ไตรภูมิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไตรภูมิ หรือ ไตรโลก (หมายถึง สามโลก) ซึ่งเป็นคติเกี่ยวกับโลกสัณฐานตามความเชื่อในศาสนาพุทธ ไตรภูมิประกอบด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ สัตวโลกทั้งหลายก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในไตรภูมินี้จนกว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์

ศาสนาพุทธ[แก้]

กามภูมิ[แก้]

กามภูมิ (หรือกามโลก) แบ่งเป็น 11 ส่วนย่อยได้แก่

ทุคติภูมิ
  1. นรกภูมิ
  2. เปรตภูมิ
  3. อสูรกายภูมิ
  4. เดรัจฉานภูมิ
สุคติภูมิ
  1. มนุสสภูมิ
  2. จาตุมหาราชิกา
  3. ดาวดึงส์
  4. ยามา
  5. ดุสิต
  6. นิมมานรดี
  7. ปรนิมมิตวสวัตดี

รูปภูมิ[แก้]

รูปภูมิ (หรือรูปโลก) แบ่งเป็น 16 ชั้น เป็นที่สถิตของพระพรหม (ตามคติของพราหมณ์) พระพรหมที่จะสถิตอยู่จะต้องบำเพ็ญฌาน แบ่งออกเป็น ปฐมฌานภูมิ 3 ทุติยฌานภูมิ 3 ตติยฌานภูมิ 3 และจตุตฌานภูมิ 7

อรูปภูมิ[แก้]

อรูปภูมิ (หรืออรูปโลก) แบ่งเป็น 4 ชั้น เป็นที่สถิตของพระพรหมระดับสูงซึ่งไม่มีรูปกาย ชั้นที่ 1 อากาสานัญจายตนภูมิ ชั้นที่ 2 วิญญาณัญจายตนภูมิ ชั้นที่ 3 อากิญจัญญายตนภูมิ ชั้นที่ 4 เป็นภูมิชั้นสูงสุดในไตรภูมิ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

ไตรภูมิในสถาปัตยกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[แก้]

เขมร[แก้]

คติความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ปรากฏมากมายในวัฒนธรรมเขมร เมื่อมาสมัยการสร้างเมืองพระนครของพระเจ้ายโศวรมันที่ 2 ก็ได้มีการนำคติไตรภูมิซึ่งสืบต่อมาจากอินเดียคือ มีภูเขาศักดิ์สิทธิ์อยู่กลางเมืองเป็นสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่ประทับของเทวดา โดยพระเจ้ายโศวรมันทรงเลือกเขาพนมบาแค็งเป็นศูนย์กลางแห่งเมืองพระนคร และสร้างปราสาทพนมบาแค็งเป็นปราสาท 5 หลังซึ่งมีหลังหนึ่งอยู่ตรงกลางและอีก 4 หลังอยู่ 4 มุมนั้น แสดงถึงยอด 5 ยอดของเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่ประทับของเทวดา บนยอดเขาพระสุเมรุนั้นเป็นที่ประทับของเทวดา 33 องค์ คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ศาสตราจารย์ฟิลลิโอซาต์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเขาพนทบาแค็งนั้น ถ้าเรามองดูจากเฉพาะฐานแต่ละด้านเราจะเห็นเฉพาะปราสาท 33 หลัง สำหรับปราสาทที่เหลือนั้นจะมองไม่เห็น ดังนั้นเขาพนมบาแค็งจึงเป็นเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่ประทับของเทวดาและศูนย์กลางของมนุษยโลก

ลาว[แก้]

ความเชื่อเรื่องศูนย์กลางจักรวาลของเขาพระสุเมรุอันหมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ปรากฏคติความเชื่อนี้ที่ลาวด้วย เช่นในเรื่องของยอดจั่วหัวท้ายของอุโบสถที่เรียกว่า สิม (ที่ภาคกลางก็คือช่อฟ้านั่นเอง) สิมทำเป็นรูปปราสาทและที่สำคัญคือประดับอยู่สันหลังคาโดยมีความหมายถึงปราสาทของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สิมจึงเสมือนเป็นศูนย์กลางจักรวาลนั่นเอง

พม่า[แก้]

คติความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ก็ปรากฏมายมายที่พม่าด้วยเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการสร้างเมือง การสร้างปราสาทราชวังที่มีคูน้ำล้อมรอบอันแสดงถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาลที่มีมหานทีสีทันดอนล้อมรอบด้วย เช่น พระราชวังมัณฑเลย์ที่สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2400-2402 โดยพระเจ้ามินดงเพื่อเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามคติพุทธศาสนา

นอกจากนี้ ก็ปรากฏคติความเชื่อเรื่องศูนย์กลางแห่งจักรวาลในงานศิลปกรรมอีกมากมายในงานสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น การสร้างเจดีย์ของพม่าส่วนใหญ่ก็จะสร้างในคติการสร้างเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศธาตุและพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า คือเจดีย์จุฬามณีที่พระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตัวอย่างเช่น อุบาลีเถียน เมืองพุกาม ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังก่อด้วยอิฐ ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่ง ภายนอกอาคารมีเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กประดับอยู่ที่กลางสันหลังคา ซึ่งอาจมีความหมายถึงเจดีย์จุฬามณีที่ประดิษฐานพระเกศธาตุและพระเขี้ยวแก้ว พระอินทร์สร้างไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอีกที่ เจดีย์สินพยุเมที่เมืองมินคุนซึ่งพระเจ้าพะคยีดอทรงสร้างใน พ.ศ. 2359 ก่อนที่จะเสวยราชย์ เจดีย์องค์นี้เปรียบเสมือนพระเจดีย์จุฬามณีซึ่งตั้งอยู่เหนือเขาพระสุเมรุอันป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลตามความเชื่อถือเกี่ยวข้องกับไตรภูมิในพุทธศาสนา คือ มีแผนผังเป็นรูปวงกลมประกอบด้วยลานซ้อนขึ้นไป 7 ชั้น ลานเหล่านี้มีผนังเตี้ยๆทำเป็นรูปคล้ายรูปคลื่นโดยรอบ เหนือลานชั้นบนมีฐานรูปทรงกระบอกซึ่งมีห้องไว้พระพุทธรูปอยู่ภายใน ยอดเป็นรูปเจดีย์ตามแบบพม่า

อาจกล่าวได้ว่าชนชาติพม่าเป็นชนชาติที่ดูจะเคร่งครัดกับพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ คติความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจึงสืบต่อลงมาอย่างเหนียวแน่น ดังเห็นจากงานศิลปกรรมในรุ่นหลังๆที่ยังคงรักษาคตินี้ไว้

อ้างอิง[แก้]

  • สุภัทรดิศ ดิศกุล. ประวัติศาสตร์เมืองพระนครของขอม. กรุงเทพ : มติชน, 2543.
  • สุภัทรดิศ ดิศกุล และ สันติ เล็กสุขุม. เที่ยวดงเจดีย์ที่พม่าประเทศทางประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรม. กรุงเทพ : มติชน, 2545.

ดูเพิ่ม[แก้]