หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย
ประสูติ29 เมษายน พ.ศ. 2472
ถึงชีพิตักษัย3 มีนาคม พ.ศ. 2519
ราชวงศ์จักรี
ราชสกุลวุฒิชัย
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
มารดาหม่อมประพันธ์ วุฒิชัย ณ อยุธยา

พระประวัติ[1][แก้]

หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย (29 เมษายน พ.ศ. 2472 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2519) เป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ประสูติแต่หม่อมประพันธ์ วุฒิชัย ณ อยุธยา โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า "ไกรสิงห์" เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2472[2]

กรณียกิจและความสนพระทัย[แก้]

หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย มีความสนพระทัยในเพชรพลอยมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย และทรงพัฒนาฝีมือการออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกายจนกระทั่งมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ภายในระยะเวลาไม่นานพระนามของ หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย ได้กลายเป็นสัญลักษณ์และมาตรฐานของไฮแฟชั่นของไทย อาจกล่าวได้ว่าท่านชายคือผู้บุกเบิกยิ่งใหญ่สุดของวงการ ท่านคือผู้ที่ทรงสร้างไฮสไตล์ให้แก่แฟชั่นของที่นี่ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย อันเป็นการพลิกล็อกวงการแฟชั่นของเรา ไม่น้อยไปกว่าคริสเตียน ดีออร์และกระโปรงทรงนิวลุ๊คของเขาที่ประเทศฝรั่งเศส

ท่านหญิงนัง ม.จ.วุฒิเฉลิม วุฒิชัย พระขนิษฐาของท่านชาย ให้สัมภาษณ์ถึงพระเชษฐาของท่านไว้ว่า

“ มาถึงตอนนั้น โก (พระนามเล่นของท่านชายสำหรับน้องเล็กสองพระองค์ที่ประสูติที่ปีนัง เพราะพี่เลี้ยงคนจีนสอนให้เรียกพี่ชายว่าโก) เห็นว่า เราควรส่งเสริมกิจการเหล่าพลอยสีของไทย เพราะนี่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองเรา

ซึ่งทุกคนคงจำกันได้ว่า หลังจากที่โกออกแบบเสื้อสไตล์สากล ใช้ผ้าจากเมืองนอกตัดเย็บได้สักพักใหญ่ โกก็พลันระลึกได้ว่า เราเป็นคนไทยนะ เราจะต้องสนับสนุนผลิตภัณฑ์ไทย ท่านชายจึงหันมาใช้แต่ผ้าประจำประเทศของเราเท่านั้น เริ่มจากไหมไทย ต่อด้วยผ้ามัดหมี่ซึ่งท่านชายเป้นดีไซเนอร์ไทยท่านแรกที่นำมาตัดเย็บออกแบบเป็นไฮแฟชั่น รวมทั้งชุดราตรี ตามด้วยผ้าที่ถักและทอโดยชาวเขา ผ้าซิ่น ผ้าคลาสสิคอีกหลายแบบของเรา

ไม่นานหลังจากนั้น ท่านชายจึงทรงออกแบบเครื่องเพชรแล้วใช้พลอยสี อัญมณีของเราที่มีอยู่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เข้ากับชุดเหล่านี้ เป็นต้นว่าเขียวส่อง บุษราคัม ทับทิมและมรกตไปจนถึงเพทายและโป่งขาม แต่ที่งามและเป็นที่โปรดของโกมากที่สุด ก็คือทับทิมสยาม

สาเหตุอีกหนึ่งประการที่โกใช้พลอยสี ก็เพราะโกเห็นว่า เป็นเรื่องไทย ๆ เข้ากับเราชาวไทย บรรยากาศไทย ผ้าไทย มากกว่าการเล่นเพชรวูบวาบเต็มไปหมด เช่น เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ หรือ กลอเรีย สวอนสัน ของฮอลลีวู้ด

และเมื่อมาถึงตอนนั้นอีกเช่นกัน ที่ท่านชายทรงเห็นว่า เราควรใช้ลายกนกของเราในการดีไซน์ ก็ในเมื่อเรามีเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของเราเอง เราก้ควรประกาศและส่งเสริมศิลปะของบรรพบุรุษให้อย่างเต็มที่ อาจพูดได้ว่า แม้โกจะมีทั้งพรสวรรค์ทางด้านการสร้างสรรค์ก็ตาม แต่ที่แน่วแน่ยิ่งใหญ่สำหรับโก ก็คือความระลึกถึงหน้าที่ ในการเป็นคนไทย ในการเกิดมาในราชวงศ์ของไทยว่าเรามีหน้าที่ๆ จะต้องส่งเสริมประเทศชาติ ทั้งวัฒนธรรมและทรัพยากร ทั้งหมดนี้อยู่ในสายเลือดของโกอย่างหนาแน่นแข็งแรง ไม่ว่าโกจะทำอะไรก็ตาม”

หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย ทรงเป็นศิลปินเอกของประเทศไทย ในด้านการออกแบบเครื่องประดับกาย และเครื่องประดับกายสตรี และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2503 บริษัทการบินไทย ได้เปิดตัวสัญลักษณ์ในแบบแรก เป็นภาพตุ๊กตารำไทย ออกแบบโดยหม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิไชย ซึ่งเป็นนักออกแบบที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยนั้น และยังเป็นผู้ออกแบบเครื่องแบบพนักงานต้อนรับชุดแรกของการบินไทยอีกด้วย[3]

การบินไทยใช้ตราสัญลักษณ์แรกเป็นรูป “ตุ๊กตารำไทย” ซึ่งออกแบบโดย หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย และใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 - 2518

นอกจากนี้หม่อมเจ้าไกรสิงห์ ยังเปิดห้องเสื้อในนาม "ห้องเสื้อไกรสิงห์" เป็นระยะเวลาหลายปี ทำให้พระนามของพระองค์กลายเป็นสัญลักษณ์และมาตรฐานของไฮแฟชั่นไทย โดย "ห้องเสื้อไกรสิงห์" ได้รับการยกย่องอย่างมากเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วว่าเป็นดีไซเนอร์ไทยที่ทำเสื้อชั้นสูงแบบโอร์ตกูตู เนื่องจากทรงตัดชุดวิวาห์ได้งดงามเริดหรูมาก และทรงเป็นผู้ที่ตัดชุดให้อาภัสรา หงสกุล ใช้เป็นชุดในการการเข้าประกวดนางงามจักรวาล จนได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทย

นอกจากนี้หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย ยังทรงมีความสามารถด้านการออกแบบเครื่องประดับ เครื่องเพชร ซึ่งทรงออกแบบฉลองพระองค์และเครื่องเพชรถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์[4]

หม่อมเจ้าไกรสิงห์ มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมหม่อมมารดา ได้แก่ หม่อมเจ้าวุฒิเฉลิม วุฒิชัย, วุฒิสวาท อนุมานราชธน และวุฒิวิฑู พี.เทอเสน

สิ้นชีพิตักษัย[แก้]

หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2519 สิริพระชันษา 47 ปี ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ไปในการพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย ณ เมรุวัดธาตุทอง ในวันพุธ ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2519

หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย

อ้างอิง[แก้]

  1. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย วันพุธ ที่ 23 มิถุนายน 2519.
  2. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย วันพุธ ที่ 23 มิถุนายน 2519.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-02. สืบค้นเมื่อ 2020-07-01.
  4. http://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M8_394.pdf