หม่อมเจ้าขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร
หม่อมเจ้า ชั้น 4
ประสูติ29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2431
ชีพิตักษัย12 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 (37 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์
พระมารดาหม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา

มหาอำมาตย์ตรี หม่อมเจ้าขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร (29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2431 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2468) อดีตผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ และอดีตอัยการ กระทรวงยุติธรรม

พระประวัติ[แก้]

หม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร ทรงเป็นโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ กับหม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2430 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2431) ปีกุน ในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เกษากันต์ ในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

ในปี พ.ศ. 2442 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนราชวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษา

ในปี พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนหลวงออกไปศึกษาวิทยาศาสตร์ที่ยุโรป ได้ศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow school) ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 4 ปี จนสำเร็จการศึกษา

ในปี พ.ศ. 2450 เข้าศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และนิติศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยใช้เวลาศึกษา 3 ปี จนสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต (B.A.) และ นิติศาสตรบัณฑิต (LL.M)

ในปี พ.ศ. 2453 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย ณ กรุงลอนดอน สอบได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ แล้วไปเป็นนักเรียนล่ามประจำอยู่ที่สถานราชทูตสยามแห่งกรุงปารีส และศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ อีก 2 ปี สอบได้ประกาศนียบัตร

ในปี พ.ศ. 2455 เสด็จกลับเข้ามารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ในตำแหน่งผู้ช่วยชั้นที่ 1 กรมที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ในปี พ.ศ. 2456 ได้รับพระราชทานยศเป็น อำมาตย์เอก แล้วได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม สอบได้เป็นเนติบัณฑิตสยาม ในปี พ.ศ. 2459

ในปี พ.ศ. 2457 เป็นเลขานุการกรมที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ในปี พ.ศ. 2461 หลังจากลาผนวชแล้ว ได้เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม ในตำแหน่งอัยการ หลังจากนั้นได้เสด็จออกไปรับราชการเป็นเลขานุการใหญ่ แห่งคณะอัครราชทูตพิเศษสยาม ในการประชุมปรึกษาสัญญาสันติภาพ ณ กรุงปารีส

ในปี พ.ศ. 2462 เสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ และ ในวันที่ 9 เมษายน 2463 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับสำนักงานสำหรับตรวจแลใช้หนี้เชลย[1]

ในปี พ.ศ. 2463 ได้เป็นอาจารย์พิเศษ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

ในปี พ.ศ. 2464 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการเนติบัณฑิตยสภา

ในปี พ.ศ. 2465 เป็นกรรมการสอดส่องความประพฤติทนายความ

ในปี พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการแห่งสภานิติศึกษา และได้รับการเลื่อนยศเป็น "มหาอำมาตย์ตรี" และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมพานทองและเครื่องยศ

ในปี พ.ศ. 2468 มหาอำมาตย์ตรีหม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร ได้รับพระมาหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี[2]

หม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร ประชวรพระโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม เนื่องด้วยปับผาสะอักเสบมาก สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2468 เวลา 2 นาฬิกา 20 นาที สิริพระชันษา 37 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองลายก้านขด ฉัตรเบญจา 4 คัน ตั้งประดับ เมื่อเวลารับพระราชทานน้ำสรงศพ มีประโคมกลองชนะ 10 จ่าปี 1[3]

พระนิพนธ์[แก้]

หม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปฌาย์จารย์ ในขณะที่หม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ ผนวชและจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ศึกษาพระธรรมวินัย สอบได้เป็นนักธรรมชั้นตรี และได้ทรงนิพนธ์หนังสือ "พระไตรรัตน์" ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตำราในการศึกษาพระไตรปิฎกของพระภิกษุสามเณร จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2467

พระยศ[แก้]

พระยศพลเรือน[แก้]

  • มหาอำมาตย์ตรี[4]
  • อำมาตย์เอก[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศกระทรวงยุติธรรม
  2. การพระราชพิธีตั้งองคมนตรี พระพุทธศักราช 2468http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/D/145.PDF
  3. ข่าวสิ้นชีพิตักษัย และประวัติหม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ กระทรวงยุติธรรม
  4. พระราชทานยศ (หน้า ๒๔๘๔)
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานยศ, เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๐๑, ๖ มกราคม ๒๔๖๐
  6. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เล่ม 38 หน้า 3195 ราชกิจจานุเบกษาวันที่ 29 มกราคม 2464
  7. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๕๖, ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๖๗
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๔, ตอน ๐ ง, ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐, หน้า ๙๔๗