พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ จัดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2496 และเริ่มจัดพิธีนี้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2501 เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนถึง พ.ศ. 2551

ประวัติการจัดพิธีฯ[แก้]

แต่เดิมพิธีนี้มิได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หากแต่จัดเป็นครั้งคราวตามที่กระทรวงกลาโหมหรือกองทัพบกจะกำหนด ปรากฏมีบันทึกว่า พิธีนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2496 สมัยที่จอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจัดให้มีขึ้น เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน และเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานธงไชยเฉลิมพล เพื่อใช้แทนธงไชยเฉลิมพลของเดิม โดยมีพล.อ. กฤษณ์ สีวะรา ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในขณะนั้น เป็นผู้บังคับการขบวนสวนสนาม และทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เป็นพลสวนสนาม

หลังจากพิธีในครั้งนั้นก็ได้ว่างเว้นมาอีกเป็นเวลาหลายปี จนถึงสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้มีการถวายพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร หลังจากทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยได้จัดพิธีสวนสนามของบรรดาทหารบก ทหารเรือ และ ทหารอากาศ เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2504 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นประกาศให้เป็น "วันพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม" แต่ทหารทั้งสามเหล่าแต่งกายด้วยเครื่องแบบของแต่ละเหล่าทัพ มิได้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีบัญชาให้ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้หน่วยทหารรักษาพระองค์ในกรุงเทพมหานครเข้าร่วมพิธี จำนวนทั้งหมด 8 กองพัน จัดเป็น 2 กรมสวนสนาม มีรายละเอียดดังนี้

นับจากนั้นเป็นต้นมา พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามฯ ที่จัดขึ้นในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ นี้ ก็ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ พระลานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพิธีฯ เนื่องจากต้องการให้ได้ทรงพักผ่อนพระวรกายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งในช่วงระหว่างนั้น (4 และ 6 ธันวาคม) มีพระราชกรณียกิจหลายประการอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2525 หน่วยทหารรักษาพระองค์ในส่วนภูมิภาคและเหล่าทัพอื่น ๆ คือ กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้เข้ามาร่วมพิธีด้วย จึงกำหนดการจัดหน่วยเข้าร่วมพิธีเพิ่มขึ้น จาก 8 กองพัน เป็น 12 กองพัน แบ่งออกเป็น 4 กรมสวนสนาม กรมละ 3 กองพัน แต่ละกองพันสวนสนามประกอบด้วยพลสวนสนาม 144 นาย (จัดแถวแบบ 12x12) หมู่แตรเดี่ยว 8 นาย หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพล 4 นาย และผู้บังคับกองพัน 1 นาย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ได้จัดให้กำลังพลขี่ม้าเข้าร่วมพิธีด้วย จำนวนกองพันที่เข้าร่วมพิธีจึงเพิ่มเป็น 12+1 กองพัน โดยกองพันทหารม้าดังกล่าวจะเป็นกองพันสุดท้ายในขบวนสวนสนาม

ตัวอย่างการจัดหน่วยสวนสนามในพิธีฯ ประจำปี พ.ศ. 2548[แก้]

ลำดับขั้นตอนพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ[แก้]

  1. ทหารรักษาพระองค์ทั้ง 12 กองพันพร้อมกันที่จุดรวมพลบริเวณถนนราชดำเนินนอก
  2. ทหารปืนใหญ่ยิงพลุสัญญาณ ทหารทั้ง 12 กองพันเริ่มเดินสวนสนามมาตามแนวถนนราชดำเนินมาจนถึงลานพระราชวังดุสิต แล้วจัดแถวรอรับการเสด็จพระราชดำเนิน
  3. พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมาถึงพลับพลาที่ประทับ
  4. เมื่อใกล้ถึงเวลาเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้บังคับกองผสมสั่งทหารติดดาบ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกจากพลับพลาที่ประทับไปยังหัวแถวกองผสมเพื่อรอรับเสด็จ
  5. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนินออกทางประตูทวยเทพสโมสรด้วยรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุน ผู้บังคับกองผสมสั่งวันทยาวุธถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แตรเดี่ยวเป่าสัญญาณถวายคำนับ 3 จบ ผู้บังคับกองผสมออกวิ่งไปยังหัวแถวทหารเพื่อไปถวายรายงาน
  6. เมื่อสิ้นสุดการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้บังคับกองผสมกราบบังคมทูลถวายรายงานและกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนาม
  7. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนามโดยมีผู้บังคับกองผสมและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ตามเสด็จ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพลับพลาที่ประทับ
  8. ผู้บังคับกองผสมสั่งปลดดาบ เจ้ากรมสารบรรณทหารบกทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ
  9. พลแตรเดี่ยวเป่าสัญญาณเตรียมตัว หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพลออกมาหน้าแถวเพื่อเตรียมเชิญธงฯ ไปยังหน้าพลับพลา
  10. พลแตรเดี่ยวเป่าสัญญาณหน้าเดิน หมู่เชิญธงฯ อัญเชิญธงฯ โดยการเดินเปลี่ยนสูงไปยังหน้าพลับพลา ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัยจนทุกหมู่มาพร้อมกันที่หน้าพลับพลา
  11. นายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาตั้งแถวหน้าพลับพลาที่ประทับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทูลเกล้าฯ ถวายพานดอกไม้ ธูปแพ เทียนแพ
  12. ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าวคำถวายพระพร และนำทหารกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตน จบแล้วดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารทุกนายถวายความเคารพและขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถวาย ทหารปืนใหญ่ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติ 21 นัด ตามจังหวะเพลง ในสนามเสือป่ามีการปล่อยลูกโป่งสีและแพรถวายพระพร
  13. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสตอบทหาร จบแล้วดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารทุกนายถวายความเคารพ
  14. หมู่เชิญธงฯ ทุกหมู่กลับเข้าประจำแถวของตน ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล
  15. พลแตรเดี่ยวให้สัญญาณเตรียมตัว ผู้บังคับกองผสมสั่งทหารติดดาบ และสั่งแถวทหารแปรขบวนเตรียมการสวนสนาม
  16. พลแตรเดี่ยวให้สัญญาณหน้าเดิน กองผสมทำการสวนสนามผ่านหน้าพลับพลาที่ประทับจนครบทุกกอง ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชราชวัลลภ แต่ในขณะที่กองพันที่ 13 คือ กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ซึ่งได้นำม้ามาเข้าร่วมสวนสนามด้วยนั้น ดุริยางค์จะเปลี่ยนไปบรรเลงเพลง King Cotton แทน เพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะการเดินของม้า
  17. ดุริยางค์ทหารเคลื่อนขบวนมายังหน้าพลับพลาที่ประทับ เพื่อขับร้องเพลงถวายพระพร ซึ่งประพันธ์โดยกองดุริยางค์ทหารบก (กรมดุริยางค์ทหารบก ในปัจจุบัน) จบแล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินกลับ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แตรเดี่ยวเป่าสัญญาณถวายความเคารพ 3 จบ ผู้บังคับกองผสมกล่าวนำทหารถวายพระพร "ทรงพระเจริญ" 3 ครั้ง
  18. แตรเดี่ยวให้สัญญาณเลิกแถว ผู้บังคับกองผสมสั่งเลิกแถว ดุริยางค์บรรเลงเพลงเดิน (เพลงสยามานุสสติ)

คำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์[แก้]

" ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า (ยศ-ชื่อ-นามสกุล) ขอถวายคำสัตย์ปฏิญาณ ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ข้าพระพุทธเจ้า จะยอมตายเพื่อรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ แห่งพระมหากษัตริย์เจ้า ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดี และถวายความปลอดภัย ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จนชีวิตหาไม่ ข้าพระพุทธเจ้า จะเชิดชูและรักษาไว้ ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ของทหารรักษาพระองค์ ทั้งจะปฏิบัติตน ให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกประการ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ "

การเปลี่ยนแปลง[แก้]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 – 2551 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เปลี่ยนแปลงวันพิธีจากวันที่ 3 เป็นวันที่ 2 ธันวาคม โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุน [1] ออกทางประตูทวยเทพสโมสร หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อทรงเป็นองค์ประธานในพิธี ในขณะทรงตรวจพลสวนสนามนั้น จะมีรถยนต์อัญเชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์ นำหน้าขบวนเสด็จพระราชดำเนินด้วย นอกจากนี้ ยังได้อัญเชิญธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วยต่าง ๆ เข้าร่วมในพิธีด้วย

ในปี พ.ศ. 2549 และ 2550 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จพระราชดำเนินกลับจากพิธีนี้ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ทะเบียน ร.ย.ล.960 ด้วยเส้นทางจากพระลานพระราชวังดุสิต ไปทางถนนศรีอยุธยา เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระรามที่ 5 กลับเข้าสู่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานทางด้านประตูพระวรุณอยู่เจน โดยตลอดข้างทางนั้นมีพสกนิกรมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ในปีเดียวกัน ยังมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนบางประการในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ดังนี้

  1. ขั้นตอนการอัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ได้ปรับให้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลมาตั้งแถวรอที่หน้าพลับพลาที่ประทับก่อนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จพระราชดำเนินมาถึง จากเดิมเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามแล้ว จึงจะมีการเชิญธงชัยเฉลิมพลในลำดับถัดไป ทั้งนี้ เนื่องจากว่าได้มีการเชิญธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารรักษาพระองค์ต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 36 หน่วย (รวมหน่วยสวนสนาม) มาร่วมพีธีถวายสัตย์ฯ ร่วมกับหน่วยทหารรักษาพระองค์ทั้ง 13 หน่วยที่จะทำการสวนสนามด้วย
  2. การขับร้องเพลงถวายพระพรโดยวงดุริยางค์ทหารบกซึ่งปกติทำกันเป็นประจำทุกปี ได้งดไปในปีนี้

ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับขบวนทหารกองพันสวนสนามที่ 1 – 12 ในเวลาสวนสนามหน้าพระที่นั่งเป็น 2 แถวสวนสนามพร้อมกัน เพื่อกระชับเวลาของพิธีให้สั้นลง อันเป็นการลดพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และในปี พ.ศ. 2552 สำนักราชเลขาธิการ (กรมราชเลขานุการในพระองค์ ในปัจจุบัน) ได้ประกาศจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ กำหนดเดิม คือวันที่ 2 ธันวาคม แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลง สถานที่ประกอบพิธีสวนสนามซึ่งจัดขึ้น ณ ท้องสนามหลวงเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ต่อมาสำนักพระราชวังได้ออกหมายกำหนดการพิธีสวนสนามโดยให้จัดในวันที่ 2 ธันวาคมดังเดิมจนถึงปี 2558 [2]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. รถยนต์พระที่นั่งในพิธีฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้รถยนต์พระที่นั่งทะเบียน ร.ย.ล.5, ร.ย.ล.972 และ ร.ย.ล.960 ตามลำดับ
  2. [[มลทลราชเลขาฯแถลง ในหลวงเสด็จมหาสมาคม 5 ธ.ค.เลื่อนถวายสัตย์-ถวายพระพร ข่าวจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]