ชรินรัตน์ พุทธปวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชรินรัตน์ พุทธปวน
ไฟล์:ชรินรัตน์ พุทธปวน.jpg
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 สิงหาคม พ.ศ. 2496 (70 ปี)
อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
ศาสนาคริสต์
พรรคการเมืองรักษ์สันติ (2554)
ชาติไทย (2550-2551)
ไทยรักไทย (2543-2549)
ประชาธิปัตย์ (2538-2543)
พลังธรรม ( 2531-2538)

รองศาสตราจารย์ ชรินรัตน์ พุทธปวน (21 สิงหาคม พ.ศ. 2496 - ) เดิมชื่อ "สาคร พุทธปวน"[1] เป็นบุตรของพ่อหลวงอินสนธิ์ กับแม่แปง พุทธปวน เป็นชาวจังหวัดลำพูนโดยกำเนิด เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย

การศึกษา[แก้]

ดร.ชรินรัตน์ พุทธปวน จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการพยาบาล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2518 ( ปีการศึกษา 2517 ) ระดับปริญญาโท สาขาการบริหารการพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2522) และระดับปริญญาเอก สาขาการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในปี พ.ศ. 2533

ในระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีการศึกษา 2516 และเป็นนายกสโมสรนักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีการศึกษา 2517

การทำงาน[แก้]

ดร.ชรินรัตน์ พุทธปวน เริ่มทำงานในภาควิชาการพยาบาลพื้นฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจริญก้าวหน้าเรื่อยมา จนดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ภาควิชาบริหารการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นจึงหันเข้ามาสู่วงการการเมืองโดยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ในนามพรรคพลังธรรม ต่อมาจึงย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ การเลือกตั้ง พ.ศ. 2539[2] จากนั้นการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 จึงย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย แต่เนื่องจากพื้นที่ทับซ้อนกับนายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ จึงได้ย้ายมาสมัครในแบบบัญชีรายชื่อ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (สมศักดิ์ เทพสุทิน)[3]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550 ดร.ชรินรัตน์ พุทธปวน ได้ลงสมัครในนามพรรคชาติไทย หมายเลข 1 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง [4] จากนั้นในปี พ.ศ. 2551 จึงได้เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียน กระทั่งปี พ.ศ. 2552 จึงเข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรครักษ์สันติ ซึ่งนำโดย ร้อยตำรวจเอก ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ และลงสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 6[5] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 และเป็นผู้ก่อตั้งชมรมจิตอาสาพัฒนาประเทศไทย จนขยายตัวและยกฐานะเป็นสมาคมจิตอาสาพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ชรินรัตน์ เป็นนายกสมาคม[6]

ในปี พ.ศ. 2556 รศ.ดร.ชรินรัตน์ ได้ก่อตั้งและเป็นผู้รับใบอนุญาต วิทยาลัยเทคโนโลยีชรินรัตน์ลำพูน โดยเปิดการเรียนการสอนปีแรก ใน ปีการศึกษา 2557


ในปี พ.ศ. 2563 รศ.ดร.ชรินรัตน์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน[7] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. การปรับปรุงพฤติกรรมการรับประทานลาบดิบของชาวบ้าน: กรณีศึกษา หมู่บ้านฮ่องกอก ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน[ลิงก์เสีย]พ.ศ. 2535
  2. "จากเว็บไซต์ข้อมูลการเลือกตั้งกรมการปกครอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-09-28. สืบค้นเมื่อ 2011-03-18.
  3. คำสั่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ 21/2548 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  4. ชรินรัตน์ ขอปักธง เขต 1 เชียงใหม่[ลิงก์เสีย]
  5. "เปิด64รายชื่อปาร์ตี้ลิสต์"พรรครักษ์สันติ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-23. สืบค้นเมื่อ 2011-05-20.
  6. ประกาศนายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งสมาคม (สมาคมจิตอาสาพัฒนาประเทศไทย)
  7. โฟกัสสนามภาคเหนือ 'อบจ.ลำพูน' 5 คนเดินหน้าหาเสียงชิงชัยโค้งสุดท้าย
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๒๔, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒