เฮนรี อาลาบาศเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮนรี อาลาบาศเตอร์
เกิด22 พฤษภาคม พ.ศ. 2379
เฮสติงส์ ประเทศอังกฤษ
เสียชีวิต8 สิงหาคม พ.ศ. 2427 (48 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
อาชีพนักการทูต
ผลงานเด่นเดอะวีลออฟเดอะลอว์ (The Wheel of the Law)
คู่สมรสพาลาเซีย เอ็มมา ฟาเฮย์[1]
เพิ่ม
บุตร6 คน รวมถึงพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์และพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง
บุพการี
  • เจมส์ ชาโลเนอร์ อาลาบาศเตอร์ (บิดา)
  • แฮร์ริเอ็ต วูดแมน (มารดา)
ญาติชาโลเนอร์ อาลาบาศเตอร์ (น้องชาย)
แมรี แอน คริดเดิล (ป้า)
สิทธิ เศวตศิลา (หลานปู่)

เฮนรี อาลาบาศเตอร์ (อังกฤษ: Henry Alabaster; 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2379 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2427) ต้นตระกูลเศวตศิลา รองกงสุลชาวอังกฤษ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เป็นผู้รังวัดในการตัดถนนเจริญกรุง ต่อมาเกิดขัดแย้งกับกงสุลน็อกซ์ จึงลาออกและเดินทางกลับประเทศอังกฤษ และเดินทางกลับมารับราชการกับไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2416 เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้วางรากฐานการทำแผนที่ การสร้างถนน กิจการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และพิพิธภัณฑ์

ช่วงต้นของชีวิตและวงศ์ตระกูล[แก้]

เฮนรี อาลาบาศเตอร์ เกิดที่เมือง เฮสติงส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2379 เป็นบุตรคนที่สามในจำนวนสี่คนของเจมส์ ชาโลเนอร์ อาลาบาศเตอร์ และแฮร์ริเอ็ต วูดแมน แมรี แอน คริดเดิล ป้าข้างบิดาของเขาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงพอสมควร[2] ส่วนน้องชายของเขา ชาโลเนอร์ อาลาบาศเตอร์ ทำงานเป็นทูตและรับราชการให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรในจีน มีตำแหน่งเป็นรองกงลุสประจำเซี่ยงไฮ้และต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นกงลุสใหญ่ประจำนครฮั่นโคว (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอู่ฮั่น) นายอาลาบาศเตอร์สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน[1]

การทำงานในประเทศสยาม[แก้]

ก่อนเข้ารับราชการ[แก้]

นายอาลาบาศเตอร์เข้ามาประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2399 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะนักเรียนล่ามเข้ามาเรียนภาษาไทยเพื่อกลับไปรับราชการที่ประเทศอังกฤษ แต่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ในระหว่างดำรงตำแหน่งรองกงสุลฯ นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ ผู้ทำหน้าที่รั้งตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำกรุงสยาม ยังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์ดาราศาสตร์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ร่วมกับคณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส คณะของผู้รั้งตำแหน่งกงสุลอเมริกันประจำกรุงสยาม ตลอดจนชาวยุโรปและอเมริกันที่พำนักอยู่ในประเทศ โดยพระบรมราชานุญาตเข้าร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 อีกด้วย แต่ภายหลังเมื่อทำงานในตำแหน่งรองกงสุลไปได้ระยะหนึ่งก็ได้เกิดความขัดแย้งกับกงสุลน็อกซ์ จึงได้ลาออกจากตำแหน่งและเดินทางกลับประเทศอังกฤษ

แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสรอบแหลมมลายู ชวา และอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2416 (พระชนมายุ 20 พรรษา) แล้ว ได้ทรงนำนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (อายุ 37 ปี) กลับเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ โปรดเกล้าให้ทำราชการหลายหน้าที่ รวมทั้งหัวหน้าล่าม ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ รวมทั้งเจ้ากรมพิพิธภัณฑสถานและสวนสราญรมย์ และข้าหลวงผู้จัดการงานสร้างถนนและสะพาน

การรับราชการ[แก้]

ในฐานะราชเลขาธิการส่วนพระองค์ และเป็นผู้มีความสนใจและมีความรู้ด้านต้นไม้ นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ จึงได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนสราญรมย์ขึ้นในบริเวณวังสราญรมย์ที่สร้างไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2409 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นสวนพฤกษศาสตร์ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้และพันธุ์สัตว์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ โดยนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์เองเป็นผู้ออกแบบและดูแลการก่อสร้างสวนด้วยตนเองเมื่อ พ.ศ. 2417 และยังเป็นผู้สั่งกล้วยไม้รวมทั้งแคทลียามาแสดงในสวนอีกด้วย

นอกจากนี้เฮนรีได้ถวายคำแนะนำในการพัฒนาประเทศด้วยวิชาการสมัยใหม่หลายสาขา รวมทั้งวิชาการสำรวจรังวัด วิชาการทำแผนที่และวิชาการทำถนนซึ่งมีความจำเป็นมากในสมัยนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทำแผนที่ทดลองขึ้นใน พ.ศ. 2418 โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์เป็นหัวหน้ากอง กัปตันลอฟตัสเป็นผู้ช่วย พร้อมกับคนไทย 4 คน (หม่อมราชวงศ์แดง เทวาธิราช นายทัด ศิริสัมพันธ์ นายสุด และ หม่อมราชวงศ์เฉลิม) โดยเริ่มด้วยการสำรวจทำแผนที่กรุงเทพมหานคร เพื่อตัดถนนเจริญกรุงและถนนอื่น ๆ รวมทั้งงานทำแผนที่เพื่อวางสายโทรเลขไปยังพระตะบอง แผนที่บริเวณปากอ่าวสยาม เพื่อการเดินเรือและเพื่อเตรียมการป้องกันการรุกรานของข้าศึกที่อาจมาทางทะเล ต่อมา นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ผู้ซึ่งมิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในงานแผนที่จึงได้ถวายคำแนะนำให้ว่าจ้างช่างสำรวจรังวัดและทำแผนที่โดยตรงคือ นายเจมส์ เอฟ. แมคคาร์ที ผู้ช่วยช่างทำแผนที่จากกรมแผนที่แห่งอินเดีย เข้ามารับราชการในกองทำแผนที่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2424 (ขยายเป็นกรมทำแผนที่ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2428)

พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ได้เขียนไว้ในเรื่อง “มูลเหตุจัดการกรม ไปรษณีย์โทรเลข พ.ศ. ๒๔๔๒” กล่าวถึงมิสเตอร์เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ไว้ว่า

“ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่ามีฝรั่งชาวอังกฤษ ชื่อมิสเตอร์เฮนรี อาละบาสเตอร์ ผู้หนึ่ง ซึ่งเคยรับราชการอังกฤษตำแหน่งราชทูตในราชสำนักไทยแล้วลาออกมารับราชการไทย มาถึงสมัยข้าพเจ้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้เคยเป็นครูข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้จักดีตลอดทั้งครอบครัว แลบุตรของเขาได้รับราชการกระทรวงมหาดไทยถึงเป็นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลก็มี มิสเตอร์อาละบาสเตอร์นั้นเป็นคนอังกฤษแท้ รูปร่างสันทัด ตาเหล่เล็กน้อย เป็นผู้มีวิชาความรู้ดี เมื่อมีพระราชกิจในรัชกาลที่ ๕ อย่างไร ข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีรับสั่งให้หาเขาเข้าไปเฝ้าเนือง ๆ เขาชำนาญการกฎหมายนานาประเทศ การเมืองต่างประเทศ โบราณวัตถุ เมื่อเวลาข้าพเจ้ารู้จักเขานั้น ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่หน้าประตูพิมานไชยศรี ตรงที่ศาลาสหทัยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บัดนี้เรียกกันว่ามิวเซียม และเข้าใจกันว่าเป็นมิวเซียมแรกในเมืองไทยเรา ตั้งสำนักงานของเขาที่นั้น ข้าพเจ้าสังเกตดู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดและทรงนับถือมิสเตอร์อาละบาสเตอร์มาก ข้าพเจ้าเคยเห็นในเวลาเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปถึงหน้าสำนักงานของเขา เช่นเวลาเสด็จประพาสวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มิสเตอร์อาละบาสเตอร์ลงไปเฝ้าถวายความเคารพ เป็นหยุดกระบวนเสด็จ หยุดพระราชยาน รับสั่งทักทายปราศรัยมิสเตอร์อาละบาสเตอร์ทุกครั้ง เป็นเกียรติยศซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระราชทานแก่ผู้ใด”

ผลงานสำคัญ[แก้]

ผลงานสำคัญของนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์พอสรุปโดยสังเขปได้ดังต่อไปนี้

  • พ.ศ. 2404 รังวัดในการตัดและเป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนนเจริญกรุง ถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2417 ออกแบบและก่อสร้างสวนสราญรมย์ นำกล้วยไม้แคทลียา เข้ามาในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2417 นำล็อตเตอรี เข้ามาออกในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดีย พระบรมมหาราชวัง โดยกรมทหารมหาดเล็กเป็นผู้รับผิดชอบ
  • พ.ศ. 2418 ก่อตั้งกองทำแผนที่และเริ่มงานทำแผนที่สำรวจรังวัดเพื่อสร้างถนนต่างๆ
  • พ.ศ. 2424 ถวายคำแนะนำให้จ้างนายเจมส์ เอฟ.แมคคาร์ธีมาดูแลกองทำแผนที่
  • พ.ศ. 2426 ก่อตั้งกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข

การสมรสและทายาท[แก้]

เฮนรี อาลาบาศเตอร์ สมรสกับพาลาเซีย เอ็มมา ฟาเฮย์ (Palacia Emma Fahey) ชาวอังกฤษใน พ.ศ. 2408 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 4 คน[1] เมื่อนายอาลาบาศเตอร์เข้ามารับราชการในสยาม นางพาลาเซียและบุตรก็ได้ตามมาอยู่ด้วยจนกระทั้งนายอาลาบาศเตอร์เสียชีวิตจึงเดินทางกลับอังกฤษ[3] นางพาลาเซียเป็นผู้มีฝีมือในการเขียนภาพจิตรกรรม และเคยได้รับพระราชหัตถเลขาชมเชยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย[3]

นอกจากนี้เขายังมีภรรยาอีกคนหนึง เป็นหญิงไทยชื่อเพิ่ม รับราชการเป็นพระนมในราชสำนัก[3] มีบุตรชาย 2 คน ได้แก่ มหาอำมาตย์ตรี พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) (บิดาของพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี) และพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ทองย้อย เศวตศิลา)

ชีวิตบั้นปลาย[แก้]

นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์รับราชการไทยได้เพียง 10 ปีเศษ ก็เกิดป่วยเป็นอัมพาตอย่างกะทันหัน ขากรรไกรแข็งพูดไม่ได้ เพียง 2 วันก็เสียชีวิตในวันที่ 4 สิงหาคม 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัวทรงเสียพระทัยมาก มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ตอนหนึ่งมีความว่า

“ด้วยมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ป่วยเป็นลมอำมพาธอย่างแรงที่สุด แต่คืนนี้เวลา ๑๐ ทุ่มไม่มีสติเลย มาจนเวลาวันนี้สองทุ่มตาย เป็นการขาดทุนยิ่งใหญ่ของเรา การทั้งปวงยังอะร้าอร่ามอยู่มาก มิสเตอร์อาลบาสเตอร์ได้รับราชการมาถึงสิบสามสิบสี่ปี ทำการใดซื่อตรงจงรักภักดีต่อไทยจริง ๆ การใหญ่ ๆ ก็ได้ปลุกมามาก จะหาคนนอกใช้ให้เสมอเหมือนยากนัก จะว่าโดยความชอบก็มีมากให้กินพานทองได้ทีเดียว....”

เฮนรี อาลาบาศเตอร์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอายุเพียง 48 ปี แต่โดยที่นายเฮนรีได้ปฏิบัติราชการมีคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินมาก จึงได้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยโปรดปรานใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2427 ถึงภรรยาหม้ายของนายอาลาบาศเตอร์ สรรเสริญเกียรติคุณที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี  สำแดงพระทัยโศกเศร้า พระราชทานเบี้ยเลี้ยงชีพตลอดเวลาที่ยังเป็นหม้ายอยู่ปีละ 300 ปอนด์ คือสามสิบชั่ง หรือ 2,400 บาท กับพระราชทานให้เป็นส่วนเลี้ยงบุตรอีกปีละ 200 ปอนด์ ทั้งยังมีพระบรมราชโองการโปรดให้เจ้าพนักงานจัดงานศพให้เสมอพระยาเอก ให้จัดทำมณฑปแบบฝรั่งไว้ ณ ที่ฝังศพและปั้นรูปนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ด้วยหินปูน ตั้งไว้ในมณฑปนั้นด้วย

หลุมฝังศพของเฮนรี อาลาบาศเตอร์ อยู่ที่สุสานโปรเตสแตนต์ ถนนเจริญกรุง ยานนาวา กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Personal Correspondence of Henry Alabaster and Palacia Alabaster" จากคลังเอกสารของมหาวิทยาลัยลอนดอน
  2. London Street Views
  3. 3.0 3.1 3.2 บุนนาค, โรม (4 March 2016). "ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙". ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 7 March 2024.
  • ดาราศาสตร์ เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • เสาวนีย์ เตชะไพบูลย์. ประวัติชีวิตการเมืองของพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา. กรุงเทพฯ : สมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย, 2549.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]