ข้ามไปเนื้อหา

มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์
Maximilien Robespierre
ภาพวาดรอแบ็สปีแยร์ราวปี ค.ศ. 1790
ที่พิพิธภัณฑ์การ์นาวาแล กรุงปารีส
กรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม
ดำรงตำแหน่ง
27 กรกฎาคม 1793 – 28 กรกฎาคม 1794
ก่อนหน้าตอมา-โอกุสแต็ง เดอ กัสปาแร็ง
ถัดไปฌัก-นีกอลา บีโย-วาแรน
ประธานที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
4 มิถุนายน 1794 – 17 มิถุนายน 1794
ก่อนหน้าโกลด-อ็องตวน พรีเยอร์-ดูว์แวร์นัว
ถัดไปเอลี ลาก็อสต์
ดำรงตำแหน่ง
22 สิงหาคม 1793 – 5 กันยายน 1793
ก่อนหน้ามารี-ฌ็อง เอโร เดอ เซแชล
ถัดไปฌัก-นีกอลา บีโย-วาแรน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด6 พฤษภาคม ค.ศ. 1758(1758-05-06)
อารัส ประเทศฝรั่งเศส
เสียชีวิต28 กรกฎาคม ค.ศ. 1794(1794-07-28) (36 ปี)
ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เชื้อชาติฝรั่งเศส
ศาสนาเทวัสนิยม
พรรคการเมืองฌากอแบ็ง
ศิษย์เก่าลีเซหลุยส์-เลอ-กร็อง
วิชาชีพทนายความและนักการเมือง
ลายมือชื่อ

มักซีมีเลียง ฟร็องซัว มารี อีซีดอร์ เดอ รอแบ็สปีแยร์ (ฝรั่งเศส: Maximilien François Marie Isidore de Robespierre) เป็นนักกฎหมาย นักการเมือง รวมทั้งเป็นหนึ่งในบุคคลผู้มีบทบาทที่สุดในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นทั้งสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสโมสรฌากอแบ็ง เขาเป็นกระบอกเสียงให้แก่คนยากจนและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และยังเป็นผู้ผลักดันการควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐานตลอดจนการล้มล้างระบบทาสในอาณานิคมของฝรั่งเศส เขายังเป็นแกนนำผู้คัดค้านโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม เมื่อเขากุมอำนาจประเทศ เขากลับกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ปราณีจนนำไปสู่สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขุนนาง และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจำนวนมาก ล้วนถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนไปในช่วงเวลานี้

ประวัติ

[แก้]

มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1758 ที่เมืองอารัส แคว้นนอร์-ปาดกาแล ราชอาณาจักรฝรั่งเศส เป็นบุตรคนโตของนายพร็องซัว มักซีมีเลียง บาร์เตเลมี เดอ รอแบ็สปีแยร์ (François Maximilien Barthélémy de Robespierre) ทนายความ กับนางฌักลีน มาร์เกอริต กาโร (Jacqueline Marguerite Carrault) บุตรสาวเจ้าของโรงเหล้า เมื่อมีอายุแปดปี มักซีมีเลียงเข้าศึกษาระดับประถมที่วิทยาลัยอารัส

ต่อมาในปี 1769 พระคุณเจ้ามุขนายกแห่งอารัสช่วยให้เขาได้รับทุนการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนหลุยส์-เลอ-กร็อง สถานศึกษาเลื่องชื่อแห่งกรุงปารีส และได้เป็นเพื่อนกับกามีย์ เดมูแล็ง และสตานิสลัส เฟรรง ระหว่างเรียนที่นี่ เขาได้เรียนและเริ่มสนใจสังคมอุดมคติแบบสาธารณรัฐโรมัน ตลอดจนวาทกรรมของกิแกโร, กาโต และบรูตุส นอกจากนี้ เขายังชอบอ่านหนังสือ สัญญาประชาคม ของปราชญ์อย่างฌ็อง-ฌัก รูโซ และคล้อยตามความคิดหลาย ๆ อย่าง[1] มักซีมีเลียงมองว่า "เจตจำนงร่วม" (volonté générale) ของประชาชนเป็นพื้นฐานของสิทธิธรรมทางการเมือง[2]

รอแบ็สปีแยร์เข้าศึกษาสาขากฎหมายที่มหาวิทยาลัยปารีส และจบการศึกษาในปี 1780 และในปีถัดมาก็สำเร็จเป็นเนติบัณฑิต มุขนายกแห่งอารัสแต่งตั้งเขาเป็นหนึ่งในห้าผู้พิพากษาศาลอาญาเมืองอารัสในปี 1782 มักซีมีเลียงในช่วงนี้ต่อต้านโทษประหารชีวิต เขาอึดอัดใจที่แต่ละสัปดาห์มีคดีโทษประหารเข้าสู่ศาลจำนวนมาก นั่นทำให้เขาเป็นผู้พิพากษาได้เพียงไม่นานก็ลาออก[3] หลังลาออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาได้ไม่นาน เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกบัณฑิตยสภาแห่งอารัสในเดือนพฤศจิกายน 1783[4] เขาเขียนบทความเรื่อง ญาติของอาชญากรผู้เสื่อมเสียสมควรถูกประณามด้วยหรือไม่? ใน ค.ศ. 1784 และได้รับรางวัลจากบัณฑิตยสภาแห่งแม็ส และได้รับยกย่องเป็น "วรรณบุรุษ"[5]

การปฏิวัติฝรั่งเศส

[แก้]

เข้าสู่การเมือง

[แก้]

ในเดือนสิงหาคม 1788 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงตรากฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาฐานันดรเพื่อแก้ไขปัญหาการคลังและระบบภาษีของประเทศ รอแบ็สปีแยร์เข้าร่วมการอภิปรายหารือถึงวิธีการเลือกตั้งรัฐบาลส่วนภูมิภาคของฝรั่งเศส เขาระบุว่าหากยังใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเดิมกับเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว สภาฐานันดรในคราวนี้จะไม่ได้ผู้แทนส่วนภูมิภาคที่เป็นปากเป็นเสียงของประชาชนฝรั่งเศสเลย[6]

รอแบ็สปีแยร์ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตของตนเองและหาเสียงโดยกล่าวโจมตีการทำงานของหน่วยงานท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับความนิยมจากชาวชนบทจำนวนมาก และชนะเลือกตั้งเป็นหนึ่งในผู้แทนฐานันดรที่สามจำนวนสิบหกคนจากจังหวัดปาดกาแลในเดือนเมษายน 1789[7] เหล่าผู้แทนเดินทางไปถึงพระราชวังแวร์ซายและรับฟังสุนทรพจน์ยาวสามชั่วโมงของฌัก แนแกร์ และยังได้รับแจ้งว่าการออกเสียงในสภาให้เป็นไปตาม "รายฐานันดร" ไม่ใช่ "รายหัว" รอแบ็สปีแยร์มองว่าพวกเขาไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงได้จริงในสภาที่ใช้ระบบแบบนี้ ผู้แทนฐานันดรที่สามไม่มีวันโหวตชนะ รอแบ็สปีแยร์จึงร่วมกับผู้แทนฐานันดรที่สามซึ่งเป็นผู้แทนคน 96% ของประเทศ จัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ (Assemblée nationale) เป็นสภาใหม่ที่แยกจากสภาฐานันดร[8] ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ก็ทรงยอมรับสภาใหม่นี้

รอแบ็สปีแยร์มีความเกี่ยวข้องกับสมาคมเพื่อนรัฐธรรมนูญหรือเรียกอีกชื่อว่าสโมสรฌากอแบ็ง (Jacobins) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกราว 1,200 คนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส หลักสำคัญของอุดมการณ์ฌากอแบ็งคือ "ความเสมอภาค" ในเดือนมกราคม 1790 รอแบ็สปีแยร์ขึ้นกล่าวในสภาหลายครั้งในประเด็นสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมโดยไม่เกี่ยงว่าจะจ่ายภาษีมากน้อยรวมถึงสิทธิในการเลือกตั้ง เขากล่าวอย่างโผงผางว่าชาวฝรั่งเศสต้องสามารถเป็นข้าราชการทุกตำแหน่งโดยเอาความสามารถและคุณธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาฐานะเป็นที่ตั้ง[9] และนั่นทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาจนได้รับเลือกเป็นประธานที่ประชุมใหญ่แห่งชาติในเดือนมีนาคมของปีนั้น[10] ในวันที่ 28 เมษายน รอแบ็สปีแยร์เสนอญัตติให้ตุลาการศาลทหารประกอบด้วยนายทหารและพลทหารอย่างละครึ่ง[11]

การประหารพระเจ้าหลุยส์

[แก้]

ภายหลังพระเจ้าหลุยส์ถูกถอดจากบัลลังก์และถูกไต่สวนความผิดโดยสภา อดีตกษัตริย์หลุยส์ที่บัดนี้ใช้ชื่อว่า นายหลุยส์ กาแป ยกกฎหมายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาต่อสู้ว่า "กษัตริย์และการกระทำของพระองค์จะถูกละเมิดมิได้" สโมสรฌากอแบ็งจึงแตกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มลามงตาญที่ต้องการให้ประหารอดีตกษัตริย์ กับกลุ่มฌีรงแด็งที่ต้องการให้ดำเนินการอย่างรอมชอมโดยไม่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง บ้างก็เสนอให้กักขังหรือเนรเทศอดีตกษัตริย์[12] ในห้วงเวลานี้ รอแบ็สปีแยร์ปราศรัยในสภาว่าอดีตกษัตริย์หลุยส์ละเมิดกฎหมายเอง ดังนั้นจึงไม่อาจยกความละเมิดมิได้มาเป็นข้อต่อสู้

การค้นพบเอกสารลับ 726 ฉบับในห้องบรรทมที่พระราชวังตุยเลอรี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1792 ซึ่งเป็นจดหมายที่อดีตพระเจ้าหลุยส์เขียนตอบโต้กับบรรดานายธนาคารและรัฐมนตรี ทำให้ปฏิกิริยาของฝูงชนหันมาต่อต้านองค์กษัตริย์ในทันที[13] แม้อดีตกษัตริย์จะโต้แย้งว่าไม่รู้เรื่องจดหมายเหล่านี้ และจดหมายเหล่านี้ก็ไม่ได้มีพระปรมาภิไธยของพระองค์อยู่ แม้มีหลักกฎหมายให้สันนิษฐานว่าจำเลยบริสุทธิ์ไว้ก่อน แต่รอแบ็สปีแยร์ได้กล่าวในสภาว่า "...เขาย่อมถูกสันนิษฐานอย่างนั้นจนกว่าจะตัดสิน แต่ถ้าหลุยส์ได้ยกฟ้องโดยสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ แล้วฝ่ายปฏิวัติจะเป็นยังไงกัน? ถ้าหลุยส์บริสุทธิ์ล่ะก็ เท่ากับว่าผู้พิทักษ์เสรีภาพทั้งหมดใส่ร้ายเขางั้นสิ..."[14] รอแบ็สปีแยร์เสนอให้ประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ ทั้งที่ตัวเขาคัดค้านโทษประหารชีวิตมาตลอด ด้วยคำกล่าวที่ว่า "แน่นอน โดยทั่วไป โทษประหารคืออาชญากรรม หลักธรรมชาติอันยืนยงมิอาจยอมรับมันได้ แต่ยกเว้นกรณีเพื่อปกป้องความปลอดภัยของบุคคลหรือสังคม..."[15] ท้ายที่สุด ในวันที่ 15 มกราคม 1793 สภามีมติตัดสินว่าอดีตกษัตริย์หลุยส์มีความผิดจริงฐาน "สมคบประทุษร้ายต่อเสรีภาพปวงชนและความมั่นคงแห่งรัฐ" (conspiration contre la liberté publique et la sûreté générale de l'État)

กลุ่มฌีรงแด็งสิ้นอำนาจ

[แก้]

ภายหลังการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อิทธิพลของรอแบ็สปีแยร์และฌอร์ฌ ด็องตง เพิ่มขึ้นท่ามกลางบ้านเมืองที่อยู่ในสภาพกลียุค อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมใหญ่แห่งชาติก็ยังถูกนักการเมืองกลุ่มฌีรงแด็งครอบงำอยู่ ผู้ชุมนุมประท้วงต่างโกรธแค้นที่กลุ่มฌีรงแด็งจุดชนวนสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน[16] ในวันที่ 6 เมษายน มีการแต่งตั้งผู้แทนเข้าไปในกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมเพิ่มเติม สมาชิกทั้งหมดมาจากฝ่ายลาแปลนและด็องตง แต่ไม่มีกลุ่มฌีรงแด็งหรือกลุ่มรอแบ็สปีแยร์ รอแบ็สปีแยร์ไม่พอใจที่ไม่ได้รับเลือกและบอกสโมสรฌากอแบ็งว่าจะต้องจัดตั้งกองทัพของพวกซ็อง-กูว์ล็อตเพื่อป้องกันคอมมูนปารีส (นครบาลกรุงปารีส) และจับกุมเหล่าผู้แทนนอกรีต ซึ่งเขาได้เอ่ยชื่อ ดยุกแห่งออร์เลอ็อง, บรีโซ, แวร์โญ, กาแด และฌ็องซอเน[17] ถึงตอนนี้ รอแบ็สปีแยร์มองว่าบ้านเมืองมีเพียงสองฝ่าย คือฝ่ายประชาชนและฝ่ายศัตรูของประชาชน[18]

ในวันที่ 15 เมษายน กองทัพประชาชนจากทั่วสารทิศเข้าล้อมสภาและเรียกร้องถอดถอนผู้แทนฯ ที่อยู่ในกลุ่มฌีรงแด็งทั้งหมด สภายังคงเดินหน้าพิจารณาวาระกฎหมายต่าง ๆ ต่อไปอีกนับสัปดาห์ ในช่วงนี้ รอแบ็สปีแยร์ได้เสนอกฎหมายกรรมสิทธิ์สี่มาตราและยังผลักดันการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ต่อมาในวันที่ 26 พฤษภาคม หลังผ่านหลายสัปดาห์แห่งความเงียบสงบ รอแบ็สปีแยร์อภิปรายอย่างอาจหาญว่าสโมสรฌากอแบ็ง "ต้องร่วมลุกฮือเพื่อต่อต้านพวกผู้แทนทุจริต"[19] แต่ประธานสภาอีสนาร์ดตอบโต้ว่าสภาจะไม่คล้อยตามความรุนแรงใด ๆ และนครบาลกรุงปารีสจะเคารพผู้แทนจากทุกที่ในฝรั่งเศส[20] และไม่อนุญาตให้รอแบ็สปีแยร์พูดอภิปรายต่อ ในวันที่ 28 พฤษภาคม นครบาลกรุงปารีสยินยอมให้มีการจัดตั้งกองทัพซ็อง-กูว์ล็อตเพื่อพิทักษ์การปฏิวัติและกฎหมายสาธารณรัฐ[19]

ฝูงชนเข้าปิดล้อมพระราชวังตุยเลอรี ที่ประชุมสภา ในวันที่ 31 พฤษภาคม 1793

เช้า 31 พฤษภาคม ฟร็องซัว อ็องรีโย ผู้บัญชาการกองอารักษ์ชาติ (Garde Nationale) สั่งยิงปืนใหญ่ที่ปงเนิฟเพื่อเป็นสัญญาณเตือน ผู้แทนฯ แวร์โญเสนอให้จับกุมอ็องรีโย รอแบ็สปีแยร์อภิปรายว่าแวร์โญและฝ่ายฌีรงแด็งเป็นพวกนิยมเจ้า[21] และเรียกร้องให้จับกุมกลุ่มฌีรงแด็งทั้งหมด ในเช้าวันต่อมา 1 มิถุนายน ฝูงชนติดอาวุธ 12,000 คนรายล้อมสภาเพื่อสนับสนุนการจับกุมกลุ่มฌีรงแด็ง ในช่วงบ่ายก็เรียกร้องให้จัดตั้งกองทัพปฏิวัติของชนชั้นซ็อง-กูว์ล็อตในทุกเมืองของฝรั่งเศส ในที่สุดก็มีการจับกุมมาดามรอล็องและกลาเวียร์ในวันนั้น แต่อารีโอยังไม่พอใจและกดดันให้จับกุมผู้นำฌีรงแด็ง 26 คนที่เหลือ ในช่วงค่ำของวันนั้น จำนวนมวลชนที่ล้อมสภาเพิ่มขึ้นถึง 40,000 คน

2 มิถุนายน อ็องรีโยสั่งให้กองอารักษ์ชาติเดินขบวนจากออแตลเดอวีลไปยังพระราชวังตุยเลอรี กองทัพประชาชนซึ่งมีจำนวนกว่า 80,000 ถึง 100,000 คน[22] นำปืนใหญ่เข้าล้อมที่ประชุมสภา กลุ่มณีรงแด็งเชื่อว่าเอกสิทธิ์ยังปกป้องพวกเขาอยู่ แต่ประชาชนนอกหน้าต่างกำลังเรียกร้องให้จับกุมพวกเขา พวกเขาพยายามออกจากพระราชวังแต่ถูกล้อมไว้ทุกทาง ในที่สุดก็ต้องเดินกลับห้องประชุมและลาออกจากตำแหน่ง แต่ละคนถูกจับกุมทันทีหลังกล่าวลาออก[23]

กลุ่มลามงตาญเรืองอำนาจ

[แก้]

10 มิถุนายน 1793 กลุ่มลามงตาญกุมอำนาจในที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ รอแบ็สปีแยร์มอบหมายหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แก่หลุยส์ อ็องตวน เดอ แซ็ง-ฌุสต์ รัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ในวันที่ 24 มิถุนายน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ผู้ชายโดยถ้วนหน้า ยกเลิกระบบทาสทั้งหมด

3 กรกฎาคม ตอมา-โอกุสแต็ง เดอ กัสปาแร็ง (Gasparin) ลาออกจากกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม รอแบ็สปีแยร์จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเป็นกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 21 สิงหาคม[24] ระหว่างนี้ก็มีการเปลี่ยนตัวกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมหลายคน สถานการณ์ในบ้านเมืองก็ยังปั่นป่วนวุ่นวาย

10 ตุลาคม ที่ประชุมใหญ่แห่งชาติผ่านมติรับรองให้คณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมเป็น "รัฐบาลปฏิวัติ" ซึ่งมีอำนาจสูงสุดเฉพาะกาลจนกว่าสถานการณ์จะสงบ รัฐธรรมนูญถูกระงับใช้ ทำให้รอแบ็สปีแยร์กลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดโดยพฤตินัย ในเวลาปีเดียว เขาจับกุมและประหารผู้คนนับพันตั้งแต่ความผิดเล็กน้อยจนถึงความผิดอุกฉกรรจ์ แม้แต่การใส่ร้ายใส่ความรอแบ็สปีแยร์ก็ต้องโทษถูกประหารโดยกิโยตีน เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม แต่คนอื่น ๆ เรียกช่วงเวลาที่รอแบ็สปีแยร์อยู่ในตำแหน่งว่า "สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว" (la Terreur) ศัตรูจึงขนานนามเขาว่า "เผด็จการกระหายเลือด"

การโค่นล้มรอแบ็สปีแยร์

[แก้]
การประหารรอแบ็สปีแยร์เป็นจุดสิ้นสุดสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว

ยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวดำเนินไปเกือบหนึ่งปี จนกระทั่งในวันที่ 26 กรกฎาคม 1794 รอแบ็สปีแยร์ประกาศกลางที่ประชุมใหญ่แห่งชาติว่าจะกำจัดผู้แทนบางคนที่คิดร้ายต่อสาธารณรัฐ แต่ไม่ยอมระบุว่าผู้แทนดังกล่าวเป็นใคร ทำให้บรรดาผู้แทนเกิดความระแวงว่าตัวเองจะตกเป็นเป้า ในคืนนั้นเขาก็ไปพูดอย่างเดียวกันที่สโมสรฌากอแบ็ง และได้รับเสียงปรบมือและตะโกนตอบรับว่า "ฆ่าคนทรยศซะ!" เช้าวันถัดมา บรรดาผู้แทนรุมอภิปรายโจมตีรอแบ็สปีแยร์และพวกอย่างรุนแรงโดยไม่เปิดโอกาสให้เขาแก้ต่าง จนเขาต้องเดินหนีออกจากที่ประชุมใหญ่ ในช่วงเวลานั้นเอง ที่ประชุมใหญ่ก็ผ่านมติให้จับกุมรอแบ็สปีแยร์และพวก

รอแบ็สปีแยร์และพวกบางส่วนกบดานอยู่ที่ออแตลเดอวีล (ศาลาว่าการกรุงปารีสในขณะนั้น) ซึ่งได้รับการคุ้มกันโดยกองอารักษ์ชาติที่ภักดีต่อเขา ในคืนวันนั้น ที่ประชุมใหญ่จึงส่งกองทหารหน่วยอื่นบุกเข้าไปในอาคาร รอแบ็สปีแยร์พยายามฆ่าตัวตายด้วยการจ่อปากกระบอกปืนจะยิงเข้าศีรษะแต่มีทหารนายหนึ่งเข้าขัดขวางจนปากกระบอกปืนถูกเลื่อนไปที่แก้ม และเกิดปืนลั่นทำให้รอแบ็สปีแยร์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ลูกกระสุนเจาะทะลุแก้มทั้งสองข้าง ภายหลังจากนั้นรอแบ็สปีแยร์และพวกอย่างแซ็ง-ฌุสต์ และฌอร์ฌ กูตง ฯลฯ ถูกประหารด้วยกิโยตีนท่ามกลางผู้คนมากมายที่รุมล้อมในวันที่ 28 กรกฎาคม 1794 ณ ปลัสเดอลาเรวอลูว์ซียง ใจกลางกรุงปารีส

อ้างอิง

[แก้]
  1. Scurr 2006.
  2. The Enlightenment that Failed: Ideas, Revolution, and Democratic Defeat ... By Jonathan I. Israel, p. 465-467
  3. Riskin, Jessica (1999). "The Lawyer and the Lightning Rod" (PDF). Science in Context. Cambridge University Press (CUP). 12 (1): 61–99. doi:10.1017/s0269889700003318. ISSN 0269-8897.[ลิงก์เสีย]
  4. Drival, Eugène Van (1872). Histoire de l'Académie d'Arras depuis sa fondation: en 1737, jusqu'à nos jours. Typ. de A. Courtin. p. 58.
  5. Leuwers, Hervé. Robespierre (Paris, Fayard, 2014; rééd. Pluriel, 2016) — extraits. p. 9 – โดยทาง www.academia.edu.
  6. Andress, David (22 January 2015). The Oxford Handbook of the French Revolution. OUP Oxford. ISBN 9780191009921 – โดยทาง Google Books.
  7. Liste des noms et qualités de messieurs les députés et suppléants à l'Assemblée nationale. In: Archives Parlementaires de 1787 à 1860 — Première série (1787–1799) sous la direction de Jérôme Mavidal et Emile Laurent. Tome VIII du 5 mai 1789 au 15 septembre 1789. Paris : Librairie Administrative P. Dupont, 1875. p. VII. [1]
  8. Hibbert, C. (1980)
  9. P. McPhee (2013) "My Strength and My Health Are not Great Enough": Political Crises and Medical Crises in the Life of Maximilien Robespierre, 1790-1794
  10. Aulard, François-Alphonse (1897). La société des Jacobins: Mars à novembre 1794. Recueil de documents pour l'histoire du club des Jacobins de Paris (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 6. Librairie Jouaust. pp. 714, 717. OCLC 763671875.
  11. Walter, G. (1961) Robespierre à la tribune, p. 206. In: Robespierre, vol. II. L’œuvre, part IV. Gallimard.
  12. Kennedy 1988, pp. 308–10.
  13. Hardman, John (2016) The life of Louis XVI, p. ?
  14. Robespierre 1958, pp. 121–22, in Tome IX, Discours
  15. Robespierre 1958, pp. 129–30, in Tome IX, Discours.
  16. L. Moore, p. 172
  17. I. Davidson, p. 157
  18. Hampson 1974, pp. 144–146.
  19. 19.0 19.1 Schama 1989, p. 722.
  20. Ternaux, Mortimer (1869). Histoire de la terreur, 1792-1794. Vol. 7. Michel Lévy frères. p. 276.
  21. Robespierre 1958, p. 543, in Tome IX, Discours.
  22. Le Républicain français, 14 septembre 1793, p. 2
  23. Israel 2014, p. 447.
  24. Mandats à l’Assemblée nationale ou à la Chambre des députés

ข้อมูล (คัดเลือก)

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

สำหรับคำตอบรับที่"เป็นกลางมากกว่า" มาจาก: