วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นวิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2557 ในหลักสูตรสาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์

ประวัติ[แก้]

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือนั้น ทางสภามหาวิทยาลัยได้มีมติจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ ตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายก้าวไกลสู่สากลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสอดรับกับที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ในปี พ.ศ. 2558 โดย AEC มีเป้าหมายในการทำให้อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งในด้านธุรกิจการซื้อขายสินค้าและบริการ ตลอดจนการลงทุนข้ามประเทศ แรงงาน และตลาดทุน ซึ่งหมายถึงความจำเป็นการในพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านธุรกิจ และการค้าระหว่างประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ วิทยาลัยนานาชาติ มจพ. เน้นการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโลกโดยลำดับ โดยจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ ด้านบริหารธุรกิจในระดับปริญญาตรีใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอน วิทยาลัยนานาชาติ มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน คือ ผลิตบัณฑิตและสร้างองค์ความรู้และงานวิจัย ในด้านการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์ ด้านการบัญชี ด้านนิเทศศาสตร์และการบริหารการตลาดระหว่างประเทศ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และส่งเสริมความร่วมมือทางด้านวิชาการในการแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักศึกษากับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ตอบสนองความต้องการกำลังคนภาคการผลิต และบริการในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และเป็นแหล่งสนับสนุนแหล่งข้อมูลและสารสนเทศ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เพื่อส่งเสริมการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณะ

หลักสูตร[แก้]

        วิทยาลัยนานาชาติ มจพ. เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีทั้งหมด 1 สาขาวิชา ได้แก่

  • สาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์ (International Trade and Business Logistics)

นอกจากจัดการศึกษาในศาสตร์ต่างๆ ข้างต้น ซึ่งเป็นการสร้างบุคลากรรองรับธุรกิจข้ามชาติ ก่อให้เกิดการบริการด้านการศึกษา วิจัยที่เกี่ยวกับธุรกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นความเป็นนานาชาติในการผลิตบัณฑิตมืออาชีพในอนาคต ให้มีความรู้ความสามารถในวิชาการ ทักษะชีวิตที่จำเป็น ทัศนคติในการดำเนินชีวิต เรียนรู้ความสัมพันธ์ต่างวัฒนธรรมและสนับสนุนความสัมพันธ์ต่างวัฒนธรรม เผยแพร่ แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทยต่อวัฒนธรรมนานาชาติเพื่อสร้างเสริมการพัฒนาในมิติต่างๆ อย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการ 3+1 สองปริญญา ไทย-เยอรมัน[แก้]

โครงการ 3+1 สองปริญญา ไทย-เยอรมัน เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ Hochschule Bremerhaven สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาแบบ สองปริญญา ซึ่งนักศึกษาจะศึกษาที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัด 3 ปี และที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญา 1 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจากทั้ง 2 สถาบัน (ปริญญา 2 ใบ) ทั้งนี้ โครงการ 3+1 สองปริญญา ไทย-เยอรมัน เป็นการดำเนินการแบบสองทางอย่างเท่าเทียม กล่าวคือ มีการคัดเลือกนักศึกษาจากทั้งสองสถาบันคู่สัญญาเข้าร่วมโครงการ ทั้งฝั่งไทย และ ฝั่งเยอรมนี เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีการศึกษา 2562

  • หลักสูตรฝ่ายวิทยาลัยนานาชาติ มจพ. คือ สาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์
  • หลักสูตรฝ่าย Hochschule Bremerhaven คือ
    • สาขา Betriebswirtschaftslehre (Business Administration)
    • สาขา Cruise Tourism Management

ณ ปี 2565 มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจากทั้งนักศึกษาไทย และ นักศึกษาเยอรมัน รวม 4 รุ่น

สัญลักษณ์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ[แก้]

เข็มทิศ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการหาทิศเพื่อการเดินทางมาแต่ครั้งโบราณกาลทำให้มนุษยชาติสามารถเดินทางติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้กว้างไกลนับแต่อดีตตราบปัจจุบัน ใจกลางเข็มทิศนิยมประดับสัญลักษณ์ดาวแฉกแทน "ดาวเหนือ" ซึ่งปรากฏสุกสว่างในยามราตรีที่ใช้หาทิศยามไร้แสง เข็มทิศจึงถูกเลือกเป็นสัญลักษณ์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ มจพ. โดยมีความหมายดังนี้:

เข็มทิศชี้ที่ทิศเหนือเสมอ หมายถึง ความแน่วแน่ มั่นคง ความมีจริยธรรมเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง ไม่หลงเดินทางผิด

ดาวเหนือ หมายถึง ความรู้ที่ช่วยนำทางในยามมืดมน

นอกจากนี้ เข็มทิศซึ่งจะชี้ไปทางทิศเหนือยังหมายถึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ สาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหลักสูตรก่อตั้งของวิทยาลัยนานาชาติ

อาคารเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวก[แก้]

วิทยาลัยนานาชาติ มีอาคารเรียน 1 อาคาร คือ อาคาร 95 ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เป็นอาคารเรียนสูง 6 ชั้น และ มีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ตั้งอยู่ติดกับอาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การกีฬา และ หอพักนักศึกษา มีห้องเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาและบุคลากร ดังต่อไปนี้

  • ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมนักศึกษา มีห้อง Student Lounge, English Corner และ Student Union (ห้องสโมสรนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ)
  • ชั้น 1 เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ มีส่วนรับรองผู้มาเยือนและพักผ่อนของนักศึกษา และห้อง Exhibition Room สำหรับจัดกิจกรรมและนิทรรศการ
  • ชั้น 2 สำนักงานคณบดี และ ห้องพักอาจารย์
  • ชั้น 3 ห้องพักอาจารย์ ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และ ห้อง Self-Study
  • ชั้น 4 ห้องเรียน และ ห้องซ้อมดนตรี (IC Music Club) สำหรับเป็นพื้นที่ส่งเสริมทักษะและความคิดสร้างสรรค์
  • ชั้น 5 ห้องเรียน
  • ชั้น 6 ห้องเรียน และ IC Fitness Center ซึ่งประกอบด้วย ห้องเรียนวิชาศิลปะการป้องกันตัว และ ห้องออกกำลังกาย

ห้องเรียนของวิทยาลัยนานาชาติได้รับการติดตั้งระบบ Smart Classroom ซึ่งนำจอ interactive มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน พื้นที่นอกอาคารส่วนหนึ่งจัดเป็นสวนหย่อมร่มรื่นและบ่อปลาคาร์ฟเพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนของนักศึกษาและผู้มาติดต่อ

กิจกรรมส่งเสริมการศึกษา[แก้]

กิจกรรมทัศนศึกษาดูงานในประเทศ[แก้]

วิทยาลัยนานาชาติมีการจัดทัศนศึกษาดูงานภายในประเทศอย่างต่อเนื่องในทุกภาคการศึกษา เพื่อเปิดโลกทัศน์ ส่งเสริมความรู้ที่มิได้มีอยู่เพียงในห้องเรียน ทั้งยังเป็นโอกาสให้นักศึกษาได้แสวงหาความสนใจในสายวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา

กิจกรรมทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศ[แก้]

โครงการสัมมนาทางวิชาการและศึกษาดูงานนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์ของวิทยาลัยนานาชาติ เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้แก่นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ มจพ. มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ของนักศึกษา ผ่านการศึกษาดูงานและเรียนหลักสูตรระยะสั้นในต่างประเทศ

  • กิจกรรมทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศ ครั้งที่ 1 (2560): มาเลเซีย-สิงคโปร์
  • กิจกรรมทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศ ครั้งที่ 2 (2562): ไต้หวัน-คุราชิกิ-โกเบ-เกียวโต-โอซากา
  • กิจกรรมทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศ ครั้งที่ 3 (2563) : มาเก๊า-โตเกียว-ฮอกไกโด

[งดจัดกิจกรรมในระหว่างปี 2564-2565 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19]

  • กิจกรรมทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศ ครั้งที่ 4 (2566) : ไต้หวัน-โอะกินะวะ-ฟุกุโอกะ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]