซึ่งครอบงำนโยบายระดับชาติในช่วงที่เหลือของสงคราม แม้ว่าเยอรมนีได้รับชัยชนะเหนือรัสเซียและได้รับดินแดนพอสมควรในยุโรปตะวันออก แต่เยอรมนีก็ถูกบังคับให้สละดินแดนที่ได้มาทั้งหมดหลังความปราชัยย่อยยับในแนวรบด้านตะวันตกในฤดูใบไม้ร่วงปี 1918

พระองค์สูญเสียแรงสนับสนุนทั้งจากกองทัพและราษฎร นายกรัฐมนตรีมัคซีมีลีอาน ฟอน บาเดิน โน้มน้าวให้พระองค์สละราชสมบัติ แต่พระองค์บ่ายเบี่ยง จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 1918 ก็เกิดการปฏิวัติเยอรมัน ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศการสละราชสมบัติโดยไม่รอการลงพระนาม พระองค์จึงเสด็จลี้ภัยสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นั้นในช่วงที่ถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมันในปี 1940 ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ในปี 1941

พระราชประวัติ

[แก้]

ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 2 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1859 ที่วังมกุฎราชกุมาร (Kronprinzenpalais) ในกรุงเบอร์ลิน ราชอาณาจักรปรัสเซีย พระองค์ประสูติแด่เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี พระชายาในเจ้าชายฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม แห่งปรัสเซีย (จักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 ในกาลต่อมา) พระมารดาเป็นธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร พระองค์จึงถือเป็นพระราชนัดดาองค์แรกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และซาร์นิโคไลที่ 2 แห่งรัสเซีย

การเสด็จพระราชสมภพด้วยการคลอดท่าก้นทำให้พระองค์มีพระอาการอัมพาตเอิร์บ ซึ่งส่งผลให้แขนซ้ายของพระองค์สั้นกว่าแขนขวาราว 15 เซนติเมตร เพื่อพยายามปกปิดความผิดปกตินี้ พระองค์มักจะทรงถือถุงมือไว้ที่มือซ้ายเสมอเพื่อทำให้แขนซ้ายดูยาวขึ้น บ้างก็ใช้มือซ้ายสอดไว้ที่ด้ามกระบี่ บ้างอาศัยการถือพระคฑา

ยามที่พระองค์ประสูติตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 แห่งปรัสเซีย ซึ่งยังไม่มีการสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน ขณะนั้น เสด็จปู่ของพระองค์มีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปรัสเซีย เมื่อพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 เสด็จสวรรคตในปี 1861 พระราชอัยกาของพระองค์ก็เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย ส่วนพระบิดาก็ได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย ทำให้ตัวพระองค์กลายเป็นรัชทายาทลำดับสองของปรัสเซีย

พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ผู้เป็นเสด็จปู่ของพระองค์ปกครองปรัสเซียจนได้รับชัยชนะในสงครามหลายครั้งจนสามารถรวมชาติเยอรมันให้เป็นปึกแผ่น และสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้นในปี 1871 พร้อมทั้งปราบดาภิเษกตนเป็นจักรพรรดิเยอรมัน ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเสด็จปู่ซึ่งนำพาเยอรมนีขึ้นเป็นมหาอำนาจ ได้ปลูกฝังความนิยมทหารและเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าชายตัวน้อย

สมัยต้นพระชนม์

[แก้]
วิลเฮ็ล์มในวันแปดขวบ

ในปี 1863 เจ้าชายวิลเฮ็ล์มในวัยสี่ขวบถูกนำตัวไปอังกฤษเพื่อเข้าร่วมงานสมรสของเสด็จน้าเบอร์ตี้ (ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7) กับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก ซึ่งในงานพิธี เจ้าชายวิลเฮ็ล์มชอบส่งเสียงดังอยู่เสมอ จนเสด็จน้าอย่างเจ้าชายอัลเฟรดวัยสิบแปดปี ต้องควบคุมเขาและบอกให้เขาเงียบ แต่วิลเฮ็ล์มกลับคว้ามีดสั้นประจำเครื่องแบบมาข่มขู่เจ้าชายอัลเฟรด เจ้าชายอัลเฟรดจึงใช้กำลังเข้าห้ามปราม วิลเฮ็ล์มจึงกัดเข้าที่ขาของอัลเฟรด

การที่วิลเฮ็ล์มเกิดมาแขนซ้ายสั้น ทำให้พระมารดากล่าวโทษองค์เองอยู่เสมอ เนื่องจากคิดว่าวิลเฮ็ล์มอาจจะไม่สามารถขี่ม้าอันเป็นหนึ่งในทักษะที่ควรมีของเจ้าชายทุกพระองค์ วิลเฮ็ล์มเริ่มเรียนขี่ม้าขณะมีอายุแปดขวบ ซึ่งเป็นวิชาที่ยากลำบากและต้องใช้ความอุตสาหะอย่างยิ่งสำหรับเขา วิลเฮ็ล์มร้องไห้ซ้ำแล้วซ้ำอีกขณะอยู่บนหลังม้าและบังคับให้ม้าเดิน เจ้าชายน้อยตกม้าหลายครั้งแต่ก็ปีนกลับขึ้นไปอยู่บนหลังม้าทุกครั้ง หลังร่ำเรียนอยู่หลายสัปดาห์ ในที่สุด วิลเฮ็ล์มก็สามารถนั่งบังคับม้าอย่างสมดุล[1]

ในช่วงวัยรุ่น เจ้าชายวิลเฮ็ล์มได้รับการศึกษาที่เมืองคัสเซิล พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในต้นปี 1877 และได้รับประทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์เป็นของขวัญวันเกิดครบรอบสิบแปดปีจากเสด็จยายอย่างสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย หลังเรียนจบจากคัสเซิล เจ้าชายวิลเฮ็ล์มเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยบ็อนในสาขานิติศาสตร์และการเมือง เจ้าชายวิลเฮ็ล์มเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว แต่ชอบแสดงพระอารมณ์ร้าย

ด้วยเหตุที่เจ้าชายวิลเฮ็ล์มมีเชื้อสายราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น พระองค์จึงคลุกคลีอยู่ในแวดวงนายทหารชนชั้นสูงของปรัสเซียตั้งแต่สมัยเด็ก ซึ่งปลูกฝังค่านิยมแบบทหารให้แก่พระองค์ พระองค์มักจะสวมใส่เครื่องแบบทหารอยู่เสมอในทุกโอกาสที่เป็นไปได้

พระราชโอรส-ธิดา

[แก้]

พระราชโอรส-ธิดาทั้งหมด ประสูติแด่พระมเหสีพระองค์แรก ท่านหญิงเอากุสเทอ วิคโทรีอา แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซ็อนเดอร์บวร์ค-เอากุสเทินบวร์ค

พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส พระบุตร
มกุฎราชกุมารวิลเฮ็ล์ม 6 พฤษภาคม 1882 20 กรกฎาคม 1951 ดัชเชสเซทซีเลียแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน 6 พระองค์
เจ้าชายไอเทิล ฟรีดริช 7 กรกฎาคม 1883 8 ธันวาคม 1942 ดัชเชสโซฟีอา ชาร์ล็อทเทอ แห่งอ็อลเดินบวร์ค
เจ้าชายอาดัลแบร์ท 14 กรกฎาคม 1884 22 กันยายน 1948 เจ้าหญิงอเดลาอีเดอแห่งซัคเซิน-ไมนิงเงิน 3 พระองค์
เจ้าชายเอากุสท์ วิลเฮ็ล์ม 29 มกราคม 1887 25 มีนาคม 1949 เจ้าหญิงอเล็กซันดรา วิคโทรีอา แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซ็อนเดอร์บวร์ค-กลืคส์บวร์ค 1 พระองค์
เจ้าชายอ็อสคาร์ 27 กรกฎาคม 1888 27 มกราคม 1958 เคาน์เตสอีนา มารี ฟ็อน บัสเซอวิทซ์ 4 พระองค์
เจ้าชายโยอาคิม 17 ธันวาคม 1890 18 กรกฎาคม 1920 เจ้าหญิงมารี-เอากุสเทอ แห่งอัลฮัลท์ 1 พระองค์
เจ้าหญิงวิคโทรีอา ลูอีเซอ 13 กันยายน 1892 11 ธันวาคม 1980 แอ็นสท์ เอากุสทุส ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ 5 พระองค์

ฐานันดรและพระอิสริยยศ

[แก้]
  • 27 มกราคม 1859 – 9 มีนาคม 1888: เจ้าชายวิลเฮ็ล์มแห่งปรัสเซีย
  • 9 มีนาคม 1888 – 15 มิถุนายน 1888: มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิเยอรมันและแห่งปรัสเซีย
  • 15 มิถุนายน 1888 – 18 พฤศจิกายน 1918: จักรพรรดิเยอรมัน กษัตริย์แห่งปรัสเซีย
    • 18 พฤศจิกายน 1918 - 4 มิถุนายน 1941: จักรพรรดิเยอรมัน กษัตริย์แห่งปรัสเซีย (สมมุติไว้)
ธงพระยศไคเซอร์ ธงพระยศกษัตริย์แห่งปรัสเซีย

พระบรมวงศ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Massie 1991, p. 28.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ถัดไป
ฟรีดริชที่ 3 จักรพรรดิเยอรมัน
กษัตริย์แห่งปรัสเซีย

(15 มิถุนายน 1888 – 9 พฤศจิกายน 1918)
ไม่มี; ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง
ฟรีดริชที่ 3 ประมุขแห่งราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น
(15 มิถุนายน 1888 – 4 มิถุนายน 1941)
เจ้าชายวิลเฮล์ม มกุฎราชกุมาร