ข้ามไปเนื้อหา

พนิช วิกิตเศรษฐ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พนิช วิกิตเศรษฐ์
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
3 มีนาคม พ.ศ. 2552 – 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด4 กันยายน พ.ศ. 2506 (61 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2546–2566)
คู่สมรสพัชรีภรณ์ วิกิตเศรษฐ์

พนิช วิกิตเศรษฐ์ (เกิด 4 กันยายน พ.ศ. 2506) ชื่อเล่น หนุ่ม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร อดีตรองหัวหน้าตามภารกิจพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กษิต ภิรมย์)

ประวัติและครอบครัว

[แก้]

พนิช เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2506 ที่ กรุงเทพมหานคร ชื่อเล่น หนุ่ม เป็นบุตรของนายนิตย์ และหม่อมหลวงสมพงศ์วดี วิกิตเศรษฐ์ (สกุลเดิม: จักรพันธุ์)

สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จาก Wilbraham & Monson Academy รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2529 ระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2535 และประกาศนียบัตร หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 6

ด้านครอบครัวสมรสกับนางพัชรีภรณ์ วิกิตเศรษฐ์ (สกุลเดิม: ณ สงขลา) มีบุตร 2 คน [1]หนึ่งในนั้น คือ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์)

พนิชเคยเป็นพิธีกรรายการ เก่งบวกเฮง ออกอากาศเวลา 14.00-15.00 น. ทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ทางบลูสกายแชนแนล โดยเริ่มทำมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2555 จนถึงปี พ.ศ. 2556 และโกนศีรษะจนล้านเลี่ยนหมด ทั้งนี้เกิดจากเมื่อครั้งต้องคุกจองจำที่ประเทศกัมพูชา รวมทั้งสิ้น 16 วัน พร้อมกับนายวีระ สมความคิด นายพนิชได้ถูกแมลงสาบในเรือนจำกัดศีรษะจนเป็นแผล จึงได้โกนออกเพื่อรักษาบาดแผล ซึ่งเมื่อพ้นออกมาก็ยังได้ไว้ทรงนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับได้ถือศีลปฏิบัติธรรมด้วย[1]

งานการเมือง

[แก้]

พนิช ร่วมงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยอภิรักษ์ โกษะโยธิน และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กษิต ภิรมย์)[2] และได้ลาออกในเวลาต่อมา เพื่อลงสมัครในการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 6 (แทนทิวา เงินยวง) ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เอาชนะก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย[3] และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 พนิช ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเขต 16 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ จากพรรคเพื่อไทย ในปี พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ[4]

เหตุถูกทหารกัมพูชาจับกุม

[แก้]

วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553 นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ พร้อมกับพวกจำนวน 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายวีระ สมความคิด รวมอยู่ด้วย ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบที่ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าทหารกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในเขตไทย บริเวณอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ได้ข้ามแดนบริเวณหลักเขตแดนที่ 46 บ้านภูมิโจกเจย (บ้านโชคชัย) ตำบลโอเบยเจือน อำเภอโจรว จังหวัดบันทายมีชัย และถูกทหารรักษาชายแดนที่ 503 ของกัมพูชาควบคุมตัว[5] โดยศาลเขตพนมเปญได้ตั้งข้อหาพนิช และพวกในข้อหาเดินทางข้ามพรมแดนโดยผิดกฎหมาย และรุกล้ำเขตทหาร ได้ถูกนำตัวไปขังไว้ในเรือนจำเปรย ซอร์ นอกกรุงพนมเปญ

ทางด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่พนิชเดินทางไปยังพื้นที่ทับซ้อนโดยไม่มีการประสานงานกับกัมพูชาก่อนเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงการกระทำดังกล่าวถึงสาเหตุและที่มาของการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว และแสดงความเป็นห่วงที่นายวีระ สมความคิด ถูกจับกุมไปด้วย เกรงว่าอาจมีการปลุกกระแสทำให้ปัญหาบานปลาย นายสุนัย จุลพงศธร เปิดเผยว่า ตนพร้อมจะนำประเด็นดังกล่าวมาหยิบยกเป็นหัวข้ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ส่งไปจริง ก็จะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบด้วย[6]

ต่อมา นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการทางด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หากนายพนิชถูกศาลกัมพูชาตัดสินว่ามีความผิดจริงอาจพ้นสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าการต้องคำพิพากษาให้จำคุกของศาลเป็นลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554 นายพนิชให้การต่อศาลว่าเดินทางเข้าไปในพื้นที่ เพื่อพบชาวบ้านที่อ้างว่าชาวกัมพูชาย้ายหลักหมุดบนดินแดนของไทย พร้อมกับให้การว่าเป็นการเดินทางเข้าไปโดยอุบัติเหตุ แต่เหมือนจะขัดแย้งกับคำกล่าวของนายพนิชในหลักฐานคลิปวิดีโอ ที่นายพนิชให้ผู้ติดตามเรียนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า คณะได้ข้ามมาในฝั่งกัมพูชาแล้ว[7] ด้านทนายความเตรียมยื่นประกันตัวในวันที่ 10 มกราคม เพราะศาลกัมพูชายังคงปิดทำการในวันหยุดราชการ โดยคณะคนไทยทั้งเจ็ดถูกนำตัวกลับไปคุมขัง

วันที่ 13 มกราคม ปีเดียวกัน มีรายงานว่า ศาลกัมพูชาให้ประกันตัวนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ โดยยังคงอยู่ระหว่างสู้คดีในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและเข้าไปในเขตทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ วางเงินประกันคนละ 1 ล้านเรียล (10,000 บาท) และต้องไปรายงานตัวตามนัดเรียก[8]

วันที่ 21 มกราคม ปีเดียวกัน ศาลกัมพูชาได้พิจารณาตัดสินคดี ซึ่งกำหนดเดิมคือ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เมื่อเวลา 19.35 น. ศาลกัมพูชาได้ตัดสินว่านายพนิชและคนไทยอีก 4 คน มีความผิดฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยให้จำคุกคนละ 9 เดือน แต่ให้ลดเหลือ 8 เดือน และให้รอลงอาญาไว้ก่อน หลังจากการตัดสินดังกล่าว ทำให้คนไทยทั้ง 5 คนสามารถเดินทางกลับประเทศได้ทันที

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 พนิช วิกิตเศรษฐ์. 16 วันในคุกเขมร. กรุงเทพฯ : กรีนลิบรา, 2554. 160 หน้า. ISBN 9789744967961
  2. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-26. สืบค้นเมื่อ 2010-06-24.
  3. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. คนใช้สิทธิแค่49.55% 'พนิช'เฉือนชนะ'ก่อแก้ว' เก็บถาวร 2010-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึง 26-07-2553.
  4. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกต้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 8 พฤษภาคม 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2019-05-10.
  5. ศาลกัมพูชาไต่สวน "คณะ 7 คน" "วีระ" พ่วงข้อหา "จารกรรม". ประชาไท. (7 มกราคม 2554). สืบค้น 7-1-2554.
  6. 'สุนัย'แย้มเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณี'พนิช'. ไทยรัฐ. (1 มกราคม 2554). สืบค้น 2-1-2554.
  7. สื่อเขมรเผยพนิชให้การในศาล ขัดกับหลักฐานในคลิป เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ข่าวสด. (7 มกราคม 2554). สืบค้น 7-1-2554.
  8. ศาลกัมพูชาให้ประกันตัว"พนิช-นฤมล"แล้ว เก็บถาวร 2011-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักข่าวไทย. (13 มกราคม 2554). สืบค้น 15-1-2554.
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๔ ข หน้า ๓, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๘, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่บุคคลที่ช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัย "สึนามิ"[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๔๕, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]