วันพระราชทานธงชาติไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงชาติไทย

วันพระราชทานธงชาติไทย (อังกฤษ: Thai National Flag Day) เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460[1] สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเสนอให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย และในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ที่ประชุมซึ่งนำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ[2] รวมทั้งกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ โดยการกำหนดวันธงชาติของต่างประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และการสร้างชาติของแต่ละประเทศ[3]

กิจกรรม 100 ปี ธงชาติไทย[แก้]

ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐบาลประกาศให้มีกิจกรรมวันพระราชทานธงชาติไทยนั้น ถือเป็นปีที่มีการจัดกิจกรรมครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทยด้วย ในวันที่ 28 กันยายน ที่ตึกไทยคู่ฟ้า และตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล จึงมีการจัดกิจกรรมครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย และมีนิทรรศการวันพระราชทานธงชาติไทย ชื่อว่า "100 ปี ธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ" โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในกิจกรรมครั้งนี้ โดยมีส่วนราชการต่าง ๆ มาร่วมในพิธีนี้ด้วยตั้งแต่เวลา 07:45 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์ รับการเคารพจากหมู่เชิญธง และมอบธงชาติไทยแก่หัวหน้าชุดหมู่เชิญธง จากนั้นชุดหมู่เชิญธงนำธงชาติไทยที่ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรี มายังบริเวณแท่นหน้าเสาธง ขณะที่นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี พร้อมกันยังจุดบริเวณแท่นหน้าเสาธง ตึกสันติไมตรี เพื่อยืนเคารพธงชาติไทย และร่วมร้องเพลงชาติไทยในเวลา 08:00 น. จากนั้นเปิดนิทรรศการวันพระราชทานธงชาติไทย พร้อมทั้งมอบตราสัญลักษณ์ ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 กันยายน 2460. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ครม. เห็นชอบ ให้วันที่ 28 ก.ย. เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย โดยไม่นับเป็นวันหยุด". มติชน. 20 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "วันพระราชทานธงชาติไทย วาระครบรอบ 100 ปี". เอ็มไทย. 28 กันยายน 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-02. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "100 ปี ธงชาติไทย ประวัติศาสตร์ธงไตรรงค์ รวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียว". กระปุก.คอม. 28 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)