ชาวไทยในสิงคโปร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาวไทยในสิงคโปร์
หญิงชาวสยามในสิงคโปร์ ราว พ.ศ. 2442 หรือ 2443
ประชากรทั้งหมด
18,335 คน (พ.ศ. 2564)[1]
ภาษา
ไทย · จีนกลาง · อังกฤษ
ศาสนา
พุทธ
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทยสยาม · ไทยเชื้อสายจีน

ชาวไทยในสิงคโปร์ หมายถึงบุคคลที่ถือสัญชาติไทยหรือมีเชื้อสายไทยสยามที่เกิดหรือพำนักในประเทศสิงคโปร์ จากข้อมูลของสถานกงสุลไทยระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2555 มีจำนวน 47,700 คน และใน พ.ศ. 2564 มีจำนวน 18,335 คน[1] ถือเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่แปดของโลก และเป็นอันดับที่สองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2]

ประวัติ[แก้]

ยุคอาณานิคม[แก้]

มีชาวสยามเข้าไปตั้งถิ่นฐานหรือพำนักในสิงคโปร์มาช้านานแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาอรรคราชนารถภักดี (เนตร เนตรายน) ไปศึกษาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ เมื่อทราบภาษาอังกฤษพอสมควรแล้ว ได้แต่งตั้งให้เป็นกงสุลที่สองในสิงคโปร์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนย้ายกลับไปรับราชการในสยามต่อไป[3] เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2413 พร้อมพระราชทานช้างสัมฤทธิ์เป็นของขวัญแก่สิงคโปร์[4] และการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์เป็นการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2433 ทรงกล่าวถึงกลุ่มคนเชื้อสายไทยที่เข้าไปอาศัยและแต่งงานกับคนที่สิงคโปร์ ทรงตรัสเรียกคนไทยเหล่านี้รวมกับคนชาติอื่น ๆ ในนั้นว่า เถื่อน ความว่า "...คนพวกที่จะเรียกได้ว่าคน ‘เถื่อน’ เหล่านี้มักจะเป็นคนพ่อเป็นฝรั่งบ้างเป็นเจ๊กบ้าง แม่เป็นแขก [มลายู] หรือเป็นคนไทยแต่ไปแต่งตัวเป็นแขก [...] บางทีก็แม่เป็นพะม่าพ่อเป็นฝรั่ง อยู่ในคงพูดแขก พูดเจ๊กพูดไทยได้ทั้งสามภาษา โดยมากบางคนก็พูดอังกฤษได้ แต่คงพูดแขกเป็นท้องภาษา ถึงพูดไทยไม่ได้ก็เข้าใจเกือบทุกคน คนเหล่านี้แต่งตัวเป็นแขก แต่ผัดหน้าแต่งตัวคล้าย ๆ ไทย กินหมากสูบบุหรี่ ไม่ใคร่เหม็นปาก พวกที่ปินังกินเหล้าจัดอยู่หน่อยหนึ่ง หน้ามักจะดี ผิวขาวกว่าแขกมะลายู แต่ไม่ถึงเจ๊กหรือฝรั่ง ที่มีความรู้ดีจนน่าพิศวงว่าทำไมจึ่งไปเป็นคนเช่นนี้ได้ก็มี"[5]

ทรงกล่าวถึงหญิงสยามไว้ ความว่า "เราพบที่สิงคโปร์คน 1 รูปร่างหน้าตาเป็นเมียขุนนางได้ดี ๆ รู้ภาษาอังกฤษพูดอ่านเขียนได้คล่อง เรียนที่แรฟฟัลสกูล อายุก็เพียง 19 ปีเท่านั้นมันเป็นคนเช่นนี้ได้ขันเต็มที..."[5] และ "คนไทยที่เราพบคน 1 นั้นเป็นคนกฎีจีน ไม่ได้ไว้มวย ไว้ผมประบ่า เขาชอบกันแต่เราเกลียดเต็มที อีแม่สื่อชื่อเอมเป็นคนบ้านอยู่วัดสระเกศ เป็นเมียแขก ดูท่าทางตอแหลเต็มที คนหากินพวกนี้ดูมันรู้จักกันหมด เราเข้าใจว่าคนพวกนี้เห็นจะเป็นพวกที่ดีกว่า 2 พวกที่ว่ามาก่อนนั้น และมักสรรเสริญกันว่ามีวิชชาดีต่าง ๆ ในเชิงนักเลง"[5]

ประชากรไทยในสิงคโปร์
แบ่งตามปี
ปีประชากร±%
2555 47,700—    
2557 40,000−16.1%
2564 18,335−54.2%
อ้างอิง: กระทรวงการต่างประเทศ[2][6][1]
วัดศากยมุนีพุทธคยา เป็นวัดไทยบนถนนเรซคอร์ส

คาดว่าคนไทยในสิงคโปร์ยุคแรก ๆ คือคนจีนที่มีสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทยเช่นเดียวกับคนจีนเมืองปีนัง คือ พูดภาษาไทยหรือนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท แต่มีรูปพรรณและแต่งกายเป็นจีนหรือบ้าบ๋า[7] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินบนเกาะสิงคโปร์จำนวนสองแปลง แปลงแรกมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานทูตไทย และอีกแปลงให้สร้างวัดพุทธแบบไทยประเพณี[8] มีการตั้งข้าราชการสยามรับราชการในสิงคโปร์ เช่น ตันกิมเจ๋ง เป็นกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้สนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อหลังตันกิมเจ๋งถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงเผื่อน อนุกูลสยามกิจ ภรรยา, คง อนุกูลสยามกิจ บุตรชาย และเชย วัชราภัย หลานสาว จึงย้ายกลับไปกรุงเทพมหานคร[9] ใน พ.ศ. 2443 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงระบุว่าไว้ในหัตถเลขาไปถึงพระยาสิทธิศัลการ อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอนเกี่ยวกับการจ้างงานของคนไทยในสิงคโปร์ว่า "...ด้วยพระยาสิทธิศัลการก็ทราบอยู่ด้วยว่าคนที่เป็นไทยแท้นั้น คงไม่รับจ้างฝรั่งที่ไม่เป็นหลักฐานไปยุโรปจากกรุงเทพฯ แลถ้าจะจ้างออนกันไป ก็ย่อมมีผู้รู้เห็น แลรู้จักชื่อเสียงผู้ที่จ้างไป การจ้างลูกจ้างโดยออกไปยุโรปจึงมีชุกชุมอยู่แต่ที่เมืองสิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ แลที่มักมีคนไทยเป็นอันมากหลบหนีอพยพไปอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่คิดจะกลับบ้านเมืองเดิมเช่นนี้ จะถือเป็นคนไทยก็ยาก เพราะฉะนั้นมีกลาสีแขกแลคนชาวตะวันออกเป็นอันมากซึ่งอาศัยอยู่ในหัวเมืองขึ้นอังกฤษที่พูดไทยได้ แลเมื่อตกอับก็ชองเอาว่าเป็นคนไทย..."[10] และมีกรณีชาวไทย 5 คนจากสิงคโปร์ติดตามคณะละครสัตว์ของชาวยุโรป แต่ถูกคณะละครสัตว์ทอดทิ้งที่เมืองโดเวอร์ ประเทศอังกฤษ จนมีสภาพเป็นคนอนาถาก่อนได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลสยาม[11] เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จเยี่ยมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินซึ่งประทับที่สิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. 2467 แต่ทรงหาพระตำหนักของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินไม่พบ จึงไปถามพระภิกษุในวัดพุทธคยา (ปัจจุบันคือ วัดศากยมุนีพุทธคยา) หรือมีชื่ออย่างสามัญว่า วัดเสือ[12] ซึ่งเป็นวัดไทยที่ก่อตั้งโดยพระมอญ[13][14] ก็ทรงพบปะคนไทยอาศัยในบริเวณนั้นจำนวนหนึ่ง[12]

หลังการก่อตั้งประเทศสิงคโปร์[แก้]

โกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์

หลังการก่อตั้งประเทศ สิงคโปร์มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร และขาดแรงงานฝีมือจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้สิงคโปร์จึงเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศที่หลากหลายขึ้น เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่มีพื้นเพเป็นชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เบื้องต้นแรงงานชายจะเป็นคนงานก่อสร้าง[15] และแรงงานหญิงทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ใน พ.ศ. 2531 มีแรงงานไทยจำนวน 25,000 คน ต่อมา พ.ศ. 2533 มีแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คน กระทั่ง พ.ศ. 2537 มีแรงงานไทยในสิงคโปร์มากถึง 50,000 คน โดยไม่รวมแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งด้วย[16] นอกจากการเป็นแรงงานและแม่บ้านแล้ว ยังมีชาวไทยอีกกลุ่มดำเนินธุรกิจด้านอาหารไทยและเครื่องดื่ม (โดยเฉพาะชาไทย)[17] กระจายทั่วไปทั้งรายใหญ่และรายย่อย[18]

ชาวไทยจำนวนมากนั่งรถโดยสารมาจนถึงสิงคโปร์ ตึกโกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์ (Golden Mile Complex) ซึ่งเป็นจุดขึ้นรถโดยสารกลายเป็นหลักแหล่งชุมนุมของคนไทยในสิงคโปร์ มีธุรกิจร้านอาหาร บริษัททัวร์ และหนังสือพิมพ์ไทยผุดขึ้นในย่านนี้ จนตึกโกลเดนไมล์มีสมญาว่า "เมืองไทยน้อย" (Little Thailand)[19] ทั้งยังเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับคนไทยในสิงคโปร์[20] ใกล้กับโกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์มีสวนสาธารณะริมน้ำกัลลัง หรือที่ชาวไทยเรียกว่า สวนมะพร้าว เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ค้าขาย และสังสรรค์[21] นอกจากโกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์แล้ว ยังมีคนไทยอาศัยอยู่ในแฟลตคนงานแออัดย่านบุนเลย์ (Boon Lay) และมีหญิงชาวไทยค้าบริการแบบผิดกฎหมายในย่านนั้นเป็นสำคัญ[22]

วัฒนธรรม[แก้]

ภาษา[แก้]

วัดอานันทเมตยาราม เป็นวัดไทยที่เก่าแก่ที่สุด สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2463 ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนบูกิตเมอระฮ์
ภายในวัดสุวรรณคีรีวนารามบนเกาะปูเลาอูบิน

ชาวไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษสำหรับสื่อสารกับชาวสิงคโปร์[23] แต่ใช้ภาษาไทยหรือภาษาไทยถิ่นอีสานร่วมกับกลุ่มชนเดียวกัน[21] โดยภาษาไทยในประเทศสิงคโปร์ จะมีคำศัพท์เฉพาะของตัวเองไม่กี่คำ เช่น สวนมะพร้าว หมายถึง สวนสาธารณะริมน้ำกัลลัง[21] ใบเวิร์ก แปลว่า ใบอนุญาตทำงาน (มาจาก work permit)[24][25] แท็ก [ออกเสียง แถ็ก] แปลว่า สัญญาอนุญาต (มาจาก contract)[26] และ จ๊อบ หรือ จ๊อบเข้า-จ๊อบออก แปลว่า การเข้าไปทำงานในช่วงเวลาสั้น ๆ มาจากคำว่า job (งาน) และ chop (การลงตราประทับวีซ่าของเจ้าหน้าที่) ทั้งออกเสียงคล้ายคำว่า จอบ แปลว่า แอบ หรือ ลักลอบ ในภาษาไทยถิ่นอีสาน ชาวไทยในสิงคโปร์ใช้ในความหมายว่า การเข้าไปทำงานระยะสั้นตามอายุวีซ่าผ่านแดนชั่วคราวที่ทางการสิงคโปร์กำหนดให้ ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการทำงานระยะสั้นนี้จะถูกเรียกว่า เซียนจ๊อบ[21]

ศาสนา[แก้]

ชาวไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ปัจจุบันมีวัดไทยในการปกครองของเจ้าคณะรัฐสิงคโปร์และเครือสมัชชาสงฆ์ไทยในสิงคโปร์ จำนวน 51 วัด[27] ชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจกับเครื่องรางของขลังไทย โดยเฉพาะพระเครื่องหรือเครื่องรางอื่น ๆ ด้วยมองว่าเป็นสิริมงคล ส่งเสริมหน้าที่การงานและสุขภาพ เป็นที่นิยมทั้งสวมใส่หรือพกติดตัว[28][29]

ทั้งนี้วัดไทยในประเทศสิงคโปร์มิได้เน้นศาสนบริการแก่ชาวไทยเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นที่พึ่งของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในสิงคโปร์ วัดไทยกลายเป็นพื้นที่ของชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ วัดไทยมีสถาปัตยกรรมจีนเพิ่มขึ้นและมีทรัสตีชาวจีนทั้งหมด ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องสะท้อนความหลากหลายทางสังคม โดยพระสงฆ์ใช้อำนาจผ่านศาสนพิธีและกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ อย่างถ่อมตัว การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ที่จะก่อให้เกิดความคล่องตัวและตอบสนองกับคนรุ่นใหม่[30]

สมาคม[แก้]

ชาวไทยในสิงคโปร์ ได้ก่อตั้งสมาคมไทย (สิงคโปร์) เพื่อเป็นศูนย์กลางของคนไทยในสิงคโปร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2540[31] และสมาคมสามัคคีไทยไกลบ้าน (สิงคโปร์) เดิมใช้ชื่อว่า สมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์[32] ทั้งยังมีชมรมนาฏศิลป์ไทยในสิงคโปร์ จัดการสอนนาฏศิลป์แก่เยาวชนไทยและลูกครึ่งไทยที่อาศัยในสิงคโปร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูต[33] นอกจากนี้ประเทศสิงคโปร์ยังมีการจัดประเพณีสงกรานต์[34] และกิจกรรมลอยกระทง[35]

บุคคลที่มีชื่อเสียง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "สถิติจำนวนคนไทยใน ตปท. ประจำปี 2564" (PDF). กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ. 28 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2022.
  2. 2.0 2.1 "รายงานจำนวนประมาณการคนไทยในต่างประเทศ 2012" (PDF). consular.go.th. 5 มีนาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2017. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.
  3. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. ชีวิตและงานกงสุลไทยของพระยาอนุกูลสยามกิจ อุปนิกษิตสยามรัฐ (ตันกิมเจ๋ง) กงสุลเยเนอราลไทยคนแรก ณ เมืองสิงคโปร์. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือกรุงเทพ. 2525, หน้า 22
  4. "อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์เผย ความเข้าใจผิดของคนไทย ขณะเยี่ยมชม 'ช้างสำริด' ของขวัญ ร.5 พระราชทาน 'สิงคโปร์'". มติชนออนไลน์. 16 กุมภาพันธ์ 2019. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.
  5. 5.0 5.1 5.2 "ร.5 ทรงเล่า "เที่ยวกลางคืน" บรรยายโสเภณีที่ปีนัง-สิงคโปร์ และเจอคนไทย!". ศิลปวัฒนธรรม. 22 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.
  6. พัทยา เรือนแก้ว (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). คนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในเอเชีย. วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2), หน้า 107
  7. พิเชฐ แสงทอง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2560). ศึกไทย-พม่าที่ปีนัง: แกะรอยปริศนาปีสร้างและคดีความที่วัดปูเลาติกุส (ไชยมังคลาราม) มาเลเซีย. วารสารกึ่งวิชาการ (38:2), หน้า 43
  8. ปัญญา เทพสิงห์ (มกราคม–มิถุนายน 2560). "ปัจจัยที่ส่งผลต่อความหลากหลายศิลปกรรมของวัดไทยในประเทศสิงคโปร์". สารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (9:1). หน้า 195
  9. ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที (9 มีนาคม 2020). ""ตันกิมเจ๋ง" กงสุลไทยคนแรก ณ เมืองสิงคโปร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองกระบุรีและผู้มากบารมีบนแผ่นดินลอดช่อง!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.
  10. เอนก นาวิกมูล. นักเดินทางชาวสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562, หน้า 261
  11. เอนก นาวิกมูล. นักเดินทางชาวสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562, หน้า 258
  12. 12.0 12.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "สาส์นสมเด็จ (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 น)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2022.
  13. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "สาส์นสมเด็จ (8 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ดร)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2022.
  14. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "สาส์นสมเด็จ (12 มิถุนายน พ.ศ. 2478 น)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2022.
  15. "Thai workers have help fitting in here, thanks to group". AsiaOne. 15 พฤษภาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2019.
  16. พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 7, 9
  17. เทรนด์ร้านอาหารในสิงคโปร์ (PDF). สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ. 2019. p. 5.
  18. "วิธีการเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ให้ประสบความสำเร็จ". SME How. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-01. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2022.
  19. "Golden Mile Complex will 'not be the same even if building is kept'". TODAYonline. 13 มกราคม 2019. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2019.
  20. พัทยา เรือนแก้ว (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). คนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในเอเชีย. วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2), หน้า 117
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 13
  22. พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 14
  23. Sam Ponsan (24 เมษายน 2019). "8 เรื่องควรรู้สำหรับคนไทยที่อยากไปทำงานสิงคโปร์ กับ 'โบว์ - ขจีภรณ์ เตชะทวีกิจกุล' แอดมินเพจ 'Boring Singapore'". Mango Zero. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.
  24. พัทยา เรือนแก้ว (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). คนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในเอเชีย. วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2), หน้า 130
  25. พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 19
  26. พัฒนา กิติอาษา (มกราคม–เมษายน 2552). "คติชนคนข้ามแดน: จากอีสานถึงสิงคโปร์". วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (5:1), หน้า 16
  27. "วัดไทย". Royal Thai Embassy Singapore. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2022.
  28. ""เว็ปเตอร์ลี" (李耀光: Lee Yao Guang) เซียนพระ หลวงปู่คำพันธ์ - อ.เปล่ง บุญยืน @ สิงคโปร์". ผู้จัดการออนไลน์. 18 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2022.
  29. "สินค้าเครื่องรางของขลังไทยในสิงคโปร์". กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. 19 กันยายน 2019. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2022.[ลิงก์เสีย]
  30. ปัญญา เทพสิงห์ (มกราคม–มิถุนายน 2560). "ปัจจัยที่ส่งผลต่อความหลากหลายศิลปกรรมของวัดไทยในประเทศสิงคโปร์". วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (9:1). หน้า 208–209
  31. "เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ เป็นประธาน ในงานวันลอยกระทงของสมาคมไทย (สิงคโปร์)". Royal Thai Embassy Singapore. 17 พฤศจิกายน 2012. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.
  32. พัทยา เรือนแก้ว (กรกฎาคม–ธันวาคม 2561). คนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในเอเชีย. วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2), หน้า 114
  33. "เอกอัครราชทูตฯ มอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนที่ได้เข้าอบรมนาฏศิลป์ไทยภายใต้โครงการสอนนาฏศิลป์ไทยให้แก่เยาวชนไทยในสิงคโปร์". Royal Thai Embassy Singapore. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.
  34. "เทศกาลสงกรานต์ของใคร ทำไมต้องหวง?". วอยซ์ทีวี. 19 มีนาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.
  35. "สนร. สิงคโปร์ ร่วมงานประเพณีลอยกระทง". สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์. 19 พฤศจิกายน 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2022.