พระญาณวโรดม (สนธิ์ กิจฺจกาโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระญาณวโรดม

(สนธิ์ กิจฺจกาโร)
ส่วนบุคคล
เกิด20 มีนาคม พ.ศ. 2442 (85 ปี 131 วัน ปี)
มรณภาพ29 กรกฎาคม พ.ศ. 2527
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษานักธรรมชั้นเอก
เปรียญธรรม 5 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
บรรพชา2 กรกฎาคม พ.ศ. 2457
อุปสมบท18 มิถุนายน พ.ศ. 2462
ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุต)

พระญาณวโรดม นามเดิม สนธิ์ มั่งเรือน ฉายา กิจฺจกาโร เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อดีตรองเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร อดีตเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุต)

ประวัติ[แก้]

พระญาณวโรดม นามเดิม สนธิ์ มั่งเรือน เกิดเมื่อันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2442 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน เวลา 01.00 น. ภูมิลำเนาอยู่บ้านเหนือปากคลองบางขวาง ตำบลตะนาวศรี อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรนายแสง-นางคล้าย มั่งเรือน[1] เมื่อโตขึ้นได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดบางขวางจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

เมื่ออายุได้ 16 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบางขวาง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 โดยมีพระวิเชียรมุนี วัดบุปผาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบางขวางจนอายุครบอุปสมบทจึงเข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2462 ณ วัดบางขวาง โดยมีพระครูธรรมสารวิจิตร (ญาณเตโช) วัดมัชฌันติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูศีลาภิรม (ธมฺมธโร) วัดบางขวาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ขณะจำพรรษาอยู่วัดบางขวางนั้น ท่านมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร และต้องดำเนินทางไปกลับทางเรือทุกวัน แสดงถึงความอุตสาหะและใฝ่ศึกษาอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2474 จึงได้ย้ายมาจำพรรษาถาวรที่วัดบวรนิเวศวิหาร และสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 5 ประโยค ในที่สุด

ขณะอาศัยที่วัดบวรนิเวศวิหาร ท่านพักอยู่ที่หอสหจร คณะตำหนัก[2]

ศาสนกิจ[แก้]

ด้านศาสนกิจในวัดบวรฯ พระญาณวโรดมเริ่มทำหน้าที่ครูสอนปริยัติธรรมมาตั้งแต่เป็นมหาเปรียญ สอนพระวินัยแก่พระนวกะในช่วงเข้าพรรษา ต่อมาได้เป็นกรรมการและประธานกรรมการวัด

ส่วนงานในมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านได้เรียบเรียงบทความลงวารสารธรรมจักษุ เป็นกรรมการกองตำรา และสามารถแต่งคู่มือศึกษาปริยัติธรรมไว้หลายเล่ม จนได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์โท

สมณศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. ? เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพุทธมนต์ปรีชา
  • 8 มิถุนายน พ.ศ. 2491 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสาธุศีลสังวร[3]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี นรสีห์พจนปิลันธน์ คันถะธุรบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2502 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพญาณกวี นรสีห์ธรรมสาธก ตรีปิฎกวจนาลังการ ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี[5]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2509 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโสภณ วิมลศีลาจาร ตรีปิฎกาลังการ ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2516 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระญาณวโรดม สุตาคมธรรมภรณ์ บวรสุทธศีลสมบัติ พิพัฒนกิจจการี ศรีคันถรจนาจารย์บัณฑิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]

อาพาธและมรณภาพ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2516 ขณะตรวจการคณะสงฆ์ภาคเหนือ พระญาณวโรดมได้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำ ต้องเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาพาธเรื้อรังเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2520 มีอาการหยุดหายใจไป 3 ครั้ง แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ทำให้ทานความจ่ำเสื่อมและมีสุขภาพอ่อนแอลงอีก และถึงแก่มรณภาพดวยความชรา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 เวลา 02.20 น. ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุได้ 85 ปี 131 วัน ศพตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา 150 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับพระราชทานโกศแปดเหลี่ยมประกอบศพ มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืนกำหนด 7 คืน

วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2527 เวลา 14.30 น. เจ้าพนักงานเปลื้องเครื่องสุกำศพ แล้วเชิญบุพโพไปเผา ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2527 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และเรืออากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน ไปยังพลับพลาอิศริยาภรณ์เพื่อพระราชทานเพลิงศพ[8]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, หน้า 215
  2. "พระเถระวัดบวรนิเวศวิหาร: พระญาณวโรดม (สนธิ์ กิจฺจกาโร ป.ธ. 5)". วัดบวรนิเวศวิหาร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-23. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 65, ตอนที่ 34 ง, 15 มิถุนายน 2491, หน้า 1,888
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอนที่ 6 ง ฉบับพิเศษ, 12 มกราคม 2500, หน้า 3
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 76, ตอนที่ 115 ง ฉบับพิเศษ, 16 ธันวาคม 2502, หน้า 3
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 83, ตอนที่ 114 ง ฉบับพิเศษ, 19 ธันวาคม 2509, หน้า 1
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 90, ตอนที่ 177 ก ฉบับพิเศษ, 28 ธันวาคม 2516, หน้า 10-12
  8. พระญาณวโรดม : ธรรมบรรยายและธรรมเทศนา, หน้า [26] - [27]
บรรณานุกรม
  • กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. หน้า 174-177. ISBN 974-417-530-3
  • มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระญาณวโรดม : เอกเทสสวดมนต์และศาสนพิธีสังเขป. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2527. 318 หน้า. หน้า [19] - [25]. [พระราชทานเพลิงศพ พระญาณวโรดม (สนธิ์ กิจฺจกาโร) 29 ธันวาคม 2527]
  • วัดบวรนิเวศวิหาร. พระญาณวโรดม : ธรรมบรรยายและธรรมเทศนา. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2527. 154 หน้า. หน้า [7] - [27]. [พระราชทานเพลิงศพ พระญาณวโรดม (สนธิ์ กิจฺจกาโร) 29 ธันวาคม 2527]