วัดไชยทิศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไชยทิศ
อุโบสถ
แผนที่
ที่ตั้ง543 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อเพชร
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อสุโขทัย
เจ้าอาวาสพระครูพิศิษฏ์ชัยโชติ (สำรวย โชติวโร)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดไชยทิศ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย อยู่ในแขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่เศษ ด้านทิศตะวันออก ด้านหน้าวัดมีเขตติดต่อกับคลอง เรียกกันว่าคลองวัดไชยทิศ

ประวัติ[แก้]

คาดว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยดูจากสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถซึ่งยังหลงเหลืออยู่ จากคำบอกเล่า คาดว่าสร้างวัดนี้พร้อมวัดไชยชิตคือวัดบางขุนนนท์ บางท่านเล่าว่า เจ้ากรมฝ่ายพระราชวังหลัง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นหลังจากมีชัยชนะต่อข้าศึก หากวัดนี้สร้างขึ้นพร้อมวัดไชยชิต (บางขุนนนท์) จริงตามคำบอกเล่า ก็สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่อีกแหล่งข้อมูลหนึ่งสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ประมาณ พ.ศ. 2370 พร้อมประกาศสร้างวัด[1]

อาคารเสนาสนะและจิตรกรรมฝาผนัง[แก้]

พระประธานในอุโบสถ

อาคารเสนาสนะ[แก้]

พระอุโบสถขนาดกลางประมาณ 3 ห้อง คาดว่าสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมไม่มีช่อฟ้าใบระกา แต่การบูรณะในระยะหลังได้ต่อเติมเพิ่มขึ้นมา มีพาไลคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลังทำให้บริเวณมุกด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถมีหลังคาคลุมกันฝน ใบเสมาของพระอุโบสถแกะสลักจากหินทรายขนาดเล็ก มีการก่อแท่นฐานตกแต่งด้วยลายปูนปั้นประดับ เรียกว่า เสมานั่งแท่น เมื่อพิจารณาจากพาไลและเสมานั่งถือ เป็นเอกลักษณ์โบสถ์สมัยตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา

วิหารฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นอาคารทรงไทย หลังคาสองชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หัวนาค หลังคามุงด้วยกระเบื้องมอญ หน้าบันแกะสลักลายนกเปลวกอปรด้วยภาพราหูอมจันทร์ ลงรักปิดทองประดับกระจก มีรวงผึ้ง และนาคห้อย ซุ้มประตู และซุ้มหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายดอกไม้และใบไม้ ประดิษฐาน หลวงพ่อเพชร เป็นพระประธาน หลวงพ่อสุโขทัย พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย วิหารมีกำแพงแก้วและซุ้มประตูกำแพงทั้งสี่ทิศ พระปรางค์ ฐาน 2 ชั้น[2] ฐานชั้นล่างกลมประดับด้วยลูกมะหวด ฐานชั้นที่ 2 แบบ 8 เหลี่ยม

หอระฆังก่ออิฐถือปูนสองชั้น ศิลปะแบบซุ้มกอทิก หลังคาก่อเป็นพระเจดีย์ทรงกลม ประดับด้วยชามสี ศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์เทศน์ ลักษณะเป็นรูปทรงบุษบก ไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี ซึ่งได้รับพระราชทานในรัชสมัยรัชกาลที่ 4

จิตรกรรมฝาผนัง[แก้]

จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ บ้างสันนิษฐานว่าน่าจะเขียนขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลายและมีการซ่อมแซมงานในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึง 3 งานซ่อมแซมที่สามารถระบุได้ว่าซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นภาพทหารชาวเปอร์เซีย ภาพฝรั่งรุ่นเก่า[3]

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ เขียนไว้เต็มฝาผนังทั้ง 4 ด้าน แต่ภาพบางส่วนเสียหายจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2485 โดยเฉพาะบริเวณระหว่างช่องประตูหน้าต่างที่น้ำท่วมถึง กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการอนุรักษ์เมื่อต้นทศวรรษ 2550 ภาพฝาผนังส่วนเหนือช่องประตูหน้าต่างที่อยู่ด้านข้างพระประธานเขียนลายดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้สวรรค์ที่ล่วงลงมาตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ผนังด้านหลังพระประธานเหนือช่องประตูเขียนเป็นภาพไตรภูมิตามขนบสมัยอยุธยา มีภาพพุทธประวัติแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ การแสดงธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ และการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติจากคัมภีร์ปฐมสมโภช เช่น ภาพตอนพระอินทร์อาราธนาพระโพธิสัตว์อุบัติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพพระพุทธมารดาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพพระพุทธบิดาประกอบพิธีแรกนาขวัญและเจ้าชายสิทธัตถะได้ปฐมฌาน ภาพอสิตดาบสทำนายเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพเสด็จออกมหาภิเนษกรม[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2526). หน้า 66
  2. "ชวนไปส่องภาพจิตรกรรมโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายที่ วัดไชยทิศ". goodlifeupdate.com.
  3. "ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ วัดไชยทิศ กรุงเทพ" (PDF). คลังปัญญา.
  4. "วัดไชยทิศ บางขุนศรี". สถาบันไทยศึกษา.