วิทยาสถานพุทธสาสนบัณฑิตย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาสถานพุทธสาสนบัณฑิตย์
វិទ្យាស្ថានពុទ្ធសាសនបណ្ឌិត្យ
ชื่ออื่นBuddhist Institute
สถาปนา25 มกราคม พ.ศ. 2473
ผู้สถาปนาสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์
ศรีสว่างวงศ์
ปีแยร์ ปัสกีเยร์
ยอร์ช เซเดส์
อธิบดีงวน วัน จันที
ที่ตั้ง, ,

วิทยาสถานพุทธสาสนบัณฑิตย์ (เขมร: វិទ្យាស្ថានពុទ្ធសាសនបណ្ឌិត្យ, วิทยาสถานพุทธสาสนบณฺฑิตฺย; ฝรั่งเศส: Institut Bouddhique) คือสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาของรัฐบาลกัมพูชา ตั้งอยู่ในแขวงโตนเลบาสัก เขตจ็อมการ์มน กรุงพนมเปญ[1] สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2473 โดยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ พระมหากษัตริย์กัมพูชา สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ พระมหากษัตริย์ลาว ปีแยร์ ปัสกีเยร์ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนของฝรั่งเศส และยอร์ช เซเดส์ หัวหน้าสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ[2] เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ต้องการให้พระสงฆ์เขมรเข้าไปศึกษาภาษาบาลีและศาสนาพุทธที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นความพยายามที่จะลดอิทธิพลทางวัฒนธรรมของไทยที่มีต่อกัมพูชามายาวนานตั้งแต่อาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา[3]

ประวัติ[แก้]

วิทยาสถานพุทธสาสนบัณฑิตย์ เดิมมีชื่อว่า โรงเรียนบาลี หรือ สาลาบาลี (សាលាបាលី) ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2452 ขึ้นที่เมืองเสียมราฐ แต่รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งปิดโรงเรียนแห่งนี้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2454 เพราะตัวโรงเรียนตั้งอยู่ไกลจากเมืองหลวง[3] จึงย้ายมาตั้งถาวรที่กรุงพนมเปญ ภายใต้การดูแลของกระทรวงรัฐบาลอาณานิคม และมีสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศคอยให้คำปรึกษา กระทั่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 ข้าหลวงใหญ่แห่งฝรั่งเศสมีแนวคิดที่จะจัดตั้งให้เป็นหอสมุด ใช้ชื่อว่า เขมรบัณณาลัย (ខ្មែរបណ្ណាល័យ)[4] ครั้นวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2468 จึงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งว่า พระราชบัณณาลัย (រាជបណ្ណាល័យ) ภายใต้การดูแลของกษัตริย์กัมพูชา เรสิดังชั้นสูงประจำกัมพูชา และซูซาน การ์แปล (Suzanne Karpels) สมาชิกสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ปฏิบัติหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ใหญ่[4]

สุดท้ายวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2474 พระราชบัณณาลัย ได้เปลี่ยนฐานะเป็น พุทธสาสนบัณฑิตย์ (ពុទ្ធសាសនបណ្ឌិត្យ) โดยมีซูซาน การ์แปล เป็นผู้อำนวยการ[4]

บทบาท[แก้]

ห้องสมุดเคลื่อนที่เมื่อ พ.ศ. 2474

วิทยาสถานพุทธศาสนบัณฑิตย์มีหน้าที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่พระสงฆ์ด้านโรงเรียนปริยัติชั้นสูง มีหน้าที่เก็บรวบรวม รักษา และพิมพ์เผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี และจดหมายที่มีประโยชน์แก่กัมพูชา เช่น จัดทำบัญชีเอกสารจากพระบรมราชวังและจากเสนาบดีทุกกรม รวบรวมคัมภีร์ใบลานและศาสนภัณฑ์ต่าง ๆ จากวัด เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีแผนกพิมพ์หนังสือศาสนา หนังสือนิทาน หนังสือวิชาการ จัดทำศูนย์คัดลอกใบลาน[4] ถือว่าเป็นคลังความรู้ของชาวเขมรในยุคสมัยก่อน[5] อีกทั้งยังมีบทบาทในการตีพิมพ์วารสาร กัมพุชสุริยา ซึ่งเป็นวารสารรายเดือนหัวก้าวหน้าของกัมพูชาตั้งแต่ พ.ศ. 2469 มีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ศาสนา รวมไปถึงการสอบชำระและตีพิมพ์วรรณคดี ภายหลังได้ตีพิมพ์นวนิยายออกเป็นตอน ๆ อีกด้วย[3]

อย่างไรก็ตาม เดวิด แชนด์เลอร์ แสดงความคิดเห็นว่าเอกสารของพุทธสาสนบัณฑิตย์ยังจำกัดอยู่กับนิทานพื้นบ้าน คัมภีร์ในศาสนาพุทธ และเอกสารของราชสำนักเท่านั้น แต่เอกสารสำคัญอย่างพงศาวดารกัมพูชาฉบับเขมรกลับไม่เคยตีพิมพ์ออกมาแต่ประการใด[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Buddhist Institute, About
  2. Marston, John Amos; Elizabeth Guthrie (2004). History, Buddhism, and new religious movements in Cambodia. University of Hawaii Press. p. 76. ISBN 0-8248-2868-2.
  3. 3.0 3.1 3.2 ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (เมษายน–มิถุนายน 2558). พัฒนาการวรรณกรรมเขมรสมัยใหม่. วารสารกึ่งวิชาการ 36(2) : 70
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (เมษายน–มิถุนายน 2558). พัฒนาการวรรณกรรมเขมรสมัยใหม่. วารสารกึ่งวิชาการ 36(2) : 71
  5. 5.0 5.1 ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (เมษายน–มิถุนายน 2558). พัฒนาการวรรณกรรมเขมรสมัยใหม่. วารสารกึ่งวิชาการ 36(2) : 72

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]