สายตรงมอสโก–วอชิงตัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โทรศัพท์สีแดงในสมัยของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์

สายตรงมอสโก–วอชิงตัน คือระบบที่ใช้สำหรับติดต่อโดยตรงระหว่างผู้นำของสหรัฐอเมริกากับรัสเซียโดยอาจรู้จักกันในอีกชื่อคือ โทรศัพท์สีแดง สายตรงนี้เชื่อมต่อระหว่างทำเนียบขาวผ่านทางศูนย์บัญชาการทหารแห่งชาติ (National Military Command Center) กับเครมลิน สายตรงเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงของสงครามเย็น ปัจจุบันไม่มีการใช้โทรศัพท์สีแดงดังกล่าวแล้ว แต่ช่องทางสายตรงนี้ยังคงมีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางการลดความเสี่ยงจากนิวเคลียร์ (Nuclear Risk Reduction Center) ที่ตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1988 โดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

การจัดตั้งในตอนต้น[แก้]

สายตรงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากข้อตกลงที่ตัวแทนของทั้งสองชาติลงนามไว้ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1963 ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในชื่อของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสายสื่อสารตรง หลังจากที่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาชี้ให้เห็นว่าการติดต่อสื่อสารโดยตรงและเชื่อถือได้ระหว่างสองชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็น ในช่วงของวิกฤตการณ์ สหรัฐอเมริกาใช้เวลาเกือบ 12 ชั่วโมงในการรับและถอดรหัสข้อความเบื้องต้นความยาว 3,000 คำจากนิกิตา ครุสชอฟ เวลาที่ใช้นี้ถือเป็นเวลาที่นานจนเป็นอันตรายโดยเฉพาะเมื่อกำลังอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงภัยทางนิวเคลียร์ โดยในขณะที่ฝั่งสหรัฐอเมริกากำลังร่างคำตอบกลับ ข้อความที่แข็งกระด้างมากขึ้นจากมอสโกก็ส่งมาถึงโดยเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาถอนขีปนาวุธของตนในตุรกีออก ที่ปรึกษาในทำเนียบขาวหลายคนเห็นว่าวิกฤตในครั้งนี้จะสามารถหาทางแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงได้ หากการสื่อสารทำได้รวดเร็วกว่านี้

เทคโนโลยีและกระบวนการ[แก้]

สายตรงในยุคแรกนั้นไม่มีเสียงส่งถึงกัน บันทึกความเข้าใจที่ทั้งสองฝ่ายลงนามเรียกร้องเพียงให้มีการส่งสัญญาณโทรเลขไปกลับระหว่างกันเท่านั้น โดยมีเหตุผลว่าการสื่อสารทางเสียงอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดและไม่เข้าใจกันได้ สายส่งสัญญาณนี้เชื่อมต่อโดยใช้เส้นทาง Washington, D.C.LondonCopenhagenStockholmHelsinkiMoscow โดยสายส่งวอชิงตัน – ลอนดอนนั้นใช้เรือดำน้ำ TAT-1 เรือดำน้ำถือสายสื่อสารข้ามทวีปแอตแลนติกลำแรก ส่วนสายสื่อสารอีกเส้นใช้เส้นทาง Washington, D.C. – Tangier – Moscow

ผู้นำที่จะสื่อสาร จะส่งข้อความโดยใช้ภาษาของตนเอง แล้วจึงถูกแปลเป็นอีกภาษาที่ปลายทาง [1]

การใช้งาน[แก้]

สายตรงนี้ถูกใช้งานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 ในช่วงของสงครามหกวัน สงครามระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล โดยทั้งสองชาติมหาอำนาจใช้แจ้งการเคลื่อนไหวทางการทหารของตนเองซึ่งอาจกำกวมหรือยั่วยุฝ่ายตรงข้ามได้ ซึ่งความตึงเครียดในขณะนั้นคือการเข้าใกล้กันระหว่างกองเรือทะเลดำของโซเวียตกับกองเรือที่ 6 ของสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจเกิดการเข้าใจผิดกันได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการใช้ครั้งอื่นๆ ในช่วงของสงครามอินเดีย-ปากีสถานปี ค.ศ. 1971 ในช่วงของสงครามยมคิปปูร์ (สงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลปี ค.ศ. 1973) ในช่วงของการรุกรานไซปรัสของตุรกีปี ค.ศ. 1974 ในช่วงของการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตปี ค.ศ. 1979 และอีกหลายครั้งในสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เมื่อโซเวียตตั้งข้อสงสัยถึงสงครามเลบานอน และความเห็นของสหรัฐอเมริกาในเรื่องการประกาศกฎอัยการศึกในโปแลนด์[2]

การติดตั้งครั้งถัดมา[แก้]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1971 ระบบถูกปรับปรุงใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทั้งนี้ทั้งสองชาติต่างเห็นพ้องกันในว่าเหตุการณ์ใดบ้างที่ควรใช้สายตรงนี้ กล่าวคือทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะแจ้งเตือนอีกฝ่ายทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุบัติเหตุหรือไม่ได้รับอนุญาตหรือยากที่จะอธิบายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้ [3][4][5]

โทรศัพท์ถูกติดตั้งขึ้นมาแทนที่ โดยเชื่อมต่อดาวเทียมหลายดวงเข้าด้วยกัน โดยมีดาวเทียม Intelsat ของสหรัฐฯ 2 ดวง และดาวเทียม Molniya II ของโซเวียตอีก 2 ดวง เชื่อมต่อกัน การปรับปรุงครั้งนี้ใช้เวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 ถึง 1978 ในระหว่างการปรับปรุง มีการเลิกใช้สายส่งสัญญาณวิทยุ Washington-Tangier-Moscow

การปรับปรุงครั้งล่าสุด[แก้]

รอบการปรับปรุงครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1986 โดยทางสหภาพโซเวียตได้เปลี่ยนมาใช้ดาวเทียมวงโคจรประจำที่ Statsionar และมีการเพิ่มระบบโทรสารเข้ามาเพื่อให้ผู้นำระหว่างสองชาติสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นเอกสารหรืออื่นๆได้ เพิ่มเติมจากการสื่อสารในรูปแบบของโทรเลขและโทรศัพท์ และในปีค.ศ. 2012 มีการเสนอให้เพิ่มหัวข้อ"สงครามไซเบอร์"ให้เข้าไปในหัวข้อที่อาจพูดคุยบนสายตรงนี้

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์[แก้]

เครื่องโทรเลขจากประเทศเยอรมนีตะวันออกที่ใช้ในสายตรงที่จัดตั้งในปี ค.ศ. 1963 ปัจจุบันถูกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์การเข้ารหัสลับแห่งชาติซึ่งตั้งอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกาในรัฐแมรีแลนด์

สายด่วนนิวเคลียร์อื่นๆ[แก้]

สายตรงนิวเดลี– อิสลามาบาด[แก้]

อินเดียกับปากีสถานจัดตั้งสายตรงระหว่างกันขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2004[6] ทั้งนี้สายตรงนี้ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความช่วยเหลือของกองทัพสหรัฐ

สายตรงวอชิงตัน– ปักกิ่ง[แก้]

สหรัฐอเมริกากับจีนจัดตั้งสายตรงทางกลาโหมขึ้นในปี ค.ศ. 2008 ทว่าไม่มีการใช้งานเมื่อเกิดวิกฤตนัก[7]

สายตรงโซล– เปียงยาง[แก้]

เกาหลีเหนือและใต้จัดตั้งสายตรงระหว่างกันขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1972 เพื่อสามารถติดต่อกันระหว่างโซลกับเปียงยางได้เปิดใหม่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ ทศวรรษ 1950 หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง โดยสายด่วนนี้ได้รับการปรับปรุงโดยกาชาดสากล [8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Kennedy, Bruce (1998). "CNN Cold War – Spotlight: The birth of the hot line". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-23. สืบค้นเมื่อ 18 March 2011.
  2. Stone, Webster (September 18, 1988). "Moscow's Still Holding". The New York Times.
  3. Jozef Goldblat (International Peace Research Institute) (2002). Arms control. Sage. pp. 301–302. ISBN 0-7619-4016-2.
  4. Coit D. Blacker, Gloria Duffy (Stanford Arms Control Group) (1984). International arms control. Standford University Press. ISBN 0-8047-1211-5.
  5. James Mayall, Cornelia Navari. The end of the post-war era. Cambridge University Press. pp. 135–137. ISBN 0-521-22698-8.
  6. "The Independent—Monday, June 21, 2004--"India and Pakistan to Have Nuclear Hotline":". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-04. สืบค้นเมื่อ 2012-10-24.
  7. Gienger, Viola (13 May 2011). "China-U.S. Defense Hotline Shows Gulf Between Nations". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 5 March 2012.
  8. Lim Chang-Won (AFP) (July 3, 2013). "N. Korea restores hotline with South: Seoul officials". AFP via Google. สืบค้นเมื่อ July 4, 2013.