งูทะเล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งูทะเลหางกระดิ่ง
งูสมิงทะเลปากเหลือง (Laticauda colubrina)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: สัตว์ (Animalia)
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
ไฟลัมย่อย: สัตว์มีกระดูกสันหลัง (Vertebrata)
ชั้น: สัตว์เลื้อยคลาน (Reptilia)
อันดับ: กิ้งก่าและงู (Squamata)
อันดับย่อย: งู (Serpentes)
วงศ์: งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae)
วงศ์ย่อย: งูทะเล (Hydrophiinae)
Smith, 1926
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของงูทะเลทั่วโลก

งูทะเล เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกสัตว์เลื้อยคลานจำพวกงู ที่อาศัยและดำรงชีวิตอยู่ในทะเลตลอดชีวิต ไม่เคยขึ้นมาบนบกเลย ยกเว้นการผสมพันธุ์และวางไข่ในบางชนิด งูทะเลเป็นงูที่อยู่ในวงศ์ย่อย Hydrophiinae งูทะเลทุกชนิดอาศัยอยู่ในทะเลหรือปากแม่น้ำชายฝั่งหมด ยกเว้น ชนิด Hydrophis semperi และ Laticauda crokeri เท่านั้น ที่พบอาศัยอยู่ในทะเลสาบน้ำจืดในประเทศฟิลิปปินส์

ลักษณะ[แก้]

งูทะเลทั่วโลกมีทั้งหมดประมาณ 50 ชนิด[1] พบตั้งแต่มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เชื่อว่าเป็นงูบกที่พัฒนาการลงมาสู่น้ำ โดยปกติ งูทะเลจะอาศัยอยู่ตามชายฝั่งน้ำตื้นที่อบอุ่น หากินปลาเป็นอาหารหลัก มีรูปร่างคล้ายงูบก แต่มีส่วนที่แตกต่างออกไปคือ เกล็ด บางชนิดมีเกล็ดเป็นมัน บางชนิดมีเกล็ดฝังอยู่ใต้ผิวหนัง ลำตัวลื่นคล้ายปลา หางแบนราบคล้ายใบพาย ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใช้สำหรับว่ายน้ำ สีสันลำตัวเป็นปล้อง จึงทำให้จำแนกด้วยตาเปล่าได้ยากว่าชนิดไหนเป็นชนิดไหน โดยทั่วไปงูทะเลมีความยาวเต็มที่ประมาณ 50 - 70 เซนติเมตร แต่ก็มีบางชนิดที่ยาวได้ถึง 2 เมตร และมักอาศัยตามทะเลโคลนหรือทะเลที่มีน้ำขุ่นมากกว่าทะเลน้ำใส[2]

ฟันของงูทะเลเป็นเขี้ยวสั้น ๆ ยกเว้นในสกุล Emydocephalus ที่มีฟันแข็งเรียงเป็นแถวหลังเขี้ยวบนกรรไกรบน อาจมีมากถึง 18 ซี่ งูทะเลจะมีชิ้นเนื้อเล็ก ๆ คล้ายฟองน้ำ ซึ่งจะช่วยขวางกั้นไม่ให้น้ำเข้าสู่รูจมูกเมื่อต้องการดำน้ำ รูจมูกของงูทะเลไม่มีอาณาเขตที่แน่นอน แต่จะอยู่สูงกว่างูบก ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่รูจมูกได้โดยง่าย

ปอดข้างซ้ายของงูทะเลลดรูปลง ส่วนปอดข้างขวาจะพัฒนาให้ยาวขึ้น ในบางกรณีพบว่ายาวจนถึงรูก้น นอกจากจะมีปอดเอาไว้เพื่อหายใจแล้ว ปอดที่ยาวขึ้นนี้เชื่อว่าจะช่วยทำหน้าที่ช่วยในการหายใจ จึงสามารถเคลื่อนไหวได้ดีในน้ำทะเล เนื่องจากมีการปรับตัวทางด้านร่างกาย ทำให้สามารถเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วไปทางด้านหน้าและด้านหลัง แต่เคลื่อนตัวได้ไม่ดีเมื่ออยู่บนบก งูทะเลสามารถลอยตัวอยู่ที่ผิวหน้าน้ำทะเลได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง

งูทะเลส่วนใหญ่เป็นงูพิษ และเป็นงูพิษร้ายแรงด้วย พิษของงูทะเลเป็นพิษที่ทำลายระบบกล้ามเนื้อ โดยจะออกฤทธิ์เมื่อถูกกัดไปแล้วนานถึงครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมง จึงมักมีผู้ถูกงูทะเลกัดเสียชีวิตบ่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว แต่งูทะเลก็มีศัตรูตามธรรมชาติ คือ นกอินทรี ที่โฉบงูทะเลกินเป็นอาหาร

งูทะเลที่พบในไทย[แก้]

งูทะเลที่พบในประเทศไทยมีหลายสิบชนิด หลายวงศ์ หลายสกุล ชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ งูสมิงทะเลปากดำ (Laticauda laticaudata) ที่มีความยาวได้ถึง 2 เมตร และมีพิษร้ายแรงที่สุด และมีอยู่เพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ไม่มีพิษ คือ งูผ้าขี้ริ้ว (Acrochordus granulatus) โดยคนไทยมักจะเรียกชื่องูเหล่านี้รวมกัน เช่น งูผ้าขี้ริ้ว งูคออ่อน งูแสม งูฝักมะรุม งูชายธง เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นงูแต่ละชนิดกัน

งูทะเลเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล ส่วนมากหางจะมีลักษณะแบนคล้ายใบพายเพื่อประโชน์ในการว่ายน้ำ ทั่วโลกมีงูทะเลอยู่ราว 16 สกุล ประมาณ 50 ชนิด[1]แพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกและชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย งูทะเลอาจว่ายทวนน้ำเข้าไปในแหล่งน้ำจืด หรือในฤดูฝนอาจว่ายเข้าไปบริเวณปากน้ำที่เป็นน้ำกร่อย เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้มีปลาเป็นจำนวนมากจึงทำให้งูทะเลชุกชุมในบริเวณดังกล่าว งูทะเลเป็นสัตว์ที่ไม่ดุร้ายถึงแม้จะอยู่ในฤดูผสมพันธุ์ พวกมันมีพิษเอาไว้เพื่อการป้องกันตัวหรือหาอาหารเท่านั้น การที่คนเราถูกงูทะเลกัดเนื่องจากการเหยียบหรือจับต้องตัวมันขณะที่ติดมากับอวนของเรือประมง

ชนิดของงูทะเล[แก้]

งูทะเลในน่านน้ำไทยมี 13 สกุล 23 ชนิด[3] วงศ์ย่อย (Subfamily) คือ Hydrophiinae เป็นกลุ่มงูทะเลกลุ่มใหญ่มีถึง 21 ชนิดจากทั้งหมด 23 ชนิด เป็นงูทะเลแท้ที่มีการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตในทะเลอย่างสมบูรณ์ คือ เกล็ดท้องลดรูปลงไปมากหรือหายไปเลยทำให้ไม่สามารถเลื้อยขึ้นบกได้จึงไม่มีการวางไข่บนบก ดังนั้นงูทะเลสายพันธุ์ย่อยนี้ทุกชนิดจะออกลูกเป็นตัว เช่น งูชายธงข้าวหลามตัด งูชายธงข้าวหลามตัดไทย งูกะรังหัวโต งูชายธงท้องบาง งูคออ่อนท้องขาว งูเสมียนรักหัวสั้น งูเสมียนรังหัวเข็ม งูชายธงหลังดำ งูอ้ายงั่ว งูแสมรังเหลือง งูแสมรังหัวเล็ก งูแสมรังหลังเหลือง งูแสมรังเทา งูแสมรังเทาท้องขาว งูแสมรังท้องเหลือง-ขาว และงูแสมรังคอยาวเป็นต้น งูสายพันธุ์ย่อยนี้ถือเป็นงูกลุ่มน้อยของงูทะเลไทยเพียงสกุลเดียว มีสมาชิกอยู่ 2 ชนิดเท่านั้น คือ งูสมิงทะเล และงูสมิงทะเลปากเหลือง งูทะเลสายพันธุ์ย่อยนี้มีการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตในทะเลไม่สมบูรณ์เท่ากับพวก Hydrophiinae เกล็ดท้องยังมีอยู่และค่อนข้างกว้างอย่างน้อยประมาณครึ่งหนึ่งของความกว้างลำตัว ทำให้สามารถเลื้อยขึ้นบนหาดทรายได้บ้าง นอกจากนี้ยังมีการสืบพันธุ์ด้วยการวางไข่โดยขึ้นมาวางไข่บนบก

กลไกการปล่อยพิษและความเป็นพิษของงูทะเล[แก้]

งูทะเลทุกชนิดมีต่อมพิษ (ยกเว้นงูผ้าขี้ริ้วเป็นงูทะเลชนิดเดียวที่ไม่มีพิษ มีหางกลมไม่แบนเป็นใบพาย) น้ำพิษของงูทะเลจะหลั่งออกมาใน 2 กรณี คือ เมื่อต้องการป้องกันตัว และ ล่าเหยื่อหรือหาอาหาร น้ำพิษจะเข้าไปทำลายหรือหยุดการเคลื่อนไหวของเหยื่อทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตและตายในที่สุด พบว่าพิษของงูทะเลมีความรุนแรงมากกว่าพิษของงูพิษชนิดอื่นๆ (ยกเว้นพิษของงูพิษ Tiger snake ของออสเตรเลีย) น้ำพิษของงูทะเลมีความเป็นพิษสูง 1 หยดของน้ำพิษ (ประมาณ 0.03 มิลลิลิตรหรือประมาณ 10 มิลลิกรัมของน้ำหนักแห้ง) มีพิษมากพอที่จะฆ่าผู้ชายที่โตเต็มวัยได้ถึง 3 คน งูทะเลบางชนิดสามารถส่งผ่านน้ำพิษได้ 7-8 หยดในการกัดเพียงครั้งเดียว[4]

น้ำพิษของงูทะเลทุกชนิดประกอบด้วยพิษมากกว่า 1 ชนิดและการรวมกันของพิษหลายชนิดทำให้มีความเป็นพิษที่รุนแรงมากขึ้น พิษของงูทะเลเป็นพิษชนิด Neurotoxin มีลักษณะเป็นของเหลวใสมีสีเหลืองหรือไม่มีสี มีความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 6.3 สามารถทนอยู่ในช่วง pH ได้ช่วงหนึ่ง มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ส่งต่อไปยังกล้ามเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกาย พิษงูทะเลประกอบด้วยโปรตีนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลังถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนังแห้ง และโปรตีนส่วนมากเป็นเอนไซม์โดยจะพบเอนไซม์ 3 ชนิดได้แก่ Proteolytic enzyme, Phospholipase และ Hyaluronidase พิษงูทะเลบางชนิดสามารถทนความร้อน 100 องศาเซลเซียสได้ถึง 5 นาที โดยไม่สูญเสียความเป็นพิษแต่จะถูกทำลายเมื่อผ่านไป 20 นาที นอกจากนี้พบว่าน้ำพิษงูทะเลบางชนิดถูทำลายได้ที่อุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียสในเวลา 20 นาทีเท่านั้น

งูทะเลมีเขี้ยวพิษสองเขี้ยวอยู่ทั้งสองข้างของขากรรไกรบน แต่มีบางชนิดพบเพียงเขี้ยวเดียวอยู่ในช่องปาก เขี้ยวงูทะเลมีขนาดเล็กมากเฉลี่ยประมาณ 1.3-6.7 มิลลิเมตร มีลักษณะเหมือนกับเขี้ยวของงูเห่าบกแต่มีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับงูขนาดเดียวกัน เขี้ยวพิษ (Venom apparatus) จะเชื่อมต่อกับต่อมพิษ (Venom gland) ซึ่งต่อมนี้จะอยู่สองข้างของหัวและน้ำพิษจะไหลจากโคนเขี้ยวพิษ แรงดันจากการกัดเหยื่อจะส่งน้ำพิษเข้าสู่ตัวเหยื่อ เนื่องจากเขี้ยวงูทะเลมีขนาดเล็กมากเมื่อถูกกัดจะรู้สึกเหมือนโดนหนามตำหรือเหมือนโดนผึ้งต่อย ร่องรอยจากการถูกกัดนั้นแทบมองไม่เห็นหรืออาจพบมีเลือดออกซิบๆ มีรอยขีดยาว 2-3 เซนติเมตร รู้สึกเจ็บแปลบแล้วหายไปแต่บางครั้งก็อาจมีความรู้สึกเจ็บอยู่ระยะหนึ่งซึ่งไม่นานและไม่รุนแรงนัก อาการเจ็บเมื่อโดนกัดเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ถูกงูทะเลกัดมักเข้าใจผิดว่าถูกปูหนีบ ถูกก้อนหินบาด หรือถูกสัตว์ไม่มีพิษขนาดเล็กชนิดอื่นๆ ทำร้าย หากถูกงูทะเลกัดแล้วเขี้ยวของงูทะเลหลุดคาอยู่ในแผลก่อนทำการรักษาต้องบ่งเอาเขี้ยวออกก่อน

อาการของผู้ที่ได้รับพิษจากงูทะเล[แก้]

พิษงูทะเลเป็นพิษชนิด Neurotoxin เมื่อถูกกัดพิษจะกระจายไปทั่วกล้ามเนื้อต่างๆ และกล้ามเนื้อที่ถูกพิษทำลายนี้จะสามารถซ่อมแซมเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการกัดจนกล้ามเนื้อนั้นกลับมาสมบูรณ์ดังเดิม สำหรับอาการต่างๆ จะเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่ 20 นาทีจนถึงหลายชั่วโมง อาการเริ่มแรกที่พบคือ มีอาการเจ็บปวดและเครียดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลิ้นเริ่มแข็งไม่มีความรู้สึก กล้ามเนื้อเริ่มแข็งเกร็งไปทั่วร่างกาย เจ็บตามกล้ามเนื้อเมื่อมีการเคลื่อนไหว รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง จากนั้นเริ่มมีอาการอัมพาตที่ขาภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังถูกกัดและอาการอัมพาตจะผ่านซ่านไปที่หลัง แขนและลุกลามมาที่ต้นคอ กรามจะแข็งขยับปากหรือออกเสียงพูดได้ยาก ม่านตาขยายกว้างมีเหงื่อออก มีอาการชักกระตุกเป็นพักๆ และเริ่มบ่อยครั้งขึ้น สุดท้ายจะมีอาการทางเดินหายใจอย่างเห็นได้ชัด หายใจไม่ออก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด โดยอัตราการเสียชีวิตของคนที่ถูกงูทะเลกัดอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ในการกัดแต่ละครั้ง สำหรับอาการที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทั้งหมดทุกอาการและเวลาในการพัฒนาของอาการต่างๆ ก็แตกต่างกันด้วย

การปฐมพยาบาลและการรักษาผู้ที่ถูกงูทะเลกัด[แก้]

ก่อนการรักษาต้องวิเคราะห์ก่อนว่าผู้เคราะห์ร้ายถูกงูทะเลกัดในทะเล แหล่งน้ำขัง ชายฝั่ง หรือป่าชายเลน เพราะอาการต่างๆ จะไม่ปรากฏได้โดยง่าย แต่ถ้าถูกกัดในน้ำจืด หนองบึง หรือบริเวณหาดทรายจะสามารถทราบว่าถูกงูทะเลกัดได้เนื่องจากจะมีอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ อาการอัมพาต และปัสสาวะเป็นสีเข้มภายในไม่กี่ชั่วโมง สัตว์หลายชนิดในทะเลสามารถทำอันตรายได้ลักษณะคล้ายกับพิษงูทะเล เช่น เงี่ยงของปลาบางชนิด กลุ่ม Coelenterates กลุ่มเม่นทะเล และกลุ่มหอยเต้าปูน เป็นต้น แต่หากถูกงูทะเลกัดผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ถูกกัด

วิธีที่ดีที่สุดที่จะวินิจฉัยว่าผู้เคราะห์ร้ายถูกงูทะเลกัดได้แน่นอนก็คือ ผู้ใกล้ชิดหรือผู้เคราะห์ร้ายต้องฆ่างูตัวนั้นหรือนำซากงูตัวนั้นไปที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อจะสามารถจำแนกชนิดของงูก่อนการรักษาที่ถูกต้อง สำหรับก่อนการรักษาควรมีการปฐมพยาบาลผู้เคราะห์ร้ายดังนี้

  1. ทำความสะอาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
  2. อย่าตื่นตกใจเกินไปและควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยที่ใกล้ทีสุดโดยเอาซากงูที่กัดไปด้วย เพื่อความถูกต้องในการรักษา
  3. ไม่ควรนำเอาใบไม้ รากไม้ หรือสมุนไพรต่างๆ ใส่แผล เพราะจำทำให้แผลสกปรก เกิดการติดเชื้อและอาจเป็นบาดทะยักได้
  4. ตำแหน่งขาหรือแขนที่ถูกกัดควรให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด โดยใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ รองหรือดามไว้
  5. หากต้องมีการขันชะเนาะต้องใช้ผ้า โดยรัดเหนือตำแหน่งที่ถูกกัด รัดแน่นปานกลางพอที่จะใช้นิ้วมือ 1 นิ้วสอดระหว่างผ้ากับผิวหนังที่รัดได้ เพื่อบังคับให้จุดที่งูกัดเคลื่อนไวน้อยที่สุด (ห้ามใช้เชือกหรือยางรัดเด็ดขาด)
  6. ห้ามดื่มของมึนเมา เนื่องจากอาจเกิดการสำลักและอาเจียนหรือบดบังอาการที่แท้จริงที่เกิดจากพิษงูได้

ประโยชน์ของงูทะเล[แก้]

งูทะเล เป็นสัตว์ที่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่นการปรุงสด ๆ อย่างต้มหรือผัด หรือนำไปดองกับเหล้า หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ อย่าง ลูกชิ้น [5] โดยเชื่อว่ามีคุณสมบัติ​แก้ปวดหลัง แก้นอนไม่หลับและแก้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ ในประเทศญี่ปุ่นมีการนำไปรมควันหรือทำเป็นซุป[6][7] อีกทั้งหนังงูทะเลก็ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ในน่านน้ำไทยมีจับงูทะเลได้มากกว่า 80 ตันในแต่ละปี ในจำนวนนี้จะมี 7 ชนิดที่ถูกจับบ่อย และชนิดที่จับได้บ่อยที่สุดคือ งูแสมรังเหลืองลายคราม (Hydrophis cyanocinctus) และงูอ้ายงั่ว (Hydrophis hardwickii หรือเดิมใช้ชื่อว่า Lapemis hardwickii[8])

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Multi-celled animals (Metazoa)
  2. สัณฐานวิทยา ชีววิทยาการสืบพันธุ์ และนิเวศวิทยาของงูผ้าขี้ริ้ว Acrochordus granulatus ในอ่าวพังงา ประเทศไทย
  3. ไพบูลย์ จินตกุล. 2543. งูพิษในประเทศไทย. บริษัท มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ. หน้า 122-128
  4. บุญเยือน ทุมวิภาต. 2525. การรักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัด. ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ. หน้า 24, 93-94.
  5. "เปิบไม่พิศดาร ลูกชิ้นงู งูอัด". โอเคเนชั่น. 25 March 2007. สืบค้นเมื่อ 23 December 2014.
  6. "Kudaka Island". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-08. สืบค้นเมื่อ 2014-12-23.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-18. สืบค้นเมื่อ 2014-12-23.
  8. "จับงูทะเล ในอ่าวไทย (งูแสมรังเหลืองลายคราม และ งูอ้ายงั่ว)". itis.gov. 6 December 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 23 December 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]