การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ริ้วกระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระโกศสู่พระเมรุ
ริ้วกระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระโกศสู่พระเมรุ
การสิ้นพระชนม์
พระนามสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
วันสิ้นพระชนม์27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (12 ปีที่แล้ว)
สถานที่สิ้นพระชนม์ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช
ประดิษฐานพระศพพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
พระโกศพระโกศทองใหญ่
ฉัตรคราวแรก : เบญจปฎลเศวตฉัตร
ต่อมา : สัปตปฎลเศวตฉัตร
พระเมรุพระเมรุ ท้องสนามหลวง
วันพระราชทานเพลิงพระศพ9 เมษายน พ.ศ. 2555 (12 ปีที่แล้ว)
ประดิษฐานพระอัฐิพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
วิมานพระอัฐิ วังรื่นฤดี
ประดิษฐานพระสรีรางคารวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
อนุสรณ์เสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ลอยที่ทะเลอ่าวไทย

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16:37 นาฬิกา ณ ตึก 84 ปี ชั้น 5 ด้านตะวันออก โรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุมัติหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ระหว่างวันที่ 8 - 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ซึ่งพระราชพิธีจะมีขึ้น ณ พระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

พระพลานามัยก่อนสิ้นพระชนม์[แก้]

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มีพระอาการประชวรตามพระชันษา คณะแพทย์จากศิริราชพยาบาลได้ถวายการรักษาและเฝ้าระวังพระอาการอย่างใกล้ชิด โดยมีพลเอกประพัทธ์ กุวานนท์ ราชองครักษ์ประจำพระองค์และเป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์และเป็นพระญาติด้วย ได้ทำการรับสนองพระบัญชามาตลอด แต่ในปี พ.ศ. 2543 พลเอกประพัทธ์ กุวานนท์ ป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ เสนอชื่อของท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ (กฤดากร) รองราชเลขาธิการ และเป็นนักเรียนในพระอุปถัมภ์ ที่เคยอาศัยในพระตำหนักของเสด็จพระนางฯกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เมื่อคราวประทับที่สหราชอาณาจักร เข้ามาเป็นผู้ดูแลรับสนองพระบัญชาสืบต่อในฐานะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และในกลางปีนั้นพลเอกประพัทธ์ก็ถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะจึงเข้ามาถวายงานในวังรื่นฤดี และได้กรุณาให้สัมภาษณ์ถึงพระจริยวัตรในพระองค์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ซึ่งท่านผู้หญิงบุตรีเองก็เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพระเจ้าภคินีเธอด้วย[1]

ในเวลาต่อมาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เริ่มมีพระอาการเส้นพระโลหิตอุดตัน มีรับสั่งน้อยลง แต่ทรงทราบกิจทุกเรื่อง[1] แต่พระอาการดังกล่าวทำให้พระวรกายด้านซ้ายขยับยาก คณะแพทย์ศิริราชจึงได้ถวายพระโอสถ มีนางพยาบาลมาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และมีนักกายภาพบำบัดมาถวายการออกกำลัง[1]

ต่อมาพระองค์ประชวรด้วยเส้นเลือดตีบทำให้พระองค์ไม่สามารถรับสั่งได้แต่ทรงเข้าพระทัยทุกอย่าง พระองค์จะทรงพยักพระพักตร์แสดงว่าทรงเข้าพระทัย ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กล่าวถึงพระอาการประชวรของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีว่ามีพระอาการดีขึ้น โดยมีนางสุรัสวดี กุวานนท์ แม็กซี่ พระภาคิไนยในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารเคยตามเสด็จไปอยู่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ได้กลับมาจากต่างประเทศ และรับหน้าที่ถวายการดูแลทูลเป็นภาษาอังกฤษกับพระองค์ได้คนเดียว ซึ่งเคยทูลภาษาอังกฤษความหมายว่า “หากไม่โปรดอาหารที่เสวย ก็ทรงคายออกเถอะ” พระองค์ก็ทรงเข้าพระทัยเป็นอย่างดี[2]

สิ้นพระชนม์[แก้]

สำนักพระราชวัง มีประกาศเรื่อง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ความว่า

[3] [4] [5][6]

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ ตึก 84 ปี ชั้น 5 ด้านตะวันออก โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16 นาฬิกา 37 นาที วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 รวมพระชันษา 85 ปี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป

อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 13 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สำนักพระราชวัง

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เคลื่อนพระศพสู่พระบรมมหาราชวัง[แก้]

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 13.50 น.สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร ตามด้วย​ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน นางสนองพระโอษฐ์เชิญพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จากโรงพยาบาลศิริราช สู่พระบรมมหาราชวัง [7]

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี[แก้]

ธงครึ่งเสาที่โรงเรียนสุรวิทยาคาร จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สำนักนายกรัฐมนตรี ออกประกาศเรื่องการสิ้นพระชนม์ มีใจความสำคัญว่า รัฐบาลรับทราบการสิ้นพระชนม์ด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง ตลอดจนเห็นว่า มีพระกรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา จึงให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา และให้ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน เริ่มนับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม (ยกเว้นวันที่ 12 สิงหาคม) เป็นต้นไป ซึ่งพระราชพิธีพระศพจะจัดให้สมพระเกียรติเช่นเดียวพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ประชาชนถวายน้ำสรงพระศพ[แก้]

ตั้งแต่เวลา 13.00 น.-16.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพ หน้าพระฉายาลักษณ์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง มีพสกนิกรเดินทางมาร่วมถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายเป็นจำนวนมาก

ประชาชนถวายสักการะพระศพ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งแต่วันบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร 7 วัน เป็นต้นไป

พระราชพิธีถวายน้ำสรงพระศพ[แก้]

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16.55 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งยังพระที่นั่งพิมานรัตยาในพระบรมมหาราชวังในการถวายสรงน้ำพระศพในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ โดยเสด็จด้วย ต่อมาเวลา 17.08 นาฬิกา รถยนต์พระที่นั่งมาถึงพระบรมมหาราชวัง โดยมี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จฯ เมื่อเทียบรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูกำแพงแก้ว ข้างพระที่นั่งราชกรัณยสภา จากนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวัง เสด็จเข้าสู่ภายในพระฉาก ซึ่งพระศพบรรทมอยู่บนพระแท่น

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยราชสักการะพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับขวดน้ำพระสุคนธ์จากคุณเพ็ญศรี เขียวมีส่วน ถวายสรงที่พระศพ แล้วทรงคม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับหม้อน้ำพระสุคนธ์และโถน้ำขมิ้นจากเจ้าพนักงานสนมพลเรือนถวายสรงที่ตรงพระอุระพระศพ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงหวีพระเกศาพระศพขึ้นครั้งหนึ่ง แล้วทรงหวีลงอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วทรงหักพระสางนั้นวางไว้ในพานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชอาสน์ที่นอกพระฉาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บรรดาราชนิกูล ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คณะองคมนตรี ได้ขึ้นไปยังพระที่นั่งพิมานรัตยา จากนั้นเจ้า​พนักงาน​เชิญ​ผ้าไตร 86 ไตร ถวาย​ทรง​จบ นาย​แก้ว​ขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการ​พระราชวัง กราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไป​ทรง​พระราชทานซองพระศรีบรรจุดอกบัวและธูปเทียนที่ปากพระโกศ แล้วทรงรับแผ่นทองคำจำหลักลายปิดพระพักตร์ ทรงรับพระชฎาทองคำวางข้างพระเศียรพระศพ แล้วเสด็จออกไปประทับพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงสู่พระโกศ ตำรวจหลวงเชิญพระโกศพระศพไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินตาม ตำรวจหลวงเชิญพระโกศพระศพขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทอง ประกอบพระลองทองใหญ่ ภายใต้เศวตฉัตร 5 ชั้น แวดล้อมด้วยเครื่องสูงทองแผ่ลวด บังแทรก ชุมสาย ต้นไม้ทองเงิน ณ มุขตะวันตก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับพระราชอาสน์ แล้วพระราชทานพวงมาลาให้เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญไปตั้งที่หน้าพระโกศพระศพ เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญเครื่องทองน้อย และเครื่องราชสักการะเข้าถวาย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และเครื่องราชสักการะพระศพ แล้วพระราชทานแก่เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญไปตั้งที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงคม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารให้เจ้าพนักงานเชิญไปตั้งหน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงคม แล้วทรงทอดผ้าไตร 1 ไตร บนโต๊ะที่พระภูษาโยง พระสงฆ์ 86 รูป สดับปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงคมไปที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงคมไปยังพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่ประดิษฐานอยู่บนพระแท่นมหาเศวตฉัตร จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกพระราชทานให้เจ้าพนักงานเชิญไปตั้งที่หน้าพระแท่นเตียงพระสวดพระอภิธรรม ณ มุขหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงคม จากนั้น เสด็จลงทางมุกกระสันพระที่นั่งพิมานรัตยา ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ในขณะพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระศพ ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ไฉน กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศสำหรับพระศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัย

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมประจำทั้งกลางวันและกลางคืน ในเวลา 18.00 น.ไปจนถึงเวลา 07.00 น.รุ่งขึ้น รับพระราชทานฉันเช้า 8 รูป เพล 8 รูป มีกำหนด 100 วัน อนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งแต่วันบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร 7 วัน เป็นต้นไป[8]

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพฯ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ดังนี้

  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) ในวันที่ 2 - 3 สิงหาคม 2554
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (15 วัน) ในวันที่ 10 – 11 สิงหาคม 2554
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) ในวันที่ 14 - 15 กันยายน 2554
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) ในวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2554[9]

พิธีถวายเลี้ยงภัตตาหารเช้าแด่พระพิธีธรรม[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพฯ ในการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ ระหว่างการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ ครบทั้ง 100 วัน ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม-4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

การบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศลประจำวันพุธ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระบรมวงศานุวงศ์ สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และราชินีกุล คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ร่วมในการบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศล ถวายพระศพประจำสัปดาห์ในทุกวันพุธ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง หลังพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน จนถึงพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 100 วัน โดยมีกำหนดการดังนี้

  • วันพุธที่ 10 สิงหาคม 2554 และ วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์
  • วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2554 สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และสมาชิกราชินีกุล
  • วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2554 คณะองคมนตรี และสกุลที่เกี่ยวเนื่องกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (อภัยวงศ์,จารุดุล,กุวานนท์)
  • วันพุธที่ 31 สิงหาคม 2554 คณะรัฐมนตรี และข้าราชการทหาร - ตำรวจ (4 เหล่าทัพ)
  • วันพุธที่ 7 กันยายน 2554 สมาชิกรัฐสภา และทายาทข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • วันพุธที่ 14 กันยายน 2554 และ วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2554 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) พระราชทานพระศพ
  • วันพุธที่ 21 กันยายน 2554 หน่วยงานตุลาการ และหน่วยงานองค์กรอิสระ
  • วันพุธที่ 28 กันยายน 2554 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และบริษัทในเครือ 6 ราย สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ องค์กรในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์
  • วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2554 กระทรวง กรม กองต่างๆ องค์กรศาสนา และพราหมณ์
  • วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2554 สถาบันการศึกษาภาครัฐ-เอกชน และสถาบันการเงิน
  • วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2554 องค์กรสาธาณกุศล องค์กร-บริษัทเอกชน และองค์การมหาชน
  • วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2554 สื่อมวลชนทุกแขนง คณะลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด และอาสาสมัครรักษาดินแดน
  • วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และองค์กรในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  • วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2554 และ วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2554 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) พระราชทานพระศพ

หลังจากพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร 100 วัน พระราชทานพระศพแล้ว จะงดการประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ และงดการถวายสักการะพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพต่อไป

การประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลกงเต็ก[แก้]

ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ 16 กันยายน 2554 เวลา 13.30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เสด็จแทนพระองค์ ในการคณะสงฆ์จีนนิกายบำเพ็ญกุศล (พิธีกงเต็ก) ถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูป ทรงกราบ ประทับพระเก้าอี้ พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ อัญเชิญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาประทับ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม ประธานกรรมการสงฆ์จีนนิกายอ่านประกาศการบำเพ็ญกุศล (กงเต็ก) พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก เสด็จลงมณฑลพิธี เจ้าพนักงานเชิญเทวทูตม้าเข้าถวาย ทรงอธิษฐาน แล้วมอบเจ้าพนักงานนำไปเผา พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระมหาโพธิสัตว์ จากนั้นมีพิธีสรงน้ำดวงพระวิญญาณ พระสงฆ์จีน 86 รูปขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก เสด็จตามพระสงฆ์จีนไปถวายเครื่องเสวยคาว-หวาน ผลไม้ ที่หน้าพระโกศพระศพ พระสงฆ์จีน 21 รูปเชิญดวงพระวิญญาณเสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สวดพระพุทธมนต์

เวลา 16.00 น. ประกอบพิธีลอยกระทงและปล่อยนกปล่อยปลา พระสงฆ์จีน 15 รูปเดินนำเสด็จไปยังท่าราชวรดิฐ พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ทรงจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา ทรงคม แล้วทรงยืน พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ เจ้าพนักงานเชิญเทวทูตม้าเข้าถวาย ทรงอธิษฐาน แล้วมอบเจ้าพนักงานนำไปเผา พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ปล่อยชีวิตสัตว์ พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึกและข้าราชบริพารลอยกระทง ปล่อยนก ปล่อยปลา

ต่อมาเวลา 18.00 น. ประกอบพิธีโยคะตันตระ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูป ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และทรงจุดธูปเทียนเซ่นไหว้ดวงพระวิญญาณ เพื่ออุทิศบุญกุศลแก่เวไนยสัตว์ พระสงฆ์จีนสวดพระธารณีมนต์เจริญธรรมอธิษฐาน

กระทั่งเวลา 20.50 น. พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงทอดผ้าไตร 10 ไตร พระสงฆ์จีนสดับปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก ทรงกราบพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นเสด็จลงบันไดมุขด้านทิศเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังลานหน้าประตูศรีสุนทร ทรงวางกระดาษเงิน-กระดาษทองในพระตำหนักหลุยส์ เครสเซนต์ เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษจำลอง ทรงจุดไฟเผาเครื่องกระดาษ

โดยเครื่องกระดาษที่ใช้พิธี ประกอบด้วย พระตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ ที่เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ ในบรรยากาศริมทะเล ซึ่งเป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประทับเมื่อครั้งทรงอยู่ประเทศอังกฤษ ซึ่งภายในมีการจัดสวนและรถยนต์พระที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีหีบฉลองพระองค์ ภูเขาเงิน ภูเขาทอง ภูเขาเสริมบารมี เครื่องเงินเครื่องทอง หีบบรรจุกระดาษเงินกระดาษทองจำนวน 6-7 หีบ ขณะที่ส่วนประกอบของพิธีได้มีการจำลองรูปพระมหาโพธิสัตว์ความสูง 3 เมตร ที่ทำหน้าที่ดูแลดวงวิญญาณต่างๆ ที่มารับส่วนกุศล ภูเขาเงินภูเขาทองสำหรับอุทิศให้กับวิญญาณไร้ญาติต่างๆ หุ่นกระดาษข้าราชบริพารจำนวน 1 คู่ ห้องสรงสำหรับสรงน้ำดวงพระวิญญาณ ถ่งพวง หรือ ไม้แขวนฉลองพระองค์ที่ใช้สำหรับอัญเชิญดวงพระวิญญาณ เทวทูตกระดาษขี่ม้าขี่นกจำนวน 3-4 ชุด เสื้อกระดาษสำหรับเผาให้วิญญาณไร้ญาติจำนวน 360 ชุด นอกจากนี้รวมถึงรูปสุนัข และไก่แจ้ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่โปรด

สิ่งของอุปโภคและบริโภคในพิธีทิ้งกระจาดหรือพิธีโยคะตันตระ ถวายเป็นพระกุศลในพิธีกงเต็กครั้งนี้ จะมอบให้กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งทรงเป็นนายทหารพิเศษ นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมต่อไป เพื่อน้อมถวายเป็นพระกุศล

การประโคมย่ำยาม[แก้]

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี ถือว่าเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งในของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี คู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง แต่เดิมการประโคมดนตรีที่เป็นลักษณะประโคมย่ำยาม มีเฉพาะของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง เท่านั้น ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง คือ

  • ยาม 1 เวลา 06.00 น.
  • ยาม 2 เวลา 09.00 น.
  • ยาม 3 เวลา 12.00 น.
  • ยาม 4 เวลา 15.00 น.
  • ยาม 5 เวลา 18.00 น.
  • ยาม 6 เวลา 21.00 น.
  • ยาม 7 เวลา 24.00 น.

ในการประโคมงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการประโคมย่ำยามด้วย ดังนั้น จึงมี 2 หน่วยงานเข้าร่วมประโคม คือ

  • วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง (วงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ)
  • วงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้

  • วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม “เพลงสำหรับบท” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น
  • วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง “ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น
  • วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง “ประโคมเพลงชุดนางหงส์”

เมื่อประโคม ครบทั้ง 3 วงแล้ว ก็ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง การที่กรมศิลปากร นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาประโคมย่ำยามนั้น

แต่โบราณดั้งเดิม ไม่ได้มี “วงปี่พาทย์” ร่วมประโคมย่ำยาม จะมีแต่เฉพาะ “วงแตรสังข์ และ วงปี่ไฉนกลองชนะ” ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังและวงกลองสี่ปี่หนึ่ง (ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว) ประโคมในงานพระบรมศพ พระศพ เท่านั้น

พิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล[แก้]

ได้มีการจัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 186 รูป เพือถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในโอกาสสิ้นพระชนม์ครบ 50 วัน ในวันที่ 14 กันยายน 2554 และในโอกาสสิ้นพระชนม์ครบ 100 วัน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โอกาสนี้คณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการส่วนราชการ ตัวแทนองค์กรต่างๆ และประชาชน ร่วมพิธีด้วย และทุกจังหวัดได้จัดพิธีทำบุญตักบาตรพร้อมกันกับในส่วนกลาง

สถาปนาพระเกียรติยศ[แก้]

นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการผ่านท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรดำเนินการสร้างฉัตรเหนือยอดพระเมรุเป็นสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) จากเดิมคือเบญจปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 5 ชั้น) เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดแด่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยข้อความพระบรมราชโองการระบุไว้ว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พุทธศักราช 2554 ว่าเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นสมเด็จพระปิตุลาธิราช และเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ผู้เป็นที่เคารพนับถือในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานเป็นลำดับมา บัดนี้ ถึงวาระที่จะได้พระราชทานเพลิงพระศพเป็นอวสานแห่งการพระราชกุศล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีขึ้น ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอพระองค์นั้น ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ อีกทั้งทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนนานัปการ ควรได้รับพระเกียรติยศใหญ่ขึ้น โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดสัปตปฎลเศวตฉัตรกางกั้นพระโกศ พระราชทานเป็นเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป [10]


ประกาศ ณ วันที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2555 เป็นปีที่ 67 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

ในการนี้ พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะผู้ออกแบบพระเมรุ จึงได้ปรับแบบยอดพระเมรุเป็นสัปตปฎลเศวตฉัตร รวมทั้งพระโกศพระอัฐิทองคำลงยาองค์ใหญ่ก็จะปรับเป็นยอดสัปตปฎลเศวตฉัตรเช่นเดียวกัน [11] โดยมีพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 17.09 น. เป็นปฐมฤกษ์ จนถึงเวลา 17.39 น. เป็นที่สุดแห่งฤกษ์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุ [12] นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระมหาพิชัยราชรถในการอัญเชิญพระโกศพระศพ แทนเวชยันตราชรถ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดอีกด้วย

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ[แก้]

ดูบทความหลักที่ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ริ้วกระบวนเชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รัฐบาลไทยขึ้นจัดเพื่อแสดงความจงรักภักดีและความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยกำหนดวันพระราชพิธีระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน พ.ศ. 2555 โดยกำหนดการพระราชพิธีสำคัญ ได้แก่ การบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ ในวันที่ 8 เมษายน พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ 9 เมษายน พระราชพิธีเก็บพระอัฐิ ในวันที่ 10 เมษายน การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระอัฐิ ในวันที่ 11 เมษายน การเชิญพระอัฐิขึ้นประดิษฐานที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และการเชิญพระผอบพระสรีรางคารไปบรรจุยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในวันที่ 12 เมษายน

สำหรับการดำเนินการพระราชพิธีฯ นั้น คณะทำงานทุกฝ่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างพระเมรุและอาคารประกอบ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม หอเปลื้อง ศาลาลูกขุน เป็นต้น นอกจากนี้ในการก่อสร้างพระเมรุยังมีการติดตั้งลิฟท์ที่ใช้เป็นที่ขึ้นของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อเข้าสู่พระจิตกาธานภายในพระเมรุ ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธีนั้น ได้มีการซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถ พระยานมาศสามลำคาน ราชรถน้อย พระที่นั่งราเชนทรยาน และพระวอสีวิกากาญจน์ เพื่อพร้อมใช้ในพิธีจริง ซึ่งราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบเหล่านี้ได้ใช้ในการซ้อมย่อยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม และ 25 มีนาคม รวมถึงการการซ้อมใหญ่ในวันที่ 31 มีนาคม

ทหารปืนใหญ่จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ยิงสลุตถวายพระเกียรติ­แก่พระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร­ะราชทานเพลิงพระศพ

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลาประมาณ 07.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์เชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพออกพระเมรุ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อทรงประกอบพิธีอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ โดยพระราชาคณะ 30 รูป สดับปกรณ์ก่อนเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โปรดเกล้า ฯ ให้เปลื้องพระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศออกเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพไปประดิษฐานที่พระยานมาศ สามลำคาน

หลังจากนั้น ริ้วขบวนที่ 1 จะอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ไปยังพระมหาพิชัยราชรถที่ รออยู่ที่บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เส้นทางจากประตูศรีสุนทร ประตูเทวาภิรมย์ ถนนมหาราช ถนนท้ายวังและถนนสนามไชย กำลังพล 622 นาย

จากนั้น ริ้วขบวนที่ 2 จะอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพโดยพระมหาพิชัยราชรถจากหน้าวัดพระเชตุพนฯ ไปยังพระเมรุ ท้องสนามหลวง เส้นทางจากหน้าวัดพระเชตุพนฯ ถนนสนามไชย ถนนราชดำเนิน เข้าถนนกลาง ท้องสนามหลวง กำลังพล 1,114 นาย

ต่อด้วย ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพโดยพระยานมาศสามลำคาน เวียนรอบพระเมรุโดยอุตราวัฎ (เวียนซ้าย) 3 รอบ แล้วอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุกำลังพล 367 นาย

เวลา 16.30 น. พระราชทานเพลิงพระศพฯ

เวลา 22.00 น. พระราชทานเพลิงพระศพฯ (จริง)

การพระราชทานเพลิงพระบุพโพ[แก้]

วันที่ 4 เมษายน 2555 มีการพระราชทานเพลิงพระบุพโพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณที่จัดขึ้นสืบต่อกันมาในการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย ในช่วงเช้าของวันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเรือเอกหม่อมเจ้าปุสาน สวัสดิวัตน์ เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงพระบุพโพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

โดยพิธีการเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 08.30 น. ร้อยโทหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่งนมัสการบูชาพระพุทธรูปที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร และประทับพระเก้าอี้ข้างพระราชอาสน์ จากนั้นเจ้าพนักงานสนมพลเรือน ถวายบังคมพระศพทางด้านหน้าที่ประดิษฐานพระศพ แล้วขึ้นเกยร้านม้าบนพระแท่นสุวรรณเบญจดลด้านหลัง เพื่อเปลื้องพระโกศทองใหญ่ออก เชิญไปพักที่ข้างพระแท่นสุวรรณเบญจดล เจ้าพนักงานภูษามาลา เชิญถ้ำพระบุพโพ ลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อถึงลานหน้าบันได เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายพระกลดกางกั้นถ้ำพระบุพโพ แล้วเชิญออกทางประตูกำแพงแก้วด้านตะวันตก ไปขึ้นเกยและประดิษฐานหีบเครื่องพระบุพโพบนพระวอวิมาน ส่วนถ้ำพระบุพโพเชิญโดยรถยนต์พระที่นั่ง เข้าขบวนเชิญออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อขบวนเดินทางถึง ได้เชิญพระบุพโพเทียบที่บันไดเมรุหลวงหน้าพลับอิศริยาภรณ์ทางด้านหลัง แล้วเชิญขึ้นเมรุแล้วปิดม่าน จากนั้น พลเรือเอกหม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ เสด็จขึ้นเมรุทรงทอดผ้าไตร วางธูปเทียนดอกไม้จันทน์ พระราชวงศ์ พระประยูรญาติและข้าราชบริภาร วางธูปเทียนดอกไม้จันทน์ แล้วพลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล วางดอกไม้จันทน์และจุดไฟพระราชทานเพลิงพระบุพโพ (จริง) ที่หน้าหีบเครื่องพระบุพโพ เป็นอันเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงพระบุพโพ ซึ่งการถวายพระเพลิงพระบุพโพ หรือ น้ำเหลือง ตามประเพณีโบราณจะกระทำก่อนการถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิงพระสรีระพระศพที่บรรจุลงในพระโกศ ซึ่งการจัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบุพโพครั้งนี้ เป็นไปตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่มีพระดำริไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยโบราณ[13]

อ้างอิง[แก้]

หมายกำหนดการ พระราชพิธีพระราชทานเพลงิ พระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พุทธศักราช ๒๕๕๕ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/B/023/4.PDF

  1. 1.0 1.1 1.2 "สกุลไทย - พระจริยวัตรในพระองค์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-15. สืบค้นเมื่อ 2011-07-29.
  2. ดวงใจแผ่นดิน พระประสงค์ในเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ เดลินิวส์ วัน จันทร์ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 02:53 น.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์, เล่ม ๑๒๘, ตอนพิเศษ ๘๒ ง, ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔, หน้า ๕
  4. ประกาศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพระราชวัง, เข้าถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554
  5. "NNT - HRH Princess Bejaratana Rajasuda passes away at 85". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-07. สืบค้นเมื่อ 2011-09-18.
  6. "เปิดให้ประชาชนเข้า สักการะ พระศพหลังครบ 7 วัน". นสพ.ไทยรัฐ. 29 กรกฎาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. เชิญพระศพเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯจากศิริราชถึงพระบรมมหาราชวังจาก นสพ. ไทยรัฐ
  8. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  9. "กำหนดการงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานจากสำนักพระราชวัง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-05. สืบค้นเมื่อ 2011-09-18.
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, เล่ม ๑๒๙, ตอน พิเศษ ๖๑ ง, วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕, หน้า ๑
  11. โปรดเกล้าฯ ฉัตรพระเมรุ 7 ชั้น[ลิงก์เสีย] จากข่าวสดออนไลน์
  12. กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดจัดพิธียกฉัตรในวันที่ 3 เมษายน เก็บถาวร 2012-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2555
  13. สำนักข่าวแห่งชาติ, พิธีพระราชทานเพลิงพระบุพโพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]