พระปรมาภิไธย (พระมหากษัตริย์ไทย)

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธย "สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ประทับกำกับด้วยพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ในรัชกาลที่ 9 จากหน้าต้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495

พระปรมาภิไธย (พระ+ปรม+อภิไธย แปลว่า ชื่ออันประเสริฐยิ่ง)[1] หมายถึง พระนามของพระมหากษัตริย์ราชเจ้า ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 และใช้มาจนถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน

ธรรมเนียมการเฉลิมพระปรมาภิไธยในราชวงศ์จักรี

แบบแผนพระปรมาภิไธยซึ่งใช้มาแต่เดิม

แต่เดิมนั้นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีรัชกาลที่ 1-3 นั้น ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระองค์เองโดยขึ้นต้นว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง 3 รัชกาล ราษฎรจึงต้องสมมตินามแผ่นดินเอาเองเมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ในสมัยรัชกาลที่ 3 ราษฎรได้เรียกนามแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ว่า "แผ่นดินต้น" รัชกาลที่ 2 ว่า "แผ่นดินกลาง" รัชกาลที่ 3 ว่า "แผ่นดินนี้" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ไม่ทรงโปรดการออกนามแผ่นดินดังกล่าว เนื่องจากทรงเกรงว่าต่อไปราษฎรจะเรียกรัชกาลของพระองค์ว่า "แผ่นดินปลาย" หรือ "แผ่นดินสุดท้าย" อันเป็นอัปมงคล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์สองรัชกาลแรก ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม องค์หนึ่งถวายพระนามว่า "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" อุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชรัชกาลที่ 1 และอีกองค์หนึ่งถวายพระนามว่า "พระพุทธเลิศหล้าสุราไลย" (ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ถวายสร้อยพระนามใหม่ว่า "พระพุทธเลิศหล้านภาไลย") อุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ 2 และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ทั้งสองรัชกาลตามนามพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้[2]

การเปลี่ยนแปลงธรรมเนียม และพระนาม "ปรมินทร-ปรเมนทร"

พระพุทธรูปฉลองพระองค์
พระมหากษัตริย์สองรัชกาลแรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระพุทธเลิศหล้านภาไลย
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชดำริว่าพระนามของพระมหากษัตริย์สืบไปภายหน้าควรใช้แตกต่างกันทุกรัชกาล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการออกนามแผ่นดินเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงทรงถวายพระนามแก่สมเด็จพระบูรพกษัตริย์รัชกาลก่อนหน้าพระองค์ทั้งสามรัชกาลดังนี้[3]

นอกจากนี้ยังทรงกำหนดหลักการเฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามลำดับรัชกาล โดยรัชกาลที่เป็นเลขคี่ให้ใช้คำว่า "ปรมินทร" รัชกาลเลขคู่ให้ใช้คำว่า "ปรเมนทร" เป็นเครื่องหมายสังเกต พระนามพระมหากษัตริย์ไทยตามหลักพระราชนิยมดังกล่าวตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมามีดังนี้

พระนาม "รามาธิบดีศรีสินทร"

พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ 1-8 จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีโดยใช้คำนำหน้าพระนามว่า "รามาธิบดีศรีสินทร" ทุกรัชกาล เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459[6] ดังนี้

  • รัชกาลที่ 1: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
  • รัชกาลที่ 2: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
  • รัชกาลที่ 3: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฏาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3
  • รัชกาลที่ 4: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4
  • รัชกาลที่ 5: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5
  • รัชกาลที่ 6: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6

ส่วนในภาคภาษาอังกฤษนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า "Rama" แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาลแบบเลขโรมันตามธรรมเนียมยุโรป

แต่เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงประกาศให้การใช้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์กลับไปเป็นตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 เช่นเดิม เว้นแต่พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังคงใช้ว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า "Rama" ในภาคภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาลเพื่อสื่อถึงพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ยังคงใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน

การเฉลิมพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ 10

สำหรับพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ได้มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[7] ว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"[8] นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีโดยใช้หลักพระราชนิยม "ปรมินทร-ปรเมนทร" ในรัชกาลที่ 4 และหลักพระราชนิยม "รามาธิบดีศรีสินทร" ในรัชกาลที่ 6 ร่วมกัน

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยบูรพกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเพื่อถวายพระราชสมัญญานาม "มหาราช" ดังนี้

  1. เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" เพื่อสนองพระเดชพระคุณ ถวายพระเกียรติยศให้ปรากฏแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระบรมชนกนาถ[9]
  2. เฉลิมพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและถวายพระราชสมัญญานามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช" เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[10]

การลงพระปรมาภิไธยในเอกสารราชการ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย "สยามินทร์" ในประกาศนียบัตรสำหรับผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 นิภาภรณ์ พระราชทานแก่ศาสตราจารย์กาลิเลโอ คินี จิตรกรชาวอิตาลีผู้วาดภาพประดับโดมเพดานของพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2456

การทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ไทย เริ่มปรากฏหลักฐานครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานการลงพระปรมาภิไธยในแต่ละรัชกาลดังนี้

รัชกาลที่ 4
ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม" ในกรณีที่เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศจะทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "SPPM. Mongkut Rex Siamensium"
รัชกาลที่ 5
ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "จุฬาลงกรณ์ ปร." หรือ "สยามินทร์"
รัชกาลที่ 6
ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า ช่วงต้นรัชกาลทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "วชิราวุธ ปร." หรือ "สยามินทร์" ภายหลังทรงเปลี่ยนเป็น "ราม วชิราวุธ ปร." หรือ "ราม ร."
รัชกาลที่ 7
ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "ประชาธิปก ปร."
รัชกาลที่ 8
ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "อานันทมหิดล" ในกรณีที่เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศจะทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "A. Mahidol."
รัชกาลที่ 9
โดยทั่วไปทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "ภูมิพลอดุลยเดช ปร." ในเอกสารบางแห่งทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ในกรณีที่เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศจะทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "Bhumibol R."
รัชกาลทึ่ 10
ทรงลงพระปรมาภิไธยดังภาพตัวอย่างเบื้องล่าง โดยในช่วงที่พระองค์ขึ้นทรงราชย์ก่อนการบรมราชาภิเษก เอกสารของทางราชการกำหนดให้อ่านว่า "มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" ภายหลังเมื่อทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ทางราชการจึงกำหนดให้อ่านอย่างใหม่ว่า "มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

พระปรมาภิไธยย่อ

พระปรมาภิไธยย่อ คือ การย่อพระปรมาภิไธยให้เหลือเพียง 3 ตัวอักษร โดยส่วนมาก มักใช้เป็น ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และ ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธี และงานเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสสำคัญต่าง ๆ [11] ดังนี้

รัชกาลที่ พระนามย่อ พระนามเต็ม
1 จปร มหาจักรีบรมนาถ ปรมราชาธิราช
2 อปร มหาอิศรสุนทร ปรมราชาธิราช
3 จปร มหาเจษฎาบดินทร ปรมราชาธิราช
4 มปร มหามงกุฎ ปรมราชาธิราช
5 จปร มหาจุฬาลงกรณ์ ปรมราชาธิราช
6 วปร มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช
7 ปปร มหาประชาธิปก ปรมราชาธิราช
8 อปร มหาอานันทมหิดล ปรมราชาธิราช
9 ภปร มหาภูมิพลอดุลยเดช ปรมราชาธิราช
10 วปร มหาวชิราลงกรณ ปรมราชาธิราช[12]

ในกรณีที่อักษรย่อพระปรมาภิไธยของบางพระองค์ซ้ำกัน จะมีการระบุหมายเลขประจำรัชกาลกำกับข้างท้ายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งในตราอักษรย่อพระปรมาภิไธยประจำพระองค์โดยปกติจะระบุหมายเลขประจำรัชกาลไว้ที่ระหว่างกรรเจียกจรของพระมหาพิชัยมงกุฎ

อนึ่ง พระมหากษัตริย์บางพระองค์อาจทรงใช้อักษรพระปรมาภิไธยย่อมากกว่า 1 แบบ เช่น รัชกาลที่ 5 ทรงใช้พระปรมาภิไธยย่อ ส.พ.ป.ม.จ.5 และ จ.จ.จ. เป็นต้น และแม้ดวงตราอักษรพระปรมาภิไธยย่อที่ใช้ตัวอักษรเดียวกันสำหรับพระมหากษัตริย์รัชกาลเดียวกัน ก็อาจมีการประดิษฐ์ดวงตราเพื่อใช้งานในหลากหลายรูปลักษณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนขึ้นอยู่กับพระราชนิยมส่วนพระองค์

พระบรมนามาภิไธย

พระบรมนามาภิไธย หมายถึง พระนามเดิมของพระมหากษัตริย์ ก่อนจะเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ [1]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล, คลังความรู้: พระปรมาภิไธย-พระบรมนามาภิไธย จาก เว็บไซต์ ราชบัณฑิตยสถาน
  2. 2.0 2.1 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - ตอนที่ ๕". vajirayana.org. สืบค้นเมื่อ 2018-11-27.
  3. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑ ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวง - ๒๐. ถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมราชชนนี และกรมพระราชวังบวรที่สวรรคตแล้ว". vajirayana.org. สืบค้นเมื่อ 2018-11-27.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, เล่ม 63, ตอน 54ก, 13 สิงหาคม พ.ศ. 2489, หน้า 439
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล, เล่ม 113, ตอน 11ข, 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539, หน้า 1
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระปรมาภิไธย, เล่ม 33, ตอน 0ก, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459, หน้า 212
  7. "หมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (13ข): 1. 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-04. สืบค้นเมื่อ 2019-08-12. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  8. "พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย คำอ่าน และสรรพนาม คำขึ้นต้น คำลงท้าย ในการกราบบังคมทูล กราบทูล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (พิเศษ 117ก): 1. 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-04. สืบค้นเมื่อ 2019-08-12. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  9. "พระบรมราชโองการ ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (15ข): 1. 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2019. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  10. พระบรมราชโองการ ประกาศถวายพระราชสมัญญา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช
  11. ศาสตราจารย์(พิเศษ)จำนงค์ ทองประเสริฐ, คลังความรู้: พระปรมาภิไธยย่อ โดย จาก จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 4 ฉบับที่ 43 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2537
  12. รายชื่อของพระมหากษัตริย์ราชเจ้า