อัมเบอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัมเบอร์
 
ผงสีอัมเบอร์ดิบ
About these coordinates     รหัสสี
Hex triplet#635147
sRGBB  (rgb)(99, 81, 71)
HSV       (h, s, v)(21°, 28%, 39%)
SourceColorHexa[1]
B: อยู่ในช่วง [0–255] (ไบต์)

อัมเบอร์ (อังกฤษ: umber) เป็นรงควัตถุจากดินสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดงที่มีส่วนผสมไอเอิร์นออกไซด์และแมงกานีสออกไซด์ อัมเบอร์ในรูปธรรมชาติมีสีน้ำตาลเหลืองเรียกว่า อัมเบอร์ดิบ (raw umber) เมื่อผ่านความร้อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเรียกว่า อัมเบอร์เผา (burnt umber) อัมเบอร์ไม่ใช่คำเรียกสีเฉพาะ แต่หมายถึงกลุ่มสีที่แตกต่างตั้งแต่น้ำตาลเหลือง น้ำตาลแดงถึงน้ำตาลเทา ซึ่งสีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับปริมาณไอเอิร์นออกไซด์และแมงกานีสออกไซด์ในดิน[2] อัมเบอร์มีปริมาณแมงกานีสออกไซด์ประมาณ 5–20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีสีเข้มกว่าโอเคอร์และซีเอนนา[3]

อัมเบอร์มาจากคำภาษาอิตาลี terra d'ombra แปลว่าดินแห่งอุมเบรีย ภูมิภาคภูเขาทางตอนกลางของอิตาลีซึ่งเดิมผลิตสารสีนี้[4] นอกจากนี้คำว่าอัมเบอร์อาจเกี่ยวข้องกับคำภาษาละติน umbra ที่หมายถึงเงามืด[2]

การใช้ในงานศิลปะ[แก้]

อัมเบอร์เป็นหนึ่งในสารสีแรก ๆ ที่มนุษย์ใช้งาน โดยพบในจิตรกรรมถ้ำยุคหินใหม่ร่วมกับสีดำ แดงและโอเคอร์[2] ไม่มีการใช้สารสีน้ำตาลเข้มมากนักในศิลปะสมัยกลางเนื่องจากศิลปินนิยมสีที่สดใส เช่น แดง น้ำเงินและเขียว[5] อัมเบอร์ไม่ได้เป็นสีที่ใช้แพร่หลายในยุโรปจนกระทั่งสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตามที่จอร์โจ วาซารี จิตรกรและนักเขียนสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาบันทึกว่าอัมเบอร์เป็นสีค่อนข้างใหม่ในยุคของเขา[6]

ต่อมามีการใช้สีอัมเบอร์อย่างกว้างขวางในยุคบาโรกเพื่อทำให้ภาพมีโทนมืดในค่าต่างแสง การาวัจโจและแร็มบรันต์เป็นสองจิตรกรที่เป็นที่รู้จักจากการใช้สีนี้ในผลงาน[2] โดยแร็มบรันต์มักใช้อัมเบอร์ในการทำให้สีน้ำตาลในภาพดูรุ่มรวยมากขึ้น รวมถึงใช้เป็นสีพื้นและผสมกับสารสีอื่นเพื่อให้ภาพแห้งเร็วขึ้น[7] โยฮันเนิส เฟอร์เมร์เป็นจิตรกรอีกคนที่ใช้อัมเบอร์เพื่อให้เงาบนผนังในภาพดูอบอุ่นและกลมกลืนขึ้น

ล่วงถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จิตรกรลัทธิประทับใจหลายคนต่อต้านการใช้สีอัมเบอร์และสีดินอื่น ๆ กามีย์ ปีซาโรปฏิเสธ "สีดินที่ดูเก่าและทึม" ในจานสีของเขา[8][5] จิตรกรลัทธิประทับใจมักผสมสีน้ำตาลเองจากสีแดง เหลือง เขียว น้ำเงินและสารสีอื่น ๆ โดยเฉพาะสีน้ำเงินโคบอลต์และสีเขียวมรกตซึ่งเป็นสีสังเคราะห์ที่เกิดขึ้นไม่นานในช่วงนั้น[5]

สารสีอัมเบอร์ธรรมชาติเริ่มถูกแทนที่ด้วยสารสีสังเคราะห์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปัจจุบันยังคงมีการผลิตอัมเบอร์ธรรมชาติโดยมีไซปรัสเป็นแหล่งสำคัญ

อ้างอิง[แก้]

  1. "Umber / #635147 hex color". ColorHexa. สืบค้นเมื่อ 2021-11-12.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 St. Clair, Kassia (2016). The Secret Lives of Colour. London: John Murray. p. 250–252. ISBN 9781473630819. OCLC 936144129.
  3. Roelofs & Petillion 2012, p. 30
  4. Shorter Oxford English Dictionary (5th ed.). Oxford University Press. 2002. A red brown earth containing iron and manganese oxides and darker than ochre and sienna, used to make various pigments.
  5. 5.0 5.1 5.2 St. Clair 2016, p. 237.
  6. Thompson 1956, pp. 88–89
  7. "Umber". Pigments through the Ages. WebExhibits.
  8. "Industrialization". Pigments through the ages. WebExhibits.