แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ ที่คนทั่วไปเรียกสั้น ๆ ว่า “แพทย์ฟื้นฟู” หรือ "หมอฟื้นฟู" ไม่ใช่ "หมอกายภาพบำบัด" เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยที่มีความผิดปกติหรือมีโรคระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ฯลฯ ที่ส่งผลให้สมรรถภาพร่างกายถดถอย และ/หรือมีความพิการ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันหรือการทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ อาศัยหลักการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ช่วยฟื้นสภาพและความสามารถให้ผู้ป่วย/ผู้พิการ รวมถึงส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันความพิการ และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อความเป็นอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วย/ผู้พิการสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู คือแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ที่ได้รับการอบรมมาโดยเฉพาะ เพื่อทำการรักษาและฟื้นฟูทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ในภาษาอังกฤษคำว่าแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูใช้ว่า Rehabilitation physician (แบบ UK) หรือ Rehabilitation doctor (แบบ UK) หรือ Physiatrist (แบบ US อ่านว่า ฟิส-ซาย-เอ-ตริส) ก็ได้
หน้าที่
[แก้]ทำการตรวจวินิจฉัยโรค ประเมิน รักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกาย ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันการเป็นซ้ำหรือภาวะแทรกซ้อน แก่ผู้ป่วยที่มีความพิการ หรือเสื่อมสมรรถภาพทางกาย ด้วยวิธีการใช้ยา การทำหัตถการ การใช้เครื่องมือ การออกกำลังกายจำเพาะ การให้คำแนะนำทางการแพทย์ การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือหรือทดแทน หรือวิธีการอื่นๆที่เหมาะสม
กลุ่มผู้ป่วยที่มักเข้ารับการรักษากับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
[แก้]เช่น
- ผู้ป่วยและผู้พิการทางกายและการเคลื่อนไหว ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นในภายหลัง เช่น แขน-ขาขาด (Limb amputee) , อัมพาตครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebral vascular disorder) , อัมพาตจากภาวะไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury) , ความผิดปรกติทางการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมภายหลังสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) , เด็กสมองพิการ (Cerebral palsy) , เด็กที่ไม่มีแขนขาแต่กำเนิด (Congenital limb deficiency) , เด็กพัฒนาการช้า เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดทั้งชนิดเรื้อรังและไม่เรื้อรัง (Pain syndrome)
- ผู้ป่วยที่มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
- ผู้ป่วยที่มีโรคหรือความผิดปรกติของระบบกล้ามเนื้อ และข้อต่อ รวมถึงผู้ป่วยหลังการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) อีกด้วย
- ผู้ป่วยที่ถูกส่งมาตรวจสภาพเส้นประสาท ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ ด้วยวิธีการทางไฟฟ้าวินิจฉัย (ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นในตรวจ)
- ผู้ป่วยที่ถูกส่งมาตรวจประเมินการทำงานของระบบควบคุมการถ่ายปัสสาวะส่วนล่าง (ตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะลงมา)
- ผู้ที่ต้องการให้ตรวจประเมิน เพื่อออกเอกสารรับรองความพิการ สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวชนิดต่างๆ
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ (Cardiac rehabilitation) ประเภทต่างๆ (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด, ลิ้นหัวใจรั่ว ฯลฯ) ทั้งก่อนและหลังการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหรือสวนหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคทางปอด (Pulmonary rehabilitation) เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น
- ผู้ที่บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
- นักกีฬาที่บาดเจ็บจากการซ้อมหรือแข่งขัน หรือต้องการคำแนะนำในการเพิ่มสมรรถภาพในการเล่นกีฬา
- ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ เป็นต้น
รายละเอียดอื่นๆดูได้ที่ เวชศาสตร์ฟื้นฟู
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทย
[แก้]เนื่องจากจำนวนแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทยมีไม่มากนัก (รวมทั้งหมดที่ลงทะเบียนประมาณ 300 คนทั้งประเทศ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ทำงานหรือเสียชีวิตไปแล้วด้วย) จึงมีอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่เท่านั้น เช่น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ โรงพยาบาลประจำจังหวัด (ยังมีไม่ครบทุกจังหวัด) โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของทหารและตำรวจ โรงพยาบาลขนาดใหญ่สังกัดกรุงเทพฯ โรงพยาบาลขนาดใหญ่สังกัดกรมการแพทย์ และศูนย์ฟื้นฟูต่างๆเท่านั้น (เช่น ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์ฯกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น) ในส่วนภาคเอกชนเอง ก็มีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่บางโรงเท่านั้น
การอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทย
[แก้]ในอดีต เคยมีการส่งแพทย์ไปเรียนสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่อมาถูกระงับโครงการไป และได้มีงานกายภาพบำบัดขึ้นมาทดแทน ต่อมาเมื่อเกิดสงครามเวียดนามขึ้น ทางราชการได้เล็งเห็นว่าสมควรจะมีแพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง โดยการส่งแพทย์ไปเรียนต่อยังต่างประเทศ
ภายหลังเมื่อมีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูมากขึ้นในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย จึงได้จัดการเรียนการสอนแก่นิสิต/นักศึกษาแพทย์ และต่อมาจึงได้มีการอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูขึ้นในประเทศไทย
ปัจจุบันนี้ การอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทยใช้เวลาอบรมนาน 3 ปี โดยรับแพทย์ที่ผ่านการปฏิบัติงานมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี เมื่ออบรมและสอบผ่านแล้ว จะได้รับวุฒิบัตรสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูจากแพทยสภา โดยมีสถาบันที่เปิดการอบรมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู 7 แห่งได้แก่
- คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (โรงพยาบาลรามาธิบดี)
- โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย)
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (โรงพยาบาลศิริราช)
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่)
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (โรงพยาบาลศรีนครินทร์)
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (โรงพยาบาลสงขลานครินทร์)
นอกจากนี้ หากเป็นแพทย์ที่ผ่านการอบรมจากต่างประเทศ หรือไม่ได้ผ่านการอบรมแต่ปฏิบัติงานด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูในโรงพยาบาลที่มีแผนกดังกล่าวเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีแล้ว ก็มีสิทธิเข้าสอบเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูได้ โดยได้รับอนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูจากแพทยสภา เมื่อสอบผ่าน
ในปัจจุบัน มีจำนวนแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทยทั้งสิ้น 305 คน (ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550) ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก และไม่สามารถพอเพียงต่อความต้องการของประเทศและไม่สามารถครอบคลุมถึงโรงพยาบาลขนาดเล็กได้ดังกล่าวข้างต้น
กลุ่มองค์กรของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทย
[แก้]แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูมีการรวมกลุ่มเป็นองค์กรของตนเองคือ สมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย และยังได้พระราชกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง ราชวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ทางวิชาการของเหล่าแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่สนใจในสาขาย่อยของเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้รวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นชมรมขึ้นมา เช่น ชมรมฟื้นฟูหัวใจ ชมรมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูภาคใต้ เป็นต้น
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในต่างประเทศ
[แก้]ในประเทศต่างๆ มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูทำงานอยู่เช่นกัน และแต่ละประเทศมีการเปิดการอบรมโดยใช้เวลาไม่เท่ากัน โดยใช้เวลาตั้งแต่ 3 ถึง 5 ปีในการอบรม ซึ่งขึ้นกับนโยบายของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการเปิดอบรมสาขาย่อยต่างๆ อาทิ เวชศาตร์ฟื้นฟูระบบประสาท (Neuro-rehabilitaton), ไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnosis) เป็นต้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- สมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย
- ราชวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย
- ประวัติพลตรีขุนประทุมโรคประหาร กองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า