พิธีศักดิ์สิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในศาสนาคริสต์ พิธีศักดิ์สิทธิ์[1] (อังกฤษ: Sacrament) คือ พิธีกรรมที่เชื่อว่าพระเยซูทรงกำหนดไว้ให้คริสต์ศาสนิกชนนำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการระลึกถึงและนมัสการพระเป็นเจ้า และจะได้มีส่วนร่วมในแผนการแห่งความรอด ชาวโรมันคาทอลิกเรียกพิธีศักดิ์สิทธิ์ว่า "ศีลศักดิ์สิทธิ์" มีอยู่ 7 ศีล แต่ชาวโปรเตสแตนต์ถือว่าพระเยซูทรงกำหนดไว้เพียง 2 พิธี คือ พิธีบัพติศมาและพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์

นิยามทั่วไป[แก้]

Concise Dictionary of Religion ของ Hexam ระบุว่า Sacrament คือ "พิธีกรรมที่พระเจ้าหรือเทพเจ้ามีส่วมร่วมกระทำ" แต่ในศาสนาคริสต์ คำนี้มีนัยะเฉพาะเจาะจงกว่านี้

"หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก" นิยามศีลศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่า "ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายทรงประสิทธิภาพของพระหรรษทาน ที่พระคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นและได้มอบแก่พระศาสนจักร ซึ่งโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ พระศาสนจักรก็ได้รับชีวิตพระ จารีตที่แลเห็นได้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของศีลศักดิ์สิทธิ์ แสดงและทำให้พระหรรษทานนั้นเป็นปัจจุบัน ศีลศักดิ์สิทธิ์ก่อให้เกิดผลในบรรดาผู้ซึ่งรับไว้โดยมีท่าทีที่เหมาะสม"[2] ฝ่ายนิกายแองกลิคันระบุใน Book of Common Prayer ว่าพิธีศักดิ์สิทธิ์คือ "เครื่องหมายที่แสดงให้เห็นได้ถึงพระคุณฝ่ายจิตวิญญาณภายใน ซึ่งพระคริสต์ได้ทรงประทานแก่เราผู้ที่พระองค์ได้สถาปนาไว้เอง เพื่อเป็นวิธีการให้เราได้รับพระคุณนั้นและเป็นคำสัญญายืนยันพวกเรา"

นิกายโรมันคาทอลิก[3] อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์[4][5] สอนว่าศีลศักดิ์สิทธิ์มี 7 ประการ คริสตจักรโมันคาทอลิกถือว่าศีลศักดิ์สิทธิ์นั้นหมายรวมถึงพระคริสต์และคริสตจักรด้วย[6] นิกายแองกลิคันสอนว่า "พิธีศักดิ์สิทธิ์ที่พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้สถาปนาไว้ตามพระกิตติคุณคือพิธีบัพติศมาและพิธีมหาสนิท" และสอนว่า "อีกห้าพิธีกรรมที่มักเรียกกันว่าพิธีศักดิ์สิทธิ์ อันได้แก่ พิธียืนยันความเชื่อ พิธีสารภาพบาป พิธีสถาปนา พิธีสมรส และพิธีเจิมครั้งสุดท้ายนั้น ไม่ต้องนับว่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์แห่งพระกิตติคุณ"[7]

นิกายโรมันคาทอลิก[แก้]

ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการรับรองจากศาสนจักรคาทอลิกมีอยู่ 7 ศีล ดังต่อไปนี้คือ

  1. ศีลล้างบาป (Baptism) เป็นการล้างบาปกำเนิดและบาปทุกอย่างที่ติดตัวมาก่อนหน้านั้น เพื่อให้กลับไปเป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นสมาชิกของคริสตจักร มีสิทธิและหน้าที่อย่างคริสตชนทุกประการ
  2. ศีลมหาสนิท (Eucharist) เป็นการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันของเหล่าคริสตชนและความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าผ่านการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการคืนพระชนม์ของพระเยซู
  3. ศีลอภัยบาป (Penance) เป็นการสารภาพความผิดและชดใช้โทษบาป เพื่อให้ตนได้กลับไปคืนดีกับพระเจ้าและคริสตจักร
  4. ศีลกำลัง (Confirmation) เป็นการเสริมสร้างการเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณ ทำให้ได้รับพระพรเจ็ดประการของพระจิต และพร้อมที่จะอุทิศตนรับใช้คริสตจักร
  5. ศีลสมรส (Matrimony) เป็นการแสดงตนต่อพระเจ้าและคริสตจักรว่าทั้งสองจะใช้ชีวิตร่วมกันเป็นสามีภรรยาอย่างซื่อสัตย์
  6. ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick) เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความรอด
  7. ศีลอนุกรม (Holy Orders) เป็นการบวชในคริสตจักรเพื่ออุทิศตนเป็นผู้รับใช้พระเจ้า ด้วยการอภิบาลปกครอง ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ และอบรมสั่งสอนชุมชนคริสตชน

อ้างอิง[แก้]