พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์
(ทองคำ เศวตศิลา)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด22 มิถุนายน พ.ศ. 2422
กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต4 เมษายน พ.ศ. 2510 (87 ปี 286 วัน)
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสคุณหญิงขลิบ วันพฤกษ์พิจารณ์

พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) 22 มิถุนายน พ.ศ. 24224 เมษายน พ.ศ. 2510 ปลัด กรมป่าไม้ นักพฤกษศาสตร์ นักวิชาการป่าไม้ ผู้ริเริ่มปลูกสวนป่าไม้สักของประเทศไทย ผู้จัดตั้งกองป่าไม้ภาคใต้

ชีวิตในเยาว์วัยและการศึกษา[แก้]

พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ เกิดที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรชายคนโตของนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ชาวอังกฤษ ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคุณเพิ่ม อาลาบาสเตอร์ มีน้องชายร่วมมารดา 1 คนคือ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ทองย้อย เศวตศิลา)

นายเฮนรี บิดาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2427 เมื่อพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์มีอายุได้เพียง 5 ขวบ ทั้งสองพี่น้องไม่ได้รับมรดกใด ๆ จากบิดาจึงมีชีวิตในวัยเด็กที่ยากลำบาก ในขณะเรียนหนังสืออยู่ในกรุงเทพฯ มารดาได้ย้ายไปอยู่ต่างจ้งหวัด จึงอาศัยอยู่กับญาติบ้าง ผู้อื่นบ้าง ในบางครั้ง เวลาขึ้นชั้นเรียนใหม่ก็ต้องหยุดเรียนเพื่อเพื่อไปเร่ขายดินสอหินสำหรับเขียนกระดานชนวนเพื่อนำเงินมาซื้อเสื้อผ้าและหนังสือสำหรับขึ้นเรียนชั้นใหม่ เมื่อมีเงินพอแล้วจึงกลับเข้าไปเรียนใหม่

อย่างไรก็ดี พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์สามารถจบหลักสูตรในขณะนั้นโดยสอบไล่ได้ประโยค 2 ได้เป็นที่ 1 ได้รับการจารึกชื่อในแผ่นหินที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นก็ได้เข้าเรียนวิชาทำแผนที่ และสอบไล่ได้เป็นที่ 1 อีก ได้เป็นครูแผนที่ ต่อมาสอบชิงทุนไปเรียนวิชาการป่าไม้ที่ประเทศอินเดียและเป็นคนไทยคนแรกที่สอบวิชาการป่าไม้ได้สำเร็จ กระทั่งได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น หลวงวันพฤกษ์พิจารณ์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2448 หลังจากรับราชการในกรมป่าไม้ได้ 10 ปี พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ก็ได้ขอลาราชการไปศึกษาต่อด้านพฤกษศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษด้วยทุนส่วนตัวและก็เป็นนักเรียนไทยที่สำเร็จวิชาพฤกษศาสตร์เป็นคนแรกเช่นกัน

การทำงานและผลงาน[แก้]

พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ได้กลับเข้ารับราชการในกรมป่าไม้ อีกครั้งหนึ่งและได้ย้ายไปเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ภาคภูเก็ต และเจ้าพนักงานป่าไม้ภาคนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2460

การรวบรวมพรรณไม้ไทยและการจัดตั้งหอพรรณไม้[แก้]

ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2455พ.ศ. 2463 พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้ด้วย ก็ได้รวบรวมพันธุ์ไม้ของไทยจากภาคต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคใต้เพื่อทำเป็น ”หอพรรณไม้” โดยเก็บตัวอย่างได้ประมาณ 1,200 หมายเลข ปัจจุบันยังเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (BKF) และตัวอย่างซ้ำถูกส่งไปเก็บที่ หอพรรณไม้คิว (K) ในประเทศอังกฤษ

การเรียบเรียงตำราพรรณไม้[แก้]

นอกจากได้ชื่อว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนบุกเบิกด้านพฤกศาสตร์ที่เป็นคนไทยในการรวบรวมพรรณไม้และการจัดตั้งหอพรรณไม้ (Herbarium) ของกรมป่าไม้ขึ้นดังกล่าวมาแล้ว พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ก็ยังได้เป็นผู้เรียบเรียงหนังสือ “พรรณไม้ไทย” (List of Common Trees and Shrubs in Siam, 1923 ) ซึ่งจัดเป็นตำราพันธุ์ไม้เล่มแรกของไทยในปี พ.ศ. 2466

การริเริ่มปลูกสวนป่าต้นสัก[แก้]

ในด้านการป่าไม้ พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ ได้ทำการทดลองปลูกสวนสักเมื่อปี พ.ศ. 2449 ตามแบบที่พม่าใช้ได้ผลมาแล้วโดยวิธีหยอดเมล็ดลงหลุมและอาศัยความร่วมมือจากชาวไร่ เมื่อการทดลองครั้งแรกได้ผลดี จึงได้มีการขยายการปลูกสร้างสวนป่าไม้สักเพิ่มขึ้นในระยะต่อมา

เกียรติประวัติ[แก้]

พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ได้รับเกียรติจากนักพฤกษศาสตร์ต่างประเทศในการใช้ชื่อท่านตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้ถึง 6 ชนิดด้วยกัน

การดำเนินชีวิตและบั้นปลายชีวิต[แก้]

มหาอำมาตย์ตรีพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์สมรสกับคุณหญิงขลิบ วันพฤกษ์พิจารณ์ (ขลิบ บุนนาค ธิดา เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค)[1] มีบุตรธิดา 3 คน คือ

  1. พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา (ถึงแก่อสัญกรรม)
  2. นางสมจิตต์ สกลคณารักษ์ (ถึงแก่กรรม)
  3. ร้อยตรีสนั่น เศวตศิลา (ถึงแก่กรรม)

นอกจากนี้พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ยังมีบุตรธิดากับภริยาอื่นอีก 12 คน รวมเป็น 15 คน

พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและซื่อตรงต่อหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง ไม่เป็นผู้มักใหญ๋ไฝ่สูง แม้จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา มหาอำมาตย์โต๊ะทอง กาทองเป็นคนแรกในกรมป่าไม้ ก็มิได้มีฐานะร่ำรวยและไม่ได้รับตำแหน่งสูงสุดตามควร แต่ท่านก็มีความพอใจและสั่งสอนลูก ๆ ให้มีความซื่อสัตย์สุจริตและให้ทำความดีไว้เสมอ

พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2510 สิริอายุรวมได้ 87 ปี 10 เดือน

ยศและบรรดาศักดิ์[แก้]

  • 21 มิถุนายน พ.ศ. 2448 หลวงวันพฤกษ์พิจารณ์ ถือศักดินา ๖๐๐[2]
  • 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454 รองอำมาตย์เอก
  • 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 พระวันพฤกษ์พิจารณ์ ถือศักดินา ๘๐๐[3]
  • 22 ธันวาคม 2459 – อำมาตย์โท[4]
  • 6 สิงหาคม 2460 – อำมาตย์เอก[5]
  • 19 ธันวาคม พ.ศ. 2460 พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ ถือศักดินา ๑๐๐๐[6]
  • 5 พฤษภาคม 2462 – เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม[7]
  • 11 ธันวาคม 2463 – มหาอำมาตย์ตรี[8]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-14. สืบค้นเมื่อ 2008-06-23.
  2. ส่งสัญญาบัตรขุนนางไปพระราชทาน
  3. เลื่อนและตั้งบรรดาศักดิ์
  4. พระราชทานยศ
  5. พระราชทานยศ
  6. พระราชทานบรรดาศักดิ์
  7. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  8. พระราชทานยศ
  9. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า (หน้า ๒๓๕๐)
  10. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์