รางวัลเสาอโศก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รางวัลเสาอโศก

รางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม เป็นรางวัลเกียรติยศที่มอบให้แก่บุคคล หรือหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เพื่อประกาศเกียรติคุณยกย่อง ให้เป็นแบบอย่างที่ดีของชาวพุทธในประเทศไทย

รางวัลเสาอโศก มีขึ้นภายใต้แนวคิดว่า เสาอโศกเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาก็ได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักของพระพุทธศาสนา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ไพศาลยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ปัจจุบัน พิธีประทานรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม จัดขึ้น ณ ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ในช่วงงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ของทุก ๆ ปี โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธาน ในพิธีประทานรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม แด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา[1]

ความเป็นมาของการมอบรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม[แก้]

สัญลักษณ์เสาอโศก[แก้]

รางวัลเสาอโศก มีลักษณะเป็นเสาโลหะกะไหล่ทอง สูง 28 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร น้ำหนัก 700 กรัม ด้านล่างมีป้ายชื่อจารึกชื่อผู้ได้รับประทานรางวัล รูปแบบรางวัลเสาอโศก จำลองจากลักษณะของ"เสาอโศก" หรือเสาแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช ประเทศอินเดีย ที่สร้างถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บนยอดเสาแกะสลักเป็นราชสีห์ 4 ตัวหันหลังชนกัน เศียรราชสีห์คำรามเปล่งสุรสีหนาทประกาศก้องไปทั่วสารทิศ ดุจดังการประกาศหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนาไปสู่ชาวโลก ใต้ฐานราชสีห์ทั้งสี่มีรูปพระธรรมจักร 24 ซี่ เท่าจำนวนปฏิจจสมุปบาท และสัตว์มงคล ได้แก่ "ช้าง" หมายถึง การจุติสู่พระครรภ์มารดาของพระโพธิ์สัตว์ "โค" หมายถึง เวลาที่ทรงได้ปฐมฌาน แสดงถึงความวิริยะ อุตสาหะ อดทน "สิงโต" หมายถึง การเปล่งพระสุรเสียงในพระธรรมเทศนาดุจดังเสียงราชสีห์คำราม และด้านล่างเป็นรูปกลีบบัว หมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา

รางวัลเสาอโศก ได้แนวคิดจากการที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้สถาปนาเสาหินทรายรูปสิงห์ประดิษฐานไว้ตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั่วอนุทวีปอินเดียในช่วงยุคพุทธศตวรรษที่ 4 เพื่อเป็นเครื่องหมายของการประกาศพระพุทธศาสนาในยุคโบราณ ชนรุ่นหลังต่อมาจึงเรียกเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช ว่า เสาอโศก ซึ่งแปลว่า ที่ตั้งมั่นซึ่งปลอดจากความเศร้าโศก (ดับทุกข์ด้วยธรรม) เสาอโศก จึงเสมือนเสาหลักทางรูปธรรม ที่แสดงถึงความตั้งมั่นของพระพุทธศาสนา ภายใต้แนวคิดว่าเสาอโศก เป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ย่อมได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักของพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ไพศาลยิ่ง ๆ ขึ้นไป[2]

การคัดเลือกและมอบรางวัลเสาอโศก[แก้]

การคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนารางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม เริ่มในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปีแรกของการคัดเลือก โดยสมาคมผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ริเริ่มจัดทำโครงการ "เสาอโศกผู้นำศีลธรรม" ขึ้น เพื่อคัดเลือกบุคคลต้นแบบทางพระพุทธศาสนาที่ดีงามตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อประกาศเกียรติคุณยกย่อง ให้คนรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกบุคคลต้นแบบทางพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายบรรพชิต และคฤหัสถ์ ที่เป็นผู้อุทิศตนทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา ในสาขาต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการจะกำหนด เพื่อประกาศเกียรติคุณ ยกย่องผู้ได้รับรางวัลเป็นบุคคลต้นแบบทางพระพุทธศาสนา ให้เป็นเยี่ยงอย่างของพุทธศาสนิกชนไทย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนามาเป็นระยะเวลายาวนานและต่อเนื่อง และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558[3]

โดยการมอบรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรมในปีแรกนั้น มี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เป็นองค์ประธานแห่งรางวัล โดยพระองค์มีพระกรุณาธิคุณ เสด็จเป็นองค์ประธาน ในพิธีประทานรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม แด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา[4]

ประเภทของการคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม[แก้]

ปัจจุบัน คณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ได้แบ่งประเภทการคัดเลือกออกเป็น 9 ประเภท คือ

  1. ประเภทที่ 1 นักธุรกิจ
  2. ประเภทที่ 2 นักการศึกษา นักวิชาการ
  3. ประเภทที่ 3 นักสื่อสารมวลชนทุกประเภท
  4. ประเภทที่ 4 นักเรียน นักศึกษา เยาวชน
  5. ประเภทที่ 5 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน
  6. ประเภทที่ 6 ศิลปิน นักร้อง นักแสดง
  7. ประเภทที่ 7 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน
  8. ประเภทที่ 8 พระสงฆ์ นักบวชอื่นใดในพระพุทธศาสนา
  9. ประเภทที่ 9 พุทธศาสนิกชนทั่วไป

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ . (2558). รางวัล “เสาอโศกผู้นำศีลธรรม”. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=10290:2015-05-20-12-49-34&catid=170:2014-11-20-15-55-13&Itemid=422[ลิงก์เสีย]
  2. สมาคมผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย. (2558). โครงการ "เสาอโศกผู้นำศีลธรรม". กรุงเทพฯ : ม.ป.ท.
  3. ไชยนิรันดร์ พยอมแย้ม . (2558). โครงการ "เสาอโศกผู้นำศีลธรรม". [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/590224
  4. ข่าวในพระราชสำนัก. (2558). พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานรางวัล "เสาอโศกผู้นำศีลธรรม". [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://news.ch7.com/detail/126441/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B5_06-06-58.html[ลิงก์เสีย]