พิพิธภัณฑ์ขนมปังแห่งชาติ (เคียฟ)

พิกัด: 50°29′52″N 30°27′11″E / 50.49778°N 30.45306°E / 50.49778; 30.45306
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑ์ขนมปังแห่งชาติ
Наро́дний музе́й хлі́ба
แผนที่
ก่อตั้งพ.ศ. 2524; 43 ปีที่แล้ว (2524)
ที่ตั้ง19 ถนนวึฌฮอรอด เคียฟ ประเทศยูเครน 04074
พิกัดภูมิศาสตร์50°29′52″N 30°27′11″E / 50.49778°N 30.45306°E / 50.49778; 30.45306
ประเภทพิพิธภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
ขนาดผลงานมากกว่า 2,000 ชิ้น
จำนวนผู้เยี่ยมชม15,000 คนต่อปี
เว็บไซต์Музей хліба

พิพิธภัณฑ์ขนมปังแห่งชาติ (ยูเครน: Наро́дний музе́й хлі́ба) เป็นพิพิธภัณฑ์ในเคียฟ ประเทศยูเครน ดำเนินการโดยศูนย์นิเวศวิทยาและธรรมชาติแห่งชาติสำหรับเยาวชนวัยเรียน (Націона́льний еко́лого-натуралісти́чний центр учні́вської молоді́, НЕНЦ) ของกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ยูเครน พิพิธภัณฑ์มีสิ่งจัดแสดงมากกว่า 2,000 ชิ้น ที่บอกเล่าประวัติของขนมปัง ความสำคัญสำหรับมนุษย์ และต้นกำเนิดของธัญพืชหลัก (ข้าวไรย์ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และอื่น ๆ)[1]

นิทรรศการ[แก้]

นิทรรศการจัดแสดงขนมปังซึ่งคณะเด็กนักเรียนในเคียฟรวบรวมมากกว่าหกสิบก้อนจากส่วนต่าง ๆ ของประเทศยูเครน ซึ่งรวมทั้งขนมอบสำหรับพิธีกรรมลาวัช (ლავაში) แบบจอร์เจีย และมัตซา (מַצָּה) ของชาวยิว[2] นอกจากนี้ การจัดแสดงยังอุทิศแด่กวีที่ประพันธ์เกี่ยวกับขนมปังและนักพัฒนาพันธุ์พืชที่พัฒนาข้าวสาลีพันธุ์ใหม่ พิพิธภัณฑ์มีตัวอย่างพืชผลทางการเกษตร ครกโบราณ และโม่หินมากกว่าร้อยตัวอย่าง[3]

มีการจัดแสดงขนมปังมากกว่า 150 ก้อนในนิทรรศการ "ขนมปังเป็นยอดของทุกสิ่ง" (Хліб — усьому́ голова́) โดยสามารถชมขนมปังจากรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน จอร์เจีย อาร์มีเนีย คีร์กีซสถาน ลัตเวีย ลิทัวเนีย และแม้แต่จากฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก พิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ มากกว่า 100 รายการ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ยังมีนิทรรศการที่จัดแสดงขนมปังขาวและขนมปังดำอวกาศซึ่งเปาลอ ปอปอวึช (Павло́ Рома́нович Попо́вич) นักบินอวกาศชาวยูเครนผู้ได้รับอิสริยาภรณ์วีรชนแห่งสหภาพโซเวียตสองสมัย เป็นผู้บริจาคให้[2]

มีส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศแด่ตารัส แชวแชนกอ (Тара́с Григо́рович Шевче́нко) ผู้ประพันธ์บทกวีที่อบอุ่นเกี่ยวกับขนมปังและการทำงานหนักของชาวนา[1]

นิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ยังบอกเล่าเกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรในช่วงระยะเวลาของการทำนารวม และความอดอยากในยูเครน จากการจัดแสดงภาพถ่ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ฮอลอดอมอร์ในยูเครน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เรียนรู้เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของชาวยูเครน[3]

นิทรรศการในส่วนสำคัญแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับทุ่งเกษตรกรรมในช่วงภาวะสงคราม (พ.ศ. 2484–2488) และในช่วงการฟื้นฟูโดยเฉพาะแสดงบรรทัดฐานในการปันส่วนขนมปังให้กับประชากรของเลนินกราดที่ถูกปิดล้อมตามบัตรขนมปัง ในการแสดงนี้ความทรงจำอันโหดร้ายถูกตราตรึงไว้ ซึ่งรวมถึงการกล่าวโทษอย่างโกรธเกรี้ยว "ผู้กระหายสงคราม" (поджига́тели войны́) การจัดแสดงทั้งหมด ตั้งแต่เปลือกขนมปังไปจนถึงสมุดบันทึกของตาเตียนา ซาวีเชวา (Татья́на Никола́евна Са́вичева) ซาวีเชวาเรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกป้องกันการสูญเสียชีวิตและการทำลายล้างครั้งใหม่[1]

พิพิธภัณฑ์ขนมปังแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ผู้พัฒนาพันธุ์พืชชาวยูเครน เช่น วาซึล แรแมสลอ (Васи́ль Микола́йович Ремесло́), วาซึล ยูริแยว (Васи́ль Я́кович Ю́р'єв) และคนอื่น ๆ แรแมสลอเป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวสาลีมือรอนิวกา (Миро́нівського інститу́ту пшени́ці) ซึ่่งได้พัฒนาข้าวสาลีพันธุ์ "มือรอนิวสกา 264" (Миро́нівська 264), "มือรอนิวสกา 808", "มือรอนิวสกา 10", "ยูวีแลย์นา" (Ювіле́йна) และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งในแง่ของผลผลิตนั้นจนถึงปัจจุบันเหนือกว่าพันธุ์ปลูกอื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิต[1]

กิจกรรมการศึกษา[แก้]

มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขนมปังแห่งชาติใน พ.ศ. 2549 โดยศูนย์นิเวศวิทยาและธรรมชาติแห่งชาติสำหรับนักเรียน จนถึงช่วงเวลานั้นมีผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มากกว่า 1.5 ล้านคน นักเรียน นักศึกษา และนักการศึกษามากกว่าหมื่นห้าพันคนเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการทุกปี แลออนิด กุชมา อดีตประธานาธิบดียูเครน เคยมาเยือนที่นี่สองครั้ง เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ นักการทูต นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน รวมทั้งนักบินอวกาศแลออนิด กาแดญุก (Леоні́д Костянти́нович Каденю́к) ได้ลงนามในสมุดเยี่ยม[2] กิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยการสัมมนาของครู นักเรียน ผู้สอนในสถาบันการศึกษานอกหลักสูตร การแข่งขันทั่วประเทศในหัวข้อ "ขนมปังผ่านสายตาเด็ก" (Хліб очи́ма діте́й), "ขนมปังแห่งบ้านเกิดเมืองนอนของฉัน" (Хліб моє́ї Ба́тьківщини) และอื่น ๆ โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี พนักงานพิพิธภัณฑ์มักจะเดินทางไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อรวบรวมวัสดุสำหรับนิทรรศการและบันทึกเรื่องราวของเกษตรกร

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Музей хліба. Національний еколого-натуралістичний центр учнівської молоді (ภาษายูเครน). Міністерство освіти і науки України.
  2. 2.0 2.1 2.2 Леся Свідрик (22 มกราคม 2003). Музей хліба. Хрещатик (ภาษายูเครน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016.
  3. 3.0 3.1 Музей хліба. Моє Місто (ภาษายูเครน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]