การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ[1] (อังกฤษ: child grooming) เป็นการสร้างความเป็นมิตรและความรู้สึกดี ๆ กับเด็ก และบางครั้งกับครอบครัวของเด็ก เพื่อลดความระมัดระวังโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะทารุณเด็กทางเพศ[2] เป็นวิธีการหลอกล่อเด็กเพื่อที่จะขายเด็ก หรือชักนำเด็กให้เข้าสู่วงจรธุรกิจการค้าประเวณี หรือเพื่อผลิตสื่อลามกอนาจาร[3][4][5]

อาชญากรรมเยี่ยงนี้มีการกล่าวถึงโดยหลายนัยหลายแบบ เริ่มตั้งแต่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามการค้าผู้หญิงและเด็ก (International Convention for the Suppression of the Traffic in Women and Children) ในปี 2464 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีของสันนิบาตชาติที่พยายามแก้ปัญหาระหว่างประเทศในการค้าผู้หญิงและเด็กเพื่อการไม่ชอบ แต่ปัญหาในตอนนั้นเป็นแบบนานาชาติ ส่วนแนวคิดเรื่องแก๊งคนไม่ดีที่เสาะหาเหยื่อตระเตรียมเด็กในพื้นที่ เป็นเรื่องอัปเดตล่าสุดโดยศูนย์การฉวยประโยชน์จากเด็กและป้องกันเด็กออนไลน์ (Child Exploitation and Online Protection Centre) ที่เป็นหน่วยตำรวจของสหราชอาณาจักรในปี 2553[6]

สาระสำคัญ[แก้]

เจ้าหน้าที่อยู่ในวงล้อมของคอมพิวเตอร์ มือถือ และเครื่องเก็บข้อมูลดิจิตัล ที่ยึดมาจากบ้านของผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนใคร่เด็ก การล่อลวงเตรียมเด็กผ่านห้องแช็ตและเว็บแคม เป็นเรื่องที่เจ้าที่ตำรวจอังกฤษพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การเตรียมเด็กเป็นกิจกรรมทำเพื่อให้ได้ความไว้เนื้อเชื่อใจของเด็กและของผู้ที่มีหน้าที่ดูแล นอกจากนั้นแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจของครอบครัวอาจจะทำให้เมื่อเกิดปัญหา พ่อแม่ของเด็กมีโอกาสน้อยลงที่จะเชื่อการกล่าวหาของเด็ก[ต้องการอ้างอิง]

ในกระบวนการตระเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ บ่อยครั้งจะให้เด็กดูสื่อลามกอนาจาร เพื่อให้กิจกรรมทางเพศระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ดูเหมือนเรื่องปกติ[3][4][5] เพื่อจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กหรือกับครอบครัวเด็ก คนตระเตรียมเด็กอาจจะทำอะไรหลายอย่าง เช่น อาจจะให้ความสนใจผิดปกติกับเด็ก เพื่อจะเป็นเพื่อน "พิเศษ" ที่เด็กไว้เนื้อเชื่อใจ[7] อาจจะให้ของขวัญหรือเงินทองกับเด็กโดยไม่มีเหตุอะไร อาจจะแสดงสื่อลามกอนาจารต่อเด็ก จะเป็นภาพยนตร์หรือรูปภาพก็ดี เพื่อให้เด็กยอมรับกิจกรรมทางเพศได้ง่ายขึ้น คือทำให้พฤติกรรมเช่นนั้นดูเหมือนปกติ หรืออาจจะคุยประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเซ็กซ์ แต่เหล่านี้เป็นวิธีเพียงบางอย่างที่คนตระเตรียมเด็กอาจจะใช้เพื่อให้ได้ความเชื่อใจและความติดพัน และให้ตนสามารถทำตามความปรารถนาได้[ต้องการอ้างอิง] อาจกอดจูบหรือสัมผัสเด็กทางกายอื่น ๆ แม้เมื่อไม่ต้องการ หรืออาจจะคุยปัญหาที่ปกติจะปรึกษากับคนวัยเดียวกันหรือกับผู้ใหญ่ เช่นปัญหาการแต่งงานหรือความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ หรืออาจจะทำการให้พ่อแม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อที่จะให้เข้าถึงเด็กได้ง่าย ๆ คนเตรียมเด็กอาจจะหาโอกาสที่จะมีเวลาลำพังกับเด็ก ซึ่งอาจจะทำโดยรับเลี้ยง หรืออาจจะชวนให้มานอนที่บ้าน ซึ่งอาจจะให้โอกาสนอนในห้องเดียวกัน หรือแม้แต่บนเตียงเดียวกัน กับเด็ก

แต่กิจกรรมเช่นนี้บางอย่างเช่นการสื่อสารออนไลน์ อาจจะสู้คดีได้โดยบอกว่าเป็นเรื่องทำเล่น ๆ เพื่อจินตนาการ คืออ้างว่า เป็นเพียงแต่การแสดงออกตามจินตนาการแต่ไม่ได้มีแผนจะทำอะไรอื่นในอนาคต ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกระบวนการยุติธรรมที่ใช้การตัดสินในคดีก่อน ๆ เป็นบรรทัดฐาน จะแยกแยะกรณีสองกรณีนั้น และจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าตระเตรียมเด็ก ได้ใช้ข้ออ้างนี้สู้คดีสำเร็จมาก่อนแล้ว[8]

ทางอินเทอร์เน็ต[แก้]

การเตรียมเด็กเกิดขึ้นทางอินเทอร์เน็ตได้ด้วย ผู้ทำผิดบางคนจะแกล้งทำเป็นเด็กแล้วนัดพบกับเด็กตัวต่อตัว มีการโต้เถียงกันว่าบริการเว็บไซต์สังคมเช่นเฟซบุ๊ก ได้ทำการป้องกันเด็กเพียงพอหรือไม่ ผู้นำของหน่วยตำรวจป้องกันเด็กอังกฤษผู้หนึ่งกล่าวในเดือนเมษายน 2553 ว่า แผนกของเขาได้รับการร้องทุกข์ 292 คราว กล่าวหาผู้ใช้เฟซบุ๊กในปี 2552 แต่ว่า "ไม่มีการร้องทุกข์โดยตรงจากเฟซบุ๊ก" เลย แต่ว่าโฆษกของเฟซบุ๊กได้ไปพบแผนกตำรวจที่ว่าโดยตรง แล้วกล่าวอย่างแน่วแน่เด็ดเดี่ยวว่า "เราใส่ใจต่อประเด็นความปลอดภัยอย่างเป็นจริงเป็นจัง"[9]

ในปี 2546 เครือข่ายบริการเอ็มเอสเอ็น ได้เพิ่มข้อจำกัดในห้องแช็ต เพื่อป้องกันผู้ใหญ่ที่ต้องการจะคุยกับเด็กในเรื่องเพศ ส่วนในปี 2548 ห้องแช็ตของยาฮู!ถูกสอบสวนโดยสำนักอัยการของรัฐนิวยอร์ก เพราะอนุญาตให้ผู้ใช้สร้างห้องแช็ตที่มีชื่อบอกเป็นนัยว่า ห้องนั้นใช้เพื่อจุดประสงค์เช่นนั้น ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ยาฮู!จึงตกลงที่จะ "บังคับใช้นโยบายและระเบียบวิธีที่ออกแบบเพื่อให้แน่ใจ" ว่าจะไม่มีห้องแช็ตอย่างที่ว่า

มีองค์กรศาลเตี้ยที่มีผู้ปฏิบัติงานที่แกล้งทำเป็นเด็กวัยรุ่นบนอินเทอร์เน็ต เพื่อที่จะเสาะหาคนที่อาจเป็นผู้ประทุษร้ายเด็ก แล้วส่งข้อมูลของบุคคลเช่นนั้นไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและศาล มีรายการข่าวของบริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งชาติ (NBC) ที่ออกโปรแกรมประจำ (To Catch a Predator) ที่แสดงกิจกรรมเช่นนี้

มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายอย่างที่ช่วยสืบหาพฤติกรรมเตรียมเด็กแล้วแจ้งผู้ปกครอง โปรแกรมจะวิเคราะห์ปูมบันทึกกิจกรรมในห้องแช็ตและไอเอ็ม ที่อาจจะสามารถระบุการตระเตรียมเด็ก หรือพฤติกรรมที่น่าสงสัยอื่น ๆ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่บริการเครือข่ายสังคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศตะวันตก ได้เริ่มใช้[10]

เหยื่อ[แก้]

งานศึกษาปี 2554 ในประเทศอังกฤษแสดงว่า การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศทางอินเทอร์เน็ต แพร่หลายที่สุดในเด็กวัย 13-17 ปี (99%) โดยเฉพาะเด็กอายุ 13-14 ปี (48%) โดยส่วนใหญ่เป็นหญิง และส่วนใหญ่เกิดขึ้นทางโทรศัพท์มือถือ เด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาพฤติกรรม เช่น ต้องการความสนใจสูง จะมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าคนอื่น ๆ[11]

การเตรียมเด็กในพื้นที่[แก้]

สหราชอาณาจักร[แก้]

นี้เป็นนิยามของคำว่า "การเตรียมเด็กในพื้นที่" ตามที่ให้โดยหน่วยป้องกันเด็กของตำรวจแห่งสหราชอาณาจักร คือ[6]

"การเตรียมเด็กในพื้นที่ (localised grooming)" เป็นรูปแบบหนึ่งของการฉวยประโยชน์ทางเพศ โดยสื่อมวลชนเรียกว่า "การเตรียมเด็กในถนน (on street grooming)" ที่ผู้ทำผิดจะตระเตรียมเด็กแล้วฉวยประโยชน์ทางเพศ โดยที่ในเบื้องต้น (ผู้ทำผิดและเด็ก) ได้พบกันในสถานที่นอกบ้าน ซึ่งมักจะเป็นที่สาธารณะ เช่นในสวนสาธารณะ ในโรงหนัง ในถนน หรือว่าในบ้านของเพื่อน บ่อยครั้งผู้ทำผิดหลายคนจะทำงานร่วมกัน โดยสร้างความสัมพันธ์กับเด็กหรือกับเด็กหลายคนก่อนที่จะฉวยประโยชน์ทางเพศจากเด็ก เหยื่อของการตระเตรียมเด็กเช่นนี้อาจจะเชื่อว่าคนทำผิดเป็นแฟนที่มีอายุมากกว่า และเหยื่ออาจจะแนะนำให้กลุ่มผู้ทำผิดรู้จักกับเพื่อน ซึ่งอาจจะถูกฉวยประโยชน์ทางเพศในที่สุดเหมือนกัน การทำผิดอาจจะเกิดขึ้นในหลายที่หลายสถานในพื้นที่ และหลายครั้งหลายคราว หน่วย CEOP ใช้คำว่า "Localised grooming" ในการขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่บริการอื่น ๆ เพื่อกำหนดข้อมูลที่เราอยากจะได้[6]

แม้ว่าแนวคิดเรื่องการเตรียมเด็ก (แม้ว่าจะไม่ได้ใช้คำเช่นนี้) ในสหราชอาณาจักรจะมีตั้งแต่ในกฎหมายข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อปราบปรามการค้าทาสขาว (International Agreement for the suppression of the White Slave Traffic) ในปี พ.ศ. 2453 แต่ก็ยังไม่ได้บัญญัติคำนี้จนกระทั่งราวปี 2533 มีภาพยนตร์สารคดีถ่ายทอดทางทีวีในเดือนสิงหาคม 2546 ที่รายงานรายละเอียดของการสืบสวนของตำรวจและหน่วยบริการทางสังคมอื่น ๆ เรื่องเยาวชนเอเชียมุสลิมชาย ผู้ได้ตั้งเป้าหาเหยื่อที่มีอายุต่ำกว่าอายุที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้เพื่อเซ็กซ์ เพื่อขายยา และเพื่อให้ค้าประเวณี[12] ในคดีตระเตรียมเด็กในปี 2553 (Rotherham child sexual exploitation scandal) มีชายมุสลิมเชื้อสายชาวปากีสถาน 5 คนที่ถูกตัดสินจำคุกฐานทารุณเด็กทางเพศผ่านการตระเตรียมเด็กในถนน โดยเด็กเหยื่อมีอายุน้อยที่สุด 12 ขวบ ส่วนในปี 2555 แก๊งค้าเด็ก 10 คน เป็นชายเชื้อสายชาวปากีสถานโดยมาก ถูกตัดสินจำคุกฐานทารุณเด็กทางเพศแบบต่าง ๆ โดยเจ้าหน้าที่นับเด็กที่เป็นเหยื่อได้ถึง 47 คน และมีรายงานว่าแก๊งได้ชักชวนเด็กที่มีอายุน้อยที่สุด 13 ปี

ตามรายงานของบีบีซี เด็กหญิงคนซิกข์เป็นเป้าหมายโดยเฉพาะของชายมุสลิม ที่แกล้งทำเป็นคนซิกข์เพื่อเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ[13]

ฝรั่งเศส[แก้]

ในคดีปี 2557 มีรายงานว่ามีเด็กอายุ 15 ปีที่ถูกล่อโดยเยาวชนชายอายุ 18 (ซึ่งเป็นแฟนเธอในขณะนั้น) ให้เข้าไปในใต้ถุนของห้องชุดโดยการแบล็กเมล์ แล้ว "แฟน" ของเธอและเพื่อนอีก 6 คน (อายุระหว่าง 15-17 ปี) ได้รุมข่มขืนเธอ ซึ่งเป็นคดีที่แสดงรูปแบบของการเตรียมเด็กในพื้นที่[14]

ความผิดทางกฎหมายอาญา[แก้]

ในยุโรป[แก้]

ในรายงานของสภายุโรป การป้องกันเด็กจากทารุณกรรมผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ (Protection of Children Against Abuse Through New Technologies) คณะทำงานได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาที่เริ่มเติบโตขึ้นเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยกล่าวถึงการตระเตรียมเด็กผ่านทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะ เพราะประเด็นปัญหาสื่อลามกอนาจารเด็กทางอินเทอร์เน็ตได้มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว[15] ประเทศบางประเทศได้ทำการตระเตรียมเด็กให้เป็นอาชญากรรมอยู่แล้ว แต่ว่าการวิเคราะห์กฎหมายเช่นนี้บอกเป็นนัยว่า อาจจะซ้ำกับกฎหมายหรือวิธีการปฏิบัติที่มีอยู่ก่อนแล้ว[16]

ออสเตรเลีย[แก้]

กฎหมายอาญาของออสเตรเลีย (Criminal Code Act 1995) ห้ามการใช้บริการโทรคมนาคม ในการสื่อสารเพื่อจะจัดหาบุคคลอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือให้บุคคลเช่นนั้นรับข้อมูลอนาจารโดยมีจุดประสงค์ที่จะตระเตรียมเพื่อทารุณกรรม ส่วนรัฐและอาณาเขตต่าง ๆ ของประเทศมีกฎหมายคล้าย ๆ กัน แต่อาจจะกำหนดอายุแตกต่างกัน (เช่น รัฐควีนส์แลนด์ตั้งแต่อายุ 18 )

แคนาดา[แก้]

ในแคนาดา กฎหมายอาญา ได้ทำการสื่อสารกับเด็กผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะทำผิดทางเพศ (โดยเรียกว่า ล่อเด็ก) ให้ผิดกฎหมาย

คอสตาริกา[แก้]

ในคอสตาริกาตั้งแต่ปี 2556 กฎหมายอาญาได้ทำการล่อลวงเด็กทางเพศโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผิดกฎหมาย โดยกำหนดโทษ 1-3 ปีสำหรับบุคคลที่พยายามเริ่มการสื่อสารเพื่อให้เกิดกามอารมณ์ หรือการสื่อสารทางเพศ กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

เนเธอร์แลนด์[แก้]

กฎหมายอาญาปี 2553 ของเนเธอร์แลนด์ทำการตระเตรียมเด็กออนไลน์เพื่อทารุณกรรมทางเพศให้ผิดกฎหมาย โทษสูงสุดคือจำคุก 2 ปี หรือปรับ[17]

สหราชอาณาจักร[แก้]

ในประเทศอังกฤษและเวลส์ กฎหมายอาชญากรรมทางเพศปี 2546 ทำให้การนัดพบเด็ก จะเป็นเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อทารุณเด็กทางเพศ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แม้การไปเจอเด็กก็ผิดกฎหมายเช่นกัน[18] ประเทศสกอตแลนด์ต่อมาออกกฎหมายคล้าย ๆ กันต่อมาในปี 2548[19]

ดังนั้น การกระทำบางอย่าง อาจจะจัดว่าเป็นอาชญากรรมโดยที่ไม่ได้เจอเด็กและอาจจะไม่มีเด็กร่วมด้วยด้วยซ้ำ (เช่น ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจัดการและแกล้งแสดงเป็นเด็กนั้น) เช่นในคดีหนึ่งปี 2548 (EWCA Crim 2681) จำเลยเป็นชายอายุ 43 ปีที่ได้แกล้งทำเป็นเด็กแล้วผูกมิตรกับเด็กหญิงอายุ 9 ขวบ แต่แทบไม่ได้ทำอะไรกับเธอเลย ก่อนที่เธอจะสงสัยแล้วแจ้งเรื่องต่อผู้ใหญ่ ชายคนนั้นเคยถูกตัดสินว่าผิดในคดีต่าง ๆ (รวมทั้งคดีข่มขืน) โดยมีคนเรียกเขาว่า "คนใคร่เด็กนักล่าแบบไม่ปรานี" ต่อมาศาลอุทธรณ์ให้การตัดสินลงโทษของศาลชั้นต้นคงยืน ซึ่งสั่งให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 8 ปี โดยสามารถต่อได้อีก 2 ปี ซึ่งเป็นโทษค่อนข้างนานสำหรับเรื่องนั้น

สหรัฐอเมริกา[แก้]

ในสหรัฐอเมริกา สำหรับกิจกรรมทางเพศทุกอย่างกับเด็กที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แม้การใช้ไปรษณีย์หรือการค้าขายระหว่างรัฐเป็นต้น ในการชักชวนเด็กเพื่อทำกิจกรรมเหล่านั้น ก็เป็นเรื่องผิดกฎหมายด้วย (18 U.S.C. § 2422) นอกจากนั้นการส่งข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอายุต่ำกว่า 16 โดยมีจุดประสงค์เช่นนั้นก็ผิดกฎหมายด้วยเหมือนกัน (18 U.S.C. § 2425) และรัฐบางรัฐก็ยังมีกฎหมายอาญาเพิ่มเกี่ยวกับการล่อลวงเด็กทางเพศออนไลน์ เช่นในรัฐฟลอริดา[20]

กฎหมายรัฐบาลกลางที่เพ่งความสนใจในเรื่อง "การเตรียมเด็ก" บังคับใช้เป็นครั้งแรกในปี 2552 ซึ่งผู้ทำผิดถูกตัดสินจำคุก 20 ปี บวกกับโทษเผยแพร่และการมีเป็นเจ้าของสื่อลามกอนาจารเด็กอีก 20 ปี รวมกันทั้งหมด 40 ปี[21]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "groom", Merriam-Webster Collegiate Dictionary (11 ed.), Springfield, Massachusetts, USA: Merriam-Webster, Inc., 2003, to get into readiness for a specific objective
  2. "Child Sexual Abuse and the "Grooming" Process". pandys.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-18. สืบค้นเมื่อ 2016-03-11.
  3. 3.0 3.1 Crosson-Tower, Cynthia (2005). UNDERSTANDING CHILD ABUSE AND NEGLECT. Allyn & Bacon. p. 208. ISBN 0-205-40183-X.
  4. 4.0 4.1 Levesque, Roger J. R. (1999). Sexual Abuse of Children: A Human Rights Perspective. Indiana University. p. 64. ISBN 0-253-33471-3.
  5. 5.0 5.1 Wortley, Richard; Smallbone, Stephen. "Child Pornography on the Internet". Problem-Oriented Guides for Police. No. 41: 14–16.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 6.2 "EXECUTIVE SUMMARY CEOP thematic assessment" (PDF). ceop.police.uk. 2011-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2016-03-11. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  7. Tanner, Jim; Brake, Stephen. "Exploring Sex Offender Grooming" (PDF). www.kbsolutions.com.
  8. "Online child grooming" (PDF). Aic.gov.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-01-26. สืบค้นเมื่อ 2013-10-22.
  9. Edwards, Richard (2010-04-09). "Complaints about grooming and bullying on Facebook quadruple". The Daily Telegraph. London.
  10. "Technology | The 'anti-child grooming' website". BBC News. 2007-07-03. สืบค้นเมื่อ 2013-10-22.
  11. Munro, Emily R. (2011-08). "The protection of children online: a brief scoping review to identify vulnerable groups" (PDF). Childhood Wellbeing Research Centre. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-26. สืบค้นเมื่อ 2013-10-22. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  12. Channel 4 News. "channel4.com: "Asian rape allegations" 27 Aug 2003". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-20. สืบค้นเมื่อ 2016-03-11.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  13. "British Sikh girls exposed to sexual grooming". BBC News.
  14. "20minutes.fr: "Sept adolescents mis en examen pour le viol collectif d'une mineure" 10 Mar 2014". 20minutes.fr.
  15. "Council of Europe - ETS No. 185 - Convention on Cybercrime". Conventions.coe.int. สืบค้นเมื่อ 2013-10-22.
  16. Staksrud, E. (2013). "Online grooming legislation : Knee-jerk regulation?". European Journal of Communication. 28 (2): 152. doi:10.1177/0267323112471304.
  17. "Wetboek van Strafrecht Artikel 248e". Overheid.nl (ภาษาดัตช์). Rijksoverheid. สืบค้นเมื่อ 2013-10-09.
  18. "Legislation.gov.uk". Legislation.hmso.gov.uk. 2013-10-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-05-08. สืบค้นเมื่อ 2013-10-22.
  19. "Protection of Children and Prevention of Sexual Offences (Scotland) Act 2005". Opsi.gov.uk. 2011-05-26. สืบค้นเมื่อ 2013-10-22.
  20. "Statutes & Constitution :View Statutes : Online Sunshine". Leg.state.fl.us. สืบค้นเมื่อ 2012-08-05.
  21. Groos, Caleb (2009-07-16). "First 'Grooming' Child Porn Sentence: 40 Years - Sentencing - FindLaw Blotter". Blogs.findlaw.com. สืบค้นเมื่อ 2012-08-05.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]