การสื่อสารในภาวะฉุกเฉินของวิทยุสมัครเล่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องรับส่งสัญญาณวิทยุย่าน HF สำหรับสื่อสารด้วยเสียงในเคสที่มีความแข็งแรงทนทาน

การสื่อสารในภาวะฉุกเฉินของวิทยุสมัครเล่น (อังกฤษ: Amateur radio emergency communications) เป็นการสื่อสารในช่วงเวลาวิกฤตและภัยธรรมชาติ วิทยุสมัครเล่นมักถูกใช้เป็นวิธีในการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน ในกรณีที่โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และวิธีการสื่อสารทั่วไปอื่น ๆ ประสบความล้มเหลว

วิทยุสมัครเล่นนั้นเป็นกิจการที่ไม่ได้พึ่งพาระบบเชิงพาณิชย์ จึงไม่จำเป็นจะต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกภาคพื้นดินที่อาจจะเกิดความเสียหายหรือล้มเหลวจากผู้ให้บริการหรือภัยพิบัติ สามารถตั้งกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ได้โดยไม่มีจุดอับซึ่งการสื่อสารอื่นไม่คล่องตัวเท่า เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ เซลล์ไซต์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นจะไม่สามารถรองรับบริมาณการถ่ายโอนของข้อมูลที่มากเกินไปเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง

นักวิทยุสมัครเล่นที่มีประสบการณ์มักจะปรับแต่งสายอากาศและแหล่งพลังงาน และอุปกรณ์ที่ใช้งานส่วนใหญ่สามารถปรับมาใช้พลังงานจากแบตเตอรี่รถยนต์ได้ และมักจากมีการจัดการแข่งขัน "ฟีลด์เดย์" ประจำปีขึ้นมาในหลาย ๆ ประเทศ เพื่อใช้ในการฝึกฝนทักษะการโต้ตอบในสถานการณ์ฉุกเฉิน นักวิทยุสมัครเล่นอาจใช้ความถี่ได้หลายร้อยความถี่และสร้างเครือข่ายการสื่อสารระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ โยงเข้าด้วยกันอย่างรวดเร็วเพื่อการประสานงานในภาวะฉุกเฉินร่วมกัน

ตัวอย่างล่าสุด ได้แก่ การวินาศกรรม 11 กันยายนที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในแมนแฮตตันในปี พ.ศ. 2544 เหตุการณ์ไฟป่าในอเมริกาเหนือในปี พ.ศ. 2546 และพายุเฮอริเคนแคทรีนาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ซึ่งวิทยุสมัครเล่นถูกนำมาใช้เพื่อประสานงานในการประสานงานเพื่อบรรเทาภัยพิบัติเมื่อระบบสื่อสารอื่นล้มเหลว ในปี พ.ศ. 2560 กาชาดได้ร้องขอให้ส่งนักวิทยุสมัครเล่นจำนวน 50 รายไปยังปวยร์โตรีโกเพื่อให้บริการด้านการสื่อสารหลังการพัดถล่มของพายุเฮอริเคนมารีอา[1]

เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2547 วิทยุสมัครเล่นถูกใช้เพื่อรายงานข้อมูลสดไปยังนักพยากรณ์อากาศเกี่ยวกับพายุเฮอริเคนฟรานเซสจากบาฮามาส เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 แผ่นดินไหวและสึนามิในมหาสมุทรอินเดียได้ทำลายการสื่อสารทั้งหมดของหมู่เกาะอันดามัน ยกเว้นการออกอากาศทางไกลด้วยวิทยุสมัครเล่น (DX-pedition) จากในพื้นที่ซึ่งเป็นช่องทางเดียวในการสื่อสารนำความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าไป[2] และในประเทศไทยวิทยุสมัครเล่นก็มีส่วนสำคัญในการติดต่อสื่อสารและประสานงานเพื่อบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่หลังเกิดเหตุ[3]

ในประเทศจีน นักวิทยุสมัครเล่นได้ให้บริการการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนเมื่อปี พ.ศ. 2551[4] และกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นของสหรัฐก็ทำงานในรูปแบบคล้ายคลึงกันหลังการพัดถล่มของพายุเฮอริเคนไอค์[5] นักวิทยุสมัครเล่นได้ร่วมประสานงานสื่อสารภายหลังเหตุระเบิดในบอสตันมาราธอน พ.ศ. 2556 เนื่องจากระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการใช้งานเกินขีดจำกัดจนใช้การไม่ได้[6]

การตอบสนองต่อภัยพิบัติครั้งที่ใหญ่ที่สุดของนักวิทยุสมัครเล่นสหรัฐคือระหว่างพายุเฮอริเคนแคทรีนา ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินถล่มครั้งแรกในขณะที่พายุอยู่ในระดับ 1 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2548 และพายุได้ทวีกำลังขึ้นเป็นระดับ 5 ในท้ายที่สุด มีนักวิทยุสมัครเล่นมากกว่าพันคนทั่วสหรัฐมารวมตัวกันบริเวณชายฝั่งของอ่าวเพื่อให้การสนับสนุนการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน และจากการสอบสวนเหตุการณ์ของรัฐสภาสหรัฐครั้งต่อมาก็ได้เน้นย้ำว่าการตอบสนองของวิทยุสมัครเล่นนั้นเป็นอีกหนึ่งในไม่กี่ตัวอย่างของการกระทำที่ถูกต้องในการบรรเทาภัยพิบัติ[7]

องค์กร[แก้]

แม้ว่านักวิทยุสมัครเล่นทุกคนจะมีความสามารถในการสื่อสารภาวะฉุกเฉินได้ แต่ผู้ที่สนใจเป็นพิเศษในด้านการบริการสาธารณะเป็นงานอดิเรกมักจะเข้าร่วมกับกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อฝึกอบรมเฉพาะด้านเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ การระดมพลรวมตัวอย่างรวดเร็ว และทักษะที่จำเป็นอื่น ๆ ในกรณีฉุกเฉิน องค์กรเหล่านี้มีทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ประกอบไปด้วย

สถานีวิทยุสมัครเล่นพลังงานแสงอาทิตย์ภายในเต็นท์ โดยสังเกตเห็นสายอากาศดาวเทียมแบบ VHF/UHF และสายอากาศย่าน HF บริเวณด้านหลัง

ระหว่างประเทศ[แก้]

การประชุมการสื่อสารเหตุฉุกเฉินทางวิทยุสมัครเล่นระดับโลก (Global Amateur Radio Emergency Communications Conference: GAREC) จัดขึ้นโดยสหภาพวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ (IARU) ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการอภิปรายและการประสานงาน สำหรับการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางวิทยุสมัครเล่นขนาดใหญ่และข้ามพรมแดน

แคนาดา[แก้]

ในแคนาดา บริการฉุกเฉินทางวิทยุสมัครเล่น (Amateur Radio Emergency Service: ARES) ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมวิทยุสมัครเล่นแคนาดา (Radio Amateurs of Canada) หลายครั้งที่เครือข่ายอื่น ๆ ของนักวิทยุอาสาสมัครมักจะถูกนำมาใช้งานโดยหน่วยงานตอบสนองเหตุฉุกเฉินในท้องถิ่นร่วมกับนักวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่นั้น เช่นเดียวกันกับในสหรัฐ นักวิทยุสมัครเล่นแคนาดามีบันทึกความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานมากมายซึ่งคาดว่าจะได้ประสานงานร่วมกัน รวมไปถึงกาชาดแคนาดาและองค์กรซาลเวชันอาร์มี

โครเอเชีย[แก้]

ในโครเอเชีย SRVKS หรือ RCSS ย่อมาจาก Radio Communication Systems in Crisis Situation หรือระบบการสื่อสารทางวิทยุในสถานการณ์วิกฤต เป็นสมาคมอิสระที่รวบรวมพลเรือน โดยเฉพาะนักวิทยุสมัครเล่นที่มีใบอนุญาตรวมตัวขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายในการป้องกันและช่วยเหลือเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ

ชิลี[แก้]

ในชิลี Servicio de Emergencia de Radioaficionados (CE3SER) ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมวิทยุสมัครเล่นชิลี (CE3AA) และสมาคมที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (National Emergency Office: ONEMI) กองทัพอากาศ กองทัพบก และกองทัพเรือที่รับผิดชอบอาณาเขตทางทะเล

โดยมีการปฏิบัติงานทุกวันผ่านเครือข่ายเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (Red Chilena NorAustral de Servicios, RECNA) ในช่วงความถี่ HF และในระดับท้องถิ่นด้วยช่วงความถี่ VHF-UHF ครอบคลุมช่วงความยาวคลื่น 80, 40, 20, 15 เมตร และในเมืองหลักที่ใช้ VHF และ UHF โดยเปิดโอกาสให้นักวิทยุสมัครเล่นชาวชิลีทุกคนที่มีใบอนุญาต ไม่จำเป็นจะต้องสังกัด RCCH รวมถึงนักวิทยุสมัครเล่นชาติอื่น ๆ ด้วย

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและเหตุฉุกเฉินระดับชาติอื่น ๆ ทำให้ประธานาธิบดีของชิลีให้การยอมรับและได้รับการขอบคุณในการช่วยเหลือประเทศชาติ โดยหลายปีที่ผ่านมา สมาคมวิทยุสมัครเล่นชิลีได้ร่วมมือกับสมาคมประเทศอื่น ๆ รอบประเทศตน โดยเฉพาะนิการากัว จัดระเบียบการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินผ่านโครงข่ายวิทยุสมัครเล่น โดยต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ได้มีการเชื่อมโยงโครงข่ายดิจิทัลในช่อง TG 730911 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นใช้ระบบ DMR ดิจิทัลในการสื่อสาร

ตรินิแดดและโตเบโก[แก้]

ในตรินิแดดและโตเบโก สมาคมวิทยุสมัครเล่นตรินิแดดและโตเบโก (The Trinidad and Tobago Amateur Radio Society: T.T.A.R.S) ซึ่งเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการของประเทศ เป็นผู้ดูแลหน่วยงานสื่อสารของกลุ่มที่มีชื่อเรียกว่า EmComms ซึ่งในอดีต EmComms ไม่เพียงแต่มีบทบาทในการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ตรินิแดดและโตเบโกเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมพื้นที่ทั่วทะเลแคริเบียนอีกด้วย โดยสำนักงานจัดการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ (The Office of Disaster Preparedness Management: ODPM) ก็มีส่วนร่วมอย่างยิ่งในการส่งเสริมกิจการวิทยุสมัครเล่นของเครือข่ายและดูแลสถานีทวนสัญญาณจำนวนห้าแห่ง

ไทย[แก้]

ในไทย ก่อนหน้านี้นักวิทยุสมัครเล่นได้ปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกันกับสมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายของแต่ละจังหวัด และชมรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ไม่มีองค์กรระดับชาติเข้ามาดูแลอย่างชัดเจน โดยมีผลงานที่เห็นเด่นชัดในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547[3][8]

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ได้มีการจัดตั้ง "โครงข่ายการสื่อสารฉุกเฉินของนักวิทยุสมัครเล่น" (Amateur Radio Emergency Communication: HS-AREC) ขึ้นมา ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแล โดย สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (RAST) และ สำนักงาน กสทช. เพื่อสร้างเครือข่ายอาสาสมัครในการให้บริการด้านการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน[9][8]

นิวซีแลนด์[แก้]

ในนิวซีแลนด์ สมาคมวิทยุสมัครเล่นนิวซีแลนด์ (New Zealand Association of Radio Transmitters) ได้จัดให้มีโครงข่ายการสื่อสารฉุกเฉินทางวิทยุสมัครเล่น (AREC - Amateur Radio Emergency Communications) ในอดีดชื่อว่า Amateur Radio Emergency Corps ซึ่งพวกเขาได้รับรางวัลการค้นหาและกู้ภัยแห่งชาติของนิวซีแลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2544 จากความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานช่วยเหลือด้านการค้นหาและกู้ภัยมาอย่างยาวนานในนิวซีแลนด์

เนเธอร์แลนด์[แก้]

บริการเหตุฉุกเฉินทางวิทยุสมัครเล่นชาวดัตช์ (The Dutch Amateur Radio Emergency Service: DARES) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 อันเนื่องมาจากการประชุมวิทยุสมัครเล่นโลก พ.ศ. 2546 ซึ่งได้มีการลงมติว่านักวิทยุสมัครเล่นชาวดัตช์ที่ได้รับในอนุญาตสามารถให้บริการช่วยเหลือแก่บุคคลที่สามได้เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน DARES ได้รับการยอมรับจากกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้รับการสนับสนุนจาก 2 องค์กรวิทยุสมัครเล่นระดับชาติ คือ VERON - Vereniging voor Experimenteel Radio Onderzoek Nederland และ VRZA - Vereniging van Radio Zend Amateurs

DARES ประกอบด้วยกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นและผู้ฟังวิทยุคลื่นสั้นที่ให้บริการความรู้และอุปกรณ์ระหว่างเกิดภัยพิบัติหรืออุบัติการณ์ต่าง ๆ องค์กรนี้แบ่งเป็น 25 เขตความปลอดภัยที่กำหนดขึ้นโดยทางการเนเธอร์แลนด์

DARES เป็นผู้แทนในการประชุมการสื่อสารเหตุฉุกเฉินทางวิทยุสมัครเล่นระดับโลก (Global Amateur Radio Emergency Communications Conference: GAREC) ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

มาเลเซีย[แก้]

ในมาเลเซีย หน่วยบริการฉุกเฉินพลเรือนสมัครเล่นวิทยุสมัครเล่นแห่งมาเลเซีย (Malaysian Radio Amateur Civil Emergency Service: MyRACES) ซึ่งเป็นส่วนย่อยขององค์กรจดทะเบียนคือสมาคมวิทยุสมัครเล่นมาเลเซีย (MALAYSIAN AMATEUR RADIO TRANSMITTERS' SOCIETY: MARTS) ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ (IARU) โดย MyRACES จะให้บริการเป็นอาสาสมัครด้านการสื่อสารระหว่างที่เกิดภัยพิบัติ

รัสเซีย[แก้]

องค์กรอาสาสมัครในชื่อ RAS ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 และเมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 สหภาพนักวิทยุสมัครเล่นแห่งรัสเซียได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ดูแลในด้านการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินและยังได้ทำข้อตกลงกับ MChS หรือกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย

สเปน[แก้]

ในสเปน REMER (Red Radio de Emergencia, Emergency Radio Network) เป็นเครือข่ายวิทยุย่าน HF/VHF ระดับชาติที่ก่อตั้งขึ้นโดยนักวิทยุสมัครเล่นอาสาสมัคร และได้รับการประสานงานร่วมโดยกลุ่มป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนในท้องถิ่น ซึ่งขึ้นกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525

สหราชอาณาจักร[แก้]

ในสหราชอาณาจักร เครือข่ายวิทยุสมัครเล่นในภาวะฉุกเฉิน (Radio Amateurs Emergency Network: RAYNET) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นในภาวะฉุกเฉินร่วมกับสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งบริเตนใหญ่ (Radio Society of Great Britain: RSGB) โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น

สหรัฐ[แก้]

ในสหรัฐ มีสองหน่วยงานในการจัดการสื่อสารภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ หน่วยบริการฉุกเฉินทางวิทยุสมัครเล่น (Amateur Radio Emergency Service: ARES) ซึ่งเป็นองค์กรของนักวิทยุสมัครเล่นที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมวิทยุสมัครเล่นของอเมริกา (American Radio Relay League: ARRL) และหน่วยบริการฉุกเฉินฝ่ายพลเรือนทางวิทยุสมัครเล่น (Radio Amateur Civil Emergency Service: RACES) ซึ่งเป็นโครงข่ายสำรองวิทยุที่ควบคุมโดยคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ (Federal Communications Commission) การปฏิบัติงานภายใต้ RACES นั้นจะต้องขึ้นทะเบียนกับองค์กรป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนภายในพื้นที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ต่อไปตามมาตรา 97.407[10] ของข้อบังคับคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ ในกรณีที่กิจการวิทยุสมัครเล่นถูกสั่งให้ยุติการออกอากาศด้วยอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐ ดังนั้นการปฏิบัติงานในพื้นที่เดียวกันระหว่าง ARES และ RACES ในพื้นที่เดียวกันจึงมักจะต้องเกี่ยวพันกัน โดยรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากระบุให้ผู้ปฏิบัติงานต้องเป็นสมาชิกและให้อยู่ในขอบเขตของ ARES เพื่อให้นักวิทยุสมัครเล่นสามารถให้บริการได้ตามเงื่อนไขของรัฐบาลท้องถิ่น โดยภายในศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล หน่วยบริการกาชาด และที่ตั้งของหน่วยบริการสภาพอากาศแห่งชาติ (National Weather Service) หลายแห่ง มีสถานีวิทยุสมัครเล่นแบบถาวรติดตั้งอยู่สำหรับการปฏิบัติงานของนักวิทยุ

สมาคมวิทยุสมัครเล่นของอเมริกา (ARRL) ได้จัดทำเอกสารที่ระบุถึงการปฏิบัติการสื่อสารทางวิทยุในภาวะฉุกเฉิน ร่วมไปถึงคู่มือการบริการสาธารณะของนักวิทยุสมัครเล่น[11]

สำหรับสมาคมวิทยุที่เป็นอิสระจาก ARRL และ ARES นั้นยังคงมีส่วนร่วมในกิจการรมการสื่อสารภาวะฉุกเฉินในบางพื้นที่ และองค์กรที่ไม่ใช้วิทยุสื่อสารบางแห่งก็มีนักวิทยุสมัครเล่นประจำในหน่วยของตนเอง ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้สนับสนุนโครงการระบบวิทยุเสริมทางทหาร (Military Auxiliary Radio System: MARS) ซึ่งใช้เครื่องรับส่งวิทยุสมัครเล่นในการใช้สื่อสารฉุกเฉินผ่านคลื่นความถี่ทางทหาร โปรแกรมการตรวจสอบสภาพอากาศ Skywarn ของหน่วยบริการสภาพอากาศแห่งชาติ โดยกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นที่มีเครือข่ายเหนียวแน่น และเครือข่ายวิทยุสมัครเล่นขององค์กรซาลเวชันอาร์มี ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้โปรแกรมเครือข่ายวิทยุฉุกเฉินของทีมซาลเวชันอาร์มี (Salvation Army Team Emergency Radio Network)

การสื่อสารในภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติมักจะทำร่วมกับองค์กรอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย เช่น สภากาชาดอเมริกัน องค์กรซาลเวชันอาร์มี หน่วยงานจัดการเหตุฉุกเฉินของรัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยอาสาสมัครดับเพลิงและรถกู้ชีพ

ส่วนของ ARRL นั้นมีการลงบันทึกความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ มากมายที่คาดว่าจะได้ปฏิบัติงานร่วมกัน[12] รวมไปถึง สภากาชาดอเมริกัน และองค์กรซาลเวชันอาร์มี รวมถึงยังเป็นพาร์ทเนอร์กับโครงการ Citizen Corps ของสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA) นอกจากนี้ ARRL ยังเป็นสมาชิกขององค์กรอาสาสมัครแห่งชาติที่ทำงานในภัยพิบัติ (National Voluntary Organizations Active in Disaster: NVOAD) และดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรที่ได้ใบรับรองเกี่ยวกับการสื่อสารภาวะฉุกเฉินสำหรับนักวิทยุสมัครเล่นที่สนใจ[13]

ออสเตรเลีย[แก้]

ในออสเตรเลีย สถาบันเครือข่ายไร้สายในภาวะฉุกเฉิน (Wireless Institute Civil Emergency Network) จะดำเนินงานในแต่ะรัฐและดินแดนในฐานะขององค์กรอิสระภายใต้แผนภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ออสเตรีย[แก้]

ในออสเตรีย เครือข่ายวิทยุสมัครเล่นในภาวะฉุกเฉินออสเตรีย (Amateur Radio Emergency Network Austria: ARENA) เป็นกิจกรรมอาสาสมัครบริการระดับชาติที่ให้บริการโดยนักวิทยุสมัครเล่นที่มีใบอนุญาต โดย ARENA เป็นส่วนหนึ่งของ OEVSV และ IARU - สหภาพวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ

ไอร์แลนด์[แก้]

ในไอแลนด์ เครือข่ายวิทยุสมัครเล่นในภาวะฉุกเฉิน (Amateur Radio Emergency Network: AREN) โดยจะประสานงานระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในนามของสมาคมวิทยุสมัครเล่นไอริช (Irish Radio Transmitters Society (IRTS)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Murphy, Paul P.; Krupa, Michelle. "Ham radio operators are saving Puerto Rico one transmission at a time". CNN.com. CNN. สืบค้นเมื่อ 29 September 2017.
  2. Pasricha, Anjana. "Ham Radio Operators Become Lifeline for Tsunami-Stricken Indian Islands". VOA News. Voice of America. สืบค้นเมื่อ 2 October 2017.
  3. 3.0 3.1 "สมบัติ บุญงามอนงค์: 15 ปีหลังสึนามิ และไม่กี่วันหลังน้ำท่วมอุบลราชธานี" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-12-25.
  4. "Chinese Officials Give Kudos to Amateur Radio Operators". American Radio Relay League. 2008-05-27.
  5. "Texas Hams Braced for Ike". arrl.org. ARRL. สืบค้นเมื่อ 2 October 2017.
  6. Solomon, Dave. "Marathon 'hams' took on vital role after Marathon bombings". Union Leader. New Hampshire Union Leader. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 October 2017. สืบค้นเมื่อ 2 October 2017.
  7. "ARRL COO Testifies on Capitol Hill to Amateur Radio's Value in Disasters". ARRLWeb. American Radio Relay League, Inc. 3 Oct 2005. สืบค้นเมื่อ 17 February 2010.
  8. 8.0 8.1 "ไอซีทีประชุม"สึนามิ"ระดับชาติ ขอ1เดือนสอบข้อเท็จจริงกรมอุตุ". mgronline.com. 2005-01-06.
  9. "RAST - HS-AREC". www.rast.or.th.
  10. §97.407 Radio amateur civil emergency service
  11. "Public Service Communications Manual" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-05-22. สืบค้นเมื่อ 2023-09-18.
  12. ARRL: Understanding our Memoranda of Understanding
  13. ARRL: Continuing Education Course Catalog

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]