การใช้เหตุผลโดยเข้าข้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การใช้เหตุผลโดยเข้าข้าง หรือ การหาเหตุผลโดยเข้าข้าง (อังกฤษ: rationalization) เป็นกลไกป้องกันตนโดยให้เหตุผลสำหรับพฤติกรรมที่เกิดจากแรงผลักดันทางสัญชาตญาณในจิตไร้สำนึก[1] เป็นการพยายามหาเหตุผลสำหรับพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นของตน[2] เป็นวิธีการป้องกันตนไม่ให้รู้สึกผิด รักษาความเคารพตน และไม่ให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์

การหาเหตุผลโดยเข้าข้างมีสองขั้นตอน คือ

  1. ตัดสินหรือทำอะไรเพราะเหตุผลอย่างหนึ่ง หรือโดยไม่มีเหตุผล (ที่รู้) เลย
  2. หาเหตุผลโดยเข้าข้าง คือให้เหตุผลที่ดูดีหรือสมเหตุสมผล เพื่อพยายามพิสูจน์ว่าถูกต้องหลังจากได้ทำไปแล้ว (ไม่ว่าจะสำหรับตนเองหรือผู้อื่น)

นิยามของ DSM[แก้]

ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตรุ่น 4 (DSM-IV) การใช้เหตุผลเข้าข้างตนจะเกิด "เมื่อบุคคลรับมือกับความขัดแย้งกันทางอารมณ์ หรือกับสิ่งที่ก่อความเครียดไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก โดยปิดบังแรงจูงใจที่แท้จริงซึ่งก่อความคิด การกระทำ หรือความรู้สึก ด้วยคำอธิบายที่ทำให้สบายใจหรือเข้าข้างตนเองแต่ไม่ถูกต้อง"[3]

ตัวอย่าง[แก้]

บุคคล[แก้]

การให้เหตุผลเข้าข้างตนอย่างโต้งๆ โดยโทษคนอื่น อาจจะอยู่ในรูปแบบการโจมตีบุคคลแทนที่จะระบุเหตุผลที่สมควร บางอย่างอยู่ในรูปแบบการเปรียบเทียบ เพื่อจะลดการถูกมองว่าเลวร้าย เพื่อให้เหตุผลแก่การกระทำ หรือเพื่อจะปฏิเสธความผิด เช่น

  • "อย่างน้อย [สิ่งที่เกิด] ก็ไม่แย่เท่า [สิ่งที่แย่กว่า]"
  • เมื่อใช้แก้คำถูกกล่าวหา - "อย่างน้อยก็ไม่ได้ทำ [สิ่งที่แย่กว่า]"
  • ในรูปแบบของทวิบถเท็จ - "ยังไงการทำ [สิ่งที่ไม่น่าทำ] ก็ยังดีกว่า [การกระทำที่แย่กว่า]"
  • เมื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ไม่ยุติธรรมหรือไม่ดีของคนอื่นหรือกลุ่มอื่นๆ - "ผมน่าจะได้ทำอะไรผิดถ้าพวกเขาทำกับผมแบบนี้"

หลักฐานที่เป็นเรื่องเล่าและการสำรวจอาจแสดงว่า ในสาขาแพทยศาสตร์ มีการให้เหตุผลเข้าข้างตัวเองเพื่อปิดบังการกระทำที่ผิดพลาดมากกว่าสาขาอื่นๆ[4] ข้อแก้ตัวที่สามัญคือ

  • "จะเปิดเผยเรื่องที่ผิดพลาดไปทำไม เดี๋ยวคนไข้ก็จะตายอยู่ดี"
  • "การบอกสิ่งที่ทำผิดพลาดแก่ครอบครัวจะทำให้พวกเขารู้สึกแย่กว่านี้"
  • "มันเป็นความผิดของคนไข้ ถ้าเขาไม่ได้ (ป่วยเป็นต้น) ถึงขนาดนี้ เรื่องที่ผิดพลาดก็จะไม่เป็นปัญหาถึงขนาดนี้"
  • "โอ้ย เราทำดีที่สุดแล้ว เรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้"
  • "ถ้าเราไม่แน่ใจ 100% ว่า สิ่งที่ทำผิดพลาดก่อปัญหา เราก็ไม่จำเป็นต้องบอก"
  • "คนไข้ตายไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทษใคร"

การให้เหตุผลเข้าข้างตัวเองซึ่งใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับพฤติกรรมผิดปกติ พบว่ามีส่วนทำให้พฤติกรรมผิดปกติเกิดขึ้นและคงยืน[5]

กลุ่ม[แก้]

  • การให้เหตุผลเข้าข้างพวกตัวเอง ได้ใช้ในการรุกรานทำสงครามเป็นประจำ[6] โดยยกย่องพวกตัวเองแล้วทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้าย เช่น "ทหารฝ่ายเราจะดูแลคนจน ทหารฝ่ายศัตรูจะข่มขืนพวกเขา"[7]

ข้อคัดค้าน[แก้]

นักวิทยาศาสตร์บางท่านวิจารณ์แนวคิดว่า สมองได้วิวัฒนาการขึ้นเพื่อให้เหตุผลแก่การตัดสินใจที่ไม่สมเหตุผล โดยอ้างว่ากระบวนการวิวัฒนาการย่อมคัดเลือกไม่ให้ใช้พลังงานเพิ่มสำหรับกระบวนการทางจิตใจที่ไม่ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น เช่น การให้เหตุผลแก่การตัดสินใจที่อย่างไรก็จะเกิดอยู่ดี และอ้างว่าการให้เหตุผลเข้าข้างตนทำให้เรียนรู้ได้น้อยลงจากการกระทำที่ผิดพลาด ไม่ใช่มากขึ้น[8]

ความไม่ลงรอยกันทางประชาน[แก้]

ในปี 1957 นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ชี้ว่า เมื่อคนมีความคิดต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกัน ก็จะรู้สึกไม่สบายใจ[9] การให้เหตุผลเข้าข้างตนสามารถลดความไม่สบายใจ โดยให้คำอธิบายเพื่อกำจัดความไม่ลงรอยกัน เช่น เมื่อคนกลับมาสูบบุหรี่ใหม่หลังจากที่ได้เลิก โดยชี้ว่าหลักฐานว่ามันเป็นอันตรายหนักแน่นน้อยกว่าที่เคยคิด[10]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "Rationalization". American Psychological Association.
  2. "Rationalization".
  3. DSM-IV-TR : diagnostic and statistical manual of mental disorders (4TH ed.). United States: AMERICAN PSYCHIATRIC PRESS INC (DC). 2000. p. 812. doi:10.1176/appi.books.9780890420249.dsm-iv-tr. ISBN 978-0-89042-025-6. when the individual deals with emotional conflict or internal or external stressors by concealing the true motivations for their own thoughts, actions, or feelings through the elaboration of reassuring or self serving but incorrect explanations
  4. Banja, John (2004). Medical Errors and Medical Narcissism. Sudbury: Jones and Bartlett. ISBN 0-7637-8361-7.
  5. Kaptein, Muel; van Helvoort, Martien (2019-10-03). "A Model of Neutralization Techniques". Deviant Behavior. 40 (10): 1260–1285. doi:10.1080/01639625.2018.1491696. ISSN 0163-9625.
  6. Smith & Mackie 2007, p. 513.
  7. Perls, Frederick S. (1971). Gestalt Therapy Verbatim. Bantam Books. p. 9. ISBN 978-0-553-20778-1.
  8. Pfeifer, Rolf; Bongard, Josh (2006). How the Body Shapes the Way We Think. Cambridge, Massachusetts London: MIT Press. ISBN 978-0-262-53742-1.
  9. Smith & Mackie 2007, pp. 277–8.
  10. Smith & Mackie 2007, pp. 280–4.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]