การให้เหตุผลเป็นวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การให้เหตุผลเป็นวง

การให้เหตุผลเป็นวง (อังกฤษ: circular reasoning, circular logic ละติน: circulus in probando แปลว่า วงกลมในการพิสูจน์[1]) เป็นการให้เหตุผลที่สมมุติว่าข้อสรุปที่ต้องการจะพิสูจน์เป็นจริง ดังนั้น แทนที่จะให้หลักฐาน กลับกล่าวข้อสรุปซ้ำเหมือนกับเป็นข้อตั้ง จึงเป็นเหตุผลวิบัติทางตรรกะ[2] แม้จะไม่ใช่เหตุผลวิบัติแบบรูปนัย แต่ก็เป็นการให้เหตุผลอย่างบกพร่องที่ข้อตั้งควรจะได้ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานเท่าๆ กับข้อสรุป ผลลัพธ์ก็คือการให้เหตุผลนี้จะไม่น่าเชื่อถือ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ควรจะยอมรับข้อตั้งยกเว้นถ้าเชื่อข้อสรุปอยู่แล้วว่าเป็นจริง หรือกล่าวได้ด้วยว่า ข้อตั้งไม่ได้ให้หลักฐานที่เป็นอิสระจากข้อสรุป[3] การให้เหตุผลเป็นวงจะสัมพันธ์กับการทวนคำถาม (begging the question) โดยในปัจจุบันทั่วๆ ไป ทั้งสองจะหมายถึงปัญหาชนิดเดียวกัน[4]

การให้เหตุผลเป็นวงมักจะมีรูปแบบเช่นนี้ "ก เป็นจริงเพราะ ข เป็นจริง และ ข เป็นจริงก็เพราะ ก เป็นจริง" วงที่ว่านี้บางครั้งเห็นได้ยากถ้ามีประพจน์หลายพจน์ต่อๆ กันเป็นลูกโซ่ ตัวอย่างรวมทั้ง[2]

  • ได้เวลาไปนอนแล้ว เพราะนี่เป็นเวลานอนของเธอ
  • คนที่เชื่อถือไม่ได้เท่านั้นจึงจะลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ข้อพิสูจน์ก็คือนักการเมืองเป็นคนเชื่อถืออะไรไม่ได้
  • พระเป็นเจ้าจะต้องมีเพราะกล่าวไว้อย่างนั้นในไบเบิล ไบเบิลเชื่อถือได้ก็เพราะเป็นคำของพระเป็นเจ้า
  • เศรษฐกิจกำลังถดถอยเพราะประชาชนกำลังย้ายออกจากถิ่นฐานของตน อุตสาหกรรมการก่อสร้างจึงแย่มากเพราะไม่สร้างบ้านใหม่ๆ ประชาชนกำลังออกจากถิ่นฐานของตนก็เพราะเศรษฐกิจแย่ ประชาชนไม่สามารถหางานทำได้เพราะเศรษฐกิจไม่ดี

ประวัติ[แก้]

นักปรัชญาตะวันตกได้รู้จักปัญหาการให้เหตุผลเป็นวง อย่างช้าก็ตั้งแต่สมัยของนักปรัชญากรีกโบราณอะกริปปา โดยเป็นโหมดที่รวมอยู่ในโหมดของอะกริปปา 5 อย่าง (Five Tropes of Agrippa) นักปรัชญากรีกโบราณเซ็กซ์ทัส เอ็มพิริคัส เรียกปัญหาการให้เหตุผลเป็นวงว่า reciprocal trope คือ

reciprocal trope จะเกิดเมื่อสิ่งที่ควรจะเป็นตัวยืนยันของสิ่งที่กำลังตรวจสอบ กลับต้องทำให้น่าเชื่อถือด้วยสิ่งที่กำลังตรวจสอบ ดังนั้น เพราะไม่สามารถใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในสองอย่างเพื่อยืนยันอีกสิ่งหนึ่ง เราจึงต้องระงับการตัดสินใจในสิ่งทั้งสอง[5]

ปัญหาการอุปนัย[แก้]

นักปรัชญาชาวอเมริกันได้ให้ข้อสังเกตว่า "การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อตัดสินวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นการใช้เหตุผลเป็นวง" ปกตินักวิทยาศาสตร์จะพยายามค้นหากฎธรรมชาติ แล้วพยากรณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยอาศัยกฎธรรมชาตินั้น กฎธรรมชาติจะได้มาด้วยการให้เหตุผลแบบอุปนัย นักปรัชญาชาวอังกฤษเดวิด ฮูมได้แสดงแล้วว่า จะต้องสมมุติว่ามีภาวะเอกรูปแห่งธรรมชาติ (uniformity of nature) เพื่อให้เหตุผลแก่ข้อสมมุติที่มีโดยปริยายว่า ทำไมกฎธรรมชาติที่เป็นจริงในอดีต ก็จะเป็นจริงในอนาคตด้วย แต่ภาวะเอกรูปแห่งธรรมชาติโดยตนเองก็เป็นหลักที่ได้มาจากการอุปนัย ดังนั้น การให้เหตุผลเกี่ยวกับการอุปนัยด้วยหลักการทางอุปนัย จึงเป็นวงโดยธรรมชาติ

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1.  Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Circulus in Probando" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 6 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 389.
  2. 2.0 2.1 Nikolopoulou, Kassiani (2023-05-01). "Definition & Examples". Scribbr. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-04. สืบค้นเมื่อ 2023-11-29.
  3. Nolt, John Eric; Rohatyn, Dennis; Varzi, Achille (1998). Schaum's outline of theory and problems of logic. McGraw-Hill Professional. p. 205. ISBN 9780070466494.
  4. Walton, Douglas (2008). Informal Logic: A Pragmatic Approach. Cambridge University Press. ISBN 9780521886178.
  5. Sextus Empiricus, Pyrrhōneioi hypotypōseis i., from Annas, J., Outlines of Scepticism Cambridge University Press. (2000).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]