เอกราช ช่างเหลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอกราช ช่างเหลา
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จังหวัดขอนแก่น เขต 4
เริ่มดำรงตำแหน่ง
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
(0 ปี 357 วัน)
ก่อนหน้ามุกดา พงษ์สมบัติ
คะแนนเสียง33,104 (34.97%)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด3 เมษายน พ.ศ. 2501 (66 ปี)
อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
พรรคการเมืองเพื่อแผ่นดิน (2550-?)
พลังประชารัฐ (2561–2565)
ภูมิใจไทย (2565-ปัจจุบัน)

เอกราช ช่างเหลา เป็นนักการเมืองชาวไทย ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นอดีตผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ซึ่งถูกกล่าวหาในคดียักยอกทรัพย์สิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น สังกัดพรรคภูมิใจไทย

ประวัติ[แก้]

เอกราช ช่างเหลา เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2501 เป็นชาวจังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (การบริหารการศึกษา) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย[1]

การทำงาน[แก้]

เอกราช ช่างเหลา เคยเป็นครูในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น ต่อมาได้เข้าทำงานในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น และประกอบธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร

งานการเมือง[แก้]

เอกราชเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2549 ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ในปี 2550 สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน แต่ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 5 ต่อมาได้เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการเลือกตั้งของจังหวัดขอนแก่น บึงกาฬ หนองคาย และหนองบัวลำภู[2] และเป็นคนสนิทของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า[3] โดยนายเอกราช ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 11 รวมทั้งส่งบุตรชายคือ วัฒนา ช่างเหลา ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น นายเอกราช และนายวัฒนา ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองคน

เอกราช ช่างเหลา มีส่วนในการสนับสนุนหลานชายและบุตรชาย เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ในการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ ในปี 2563[4]

ในปี 2565 เขาและ ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งถูกพรรคพลังประชารัฐ มีมติให้ออกจากพรรค ต่อมาเขาย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย[5]

ในปี 2566 เขาได้รับการเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26

คดีความ[แก้]

เอกราช ช่างเหลา ถูกกล่าวหาในกรณีการยักยอกเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 แต่ทราบข้อเท็จจริงเมื่อมีการตรวจสอบเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โดยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ และฟ้องตรงที่ศาลอาญา ต่อมานายเอกราช ได้ทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ ในปี 2562 โดยมีกำหนดว่าชดใช้เงินคืนให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ภายในปี 2563[6]

ในปี 2564 เอกราช ช่างเหลา ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหนังสือขอตัวไปยังประธานรัฐสภา เพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีร่วมกันยักยอกและปลอมแปลงเอกสารของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น[7]

ใน วันที่ 25 สิงหาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ยึดทรัพย์ เขาชั่วคราวโดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]