พระนางชยราชเทวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชยราชเทวี
พระมเหสี
ชยราชเทวีที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์[1]
พระราชสวามีพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พระราชบุตรนฤปตีนทรวรมัน[2]
ราชวงศ์มหิธรปุระ
ศาสนาพุทธนิกายมหายาน (เดิมฮินดู)

ชยราชเทวี หรือ ศรีชยราชเทวี เป็นพระมเหสีลำดับที่หนึ่ง[2]ในพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร[3] และเป็นพระขนิษฐาในอินทรเทวี ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีร่วมพระราชสวามี[4][5]

พระราชประวัติ[แก้]

ชยราชเทวีพระราชสมภพในครอบครัวพราหมณ์ที่มีพื้นเพมาจากเมืองทันนิเกตนะปุระ (ที่อยู่ของช้าง) และเมืองสรัสวดีปุระ ซึ่งถือว่าเป็นครอบครัวที่สูงศักดิ์ เพราะในช่วงเวลานั้นพราหมณ์มีบทบาทสูงยิ่งในราชสำนัก[6] ใน จารึกพิมานอากาศ กล่าวถึงพระราชชนกไว้ว่าชื่อ ศรีช [...] (ข้อความขาดหาย) มีพระอัยกาฝ่ายพระชนกชื่อ รุทรวรมัน มีอัยยิกาฝ่ายพระชนกชื่อ ศรี [...] (ข้อความขาดหาย) ส่วนพระอัยกาฝ่ายพระชนนีเป็นพราหมณ์ และพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีชื่อ ราเชนทรลักษมี โดยได้ยกย่องราเชนทรลักษมีไว้ว่าเป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้[7] มีพระเชษฐภคินีพระองค์หนึ่ง คือ อินทรเทวี ดังปรากฏใน จารึกพิมานอากาศ ความว่า "...ในครั้งนั้น [...] มารดาเป็นเหมือนแผ่นดิน บิดามีความมั่นคง [...] เขาพระสุเมรุ [...] อินทรเทวี เป็นผู้ที่ประสูติก่อน และคงคาผู้รู้ [...] สั่น [...]..."[8]

ชยราชเทวีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์[1][5] เมื่อพระราชสวามีขึ้นครองราชสมบัติใน ค.ศ. 1181 ชยราชเทวีจึงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสี ทั้งสองมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ปรากฏใน จารึกพิมานอากาศ ระบุพระนามว่า "...ตีนทรวรมัน ผู้เป็นเจ้าแห่งลโว้ทยะ..." พระนามส่วนแรกตัวอักษรถูกกระเทาะหายไป ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่า เจ้าชายผู้ครองเมืองละโว้พระองค์นี้ น่าจะมีพระนามว่า "นฤปตีนทรวรมัน" และเป็นที่รู้จักในอีกพระนามคือ "อินทรวรมัน"[2] อย่างไรก็ตามพระราชโอรสพระองค์นี้ไม่ได้ประทับอยู่ในเมืองพระนคร และถูกส่งไปอยู่เมืองละโว้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์[9] ต่อมาได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2[6]

เบื้องต้นชยราชเทวีบำเพ็ญตบะตามวิถีศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัด เพราะในช่วงนั้น พระราชสวามีทรงออกรบกับอาณาจักรจามปา ทำให้พระองค์รู้สึกเกิดความทุกข์[1][4] กระทั่งอินทรเทวี พระเชษฐภคินี ทรงชี้ชวนให้ชยราชเทวีเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ[4][5] ดังปรากฏในจารึกว่า "...ทรงได้รับคำสอนจากพระเชษฐภคินี คือ พระนางอินทรเทวี ให้เพ่งพิจารณาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพบูชาของนาง ทรงเลือกหนทางอันร่มรื่นของพระอริยบุคคลผู้ดำเนินอยู่ท่ามกลางไฟของความทุกข์ทรมานและทะเลแห่งความวิปโยค..."[4][10]

ชยราชเทวีเสด็จสวรรคตในช่วงต้นรัชกาล หลังพระราชสวามีเสร็จศึกจากอาณาจักรจามปาได้ไม่นาน ยังความเศร้าสลดแก่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยิ่งนัก[1] ปรากฏใน จารึกพิมานอากาศ ความว่า "...พระนางผู้ยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระสวามี เมื่อพระสวามีได้บำเพ็ญพิธีกรรมในเวลากลางวันเสร็จสิ้นแล้ว พระนางก็ได้บรรลุถึงนิรวาณ แม้จะได้สละอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้วแต่ก็ได้บรรลุนิรวาณแล้ว..."[11] กระทั่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อภิเษกสมรสใหม่กับอินทรเทวี ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของชยราชเทวี อินทรเทวีทรงสานต่อพระปณิธานของชยราชเทวี ด้วยการอุปถัมภ์สถานศึกษาสามแห่งที่ชยราชเทวีทรงสร้างไว้สำหรับสตรีและเด็กหญิงชั้นสูง[5][12]

พระราชกรณียกิจ[แก้]

หลังทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธแล้ว ทรงปฏิบัติตนเป็นครู ทรงสั่งสอนด้วยพระองค์เอง ทรงรับอุปการะเด็กหญิงที่ถูกมารดาทอดทิ้ง และได้พระราชทานเสื้อผ้าและสิ่งของต่าง ๆ แก่เด็กเหล่านั้นมาบวชเรียนเป็นชีให้อยู่ในวิถีแห่งศาสนา[5][13] ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานแทนศาสนาเดิม[1]

ชยราชเทวีมีความสามารถเชิงระบำรำฟ้อน ทรงจัดการแสดงนาฏศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับชาดกในราชสำนัก โดยทรงถ่ายทอดด้วยพระองค์เอง จนกลายเป็นสิ่งบันเทิงในราชสำนัก ดังปรากฏความใน จารึกพิมานอากาศ ความว่า "...พระนางนั้น [...] พรตเหมือน [...] และผลที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าที่ประจักษ์ด้วยตนเอง ได้บำเพ็ญเพียรแล้ว [...] พระนางผู้เป็นศิลปินฟ้อนรำด้วยพระองค์เอง ได้ทรงกระทำการแสดงนาฏศิลป์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาดก..."[14]

รูปลักษณ์[แก้]

ใน จารึกพิมานอากาศ บทพระราชนิพนธ์ในอินทรเทวี ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี ได้อธิบายถึงความงามของชยราชเทวีไว้ว่า "...ด้วยความงามของพระขนงทั้งคู่ [...] ด้วยความงามของพระเนตร [...] ของพระองค์ โดยพระผู้สร้าง [คือ พระพรหม] พระองค์ [...] ..." และ "...พระนาง [...] พระถันทั้งคู่ [...] ที่ติดอยู่กับหงส์เป็นต้น [...] ทั้งหมดน่ารักอย่างยิ่ง [...] ..." โดยตีความหมายรวม ๆ ได้ว่า ชยราชเทวีคือศูนย์รวมของความงาม ทั้งคิ้ว ดวงตา งามประจักษ์ดุจพระพรหมสร้าง และกล่าวถึงความงามของหน้าอก ส่วนหงส์ อาจหมายถึงเครื่องประดับ กิริยามารยาทที่งดงามดุจหงส์ หรือมีคอยาวงามดุจหงส์ก็เป็นได้[15] นอกจากนี้ยังกล่าวถึงคุณลักษณะอันเลิศของชยราชเทวี ว่างามราวกับพระศรี (พระลักษมี) ฉลาดรอบรู้ด้านศิลปศาสตร์ดั่งพระสุรัสวดี โดยกล่าวไว้ว่า "...พระนางหลังเอาชนะพระศรีความงามของผู้ที่ชอบความงามทั้งหลาย หลังเอาชนะพระสุรัสวดีด้วยความรู้ของนักปราชญ์ทั้งหลาย และหลังจากเอาชนะความโชคดีของฝ่ายตรงกันข้ามด้วยความโดดเด่น หลังจากเอาชนะชื่อของตนนั้น พระนางจึงบรรลุถึงการหมดกรรม..."[16]

มีรูปแกะสลักของชยราชเทวีภายในห้องเล็กของปราสาทพระขรรค์ ที่ชาวเสียมราฐเชื่อกันว่าเป็นรูปของชยราชเทวี และมีภาพแกะสลักของอินทรเทวี ซึ่งเป็นพระพี่นางอยู่ไม่ไกลกัน[4] นอกจากนี้ยังมีปฏิมากรรมลอยตัวรูปพระปรัชญาปารมิตาภายในปราสาทพระขรรค์ ที่สันนิษฐานว่ามีพระพักตร์เป็นชยราชเทวี ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์[1] ภาพแกะสลักชยราชเทวีทรงเทริดท่ามกลางหมู่นางอัปสรภายในปราสาทบายน และภาพแกะสลักชยราชเทวีทรงเทริดภายในปราสาทบันทายกเดย[17]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 ศรีศักร วัลลิโภดม (2 กุมภาพันธ์ 2559). "สนทนาทัศนะนอกรีต : "ศรีชัยราชเทวี"". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 107
  3. "Jayavarman VII | king of Khmer empire". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-11-07.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 กมลศักดิ์ สรลักษณ์ลิขิต (5 พฤษภาคม 2566). "ตามรอยรูปสลัก พระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ณ ปราสาทพระขรรค์". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 ชะเอม แก้วคล้าย. "จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7" (PDF). กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 วรรณวิภา สุเนตรต์ตา. "ราชวงศ์มหิธรปุระ มีศูนย์กลางอยู่ที่ "พิมาย-พนมรุ้ง" : ภูมิหลังของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗". Matichon Academy. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 113
  8. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 112
  9. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 108
  10. Jacobsen, Trudy, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, NIAS Press, Copenhagen, 2008
  11. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 116
  12. Jacobsen, Trudy, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, NIAS Press, Copenhagen, 2008
  13. Jacobsen, Trudy, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, NIAS Press, Copenhagen, 2008
  14. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 125
  15. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 115
  16. นิพัทธ์ แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). "จารึกพิมานอากาศของพระนางศรีอินทรเทวี : สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7". วารสารไทยคดีศึกษา 15:(2), หน้า 117
  17. 17.0 17.1 17.2 อภิญญา ตะวันออก (23 ธันวาคม 2563). "ตามส่อง "เทริด" กับหลังบ้านกษัตริย์วรรมัน". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)