ฟานฮั่นเหอฉือจ่างจงจู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้าของ ฟานฮั่นเหอฉือจ่างจงจู ซึ่งค้นพบในถ้ำทางทิศเหนือของถ้ำมั่วเกา

ฟานฮั่นเหอฉือจ่างจงจู (ตังกุต: 𗼇𘂜𗟲𗿳𗖵𘃎𘇂𗊏; จีน: 番漢合時掌中珠; พินอิน: Fān-Hàn Héshí Zhǎngzhōngzhū; อังกฤษ: Pearl in the Palm) เป็นอภิธานศัพท์สองภาษาของภาษาจีนและภาษาตังกุต หนังสือฉบับสมบูรณ์เพียงเล่มเดียวที่พิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถูกค้นพบในเมืองร้างฮาราฮอตอ (มองโกลยุคกลาง: ᠬᠠᠷᠠ ᠬᠣᠲᠠ; ตังกุต: 𗋽𗰞; จีน: 黑水城) ของอาณาจักรเซี่ยตะวันตก นอกจากนี้หน้าหนึ่งจากสำเนาอีกฉบับของ ฟานฮั่นเหอฉือจ่างจงจู ฉบับพิมพ์รุ่นเดียวกันถูกพบที่กลุ่มถ้ำทางทิศเหนือของถ้ำมั่วเกาในปี พ.ศ. 2532[1] หนังสือเล่มนี้ถ่ายเสียงของคำในภาษาจีนเป็นอักษรตังกุต และการออกเสียงอักษรตังกุตเป็นอักษรจีน และเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญมากสำหรับสัทวิทยาเชิงประวัติของภาษาตังกุต และเป็นแหล่งข้อมูลหลักก่อนที่จะมีการเผยแพร่พจนานุกรมภาษาเดียวของภาษาตังกุต

การค้นพบ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2452 นักสำรวจชาวรัสเซีย ปอตร์ คอซลอฟ (รัสเซีย: Пётр Кузьми́ч Козло́в) ได้ขุดค้นพบข้อความและสิ่งประดิษฐ์จำนวนหนึ่งในพื้นที่กองธงเอเจน (มองโกเลีย: ᠡᠵᠡᠨ᠎ᠡ ᠬᠣᠰᠢᠭᠤ; จีน: 额济纳旗) ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของประเทศจีน ซึ่งรวมทั้งหนังสือ ฟานฮั่นเหอฉือจ่างจงจู และได้ส่งกลับไปยังนครเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ประเทศรัสเซีย ที่นั่นอะเลคเซย์ อีวาโนวิช อีวานอฟ (รัสเซีย: Алексе́й Ива́нович Ивано́в) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ผู้ซึ่งตระหนักถึงคุณค่าและเพิ่มชิ้นงานเหล่านั้นเป็นสิ่งสะสมของเขา ปัจจุบันตกเป็นสิ่งสะสมของสถาบันต้นฉบับตัวเขียนแห่งบูรพาทิศของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก[2]

ในปี พ.ศ. 2455 นักวิชาการชาวจีนหลัว เจิ้นอวี้ (จีน: 羅振玉) และอี เฟิ่งเก๋อ (จีน: 伊鳳閣) เข้าพบอีวานอฟ เมื่อได้ศึกษาเกี่ยวกับชิ้นงานที่อีวานอฟครอบครอง และได้รับสิทธิ์เข้าถึงส่วนของหนังสือจำนวนเก้าหน้าซึ่งพวกเขาได้ถ่ายสำเนาไว้เพื่อการศึกษา ในปี พ.ศ. 2465 หลัว เจิ้นอวี้ได้พบกับอีวานอฟอีกครั้งในนครเทียนจิน ในตอนนั้นเองที่เขาสามารถเข้าถึงข้อความฉบับเต็มได้ทั้งหมด และได้สั่งให้หลัว ฝูเฉิง (จีน: 羅福成) บุตรชายของเขาทำสำเนาฉบับเต็มทั้งหมด[1]

ลุค กวานเตน (ดัตช์: Luc Kwanten) นักวิชาการชาวเบลเยียมเดินทางเยือนสหภาพโซเวียตในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และสามารถถ่ายภาพของหน้าหนังสือ ฟานฮั่นเหอฉือจ่างจงจู ได้ทั้งเล่ม ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 หนังสือเล่มนี้ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้นเมื่อสำเนาภาพถ่ายได้รับการตีพิมพ์ในสหรัฐ[2]

เนื้อหาและรูปแบบ[แก้]

หนังสือต้นฉบับประกอบด้วย 37 หน้าซึ่งเป็นภาพพิมพ์แกะไม้เข้าเล่มด้วยการทบกลับไปกลับมา คำนำมีเนื้อหาเหมือนกันทั้งภาษาจีนและภาษาตังกุต จากประโยคที่ว่า "ถ้าคุณไม่เรียนภาษาตังกุต, คุณจะร่วมกับหมู่ชนชาวตังกุตได้อย่างไร; ถ้าคุณไม่เข้าใจภาษาจีน, จะรวมเป็นส่วนหนึ่งกับชาวฮั่นได้อย่างไร" (不學番言,則豈和番人之眾;不會漢語,則豈入漢人之數) หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวตังกุตและชาวจีนได้เรียนรู้ภาษาของกันและกัน[1]

หนังสือประกอบด้วยคำศัพท์ 414 คำ แบ่งตามพลังทั้งสาม (天地人) ออกเป็นเก้าหมวดได้แก่ เทห์ฟากฟ้า ภาพท้องฟ้า การเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้า วัตถุภาคพื้นดิน ภาพแผ่นดิน การใช้ภูมิประเทศ ร่างกายมนุษย์ ขั้นตอนของมนุษย์ เรื่องราวของมนุษย์ โดยมีหมวดหมู่ที่เนื้อหาครอบคลุมมากที่สุดคือ เรื่องราวของมนุษย์ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเนื้อหาทั้งหมด

แต่ละรายการประกอบด้วยสี่องค์ประกอบเรียง จากขวาไปซ้าย สัทอักษรภาษาจีนแทนเสียงภาษาตังกุต อักษรตังกุต อักษรจีน และสัทอักษรภาษาตังกุตแทนเสียงภาษาจีน หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญในการทำความเข้าใจและตีความภาษาตังกุตที่เป็นภาษาสูญแล้ว[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 敦煌研究院藏国家珍贵古籍介绍(三) [Introduction to National Precious Ancient Books Collected by Dunhuang Academy (3)] (ภาษาจีน). Dunhuang Academy. 5 มกราคม 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2013.
  2. 2.0 2.1 Imre Galambos (2015). Michael Friedrich; Harunaga Isaacson; Jorg B. Quenzer (บ.ก.). Studies in Manuscript Cultures. Translating Chinese Tradition and Teaching Tangut Culture (ภาษาอังกฤษ). Vol. 6. Berlin/Boston: Walter de Gruyter. pp. 17–73. ISBN 978-3-11-044406-3.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]