ถนนสายไหม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถนนสายไหม (หรือ ถนนสุขาภิบาล 5 (สายไหม)) เป็นถนนที่ตั้งอยู่ในท้องที่แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร มีความกว้าง 20 เมตร[1] ยาว 6,670 เมตร มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณคลองสองและจุดสิ้นสุดอยู่บริเวณคลองพระยาสุเรนทร์ เป็นถนนที่เชื่อมต่อกับถนนสำคัญหลายสาย ได้แก่ ถนนเลียบคลองสอง (พหลโยธิน 54/1) ถนนสุขาภิบาล 5 (ออเงิน) และถนนหทัยราษฎร์ และเชื่อมต่อไปยังถนนพหลโยธิน ถนนลำลูกกา ถนนกาญจนาภิเษก ถนนเทพรักษ์ ทางพิเศษฉลองรัช รวมถึงย่านวัชรพลและย่านรามอินทราได้[2]

ในอดีตถนนสายไหมมีสภาพเป็นคันดินที่ตัดผ่านทุ่งนาขนานตามแนวยาวกับคลองหกวาสายล่างและคลองหมอนสี่สิบ มีขนาดช่องทางกว้าง 3 เมตร รถยนต์สามารถสัญจรได้เฉพาะในฤดูแล้ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2526 เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในกรุงเทพมหานคร ทำให้น้ำที่ไหลบ่ามาทางทิศเหนือผ่านเข้ามาทางคลองหกวาสายล่าง ทางเขตบางเขนจึงทำโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยกำหนดให้ถนนสายไหมเป็นแนวคันดินกั้นน้ำและสร้างประตูระบายน้ำตามแนวถนน 3 แห่ง ที่บริเวณคลองสอง คลองลำหม้อแตก และคลองพระยาสุเรนทร์ โดยก่อสร้างถนนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2527 เป็นถนนลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร ผิวคันทางกว้าง 6 เมตร ทำให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น ต่อมา พ.ศ. 2537 ได้ปรับปรุงถนนให้กว้างขึ้นและซ่อมแซมทั่วไป

พ.ศ. 2539 ถนนสายไหมได้รับการปรับปรุงอีกครั้ง โดยขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็ก คันทางกว้าง 14 เมตร พร้อมท่อระบายน้ำและทางเท้าสองฝั่ง รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 6,670 เมตร[3] สภาพปัจจุบันเป็นย่านอยู่อาศัย มีหมู่บ้านจัดสรร จากการประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรอบบัญชี พ.ศ. 2559–2562 ราคาที่ดินประเมินบริเวณถนนสายไหมมีราคา 45,000 บาทต่อตารางวา[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "รายชื่อถนน ตรอก ซอย เขตสายไหม" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-29. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  2. "รู้จักย่านสายไหมแบบเจาะลึก".
  3. นิภาภรณ์ ภูจำนงค์. "ผลกระทบจากการปรับปรุงถนนวัชรพลและถนนสายไหม ต่อการพัฒนาทางกายภาพในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  4. "สรุปราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน รอบบัญชี ปีพ.ศ.2559-2562". กรมธนารักษ์.