ฎีกาออกศึก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฎีกาออกศึก
ฎีกาออกศึกฉบับแรก จารึกในศาลอู่โหว นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
อักษรจีนตัวเต็ม出師表
อักษรจีนตัวย่อ出师表
ความหมายตามตัวอักษรฎีกาออกศึก

ฎีกาออกศึก หรือ ชูชือเปี่ยว (จีนตัวย่อ: 出师表; จีนตัวเต็ม: 出師表; พินอิน: Chū Shī Biǎo) หมายถึงฎีกาสองฉบับที่เขียนโดยจูกัดเหลียง อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน จูกัดเหลียงถวายฎีกาให้เล่าเสี้ยน จักรพรรดิองค์ที่สองของจ๊กก๊ก ฎีกาออกศึกฉบับแรกถวายในปี ค.ศ. 227 ก่อนที่จูกัดเหลียงจะเริ่มดำเนินการการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกกับรัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก ฎีกาออกศึกฉบับหลัง คาดว่าน่าจะถวายในปี ค.ศ. 228 ก่อนที่จูกัดเหลียงจะยกทัพบุกเหนือครั้งที่สอง

ใจความหลักที่กล่าวถึงในฎีกาออกศึกได้แก่เหตุผลของการยกทัพบุกขึ้นเหนือ และคำแนะนำของจูกัดเหลียงที่ทูลถวายพระเจ้าเล่าเสี้ยนเกี่ยวกับวิธีการปกครองรัฐ

ฎีกาออกศึกฉบับหลังเป็นที่ถกเถียงกันถึงเรื่องความน่าเชื่อถือ และนักวิชาการหลายคนเชื่อว่าจูกัดเหลียงไม่ได้เขียนขึ้น

ฎีกาออกศึกฉบับแรก[แก้]

ฎีกาออกศึกฉบับแรกเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 227 และบันทึกไว้ในชีวประวัติของจูกัดเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊ก[1]

เวลานั้นนั้น จ๊กก๊กกำลังฟื้นตัวจากความพ่ายแพ้ครั้งก่อนในยุทธการที่อิเหลง ในปี ค.ศ. 222 และจากการการบุกลงใต้เพื่อต่อต้านกองกำลังฝ่ายตรงข้ามในภาคใต้ในปี ค.ศ. 225 จูกัดเหลียงเห็นว่าจ๊กก๊กอ่อนแอ จึงต้องดำเนินกลวิธีแข็งกร้าวต่อศัตรูเพื่อให้จ๊กก๊กคงอยู่ จูกัดเหลียงตัดสินใจเริ่มการบุกขึ้นเหนือต่อต้านรัฐวุยก๊กทางเหนืออันเป็นรัฐคู่อริของจ๊กก๊ก ก่อนออกเดินทัพ จูกัดเหลียงได้เขียนฎีกาออกศึกฉบับแรก ถึงเล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊ก เพื่ออธิบายเหตุผลของยกทัพบุกเหนือและให้คำแนะนำแก่เล่าเสี้ยนในเรื่องการปกครอง

ซูชื่อ กวีในยุคราชวงศ์ซ่ง แสดงความคิดเห็นใน เยฺว่เฉฺวียนเซียนเชิงเหวินจี๋ซฺวี่ (樂全先生文集敘) ว่า ฎีกาออกศึก (ฉบับแรก) ของจูกัดเหลียงนั้น "เรียบง่ายและรัดกุม ตรงไปตรงมา แต่ไม่เป็นการดูหมิ่น"[2]

เนื้อหา[แก้]

ต่อไปนี้เป็นคำแปลโดยคร่าว ๆ ของฎีกาออกศึกฉบับแรก ดูส่วนหมายเหตุสำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมของรายละเอียดบางส่วนในเนื้อหา

ข้าพระพุทธเจ้าเหลียง[a]ขอทูลว่า จักรพรรดิองค์ก่อน[b]ยังไม่สำเร็จการใหญ่[c]กลับสวรรคตเสียก่อน นี่เป็นภาวะวิกฤต แผ่นดินแบ่งออกเป็นสาม[d] และเอ๊กจิ๋วอ่อนแอ[e] แต่เสนาบดีในนครหลวงไม่ได้ถอดใจ นักรบนอกนครหลวงไม่กลัวความตาย ทั้งนี้เพราะพวกเขาสำนึกในพระกรุณาที่ได้รับจากจักรพรรดิองค์ก่อน และพวกเขาหวังจะได้ตอบแทนพระกรุณาโดยการรับใช้ฝ่าบาทเช่นกัน ฝ่าบาทควรรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา ส่งเสริมคุณธรรมของจักรรพรรดิองค์ก่อน ปลุกขวัญเหล่าทหารกล้า และอย่าดูแคลนตัวเองหรือกล่าววาจาไม่เหมาะสมอันจะเป็นการกีดกันคำแนะนำที่มีประโยชน์

ไม่ว่าพวกเขาจะรับราชการในพระราชวังหลวงหรือในสำนักอัครมหาเสนาบดี[f] ขุนนางทุกคนล้วนขึ้นตรงต่อรัฐ ดังนั้นพวกเขาควรได้รับการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน ทั้งแง่ของการให้รางวัลและการลงโทษ บุคคลใด ๆ กระทำความผิดหรือสร้างผลงานความชอบแก่รัฐ ควรถูกส่งไปยังผู้มีอำนาจเหมาะสมผู้ซึ่งจะตัดสินใจว่าจะลงโทษหรือให้รางวัลใด ๆ การทำเช่นนี้จะเป็นแบบอย่างแก่ฝ่าบาทในฐานะผู้ปกครองผู้ทรงปัญญาและความยุติธรรม จะเป็นการดีที่สุดหากฝ่าบาทไม่ทรงแสดงอคติหรือความลำเอียงใด ๆ อันจะบิดเบือนหลักการของความเป็นธรรม

ขุนนางมหาดเล็ก กุยฮิวจี๋ บิฮุย และตั๋งอุ๋นเป็นตัวอย่างของเสนาบดีที่ดีและไว้ใจได้ พวกเขาภักดีและซื่อสัตย์ นั่นคือเหตุผลที่จักรรพรรดิองค์ก่อนทรงเลือกพวกเขาให้ช่วยเหลือฝ่าบาท ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าฝ่าบาทควรปรึกษาราชการน้อยใหญ่ทั้งปวงกับพวกเขาก่อนจะดำเนินนโยบายใด ๆ เพราะจะช่วยป้องกันข้อบกพร้องและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขุนพลเฮียงทงเป็นผู้มีลักษณะดีและเชี่ยวชาญด้านการทหาร ในอดีตเมื่อเขาได้รับมอบหมายความรับผิดชอบ จักรพรรดิองค์ก่อนยกย่องเขาว่าเป็นผู้มีความสามารถ ทุกคนจึงเสนอชื่อเขาให้เป็นแม่ทัพทัพกลาง ข้าพระพุทธเจ้ามีความเห็นว่าฝ่าบาทอาจทรงหารือในเรื่องการทหารทั้งหมดกับเขาได้ เช่นนี้จึงจะช่วยส่งเสริมความสมัครสมานในกองทัพ และทุกคนจะได้รับมอบหมายหน้าที่ตามความสามารถของตน

ราชวงศ์ฮั่นยุคต้นเจริญรุ่งเรืองเพราะผู้ปกครองนิยมชมชอบเสนาบดีผู้ทรงคุณธรรมและห่างเหินจากขุนนางฉ้อโกง ราชวงศ์ฮั่นยุคหลังเสื่อมถอยเพราะผู้ปกครองนิยมชมชอบขุนนางฉ้อโกงและห่างเหินจากเสนาบดีผู้ทรงคุณธรรม เมื่อจักรพรรดิองค์ก่อนยังทรงพระชนมชีพอยู่ พระองค์มักทรงมีปฏิสันถารในเรื่องนี้กับข้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรู้สึกเสียพระทัยทุกครั้งที่ตรัสถึงหวนและเลน[g] ขุนนางมหาดเล็ก ราชเลขาธิการ หัวหน้าเลขานุการ และที่ปรึกษาทางการทหารล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชบริพารผู้จงรักภักดีและมีความสามารถผู้ยอมสละชีพเพื่อฝ่าบาท ข้าพระพุทธเจ้าหวังว่าฝ่าบาทจะใกล้ชิดพวกใจและไว้วางพระทัยพวกเขา ด้วยวิถีเช่นนี้ราชวงศ์ฮั่นจักฟื้นคืนในไม่ช้า

ข้าพระพุทธเจ้ามีพื้นเพต้อยต่ำ เคยทำนาในลำหยง[h] ในคร้งนั้นข้าพระพุทธเจ้าหวังแต่เพียงจะอยู่รอดในกลียุค ไม่มุ่งปรารถนาจะมีชื่อเสียงในหมู่ขุนนาง จักรพรรดิองค์ก่อนมิได้ดูแคลนพื้นเพของข้าพระพุทธเจ้า โน้มพระวรกายเสด็จมาเยี่ยมข้าพระพุทธเจ้าที่กระท่อมหญ้าสามคราเพื่อปรึกษาข้าพระพุทธเจ้าในเรื่องสถานการณ์ในแผ่นดินครั้งนั้น[i] ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกตื้นตันอย่างยิ่งจึงให้สัตย์ว่าจะทำสุดความสามารถเพื่อจักรพรรดิองค์ก่อน เราได้ประสบช่วงเวลาอันยากลำบากและความล้มเหลวหลายคราในภายหลัง ข้าพระพุทธเจ้าได้รับมอบหมายความรับผิดชอบใหญ่หลวงเมื่อเราเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับหน้าที่อันสำคัญในสถานการณ์ที่อันตรายและยากลำบาก ตั้งแต่เวลานั้นก็ผ่านมา 21 ปีแล้ว

จักรพรรดิองค์ก่อนทรงทราบว่าข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รอบคอบและระมัดระวัง ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตจึงทรงไว้วางพระทัยฝากฝังหน้าที่ให้ข้าพระพุทธเจ้าเพื่อบรรลุการใหญ่ นับแต่ที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับความรับผิดชอบอันหนักหน่วงนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็รู้สึกไม่สบายใจทั้งกลางคืนกลางคืน เพราะข้าพระพุทธเจ้าเกรงว่าจะอาจจะไม่สำเร็จภารกิจด้วยดีและทำให้ความเชื่อมั่นต่อข้าพระพุทธเจ้าของจักรพรรดิองค์ก่อนมัวหมอง ในเดือนห้า ข้าพระพุทธเจ้าข้ามลกเข้าดินแดนแห้งแล้งกันดาร บัดนี้กบฏทางใต้ได้ถูกสยบแล้ว[j] และเราก็มีทรัพยากรทางทหารอย่างเพียงพอ ถึงเวลาแล้วที่จะเพิ่มขวัญกำลังใจของทหารและนำทัพบุกขึ้นเหนือเพื่อยึดที่ราบภาคกลางคืนมา ข้าพระพุทธเจ้าหวังเพียงจะใช้ความสามารถให้ดีที่สุดในการกำจัดศัตรูชั่วร้าย[k]เพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น และกลับคืนสู่นครหลวงเก่า[l] เป็นหน้าที่ของข้าพระพุทธเจ้าที่ต้องตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของจักรพรรดิองค์ก่อนและพิสูจน์ความจงรักภักดีของข้าพุทธเจ้าต่อฝ่าบาท ความรับผิดชอบของกุยฮิวจี๋ บิฮุย ตั๋งอุ๋น และคนอื่น ๆ คือการช่วยเหลือฝ่าบาทในการบริหารราชการของรัฐและถวายคำแนะนำที่ดี

ข้าพระพุทธเจ้าหวังว่าฝ่าบาทจะมอบหมายภารกิจแก่ข้าพระพุทธเจ้าในการกำจัดโจรกบฏ[m] และฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น หากข้าพระพุทธเจ้าทำไม่สำเร็จ ฝ่าบาทควรลงอาญาข้าพระพุทธเจ้าเพื่อตอบแทนจักรพรรดิองค์ก่อน หากฝ่าบาทไม่ได้รับคำแนะนำที่ซื่อสัตย์และภักดี โปรดทรงลงอาญากุยฮิวจี๋ บิฮุย และตั๋งอุ๋นฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีเพื่อเน้นย้ำถึงข้อผิดพลาดของพวกเขา ฝ่าบาทควรวางแผนสำหรับฝ่าบาทเองเช่นกัน ค้นหาวิถีทางที่ดีที่สุดในการปกครองรัฐและรับคำแนะนำที่ดี ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างมากที่สามารถทำตามพระประสงค์สุดท้ายของจักรพรรดิองค์ก่อนได้

ข้าพระพุทธเจ้ากำลังจะจากฝ่าบาทไปในไม่ช้า บัดนี้เมื่อข้าพระพุทธเจ้าอ่านฎีกาฉบับนี้ก็ไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้ และไม่รู้ว่าจะทูลอะไรอีก

ฎีกาออกศึกฉบับหลัง[แก้]

ฎีกาออกศึกฉบับหลังเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 228 และไม่ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุสามก๊กฉบับดั้งเดิมโดยตันซิ่ว เมื่อเผย์ ซงจือเขียนอรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก ได้เขียนว่าฎีกาออกศึกฉบับหลังมาจากมั่วจี้ (默記) ที่เขียนโดยจาง เหยี่ยน (張儼) ต่อมาเนื้อความของฎีกาออกศึกฉบับหลังได้รวมอยู่ในฮั่นจิ้นชุนชิว (漢晉春秋) โดยสี จั้วฉื่อ

นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการประพันธ์ของฎีกาออกศึกฉบับหลัง และเชื่อว่าไม่ได้เขียนโดยจูกัดเหลียง นักวิชาการยุคราชวงศ์ชิงชื่อ เฉียน ต้าจัว (錢大昭) แสดงข้อสงสัยของตนในหนังสือ ซันกั๋วจื่อเปี้ยนอี๋ (三國志辨疑; ข้อสงสัยต่อจดหมายเหตุสามก๊ก) ภายหลังฎีกาออกศึกฉบับหลังไม่ได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรวมงานเขียนโดยจูกัดเหลียง และปรากกฏเฉพาะในมั่วจี้โดยจาง เหยี่ยนเท่านั้น นอกจากนี้ลักษณะสำนวนของฎีกาออกศึกฉบับหลังยังแตกต่างอย่างมากจากฎีกาออกศึกฉบับแรก ฎีกาออกศึกฉบับหลังมีสำนวนภาษาที่มีลักษณะบีบบังคับ ในขณะที่ฎีกาออกศึกฉบับแรกมีสำนวนภาษาที่จริงใจและถ่อมตนมากกว่า ฎีกาออกศึกฉบับหลังยังรวมถึงการอุปมาและยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ในย่อหน้าที่สามเพื่อกระตุ้นให้ทำสงคราม นอกจากนี้ยังมีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเตียวจูล่ง เตียวจูล่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 229 แต่ ฎีกาออกศึกฉบับหลังซึ่งอ้างว่าเขียนในปี ค.ศ. 228 ได้กล่าวถึงการเสียชีวิตของเตียวจูล่งแล้ว

เนื้อหา[แก้]

ต่อไปนี้เป็นคำแปลโดยคร่าว ๆ ของฎีกาออกศึกฉบับหลัง ดูส่วนหมายเหตุสำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมของรายละเอียดบางส่วนในเนื้อหา

จักรพรรดิองค์ก่อน[b] เห็นว่าฮั่น[n]กับโจรกบฏ[m]ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ และรัฐของเราก็ไม่อาจพอใจเพียงความมั่นคงภายในเท่านั้น ดังนั้นพระองค์จึงทรงมอบหมายให้ข้าพระพุทธเจ้าให้โจมตีโจรกบฏ จากการประเมินความสามารถของข้าพระพุทธเจ้าโดยจักรพรรดิองค์ก่อน พระองค์ทรงตระหนักอยู่ว่าข้าพระพุทธเจ้าอ่อนแอและไม่สามารถยืนหยัดต่อรบด้วยข้าศึกที่แข็งแกร่งได้ แต่หากเราไม่โจมตีข้าศึก รัฐของเราก็จะตกอยู่ในอันตรายมากยิ่งขึ้น[e] เราควรจะรอความตายหรือควรชิงตีข้าศึกเสียก่อน จักรพรรดิองค์ก่อนไม่ทรงลังเลพระทัยที่จะมอบหมายความรับผิดชอบให้ข้าพระพุทธเจ้า

แรกเริ่มเมื่อข้าพเจ้าได้รับมอบหมายภารกิจ ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจกินได้นอนหลับอย่างเป็นสุข เมื่อข้าพระพุทธเจ้าคิดจะโจมตีภาคเหนือ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าเราควรสยบภาคใต้ก่อนเป็นขั้นต้น ในเดือนห้า ข้าพระพุทธเจ้าข้ามลกเข้าดินแดนแห้งแล้งกันดาร[j] ข้าพระพุทธเจ้ารับประทานอาหารเพียงทุก ๆ สองวัน ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าข้าพระพุทธเจ้าไม่รักตัวเอง เราไม่อาจคาดหวังความปลอดภัยได้เพียงแค่อยู่ในจ๊ก ข้าพระพุทธเจ้าจึงต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อสานต่อปณิธานของจักรพรรดิองค์ก่อน แต่ก็ยังมีผู้โต้แย้งว่านี่ไม่ใช่แผนที่ดีที่สุด บัดนี้ข้าศึกกำลังวุ่นวายอยู่ทางตะวันตก[o] และถูกยึดครองพื้นที่ทางตะวันออก [p] ตามหลักพิชัยยุทธ์แล้ว เวลาที่ดีที่สุดที่จะโจมตีข้าศึกคือเวลาที่ข้าศึกเหนื่อยล้า บัดนี้เป็นเวลาอันเหมาะแล้วที่จะเคลื่อนทัพเข้าโจมตี

คำกล่าวที่มีชื่อเสียง[แก้]

วลี "ฮั่นกับโจรกบฏไม่อาจยืนด้วยกัน" (จีนตัวย่อ: 汉贼不两立; จีนตัวเต็ม: 漢賊不兩立; พินอิน: Hàn zéi bù liǎng lì) จาก ฎีกาออกศึกฉบับหลัง ใช้เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ที่ขั้วอำนาจสองฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกันไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้

อีกวลีหนึ่ง "ทุ่มเทสติปัญญาความสามารถ จนกว่าชีวิตจะหาไม่" (จีนตัวย่อ: 鞠躬盡瘁,死而後已; จีนตัวเต็ม: 鞠躬尽瘁,死而后已; พินอิน: jū gōng jìn cuì, sǐ ér hòu yǐ) จากฎีกาออกศึกฉบับหลัง ภายหลังใช้เพื่ออธิบายถึงความมุ่งมั่นของบุคคลหนึ่งในการพยายามอย่างเต็มที่

หมายเหตุ[แก้]

  1. "เหลียง" หมายถึงจูกัดเหลียง
  2. 2.0 2.1 "จักรพรรดิองค์ก่อน"หมายถึงเล่าปี่ จักพรรดิผู้สถาปนาจ๊กก๊ก ฎีกาฉบับนี้ถวายให้เล่าเสี้ยน ซึ่งเป็นโอรสและผู้สืบทอดของเล่าปี่ ในฎีกาจึงกล่าวถึงเล่าปี่ในฐานะ "จักรพรรดิองค์ก่อน"
  3. "การใหญ่" หมายถึงเป้าหมายของจ๊กก๊กในการปราบวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ และฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น เมื่อจ๊กก๊กได้รับการสถาปนาในปี ค.ศ. 221 เล่าปี่ถือว่ารัฐจ๊กก๊กของตนเป็นผู้สืบทอดโดยชอบธรรมของราชวงศ์ฮั่น เพราะตัวเล่าปี่สืบเชื่อสายจากราชตระกูลของราชวงศ์ฮั่น เล่าปี่มองว่าผู้ปกครองวุยก๊กเป็น "วายร้าย" ผู้แย่งชิงบัลลังก์จากราชวงศ์ฮั่น ภารกิจหลักของจ๊กก๊กจึงเป็นการปราบวุยก๊กและฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น
  4. ประเทศจีนปกครองโดยราชวงศ์ฮั่นถึงปี ค.ศ. 220 เมื่อโจผีชิงบัลลังก์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้และทำให้ราชวงศ์ฮั่นสิ้นสุดลง จากนั้นโจผีจึงสถาปนาวุยก๊ก เป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊ก ปีถัดมาเล่าปี่สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊ก และในปี ค.ศ. 229 ซุนกวนสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊ก อดีต "จักรวรรดิ" ของราชวงศ์ฮั่นจึงแบ่งออกเป็นสามรัฐคือวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก
  5. 5.0 5.1 จ๊กก๊กเป็นรัฐที่อ่อนแอที่สุดในรัฐทั้งสามในเวลานั้น (ราวปี ค.ศ. 228) เพราะขาดแคลนทรัพยากรและกำลังคน จากการที่มีอำนาจปกครองเพียงมณฑลเดียวคือมณฑลเอ๊กจิ๋ว ส่วนอีกสองรัฐต่างก็มีมณฑลใต้ปกครองมากกว่าหนึ่งมณฑล จูกัดเหลียงดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับวุยก๊กซึ่งเป็นรัฐที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐทั้งสาม เพราะเชื่อว่าจำเป็นต่อการอยู่รอดของจ๊กก๊ก
  6. "พระราชวังหลวง" และ "สำนักอัครมหาเสนาบดี" กล่าวถึงสำนักสองสำนักที่เป็นเอกเทศกันในรัฐบาลกลางของจ๊กก๊กในเซงโต๋ ผู้ที่รับราชการในพระราชวังหลวงรายงานจักรพรรดิโดยตรง ส่วนผู้ที่รับราชการในสำนักอัครมหาเสนาบดีรายงานกับจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี
  7. "หวน" และ "เลน" หมายถึงพระเจ้าหวนเต้และพระเจ้าเลนเต้ตามลำดับ จักรพรรดิทั้งสองพระองค์นี้มีส่วนอย่างมากต่อการเสื่อมถอยของราชวงศ์ฮั่น ซึ่งในที่สุดก็ล่มสลาย
  8. "ลำหยง" หมายถึงเมืองลำหยง (南陽 หนานหยาง) ซึ่งตั้งอนู่ในบริเวณนครหนานหยาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน
  9. เล่าปี่เดินทางไปเยี่ยมจูกัดเหลียงที่บ้าน ("กระท่อมหญ้า") สามครั้ง บทสนทนาของทั้งคู่นำไปสู่แผนหลงจง ดูเพิ่มที่รายการนิยายแต่งในสามก๊ก#เล่าปี่เยือนกระท่อมหญ้าสามครั้ง
  10. 10.0 10.1 "ลก" (瀘 หลู) หมายถึงพื้นที่บริเวณอำเภอหลูฉุ่ยในมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก ข้าราชการท้องถิ่นบางคนในพื้นที่นั้นก่อกบฏต่อต้านจ๊กก๊ก และชนเผ่า (ซึ่งรู้จักในคำเรียกว่าลำมันหรือหนานหมาน) มักจะบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ ในปี ค.ศ. 225 จูกัดเหลียงนำการทัพบุกใต้เพื่อปราบปรามกบฏและทำให้ภูมิภาคกลับมาสงบ เพราะจูกัดเหลียงเห็นว่าต้องทำให้เกิดความเสถียรภาพภายในของจ๊กก๊กเสียก่อนเป็นอันดับแรกก่อนที่จะมุ่งทำศึกโจมตีวุยก๊ก
  11. "ศัตรูชั่วร้าย" หมายถึงวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก
  12. "นครหลวงเก่า" หมายถึงลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) อดีตราชธานีของราชวงศ์ฮั่น
  13. 13.0 13.1 "โจรกบฏ" หมายถึงรัฐวุยก๊ก ซึ่งสถาปนาในปี ค.ศ. 220 หลังโจผีชิงบัลลังก์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้ผู้เป็นจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น จ๊กก๊กถือว่าวุยก๊กเป็น "โจรกบฏ" ที่ชิงอำนาจจากราชวงศ์ฮั่น
  14. "ฮั่น" หมายถึงราชวงศ์ฮั่น เมื่อจ๊กก๊กก่อตั้งในปี ค.ศ. 222 ก็ถือว่าตนผู้สืบทอดโดยชอบธรรมของราชวงศ์ฮั่น เพราะเล่าปี่ผู้ก่อตั้งจ๊กก๊กเป็นทายาทของราชตระกูลแห่งราชวงศ์ฮั่น
  15. "ข้าศึกกำลังวุ่นวายอยู่ทางตะวันตก" หมายถึงสถานการณ์ในปี ค.ศ. 228 เมื่อสามเมืองในภูมิภาคกวนต๋ง (อยู่ใกล้ชายแดนด้านตะวันตกของวุยก๊ก) คือลำอั๋น เทียนซุน และฮันเต๋ง ก่อกบฏและแปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊ก (ดู การก่อการกำเริบที่เทียนซุย) ราชสำนักวุยก๊กส่งเตียวคับให้นำกองกำลังมาปราบกบฏ
  16. The ถูกยึดครองพื้นที่ทางตะวันออก" หมายถึงสถานการณ์ในปี ค.ศ. 228 เมื่อทัพวุยก๊กและง่อก๊กปะทะกันในยุทธการที่เซ็กเต๋งทางชายแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ของวุยก๊ก

อ้างอิง[แก้]

  1. (五年,率諸軍北駐漢中,臨發,上疏曰: ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  2. (至《出师表》简而尽,直而不肆,大哉言乎,与《伊训》、《说命》相表里,非秦汉以来以事君为悦者所能至也。) Su Shi Collection vol. 34. See here.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]