ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554
รายละเอียด
ผู้ใช้ตราพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เริ่มใช้พ.ศ. 2554
เครื่องยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ
โล่อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.
ประคองข้างสัปตปฎลเศวตฉัตร
คำขวัญพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
ส่วนประกอบอื่นอุณาโลมเลข ๙, ฉัตรเจ็ดชั้น ๒ ข้าง, กระต่าย
การใช้พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ออกแบบโดย นายศิริ หนูแดง

การประกาศใช้[แก้]

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 รัฐบาลไทยจัดการแถลงข่าว ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมอบหมายให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดการประกวดตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีดังกล่าว จนกระทั่งบัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยกำหนดตราสัญลักษณ์ฯ แล้ว จึงเชิญชวนให้ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ประดับธงชาติคู่กับธงตราสัญลักษณ์ฯ จนถึงสิ้นปี ด้านองอาจ คล้ามไพบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนของผืนธงตราสัญลักษณ์ฯ นั้น ผู้ผลิตต้องจัดทำด้วยผ้าสีเหลืองนวล อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น

ด้านนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กล่าวว่า จากการส่งผลงานเข้าประกวดตราสัญลักษณ์ฯ ระหว่างวันที่ 1-7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 พบว่า มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 63 คน มีจำนวนภาพตราสัญลักษณ์ฯ ที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 112 แบบ จากนั้นคณะกรรมการฯ มีมติคัดเลือกภาพตราสัญลักษณ์ฯ จำนวน 3 แบบ นำเรียนต่อ อาสา สารสิน ราชเลขาธิการ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยคัดเลือก แบบตราที่เหมาะสมสำหรับประกาศใช้เป็นตราสัญลักษณ์

ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบบตราสัญลักษณ์ฯ ซึ่งออกแบบโดยศิริ หนูแดง ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ โดยได้รับเงินรางวัล 400,000 บาท พร้อมประกาศเกียรติคุณ, รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้แก่ผลงานของ เจริญ มาบุตร และทวี ศรีใหม่ ได้รับเงินรางวัลคนละ 100,000 บาท พร้อมประกาศเกียรติคุณ, รางวัลชมเชย 10 รางวัล ได้แก่ผลงานของทวี ศรีใหม่, ศุภชัย จันทร์จั่น, สุเมธ พุฒพวง, อัครพล คล่องบัญชี, บำรุง อิศรกุล, สมชาย นิแก้ว, ชนะ อั้งลี่ และอนันต์ชัย เฟื่องนคร ได้รับเงินรางวัลคนละ 10,000 บาท[1]

ความหมาย[แก้]

ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ประกอบด้วย อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร สีเหลืองทอง อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ขลิบรอบด้วยสีทอง อยู่กลางตราสัญลักษณ์ฯ บนพื้นวงกลมสีน้ำเงิน ล้อมรอบด้วยกรอบโค้งเรียบสีเหลืองทอง หมายถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ด้านบนอักษรพระปรมาภิไธยย่อ เป็นอุณาโลมเลข 9 ไทย หมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยตัวเลขนั้นอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ไทย และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช

ถัดลงมาสองข้างซ้ายขวาของอักษรพระปรมาภิไธยย่อ มีลายพุ่มข้าวบิณฑ์สีทอง ซึ่งมีสัปตปฎลเศวตฉัตรประดิษฐานอยู่เบื้องบน ด้านนอกสุดเป็นกรอบโค้ง มีลวดลายสีทองบนพื้นสีเขียว ซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ และยังหมายถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ และความสงบร่มเย็น ด้านล่างอักษรพระปรมาภิไธยย่อ เป็นภาพกระต่ายสีขาวทรงเครื่อง อยู่ในลักษณะกำลังก้าวย่าง หมายถึงเครื่องหมายประจำนักษัตรปีเถาะ ซึ่งตรงกับปีมหามงคลนี้ โดยภาพกระต่ายอยู่บนพื้นสีน้ำเงิน มีลายกระหนกสีทองประกอบ หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เบื้องล่างตราสัญลักษณ์ฯ เป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทอง มีตัวอักษรสีทองความว่า พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554[2]

การเผยแพร่ต่อสาธารณชน[แก้]

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ จัดพิธีมอบแท่นภาพตราสัญลักษณ์ฯ แก่สื่อมวลชน โดยขอความร่วมมือไปยังสถานีโทรทัศน์ทุกแห่งและหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ให้เชิญตราสัญลักษณ์ในสื่อของตน พร้อมทั้งขอให้สื่อทุกแขนง ประชาสัมพันธ์เชิญชวนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ประดับธงชาติคู่กับธงตราสัญลักษณ์ฯ ตามอาคารบ้านเรือน[3]

อนึ่ง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกที่แสดงตราสัญลักษณ์ฯ ที่มุมบนซ้ายของหน้าจอ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 13.45 น. ต่อมาคือสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เริ่มแสดงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม เวลา 15.45 น. และ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในเวลา 17.00 น. ส่วนสถานีโทรทัศน์แห่งอื่นๆ แสดงตราสัญลักษณ์ฯ เป็นครั้งแรก ในวันที่ 8 พฤษภาคม โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เริ่มเวลา 00.00 น. สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ในเวลา 00.53 น. และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อเวลา 17.00 น.[ต้องการอ้างอิง]

แต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก และสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 นำตราสัญลักษณ์ฯ ออกจากหน้าจอ เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ต่อมาในวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ก็นำตราสัญลักษณ์ฯ ออกเมื่อเวลา 06.00 น. (แต่กลับมาแสดงอีกครั้งในเวลา 13.00 น.) และสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในช่วงสาย คาดว่าเพื่อถวายความอาลัย เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีสิ้นพระชนม์ เมื่อเย็นวันพุธที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ยังคงแสดงตราสัญลักษณ์ฯ อยู่ตามปกติ ทว่าต่อมาก็ทยอยกลับมาแสดงตราสัญลักษณ์ฯ ในทุกสถานีฯ ตามเดิม[ต้องการอ้างอิง]

ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ฯ จะแสดงในทุกช่วงข่าวและรายการ ยกเว้นในรายการถ่ายทอดสด การแข่งขันกีฬาจากต่างประเทศ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และการถ่ายทอดสดงานสำคัญจากต่างประเทศ ทางช่อง 7[ต้องการอ้างอิง]

อย่างไรก็ตาม เมื่อสุดระยะเวลาเฉลิมพระเกียรติ ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 แล้ว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก นำตราสัญลักษณ์ฯ ออกจากหน้าจอ ตั้งแต่เวลา 00.05 น. ของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ทว่าสถานีอื่นยังคงแสดงตราสัญลักษณ์ฯ อย่างต่อเนื่องต่อไป ก่อนที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก จะกลับมาแสดงตราสัญลักษณ์ฯ ตามเดิม ในวันที่ 7 มกราคม เวลา 10.18 น. โดยสถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง ทยอยนำตราสัญลักษณ์ฯ ออกจากหน้าจอ เริ่มจากวันที่ 13 มกราคม สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก นำออกจากหน้าจออีกครั้ง ในเวลา 10.33 น. สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เริ่มเวลา 18.45 น. ต่อมาในวันที่ 14 มกราคม สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นำตราสัญลักษณ์ฯ ออกจากหน้าจอ ในเวลา 01.15 น. สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ก่อนเวลา 05.00 น. สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อเวลา 06.46 น. และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในเวลา 16.42 น.[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง[แก้]