มหาสีลวชาดก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาสีลวชาดก เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการปรารภความเพียร ในครั้งที่พระโคตมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น พระมหาสีลวราช

เนื้อเรื่อง[แก้]

อำมาตย์ชั่วยุแหย่พระเจ้าโกศล[แก้]

ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระมหาสีลวราช พระองค์ทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถ มีน้ำพระทัยเปี่ยมไป ด้วยพระเมตตากรุณา ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม โปรดการทำทาน ยิ่งนัก ทรงให้สร้างโรงทาน ไว้ถึง 6 แห่งคือที่ประตูเมืองทั้ง 4 ด้าน ที่กลางพระนคร และที่ประตูพระราชวัง เพื่อเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า และคนเดินทาง

ครั้งนั้นมีอำมาตย์ชั่วคนหนึ่งเห็นพระราชามีน้ำพระทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา จึงคิดเหิมเกริมถึงขนาดลักลอบเข้าไปในเขต พระราชฐานชั้นในหลายครั้ง จนมีผู้มากราบทูลฟ้องร้องและพระองค์ก็ทรงทราบด้วยพระองค์เอง ถึงแม้การกระทำนั้นมีความผิดถึงขั้นประหารชีวิต แต่พระองค์มีพระกรุณา จึงทรงเพียงว่ากล่าว และขับไล่ไปจากพระนคร เมื่ออำมาตย์ชั่วถูกขับไล่ออกจากเมืองก็โกรธแค้นพระเจ้ามหาสีลวราช จึงอพยพครอบครัวไปอยู่ที่เมืองโกศล เนื่องจากอำมาตย์ผู้นี้ นอกจากจะเป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำงานแล้ว ยังเป็นคนประจบสอพลอ ในที่สุดก็ได้รับการไว้วาง พระราชหฤทัยจากพระเจ้าโกศล อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่เหล่าเสนาอำมาตย์ปรึกษาหารือเกี่ยวกับงานราชการอำมาตย์ชั่วจึงได้สบโอกาสที่จะหาทางแก้แค้น พระเจ้าโกศลฟ้งแล้วก็ยังไม่เชื่อทันทีเพราะทราบมาว่า "อำมาตย์ชั่วผู้นี้เคยอยู่เมืองพาราณสีมาก่อน" พระเจ้าโกศลยังไม่เชื่อใจนัก แต่เห็นว่าอำมาตย์ชั่วกล่าวอย่างแข็งขัน จึงได้ลองทำตามที่อำมาตย์พูดสักครั้ง โดยส่งทหารปลอมตัวไปปล้นชาวบ้าน ที่อยู่ชาแดนในเมืองพาราณสี เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่อำมาตย์ชั่วพูด เพราะเมื่อโจรปลอมที่พระเจ้าโกศลส่งไปนั้น เมื่อถูกจับแล้วพระเจ้ามหาสีลวราช ก็ได้ทำการไต่สวนอย่างมีเมตตาธรรม เมื่อพระเจ้ามหาสีลวราชปล่อยตัวพวกโจรแล้วพวกโจรก็ได้ไปรายงานให้พระเจ้าโกศลทราบทันที เมื่อพระเจ้าโกศลได้รับรายงานแล้ว ก็หลงเชื่อคำยุยงของอำมาตย์ชั่ว แต่เพื่อความแน่พระทัยจึงได้ให้ทหารปลอมตัว ไปปล้นชาวบ้านที่อยู่ใกล้ๆ พระนคร เหตุการณ์ก็เป็นไปอย่างคราวแรก หลังจากที่พวกโจรถูกจับได้ พระเจ้ามหาสีลวราช ก็ทรงปล่อยตัวไป พร้อมกับมอบทรัพย์ให้ไปจำนวนหนึ่งเพื่อให้ไปตั้งตัว หลังจากที่พระเจ้ามหาสีลวราช ได้ปล่อยตัวโจรแล้ว พระเจ้าโกศลก็ยังไม่แน่พระทัยว่าหากถูกแย่งชิงราชสมบัติแล้วจะไม่มีการต่อสู้ จึงได้ส่งโจรไปปล้นชาวบ้านที่อยู่ในเมืองอีกปรากฏว่าเหตุการณ์ก็เป็นดังเดิม

พระเจ้าโกศลทำศึกสงคราม[แก้]

พระเจ้าโกศลเกิดความลำพองใจ คิดว่าพระเจ้ามหาสีลวราชคงไม่กล้าทำสงคราม จึงได้ยกทัพไปล้อมเมืองพาราณสี กรุงพาราณสีมีเหล่าเสนาอำมาตย์ แม่ทัพ ที่มีความสามารถไม่มีใครเทียบได้จำนวนพันนาย เมื่อพระเจ้าโกศลยกทัพ มาปิดล้อมเมืองพาราณสี นักรบเหล่านั้นก็ขออาสาออกไปทำศึกสงคราม และจะจับพระเจ้าโกศลมาลงโทษให้ได้ แต่พระเจ้ามหาสีลวราชก็ทรงห้ามไว้ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าโกศลจึงได้ใจ ยกทัพเข้ามาประชิด เมืองหลวงได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แม้เหล่าเสนาอำมาตย์ แม่ทัพ อยากจะออกรบ แต่ก็ห้ามใจไว้ เพราะเคารพต่อพระเจ้ามหาสีลวราช ที่มีคุณธรรมยอดเยี่ยม เมื่อพระเจ้าโกศลยกทัพเข้ามาประชิดเมืองพาราณสีอย่างง่ายดาย จึงเกิดหวาดระแวงว่าพระเจ้ามหาสีลวราชจะวางกลอุบายไว้หรือเปล่า จึงได้ส่งพระราชสาส์นมาทูลถามว่าจะยอมยกพระราชสมบัติให้หรือว่าจะรบ จากนั้นพระเจ้ามหาสีลวราช จึงได้รับสั่งให้ทหารเปิดประตูเมือง พระองค์ก็ทรงประทับอยู่บนบัลลังก์ เหล่าเสนาอำมาตย์ แม่ทัพทั้งพันคนก็อยู่ในอาการสงบ

พระเจ้าโกศลยึดบัลลังก์[แก้]

เมื่อพระเจ้าโกศลยึดเมืองพาราณาสีได้แล้ว ก็จับพระเจ้ามหาสีลวราช พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ แม่ทัพทั้งพันนายมัดไว้ แล้วนำไปฝังในป่าช้าผีดิบ โดยให้ขุดหลุมลึกฝังลำตัวเหลือไว้แต่ศีรษะ เพื่อรอให้สุนัขป่าและสัตว์ร้ายมากัดกินเป็นอาหาร ถีงแม้ว่าพระเจ้ามหาสีลวราชจะถูกเหยียบย่ำอย่างไรก็ตาม แต่พระองค์ก็หาได้ถือโกรธกลับตั้งมั่นด้วยการประพฤติธรรมและแผ่เมตตาให้กับผู้เป็นศัตรู เหล่าเสนาอำมาตย์ แม่ทัพ ทั้งพันนายต้องอดกลั่นต่อการกระทำของศัตรู ในใจครุกรุ่นไปด้วยความโกรธ แต่ก็สามารถควบคุมสติได้ เพราะได้ผ่านการฝึกมาอย่างยอดเยี่ยม อีกประการหนึ่ง เพราะด้วยความเคารพและศรัทธาต่อพระเจ้ามหาสีลวราช จึงยอมปฏิบัตตามแต่โดยดี และพร้อมเผชิญกับมรณภัยที่จะมาถึง

พระมหาสีลวราชใช้อุบายขึ้นจากหลุม[แก้]

ในยามค่ำคืนนั้นเอง เหล่าบรรดาหมาป่า,สุนัขจิ้งจอก และสัตว์ร้าย ก็ออกมาหากินในป่าช้ากันตามปกติ เมื่อพวกมันเห็นศีรษะมนุษย์ที่โผล่ขึ้นมาในป่าช้านั้น จึงเข้าใจว่าเป็นซากศพ ต่างวิ่งกรูเข้าไปหมายจะกัดกินเป็นอาหาร พระเจ้ามหาสีลวราช คาดคะเนถึงภัยที่จะมีขึ้นอยู่แล้ว จึงทรงนัดแนะอุบายให้กับเหล่าบรรดา เสนาอำมาตย์ และแม่ทัพไว้ว่า เมื่อพวกสัตว์ป่าวิ่งรี่เข้ามาก็ให้ตะโกนพร้อมกันดังๆ เสียงนั้นดังกึกก้องไปทั่วทั้งป่าช้า ทำให้พวกมันตกใจกลัวและวิ่งหนีไป ครั้นสุนัขจิ้งจอกเหลียวหลังกลับมาดู ก็ไม่เห็นมีใครไล่ตาม เมื่อฝูงสุนัขจิ้งจอกกลับมา พระราชาและทุกคนก็ตะเพิดมันด้วยเสียงนั้นอีก เป็นอย่างนึ้ถึงสามครั้ง พวกมันรู้แล้วว่าศีรษะคนเหล่านั้นทำเสียงได้อย่างเดียว แต่เข้ามาทำร้ายพวกมันไม่ได้ เจ้าตัวจ่าฝูงก็วิ่งไปที่ศีรษะพระราชาทันที ถึงแม้พระเจ้ามหาสีลวราชจะขยับตัวไม่ได้แต่สติของพระองค์มั่นคงและทรงมีปัญญาเป็นเลิศ ทรงยืดพระศอยืดขึ้นสุดช่วง สุนัขจ่าฝูงเห็นช่องทางสะดวกก็เอียงคอหมายจะงับพระศอให้ถนัด แต่ยังไม่ทันงับพระเจ้ามหาสีลวราชก็ทรงกดพระหนุหนีบส่วนคอมันไว้แน่นราวกับกำลังของหีบยนต์ เจ้าสุนัขจิ้งจอกพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดจนสุดกำลัง เท้าของมันตะกุยดินจนกระทั่งกระจัดกระจายออกไปเป็นวงกว้าง ทำให้ดินปากหลุมที่กลบพระวรกายของพระองค์หลวมขึ้น พอที่จะขยับพระองค์ได้ จึงทรงเงยพระหนุขึ้นปล่อยสุนัขให้วิ่งหนีไป ครั้นแล้วทรงฉุดเหล่าเสนาอำมาตย์ ขุนพล ทั้งหลาย ให้ขึ้นจากหลุม เมื่อทุกคนขึ้นมา ได้แล้ว จึงพักผ่อนอยู่ในป่าช้าแห่งนั้น

พระมหาสีลวราชพระราชทานศพให้แก่ยักษ์สองตน[แก้]

ในป่าช้าแห่งนี้ เป็นที่หากินของยักษ์สองตน ซึ่งกินซากศพเป็นอาหาร ทั้งสองแบ่งเขตแดนกันเป็นสองเขต หากซากศพ อยุ่ในเขตใดก็เป็นของผู้นั้น แต่ในคืนนั้นมีซากศพถูกนำมาทิ้งไว้ตรงกับเส้นเขตแดนพอดี ยักษ์ทั้งสองตนจึงไม่สามารถแบ่งกันได้จึงได้เถียงกัน ในที่สุดยักษ์ทั้งสองตนซึ่งได้เห็นเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เห็นว่าพระเจ้ามหาสีลวราช ทรงมีสติ ปัญญาหลักแหลม ทั้งยังตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง จึงมาเข้าเฝ้าพระองค์ แต่พระมหาสีลวราชนั้นเปื้อนเลอะเทอะ ยักษ์ทั้งสองจึงรึบไปนำน้ำที่อบไว้ในห้องสรงน้ำ พร้อมทั้งนำเครื่องทรง เครื่องหอม และเครื่องประดับ มาถวาย แล้วยังเข้าไปในห้องเครื่องนำพระกระยาหารรสเลิศมาถวาย หล้งจากที่พระเจ้ามหาสีลวราชเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เจ้ายักษ์ก็เข้าไปทูลถามว่าจะประสงค์สิ่งใดอีก ยักษ์ทั้งสองก็บุกเข้าไปในห้องพระบรรทม หยิบพระขรรค์ ซึ่งวางอยู่ใกล้พระเศียรของพระเจ้าโกศลมาถวาย เมื่อพระองค์ได้พระขรรค์คู่พระหัตถ์ก็ทรงผ่าศพออกเป็นสองซีกเท่าๆ กันตั้งแต่หัวลงมา พระราชทานแก่ยักษ์ทั้งสองตน เมื่อยักษ์ได้กินเนื้อซากศพสมใจอยากแล้วก็สำนึกในพระกรุณา จึงกราบทูลอาสาจะสนองพระราชประสงค์ต่อไป

พระเจ้าโกศลประกาศยกราชสมบัติคืนให้แก่พระมหาสีลวราช[แก้]

เมื่อพระเจ้ามหาสีลวราชเสด็จเข้าไปในห้องพระบรรทม ได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าโกศลหลับสนิทอยู่ จึงทรงวางพระขรรค์ลงบนพระอุระของพระเจ้าโกศล พระเจ้าโกศลทรงผวาตื่นขึ้นก็รู้สึกหวาดกลัว ดังเห็นพญามัจจุราชยืนอยู่ต่อหน้า เมื่อพระเจ้าโกศลสำรวมสติได้แล้วจึงตรัสถามด้วยเสียงที่สั่นเครือถึงเหตุที่พระเจ้ามหาสีลวราชทรงรอดชีวิต และทรงกลับมายังห้องพระบรรทมได้ พระมหาสีลวราชทรงปลอบให้หายหวาดกลัว และตรัสเล่าเรื่องทั้งหมด ให้ฟังและไม่ได้ถือโทษ โกรธแต่อย่างใด

จนกระทั่งรุ่งเช้าจึงมีรับสั่งให้บรรดาเหล่าเสนา อำมาตย์ และแม่ทัพ ตลอดจนชาวเมืองมาประชุมพร้อมกันที่หน้าประตูเมือง ครั้นแล้วพระเจ้าโกศลเสด็จออกท่ามกลางมหาชน ตรัสสรรเสริญเกียรติคุณของพระเจ้ามหาสีลวราชเป็นเอนกประการ ทรงทำพิธีขอขมาอีกครั้งหนึ่งต่อหน้ามหาชน แล้วประกาศถวายราชสมบัติทั้งหมดคืนแก่พระเจ้ามหาสีลวราช

จากนั้นพระเจ้าโกศลก็ยกทัพกลับเมือง ทรงมีรับสั่งให้ลงโทษอำมาตย์ชั่วที่ยุแหย่พระองค์ให้กระทำผิด ฝ่ายพระเจ้ามหาสีลวราช เมื่อได้รับราชสมบัติกลับคืนมาก็ทรงรำพึงถึงอานุภาพแห่งความเพียร ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้ามหาสีลวราชก็ยิ่งทรงทำบุญ รักษาศีล เจริญภาวนาด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้น ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

สาเหตุที่ตรัสชาดก[แก้]

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุรูปหนึ่งเมื่อบวชก็ตั้งใจปฏิบัติธรรม แต่ยังไม่บรรลุมรรคผลใดๆ ต่อมาจึงประพฤติปฏิบติธรรมย่อหย่อน

พระพุทธองค์มีพระมหากรุณาธิคุณ จึงตรัสเรียกพระภิกษุรูปนั้นมาซักถาม จากนั้นพระพุทธองค์ทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ ทรงนำมหาสีลวชาดก มาตรัสเล่า

ข้อคิดจากชาดกเรื่องนี้[แก้]

  1. เมื่อเรารักษาศีล ประพฤติธรรมจนเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้ว อาจจะเกิดมีคนพาลพวกหนึ่งคอยฉวยโอกาสจากการรักษาศีลของเรา ต้องหาทางป้องกัน โดยยึดหลักว่าศีลก็ต้องรักษาให้ครบ ระเบียบวินัยก็ต้องรักษาให้เคร่งครัด ใครทำผิดก็ต้องลงโทษ และไม่เปิดโอกาสให้คนพาลทำชั่ว
  2. เมื่อมีปัญหา อย่าตัดสินปัญหาง่ายๆ ด้วยวิธีแบบรุนแรง มิฉะนั้นเรื่องร้ายจะยืดเยื้อไม่รู้จบเพราะความอาฆาตจองเวร

ดังนั้นผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อตัดสินใจแก้ปัญหาอะไร ให้ถือเอาธรรมะเป็นพื้นฐาน

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า มหาสีลวชาดก ถัดไป
ทุมเมธชาดก
ชาดกชาติที่ 50
ชาดกชาติที่ 51
จุฬชนกชาดก
ชาดกชาติที่ 52