ข้ามไปเนื้อหา

ชาวเคลต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เคลท์)
การกระจายของชาวเคลต์ในทวีปยุโรป :
  อาณาบริเวณหลักในฮัลชตัท ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช
  ช่วงที่ชาวเคลต์ขยายตัวมากในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราช
  บริเวณลูซิทาเนียในไอบีเรียที่ไม่ทราบแน่ว่ามีหรือไม่
   "ชาติเคลต์ทั้งหก" ที่รวมผู้พูดภาษากลุ่มเคลต์มาเป็นสมัยใหม่สมัยต้น
  บริเวณที่ยังมีการใช้ภาษากลุ่มเคลต์อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

เคลต์ หรือ เซลต์ (อังกฤษ: Celts; ออกเสียง: /kelts/ หรือ /selts/) เป็นคำที่ใช้เรียกชนยุโรปที่เดิมพูดหรือยังพูดภาษากลุ่มเคลต์ (Celtic languages)[1] นอกจากนั้นก็ยังเป็นคำที่ใช้ในความหมายกว้าง ๆ ในการบรรยายผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวเคลต์ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมเคลต์อยู่

เคลต์ในประวัติศาสตร์เป็นกลุ่มชนหลายกลุ่มในยุคเหล็กยุโรป อารยธรรมเคลต์ดั้งเดิมเริ่มก่อตั้งในสมัยต้นยุคเหล็กในตอนกลางของทวีปยุโรป (สมัยวัฒนธรรมฮัลชตัทที่ตั้งชื่อตามบริเวณที่เป็นออสเตรียปัจจุบัน) พอมาถึงปลายยุคเหล็ก (สมัยลาแตน) เคลต์ก็ขยายตัวไปในดินแดนต่าง ๆ ที่รวมทั้งทางตะวันตกที่ไปถึงไอร์แลนด์และคาบสมุทรไอบีเรีย ทางตะวันออกไปสุดที่กาเลเชีย (Galatia) (กลางอานาโตเลีย) และทางเหนือสุดที่สกอตแลนด์[2]

หลักฐานแรกที่บ่งถึงภาษาเคลต์อยู่ในคำจารึกในภาษาเลพอนติค (Lepontic language) จากคริสต์ศตวรรษที่ 6 กลุ่มภาษาเคลต์ภาคพื้นยุโรปมีหลักฐานเฉพาะชื่อสถานที่ กลุ่มภาษาเคลต์หมู่เกาะ (Insular Celtic) ปรากฏในหลักฐานจากคริสต์ศตวรรษที่ 4 ในคำจารึกออกัม (Ogham inscription) อารยธรรมทางวรรณกรรมเริ่มด้วยการใช้ภาษาไอริชเก่าตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 วรรณกรรมไอริชสมัยต้น เช่น "Táin Bó Cúailnge" มีหลักฐานมาจนถึงฉบับแก้ในคริสต์ศตวรรษที่ 12

เมื่อมาถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งหลังการขยายดินแดนของจักรวรรดิโรมันและสมัยการย้ายถิ่นฐาน (Migration Period) ของกลุ่มชนเจอร์แมนิกแล้ว อารยธรรมเคลต์ก็จำกัดอยู่แต่เพียงหมู่เกาะบริติช (ภาษาเคลต์เกาะ) และภาษาเคลต์ยุโรปก็หยุดใช้กันไปในคริสต์ศตวรรษที่ 6 เคลต์เกาะที่ว่าหมายถึงดินแดนรอบทะเลไอริช รวมทั้งคอร์นวอลล์และเบรอตาญบนสองฝั่งของช่องแคบอังกฤษ

ที่มาของชื่อ

[แก้]
ที่ตั้งถิ่นฐานของชาวเคลต์ในคอร์นวอลล์
หินทูโรตกแต่งด้วยลวดลายเคลต์ที่หมู่บ้านบุลลอนในไอร์แลนด์

ที่มาของการเรียกชาวเคลต์มีมาตั้งแต่ยุคคลาสสิกเป็นประวัติที่ไม่มีหลักฐานแน่นอนและเป็นการสันนิษฐานที่ยังคงเป็นที่ขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะในการเรียกชื่อกลุ่มมีหลักฐานในการใช้คำว่า "พิกต์" (pict) หลายแห่งในการเรียกผู้ที่ตั้งถิ่นฐานในไอร์แลนด์และบริเตนก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18

ภาษาละติน "Celtus" (พหูพจน์: "Celti" หรือ "Celtae") กรีก: Κέλτης (พหูพจน์: Κέλται หรือ Κελτός, พหูพจน์: Κελτοί, "Keltai" หรือ "Keltoi") ดูเหมือนว่าจะมีรากฐานมาจากภาษาท้องถิ่นของเคลต์[3] แต่หลักฐานแรกที่บันทึกเกี่ยวกับชาวเคลต์ในชื่อ "Κελτοί" ("Κeltoi") เขียนโดยนักประวัติศาสตร์กรีกเฮคาเชียสแห่งไมเลตัส (Hecataeus of Miletus) ราว 517 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่กล่าวถึงเมือง "Massilia" (มาร์เซย์ ปัจจุบัน) ที่อยู่ใกล้เคลต์ และกล่าวถึงเมืองเคลต์ชื่อ "Nyrex" (อาจจะเป็นเมืองนอร์เรียในออสเตรียปัจจุบัน) เฮโรโดทัสนักประวัติศาสตร์กรีกอีกผู้หนึ่งดูเหมือนจะกล่าวว่าเคลต์ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณต้นแม่น้ำดานูบและ/หรือในไอบีเรีย

คำว่า "เคลต์" ในภาษาอังกฤษเป็นคำใหม่ที่ใช้ในงานเขียนโดยเอดเวิร์ด ลุยด์ (Edward Lhuyd) ในปี ค.ศ. 1707 งานเขียนของลุยด์และผู้อื่นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่นักวิชาการในการศึกษาเกี่ยวกับภาษาและประวัติของผู้ตั้งถิ่นฐานในบริเตนใหญ่ในยุคแรก[4]

ภาษาละตินคำว่า "Gallus" (กอลลัส) เดิมอาจจะมาจากชาวเคลต์หรือชื่อเผ่าพันธ์ที่นำมาใช้ราวต้น 400 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษในช่วงที่ชาวเคลต์ขยายดินแดนไปยังอิตาลี รากของคำอาจจะมาจากภาษาเคลต์ดั้งเดิม "galno" ที่แปลว่า "อำนาจ" หรือ "ความแข็งแกร่ง" ภาษากรีก "Galatai" (กาลาไต) ดูเหมือนว่ามาจากรากเดียวกันที่ขอยืมโดยตรงมาจากที่สันนิษฐานกันว่าเป็นภาษาเคลต์ที่กลายมาเป็นคำว่า "Galli" (กอลไล)

ภาษาอังกฤษคำว่า "Gaul" (กอล) มาจากภาษาฝรั่งเศส "Gaule" และ "Gaulois" ที่มาจากภาษาละติน "Gallia" และ "Gallus, -icus" ตามลำดับ แต่สระประสมสองเสียง "au" ชี้ให้เห็นว่าเป็นคำที่มาจากแหล่งอื่น ที่น่าจะเป็นการแปลงของภาษาโรมานซ์ของคำจากภาษาเยอรมันว่า "Walha-" ภาษาอังกฤษคำว่า "Welsh" เดิมมาจากคำว่า "wælisc" จากภาษาแองโกล-แซ็กซอนของคำว่า "walhiska-" ที่เป็นคำภาษาเจอร์แมนิกที่ใช้เรียกชาวต่างประเทศ[5]

"ความเป็นเคลต์" (Celticity) โดยทั่วไปมักจะหมายถึงการมีวัฒนธรรมที่ร่วมกันหรือใกล้เคียงกันของกลุ่มชนที่มีรากฐานมาจากความคล้ายคลึงกันทางภาษา, เครื่องใช้สอย, ระบบสังคม และปรัมปราวิทยา (Celtic mythology|mythological]] ทฤษฎีก่อนหน้านี้รวมถึงความคล้ายคลึงทางชาติพันธุ์ด้วยแต่ทฤษฎีในสมัยปัจจุบันจะเน้นแต่เฉพาะความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมและภาษาเท่านั้น อารยธรรมเคลต์มีลักษณะแตกต่างออกไปหลายอย่างแต่สิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างความแตกต่างกันเหล่านี้อยู่ที่ภาษาเคลต์

"ของเคลต์" หรือ "เคลต์" (Celtic) เป็นคำที่ใช้ในการบรรยายตระกูลภาษาและโดยทั่วไปหมายถึงภาษา "ของชาวเคลต์" หรือภาษา "ในรูปแบบของชาวเคลต์" และยังใช้ในการบรรยายถึงวัฒนธรรมทางโบราณคดีที่พบในวัตถุที่ขุดพบ ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและวัตถุที่ขุดพบอยู่ที่คำจารึกบนวัตถุ

ในปัจจุบันคำว่า "เคลต์" โดยทั่วไปใช้ในการบรรยายภาษาและอารยธรรมของไอร์แลนด์, สกอตแลนด์, เวลส์, คอร์นวอลล์, เกาะแมนและบริตตานี หรือที่เรียกว่าชาติเคลต์ทั้งหก (Six Celtic Nations) ในปัจจุบันยังมีบริเวณสี่บริเวณที่ยังใช้ภาษาเคลต์เป็นภาษาแม่อยู่บ้าง: เกลิกไอริช, เกลิดสกอต, เวลส์ และเบรอตาญ และอีกสองบริเวณที่เพิ่งเริ่มเข้ามาคอร์นิช (หนึ่งในภาษากลุ่มบริทอนิก (Brythonic languages)) และแมงซ์ (หนึ่งในภาษากลุ่มกอยเดล (Goidelic languages)) นอกจากนั้นก็ยังมีการพยายามที่จะฟื้นฟูการใช้ภาษาคัมบริก (Cumbric language) (หนึ่งในภาษากลุ่มบริทอนิกจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษและตะวันตกเฉียงใต้ของสกอตแลนด์)

"เคลต์" บางครั้งก็ใช้ในการบรรยายอาณาบริเวณในแผ่นดินใหญ่ยุโรป ที่มีรากฐานมาจากเคลต์แต่ไม่ได้ใช้ภาษาเคลต์ซึ่งได้แก่บริเวณทางตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรีย (โปรตุเกส) ทางตอนกลางตอนเหนือของสเปน (กาลิเซีย, อัสตูเรียส, กันตาเบรีย, กัสติยาและเลออน, เอซเตรมาดูรา) และบางส่วนของฝรั่งเศส

"เคลต์ยุโรป" (Continental Celtic) หมายถึงผู้ที่พูดภาษาเคลต์บนแผ่นดินใหญ่ยุโรป ส่วน "ชาวเคลต์เกาะ" (Insular Celts) หมายถึงผู้ที่พูดภาษาเคลต์บนหมู่เกาะอังกฤษ ผู้สืบเชื้อสายเคลต์ในบริตตานีที่มาจากชาวเคลต์เกาะจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษจึงจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

ที่มาทางภูมิศาสตร์

[แก้]
อารยธรรมฮัลชตัทและวัฒนธรรมลาแตนโดยทั่วไป
  ศูนย์กลางอาณาบริเวณฮัลชตัท (HaC, 800 ปีก่อน ค.ศ.) สีเหลือง
  บริเวณต่อมาที่ได้รับอิทธิพลของฮัลชตัท (ราว 500 ปีก่อน ค.ศ., HaD) สีเหลืองอ่อน
  ศูนย์กลางอาณาบริเวณลาแตน (450 ปีก่อน ค.ศ.) สีเขียว
  บริเวณต่อมาที่ได้รับอิทธิพลของลาแตน (ราว 50 ปีก่อน ค.ศ.) สีเขียวอ่อน
อาณาบริเวณของกลุ่มเคลต์สำคัญ ๆ ของปลายสมัยลาแตนมีชื่อระบุไว้

กลุ่มภาษาเคลต์เป็นสาขาหนึ่งของตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน เมื่อผู้ใช้ภาษากลุ่มเคลต์เข้ามามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ราว 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช (เมื่อเบรนนัส (Brennus) หัวหน้าเผ่าหนึ่งของกอลโจมตีโรม เมื่อ 387 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก็ได้แยกตัวเป็นกลุ่มภาษาย่อยแล้วและแผ่ขยายไปทั่วยุโรปตอนกลาง คาบสมุทรไอบีเรีย ไอร์แลนด์ และบริเตน

นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าเอิร์นฟีลด์ (Urnfield culture) ของทางด้านเหนือของเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์เป็นบริเวณต้นกำเนิดของเคลต์ที่เป็นอารยธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสาขาอารยธรรมตระกูลอินโด-ยูโรเปียน อารยธรรมนี้มีศูนย์กลางอยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป ระหว่างปลายยุคสำริดตั้งแต่ราว 1200 ปีก่อนคริสต์ศักราชจนกระทั่งถึง 700 ปีก่อนคริสต์ศักราชที่สืบเนื่องมาจากอารยธรรมอูเญชิตเซ (Únětice culture) และอารยธรรมทิวมิวลัส (Tumulus cultures) ระหว่างสมัยอารยธรรมเอิร์นฟีลด์ก็มีขยายจำนวนประชากรขึ้นเป็นจำนวนมากในบริเวณที่ว่าซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการปรับปรุงวิธีการเกษตรกรรม นักประวัติศาสตร์กรีกเอโฟรัส (Ephorus) แห่งไซม์ในเอเชียไมเนอร์บันทึกเมื่อสี่ร้อยปีก่อนคริสต์ศักราชว่าชาวเคลต์มาจากเกาะที่ปากแม่น้ำไรน์ผู้ถูก "ขับจากบริเวณนั้นเพราะสงครามที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ และความรุนแรงเมื่อน้ำทะเลสูงขึ้น"

การเผยแพร่ของการตีเหล็กเป็นการวิวัฒนาการของอารยธรรมฮัลชตัทโดยตรงจากอารยธรรมเอิร์นฟีลด์ (ราว 700 ถึง 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ภาษาเคลต์ดั้งเดิมที่เป็นภาษาที่มาก่อนภาษากลุ่มเคลต์เชื่อกันว่าเป็นภาษาที่ใช้พูดในปลายสมัยเอิร์นฟีลด์หรือต้นสมัยฮัลชตัทเมื่อต้นพันปีก่อนคริสต์ศักราช การแพร่ขยายของกลุ่มภาษาเคลต์ไปยังไอบีเรีย ไอร์แลนด์ และบริเตนสันนิษฐานกันว่าเกิดขึ้นราวครึ่งแรกของพันปีก่อนคริสต์ศักราช -- จากหลักฐานการฝังรถม้ากับผู้ตายที่พบในอังกฤษที่คาดว่าเกิดขึ้นราว 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลายร้อยปีต่อมากลุ่มภาษาเคลต์ก็แบ่งแยกออกเป็นภาษาเคลต์ไอบีเรีย (Celtiberian language), กลุ่มภาษากอยเดล และภาษากลุ่มบริทอนิก

อารยธรรมฮัลชตัทตามมาด้วยวัฒนธรรมลาแตนของยุโรปตอนกลางและระหว่างปลายสมัยยุคเหล็กก็ค่อย ๆ กลายเป็นอารยธรรมเคลต์ แม่น้ำหลายแม่น้ำที่มีชื่อเป็นภาษาเคลต์พบในบริเวณตอนบนของแม่น้ำดานูบและแม่น้ำไรน์ที่นักวิชาการเกี่ยวกับอารยธรรมเคลต์สันนิษฐานกันว่าเป็นบริเวณที่เป็นบ่อเกิดของชาติพันธุ์ (ethnogenesis) เคลต์

นักประวัติศาสตร์กรีกดีโอโดรุส ซีกูลุส (Diodorus Siculus) และสตราโบ (Strabo) ต่างก็สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของอารยธรรมเคลต์อยู่ทางใต้ของฝรั่งเศส ซิคัลลัสกล่าวว่ากอลอยู่ทางเหนือของเคลต์ และโรมันเรียกคนทั้งสองกลุ่มว่า "กอล" ก่อนหน้าที่จะพบอารยธรรมฮัลชตัทและวัฒนธรรมลาแตนเป็นที่เชื่อกันว่าศูนย์กลางของอารยธรรมเคลต์อยู่ทางไต้ของฝรั่งเศส (สารานุกรมบริตานิคา ค.ศ. 1813)

อัลมาโกร-กอร์เบอา[6] เสนอว่าที่มาของอารยธรรมเคลต์เริ่มขึ้นเมื่อสามพันปีก่อนคริสต์ศักราชที่เดิมมีต้นตอมาจากอารยธรรมเบล บีคเคอร์ (Bell Beaker culture) ซึ่งเป็นการทำให้อารยธรรมนี้เผยแพร่ไปทั่วยุโรปตะวันตกและสร้างความแตกต่างในหมู่ชาวเคลต์เอง นอกจากนั้นก็ยังเป็นการก่อสร้างประเพณีโบราณต่าง ๆ

ขณะเดียวกันการค้นคว้าทางด้านพันธุศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีและนักเขียนสตีเฟน ออปเพนไฮเมอร์ก็เสนอว่าเคลต์เป็นชนเมดิเตอร์เรเนียนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสในปลายยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายราว 11,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และตั้งแต่นั้นมาก็อาจจะรวมตัวกับชนกลุ่มบาสก์ดั้งเดิม และขยายตัวไปยังอิตาลี สเปน เกาะอังกฤษ และเยอรมนี ซึ่งตรงกับตำนานที่มาจากเคลต์ที่บันทึกในสมัยกลางของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์ที่กล่าวเป็นนัยยะถึงต้นตอว่ามาจากอานาโตเลีย และต่อมาไอบีเรียโดยทางอียิปต์ แต่ในหนังสือ "ที่มาของชนบริติช" (The Origins of the British) ฉบับปรับปรุง ค.ศ. 2007 ออปเพนไฮเมอร์กล่าวค้านทฤษฎีเดิมว่าทั้งชาวแองโกล-แซกซันและชาวเคลต์ไม่มีอิทธิพลต่อพันธุกรรมของผู้อยู่อาศัยในหมู่เกาะบริเตนเท่าใดนักและบรรพบุรุษของชนบริติชส่วนใหญ่สืบมาจากชนไอบีเรียของยุคหินเก่าที่ปัจจุบันคือชาวบาสก์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Koch, John (2005). Celtic Culture : A Historical Encyclopedia. ABL-CIO. pp. xx. ISBN 978-1851094400.
  2. Britannica (Turkey) People and Culture
  3. Julius Caesar, "Commentarii de Bello Gallico" s:Commentaries on the Gallic War/Book 1: "All Gaul is divided into three parts, one of which the Belgae live, another in which the Aquitani live, and the third are those who in their own tongue are called Celts ("Celtae"), in our language Gauls ("Galli").
  4. (Lhuyd, p. 290) Lhuyd, E. "Archaeologia Britannica; An account of the languages, histories, and customs of the original inhabitants of Great Britain." (reprint ed.) Irish University Press, 1971. ISBN 0-7165-0031-0
  5. Neilson, William A., บ.ก. (1957). Webster's New International Dictionary of the English Language, second edition. G & C Merriam Co. p. 2903.
  6. 2001 p 95. La lengua de los Celtas y otros pueblos indoeuropeos de la península ibérica. In Almagro-Gorbea, M., Mariné, M. and Álvarez-Sanchís, J.R. (eds) Celtas y Vettones, pp. 115-121. Ávila: Diputación Provincial de Ávila.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เคลต์ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศิลปะเคลต์ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ แผนที่เกี่ยวกับเคลต์ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ วัฒนธรรมฮัลชตัท