แกรนด์ คาแนล แลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชน SET:GLAND
อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
ก่อตั้ง22 เมษายน พ.ศ. 2528 (39 ปี)
(ในชื่อ มีเดีย ออฟ มีเดียส์)
ผู้ก่อตั้งยุวดี บุญครอง
สำนักงานใหญ่เลขที่ 161 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลัก
สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์
กอบชัย จิราธิวัฒน์
นภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์
ผลิตภัณฑ์บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน
บริษัทแม่เซ็นทรัลพัฒนา
เว็บไซต์เว็บไซต์แกรนด์ คาแนล แลนด์

บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) (ย่อ: GLAND) หรือเดิมคือ บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน) (ย่อ: MEDIAS) เป็นบริษัทมหาชนที่ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบ อาทิ บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และยังพัฒนาโครงการพื้นที่พาณิชยกรรมแบบประสมในชื่อ แกรนด์ พระราม 9 หุ้นบริษัทเข้าซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553 ในชื่อย่อ MEDIAS ก่อนจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทและใช้ชื่อย่อปัจจุบันเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติ[แก้]

บริษัทฯ จดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2528 ในชื่อ บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 200,000 บาท โดยมี ยุวดี บุญครอง เป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัท เริ่มแรกบริษัทดำเนินการในธุรกิจสื่อและโทรทัศน์ ทั้งผลิตรายการโทรทัศน์ และเป็นตัวแทนร่วมจำหน่ายเวลาโฆษณา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 บริษัทฯ ก้าวเข้าสู่เป็นผู้ผลิตรายการเต็มรูปแบบด้วยการผลิตรายการโทรทัศน์เอง ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นอย่างสูง บริษัทฯ มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นระยะ ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ บริษัทฯ จึงแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ภายใต้ชื่อ "บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน)" พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 260 ล้านบาท โดยเป็นบริษัทที่มีเวลาออกอากาศทางสถานีฟรีทีวีมากที่สุดต่อสัปดาห์ในช่วงนั้น

ต่อมาใน พ.ศ. 2553 บริษัทเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายหลังจากที่ โยธิน บุญดีเจริญ เข้าซื้อหุ้นใหญ่ของบริษัท และธุรกิจสื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจนเสื่อมความนิยมลง บริษัทจึงได้ขายสินทรัพย์ในส่วนที่เป็นธุรกิจสื่อและโทรทัศน์ให้กับ บริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด ที่มี ชาลอต โทณะวณิก และนุติ เขมะโยธิน เป็นผู้บริหารทั้งหมด และได้แปรสภาพรวมถึงเปลี่ยนแนวธุรกิจมาดำเนินการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อ บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) แทน โดยเริ่มแรกบริษัทรับช่วงจาก มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ริเริ่มพัฒนาโครงการพาณิชยกรรมแบบประสมบริเวณถนนพระรามที่ 9 อันประกอบไปด้วยศูนย์การค้า เซ็นทรัล พระราม 9 และคอนโดมิเนียม เบ็ล แกรนด์ พระราม 9 และพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร แกรนด์ คาแนล ดอนเมือง มาอย่างต่อเนื่อง

จนใน พ.ศ. 2561 การดำเนินการของบริษัทเริ่มไม่เป็นไปตามแผน และบริษัทประสบภาวะขาดทุน ตระกูลบุญดีเจริญ จึงได้ขายหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ ให้กับ บริษัท ซีพีเอ็น พัทยา จำกัด ส่งผลให้โครงสร้างบริษัทเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งภายใต้การเข้าลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัล อย่างไรก็ดีในการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดเพื่อเพิกถอนหุ้นของบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มบีบีทีวี หรือช่อง 7HD (บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด) กลับไม่เสนอขายหุ้นทั้งหมด ทำให้บริษัทคงสถานะการเป็นบริษัทร่วมของเซ็นทรัลพัฒนา และมีกลุ่มบีบีทีวีเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสอง

โครงการของบริษัท[แก้]

  • บ้านจัดสรร แกรนด์ คาแนล ดอนเมือง และที่หยุดรถไฟแกรนด์ คาแนล (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)
  • เซ็นทรัลแกรนด์ (เดิมคือ แกรนด์ พระราม 9)
    • ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 โดยบริษัทฯ ขายสิทธิการใช้งานอาคารทั้งหมดให้กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ไนน์สแควร์ จำกัด เป็นผู้บริหารอาคาร ระยะเวลา 30 ปี
    • อาคารสำนักงานเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส โดยบริษัทฯ ขายสิทธิการเช่าอาคารทั้งหมดให้กับ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงาน จีแลนด์ (GLANDRT) ซึ่งปัจจุบันได้โอนต่อให้ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซีพีเอ็น รีเทล โกรท (CPNREIT) เพื่อเลิกกิจการเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562
    • อาคารสำนักงานยูนิลีเวอร์เฮาส์ โดยบริษัทฯ ขายสิทธิการเช่าอาคารในฐานะผู้ให้เช่าทั้งหมดให้กับ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงาน จีแลนด์ (GLANDRT) ซึ่งปัจจุบันได้โอนต่อให้ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซีพีเอ็น รีเทล โกรท (CPNREIT) เพื่อเลิกกิจการเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562
    • อาคารสำนักงาน จี ทาวเวอร์ส โดยบริษัทฯ ขายกรรมสิทธิ์อาคารทั้งหมดให้กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561
    • อาคารที่พักอาศัยเบ็ล แกรนด์ พระราม 9 โดยบริษัทฯ ขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดคงเหลือให้กับ บริษัท ซีพีเอ็น เรสซิเดนซ์ จำกัด เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561
  • บ้านจัดสรร นิรติ ดอนเมือง
  • เซ็นทรัล พหลโยธิน (เบย์วอเตอร์) (ชื่อชั่วคราว)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่[แก้]

  • ข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2564
ลำดับ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวนหุ้น (หุ้น) % หุ้น
1 บริษัท ซีพีเอ็น พัทยา จำกัด 4,389,418,545 67.53
2 บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด 1,191,604,274 18.33
3 บริษัท ทุนมหาลาภ จำกัด 306,299,005 4.71
4 บริษัท จี แอล แอสเซทส์ จำกัด 281,501,347 4.33
5 บริษัท บีบีทีวี แอสเซตแมเนจเมนท์ จำกัด 153,837,243 2.37

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]