ผลต่างระหว่างรุ่นของ "แนวเทียบ"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Thastp (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้า แนวเทียบ แปลจาก analogy จาก enwiki (ยังแปลไม่สมบูรณ์)
ป้ายระบุ: ลิงก์แก้ความกำกวม
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:13, 16 มิถุนายน 2565

แบบจำลองอะตอมของรัทเทอร์ฟอร์ด (ถูกปรับแต่งโดยนิลส์ โปร์) เป็นการเทียบอะตอมกับระบบสุริยะ

แนวเทียบ (อังกฤษ: Analogy) เป็นกระบวนการคิดซึ่งเป็นการถ่ายโอนสารสนเทศหรือความหมายจากกรณีหนึ่ง (มโนทัศน์ต้นทาง) ไปสู่อีกกรณีหนึ่ง (มโนทัศน์ปลายทาง) การแสดงออกทางภาษาที่สอดคล้องกับกระบวนการดังกล่าวก็เช่นอุปมา หรืออุปลักษณ์ แนวเทียบในนิยามที่แคบลงคือการอนุมานหรือการให้เหตุผล (logical argument) จากกรณีเฉพาะกรณีหนึ่งไปหาอีกกรณีเฉพาะกรณีหนึ่ง ต่างจากการนิรนัย การอุปนัย และการจารนัย ซึ่งข้อสรุปหรือข้อตั้งอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่งเป็นกรณีทั่วไป คำว่าแนวเทียบยังสามารถหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ต้นทางกับปลายทางในรูปแบบของความคล้ายกัน (similarity (philosophy)) อย่างเช่นโครงสร้างอะนาโลกัสหรือความคล้ายโดยมีต้นกำเนิดต่างกันในวิชาชีววิทยา ต่อไปนี้เป็นการแสดงตัวอย่างความสัมพันธ์แบบแนวเทียบอย่างคร่าว ๆ:

A คล้ายกับ B
B มีคุณสมบัติ C
ดังนั้น A ก็มีคุณสมบัติ C

แนวเทียบเป็นแนวคิดที่ใกล้เคียงกับการสัมพันธ์ การเปรียบเทียบ ความสมนัย โฮโมโลยีทางคณิตศาสตร์และชีววิทยา (homology) สาทิสสัณฐาน (homomorphism) สมสัณฐาน (isomorphism) ความเป็นประติมา (iconicity) อุปลักษณ์ ความคล้ายคลึง และความเหมือน

แนวเทียบเป็นหัวข้อที่มีการศึกษาและถกเถียงถึงมาตั้งแต่ยุคสมัยคลาสสิกโดยนักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ นักเทววิทยา และนักกฎหมาย ในช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ความสนใจในแนวเทียบถูกรื้อฟื้นขึ้นมาโดยเฉพาะในสาขาวิชาประชานศาสตร์

ความหมายของคำว่ามโนทัศน์ "ต้นทาง" และ "ปลายทาง"

คำว่า "ต้นทาง" และ "ปลายทาง" มีความหมายอยู่สองแบบขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่พูดถึง:

  • ความหมายเชิงตรรกะ วัฒนธรรม และเศรษฐศาสตร์พูดถึง ลูกศร การส่ง (map (mathematics)) สาทิสสัณฐาน หรือ สัณฐาน ซึ่งเริ่มจาก โดเมน ที่ซับซ้อน หรือมโนทัศน์ต้นทาง และจบที่ โคโดเมน ซึ่งปกติจะซับซ้อนน้อยกว่า หรือมโนทัศน์ปลายทาง/เป้าหมาย โดยคำเหล่านี้ใช้ในความหมายของทฤษฎีประเภท (category theory)
  • ความหมายในจิตวิทยาปริชาน (cognitive psychology) ทฤษฎีวรรณคดี (literary theory) และวิชาเฉพาะทางในสาขาปรัชญาซึ่งอยู่นอกวิชาตรรกศาสตร์ หมายถึงการถ่ายโยงจากประสบการณ์ที่คุ้นเคยกว่า หรือมโนทัศน์ต้นทาง ไปยังประสบการณ์ซึ่งประสบปัญหา หรือมโนทัศน์ปลายทาง/เป้าหมาย

ตัวแบบและทฤษฎี

อัตลักษณ์ของความสัมพันธ์

คำว่า αναλογια ในภาษากรีกซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า Analogy (แนวเทียบ) ในภาษาอังกฤษ แต่แรกนั้นหมายถึงสัดส่วน (proportionality (mathematics)) ในความหมายแบบคณิตศาสตร์ จากนั้นมาคำว่าแนวเทียบหมายถึงอัตลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างคู่อันดับคู่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเกี่ยวกับคณิตศาสตร์หรือไม่ หนังสือ Critique of Judgment ของคานต์ได้ยึดในความหมายนี้ คานต์อ้างว่ามีความสัมพันธ์ที่เหมือนกันอยู่ระหว่างวัตถุที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงสองอัน

แนวเทียบในความหมายนี้ถูกนำมาใช้ในการสอบเอสเอทีในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี "คำถามแนวเทียบ" ในรูป "A is to B as C is to what?" ตัวอย่างเช่น "Hand is to palm as foot is to ____?" (มือเป็นกับฝ่ามือ แบบที่เท้าเป็นกับ ____?) คำถามเหล่านี้ถูกถามในรูปแบบแอริสตอเติลคือ HAND : PALM : : FOOT : ____ ในขณะที่ผู้ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นจะสามารถให้คำตอบได้อย่างทันที (นั่นคือ sole หรือฝ่าเท้า) แต่หากต้องระบุและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคู่เช่น Hand และ Palm หรือ Foot และ Sole ก็จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่า เพราะความสัมพันธ์นั้นไม่ปรากฏชัดในความหมายตามพจนานุกรม (lexical definition) ของคำว่า Palm หรือ Sole โดยคำแรกนั้นมีนิยามว่า พื้นผิวฝั่งด้านในของมือ และคำที่สองมีนิยามว่า พื้นผิวฝั่งด้านใต้ของเท้า แนวเทียบและการทำให้เป็นนามธรรมนั้นเป็นกระบวนการทางประชานที่ต่างกัน โดยแนวเทียบเป็นกระบวนการที่ง่ายกว่า แนวเทียบไม่ได้เปรียบเทียบคุณสมบัติทั้งหมดของมือและเท้า แต่เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างมือและฝ่าของมือ และระหว่างเท้าและฝ่าของเท้า[1] แม้มือและเท้าจะแตกต่างกันในหลายแง่มุม แนวเทียบสนใจที่ความเหมือนกันนั่นคือทั้งสองมีพื้นผิวฝั่งด้านในเหมือนกัน คอมพิวเตอร์สามารถใช้ขั้นตอนวิธีเพื่อตอบคำถามแนวเทียบแบบเลือกตอบจากข้อสอบเอสเอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับมนุษย์ ขั้นตอนวิธีนี้วัดความคล้ายกันของความสัมพันธ์ระหว่างคำแต่ละคู่ (นั่นคือ ความคล้ายระหว่างคู่ HAND:PALM และคู่ FOOT:SOLE) ผ่านการวิเคราะห์ข้อความจำนวนมาก โดยจะเลือกคำตอบที่มีความสัมพันธ์ที่คล้ายกันมากที่สุด[2]

ภาวะนามธรรมที่มีร่วมกัน

ในบางวัฒนธรรม ดวงอาทิตย์เป็นมโนทัศน์ต้นทางของแนวเทียบของพระเจ้า

นักปราชญ์ชาวกรีกอย่างเพลโตและแอริสตอเติลให้ความหมายของแนวเทียบที่กว้างกว่า พวกเขามองว่าแนวเทียบเป็นการมีภาวะนามธรรมร่วมกัน[3] วัตถุซึ่งเป็นแนวเทียบกันไม่ได้มีเพียงความสัมพันธ์ที่คล้ายกันเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นมโนทัศน์ รูปแบบ ความสม่ำเสมอ คุณลักษณะ ผลกระทบ หรือปรัชญาที่มีร่วมกันด้วย พวกเขายอมรับว่าสามารถใช้การเปรียบเทียบ อุปลักษณ์ และอุปมานิทัศน์ในการให้เหตุผลได้ และบางครั้งก็เรียกสิ่งเหล่าว่า แนวเทียบ แนวเทียบทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรมเหล่านั้นเข้าใจได้ง่ายขึ้น และทำให้ทุกคนกล้าที่จะใช้มัน

ในยุคกลางมีการสร้างทฤษฎีและการนำแนวเทียบมาใช้งานมากขึ้น นักกฎหมายชาวโรมได้นำการให้เหตุผลแบบแนวเทียบและคำว่า analogia จากภาษากรีกมาใช้ นักกฎหมายยุคกลางแยกแยะระหว่าง analogia legis และ analogia iuris (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง) ในตรรกศาสตร์อิสลาม การให้เหตุผลแบบแนวเทียบถูกนำมาใช้ในกระบวนการกิยาส (qiyas) ในกฎหมายชะรีอะฮ์และนิติศาสตร์ฟีกฮ์ (fiqh) ในเทววิทยาคริสเตียน การให้เหตุผลแบบแนวเทียบถูกนำมาใช้อธิบายคุณลักษณะของพระเจ้า ทอมัส อไควนัส แยกคำออกเป็นสามชนิดคือคำเอกัตถะ (Univocal) ยุคลัตถะ (Equivocal) และสมานัตถะ (Analogous) โดยคำสมานัตถะหมายถึงคำอย่างเช่นคำว่า "วัว" ในประโยค "วันนี้มีวัวขายในตลาดเยอะแยะ" ซึ่งอาจมีความหมายที่ต่างกันแต่เกี่ยวข้องกัน โดยอาจหมายถึงวัวตัวเป็น ๆ หรือเนื้อวัว[4] (ซึ่งในปัจจุบันจะใช้การแบ่งชนิดเป็นคำพ้องรูปพ้องเสียง (homonymy) และคำหลายความหมาย (polysemy) แทน) โธมัส กาเยตาน (Thomas Cajetan) ได้เขียนบทความที่ทรงอิทธิพลซึ่งพูดถึงแนวเทียบ[5] ในทุกกรณีที่กล่าวมา แนวเทียบถูกใช้ในความหมายอย่างกว้างแบบเพลโตและแอริสตอเติล

หนังสือ Portraying Analogy พ.ศ. 2525 ของ เจมส์ ฟรานซิส รอสส์ (James Francis Ross) ซึ่งเป็นการพิจารณาหัวข้อของแนวเทียบเป็นครั้งแรกที่มีความสำคัญหลังจากบทความ De Nominum Analogia ของกาเยตาน ได้แสดงให้เห็นว่าแนวเทียบเป็นลักษณะเฉพาะสากลที่มีอยู่ในโครงสร้างของภาษาธรรมชาติ โดยมีคุณลักษณะที่ระบุได้และคล้ายกฎเกณฑ์แบบหนึ่งซึ่งอธิบายว่าความหมายของคำต่าง ๆ ในประโยคนั้นเกี่ยวข้องพึ่งพากันอย่างไร

กรณีเฉพาะของการอุปนัย

ในทางตรงกันข้าม อิบน์ ตัยมิยะฮ์ (Ibn Taymiyya)[6][7][8] ฟรานซิส เบคอน และ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ในภายหลัง อ้างว่าแนวเทียบเป็นแค่กรณีเฉพาะของการอุปนัย[3] ในมุมมองนี้ แนวเทียบเป็นการอนุมานแบบอุปนัยจากคุณสมบัติที่มีร่วมกัน ไปหาคุณสมบัติอีกประการซึ่งอาจจะมีร่วมกัน ซึ่งคุณสมบัตินี้ต้องมาจากมโนทัศน์ต้นทางเท่านั้น ในรูปแบบดังต่อไปนี้:

ข้อตั้ง
a มีคุณสมบัติ C, D, E, F, G
b มีคุณสมบัติ C, D, E, F
ข้อสรุป
b อาจมีคุณสมบัติ G.

มุมองนี้ไม่ยอมรับว่าแนวเทียบเป็นวิธีการอนุมานหรือวิธีการคิดเป็นของตัวเอง และลดทอนมันเหลือเป็นเพียงการอุปนัยรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การมีการให้เหตุผลแบบแนวเทียบเป็นการให้เหตุผลของตัวเองยังคงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และมนุษยศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง) ทำให้การลดทอนนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจในทางปรัชญา มากไปกว่านั้น การอุปนัยมีข้อสรุปเป็นกรณีทั่วไป แต่แนวเทียบมีข้อสรุปเป็นกรณีเฉพาะ

โครงสร้างที่มีร่วมกัน

ในการศึกษาปลาซีลาแคนท์ มีการใช้แนวเทียบจากปลาชนิดอื่น ๆ จำนวนมาก[3]

นักประชานศาสตร์ร่วมสมัยใช้นิยามของแนวเทียบแบบกว้างซึ่งใกล้เคียงกับความหมายแบบเพลโตและแอริสตอเติล แต่ถูกตีกรอบด้วยทฤษฎี structure mapping (การส่งโครงสร้าง) ของเกนต์เนอร์ (Dedre Gentner) หากอิงตามมุมมองนี้ แนวเทียบคือการส่งหรือการจับคู่ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ของมโนทัศน์ต้นทางและปลายทาง แต่ไม่ใช่ระหว่างวัตถุสองสิ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ และระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างความสัมพันธ์ ทฤษฎีนี้ถูกนำมาใช้และได้รับการยืนยันปริมาณหนึ่งในสาขาจิตวิทยา และประสบความสำเร็จพอสมควรในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง) งานศึกษาบางงานขยายแนวทางนี้ไปใช้กับหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงเช่นเรื่องอุปลักษณ์และความคล้าย แนวคิดของการส่งระหว่างมโนทัศน์ต้นทางกับปลายทางแบบเดียวกันนี้ถูกใช้โดยนักทฤษฎีมโนอุปลักษณ์และการหลอมรวมมโนทัศน์ (conceptual blending)[9].

คีธ โฮลีโอก (Keith Holyoak) และ พอล ธาการ์ด (Paul Thagard) ได้พัฒนาทฤษฎี multiconstraint (หลากเงื่อนไขบังคับ) ขึ้นมาภายในทฤษฎี structure mapping พวกเขากล่าวป้องว่า "ความสอดคล้อง" (Coherence theories of truth) ของแนวเทียบอันหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับความสอดคล้องกันในแง่ของโครงสร้าง ความคล้ายกันทางความหมาย (semantic similarity) และจุดประสงค์ของมัน ความสอดคล้องกันเชิงโครงสร้างนั้นสูงที่สุดเมื่อแนวเทียบนั้นเป็นสมสัณฐาน (isomorphism) แต่ความสอดคล้องกันในระดับที่ต่ำลงมาก็ยังถือว่ายอมรับได้ ความคล้ายกันหมายความว่าการส่งจะต้องเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบและความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของมโนทัศน์ต้นทางและปลายทางที่คล้ายกันไม่ว่าอยู่ในภาวะนามธรรมระดับไหนก็ตาม ความคล้ายกันมีระดับสูงที่สุดเมื่อมีความสัมพันธ์แบบเดียวกันและองค์ประกอบที่ถูกเชื่อมโยงกันซึ่งมีคุณลักษณะที่เหมือนกันหลายประการ สุดท้ายในส่วนของจุดประสงค์ จุดประสงค์คือความสามารถที่แนวเทียบอันหนึ่งจะช่วยในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในมือ ทฤษฎี multiconstraint พบเจอกับปัญหาได้เมื่อเผชิญกับมโนทัศน์ต้นทางที่หลากหลาย แต่เป็นอุปสรรคที่สามารถก้าวข้ามได้[10][3] ต่อมาฮัมเมิลและโฮลีโอกสร้างแบบจำลองทฤษฎี multiconstraint ไว้เป็นโครงข่ายประสาท[11] ปัญหาหนึ่งของทฤษฎี multiconstraint เกิดขึ้นจากมโนทัศน์ของความคล้าย ซึ่งในแง่นี้ไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนออกจากแนวเทียบเสียเอง การนำไปประยุกต์ใช้ในคอมพิวเตอร์จึงทำให้จะต้องมีคุณลักษณะหรือความสัมพันธ์อันใดก็ตามซึ่งจำเป็นต้องเหมือนกันในภาวะนามธรรมระดับหนึ่ง แบบจำลองจึงถูกขยายต่อใน พ.ศ. 2551 ให้เรียนความสัมพันธ์จากตัวอย่างซึ่งไม่ถูกจัดโครงสร้าง[12]

ใน พ.ศ. 2531 มาร์ก คีน (Mark Keane) และ ไมก์ เบรย์ชอว์ (Mike Brayshaw) ได้พัฒนา Incremental Analogy Machine (เครื่องทำแนวเทียบแบบส่วนเพิ่ม) ขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยเงื่อนไขบังคับของหน่วยความจำใช้งาน รวมถึงเงื่อนไขบังคับทางโครงสร้าง ทางความหมาย และทางปฏิบัติ เพื่อเลือกเซตย่อยของมโนทัศน์ต้นทางและส่งจากต้นทางไปยังปลายทางอย่างเป็นลำดับ[13][14] หลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าลำดับการนำเสนอของข้อมูลส่งผลต่อประสิทธิภาพในการส่งเชิงแนวเทียบของมนุษย์[15]

ชาลเมอร์สและคณะอ้างว่าไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการรับรู้ขั้นสูงกับการคิดแบบแนวเทียบ และสรุปว่าแนวเทียบนั้นจริง ๆ แล้วเป็นการรับรู้ขั้นสูง และแนวเทียบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากการรับรู้ขั้นสูง แต่ยังเกิดขึ้นก่อนและในเวลาเดียวกันด้วย โดยการรับรู้ขั้นสูงคือกระบวนการแทนความรู้ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจชุดข้อมูลที่ซับซ้อนในระดับนามธรรมและแนวคิด โดยการคัดเลือกเอาข้อมูลที่สำคัญจากสิ่งเร้าต่าง ๆ การรับรู้จำเป็นต่อแนวเทียบ แต่แนวเทียบก็จำเป็นต่อการรับรู้ขั้นสูงด้วย[16] ในขณะที่ฟอร์บัสและคณะกล่าวว่าข้อสรุปของพวกเขานั้นเป็นแค่คำอุปมาและคลุมเครือเกินกว่าที่จะเป็นประโยชน์ในทางเทคนิค[17] มอร์ริสันและดีทริชอ้างว่ามุมมองทั้งสองที่กล่าวมานั้นไม่ใช่มุมมองที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่เป็นมุมมองของแต่ละแง่มุมของแนวเทียบ[18]

แนวเทียบกับความซับซ้อน

อ็องตวน กอร์นุแอฌอล[19] ได้เสนอว่าแนวเทียบอยู่บนหลักของความเรียบง่ายและความซับซ้อนในการคำนวณ

การให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบคือการหาฟังก์ชัน f จากคู่ของ (x,f(x)) การให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบตามตัวแบบมาตรฐานประกอบด้วย "วัตถุ" สองอย่าง คือ ต้นทาง และ ปลายทาง ปลายทางนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์และจำเป็นต้องใช้ต้นทางเพื่อสามารถอธิบายได้อย่างสมบูณณ์ โดยปลายทางประกอบด้วยส่วนที่มีอยู่คือ St และส่วนที่ขาดหายคือ Rt สมมุติว่าเราสามารถแยกสถานการณ์หนึ่งของต้นทางคือ Ss ซึ่งสอดคล้องกับของปลายทางคือ St กับผลลัพธ์ของต้นทางคือ Rs ซึ่งสอดคล้องกับของปลายทางคือ Rt ได้ เราต้องการหา Bt ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง St และ Rt ด้วย Bs ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง Ss และ Rs

หากรู้ทั้งต้นทางและปลายทางอย่างสมบูรณ์:

หลักการของความยาวการพรรณนาสั้นสุด (minimum description length) ได้รับการนำเสนอโดยริสซาเนน (Jorma Rissanen)[20] วอลเลซ (Chris Wallace (computer scientist)) และโบลตัน[21] โดยใช้ความซับซ้อนแบบคอลโมโกรอฟ (Kolmogorov complexity) หรือ K(x) ซึ่งมีนิยามเป็นคำอธิบายหรือพรรณนาของ x ที่มีขนาดเล็กที่สุด กับแนวทางการอุปนัยของโซโลโมนอฟฟ์ (Ray Solomonoff) หลักการนี้หมายถึงการทำให้ความซับซ้อนในการผลิตปลายทางจากต้นทางหรือ K(target | Source) มีขนาดเล็กที่สุด

ให้ Ms และ Mt เป็นทฤษฎีที่รู้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นโครงสร้างทางมโนทัศน์ที่อธิบายต้นทางและปลายทาง แนวเทียบระหว่างกรณีต้นทางและปลายทางที่ดีที่สุดจึงเป็นแนวเทียบที่ทำให้:

K(Ms) + K(Ss|Ms) + K(Bs|Ms) + K(Mt|Ms) + K(St|Mt) + K(Bt|Mt)       (1).

น้อยที่สุด

หากไม่รู้ปลายทางเลย:

ตัวแบบและคำอธิบายทั้งหมด Ms, Mt, Bs, Ss, และ St ที่ทำให้:

K(Ms) + K(Ss|Ms) + K(Bs|Ms) + K(Mt|Ms) + K(St|Mt)       (2)

น้อยที่สุด ก็เป็นตัวแบบและคำอธิบายที่จะทำให้ได้ความสัมพันธ์ Bt และจึงเป็น Rt ที่น่าพึงพอใจที่สุดสำหรับนิพจน์ (1)

สมมุติฐานเชิงแนวเทียบซึ่งหาแนวเทียบระหว่างกรณีต้นทางกับกรณีปลายทางจึงมีสองส่วนคือ:

  • แนวเทียบใช้ หลักของความเรียบง่าย เหมือนการอุปนัย แนวเทียบระหว่างทั้งสองกรณีที่ดีที่สุดคือแนวเทียบที่ทำให้ปริมาณสารสนเทศที่ต้องใช้เพื่อหาต้นทางจากปลายทางนั้นน้อยที่สุด (1) โดยตัวชี้วัดที่พื้นฐานที่สุดของมันคือทฤษฎีความซับซ้อนในการคำนวณ
  • เวลาหาหรือทำให้กรณีปลายทางสมบูรณ์ด้วยกรณีต้นทาง ตัวแปรที่จะทำให้ (2) น้อยที่สุดนั้นให้สมมุติว่าทำให้ (1) น้อยที่สุดด้วย และจึงให้คำตอบที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้กระทำทางประชาน อาจลดปริมาณของสารสนเทศที่ต้องใช้ในการตีความต้นทางและปลายทาง โดยไม่รวมราคาของการผลิตข้อมูลซ้ำ เขาอาจเลือกใช้นิพจน์ดังต่อไปนี้แทน (2)

K(Ms) + K(Bs|Ms) + K(Mt|Ms)

จิตวิทยาของแนวเทียบ

ทฤษฎี structure mapping

Structure mapping หรือการส่งโครงสร้าง ซึ่งถูกนำเสนอในเบื้องต้นโดย เดดรี เกนต์เนอร์ (Dedre Gentner) เป็นทฤษฎีในจิตวิทยาซึ่งอธิบายกระบวนการทางจิตที่ใช้ในการให้เหตุผลโดยและการเรียนรู้จากแนวเทียบ[9] ทฤษฎีนี้มุ่งอธิบายโดยเฉพาะ ว่าเหตุใดความรู้ที่เป็นที่รู้จักหรือความรู้เกี่ยวกับขอบเขตพื้นฐานนั้นจึงสามารถนำมาใช้ให้ข้อมูลต่อความเข้าใจของบุคคลหนึ่งในมโนทัศน์ที่ไม่คุ้นเคยหรือในขอบเขตเป้าหมายหรือปลายทางได้[22] หากอิงตามทฤษฎีนี้ บุคคลมองว่าความรู้ในขอบเขตหนึ่งของตัวเองเป็นโครงสร้างที่เชื่อมโยงระหว่างกัน[23] หรือพูดอีกแบบคือ ขอบเขตหนึ่งถูกมองว่าประกอบไปด้วยวัตถุ คุณสมบัติของวัตถุ และความสัมพันธ์ซึ่งแสดงถึงวิธีการที่วัตถุต่าง ๆ และคุณสมบัติของพวกมันปฏิสัมพันธ์กัน[24] กระบวนการแนวเทียบนั้นจึงเป็นการรู้จำโครงสร้างที่คล้ายกันระหว่างสองขอบเขต โดยอนุมานเพิ่มเติมความคล้ายกันภายในโครงสร้างผ่านการส่งความสัมพันธ์เพิ่มเติมระหว่างขอบเขตต้นทางและขอบเขตปลายทาง แล้วตรวจสอบการอนุมานเหล่านี้กับความรู้เกี่ยวกับขอบเขตปลายทางที่มีอยู่แล้ว[22][24] โดยทั่วไป ผู้คนนิยมแนวเทียบซึ่งมีความสมนัยหรือสอดคล้องกันในระดับสูงระหว่างระบบสองระบบ (นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างขอบเขตนั้นสอดคล้องกัน ไม่เพียงแค่วัตถุระหว่างขอบเขตนั้นสอดคล้องกันเท่านั้น) เมื่อพยายามอนุมานจากระบบเหล่านั้น นี่เป็นหลักการที่ชื่อว่าหลักการความเป็นระบบ (systematicity principle)

ตัวอย่างที่ถูกนำมาใช้แสดงทฤษฎี structure mapping ใช้ขอบเขตของน้ำไหล และไฟฟ้า[25] ในระบบของน้ำที่ไหลไปมา น้ำไหลไปตามท่อ และอัตราการไหลถูกกำหนดโดยความดันของระบบ ความสัมพันธ์นี้เป็นแนวเทียบกับการไหลของไฟฟ้าภายในวงจรไฟฟ้า ในวงจรหนึ่ง ไฟฟ้าเคลื่อนไปตามสายไฟและกระแสไฟฟ้า หรือก็คืออัตราการไหลของไฟฟ้า ซึ่งถูกกำหนดโดยแรงดันไฟฟ้า หรือความดันของไฟฟ้า ด้วยความคล้ายกันในโครงสร้าง หรือการวางแนวโครงสร้าง ระหว่างขอบเขตทั้งสอง ทฤษฎีการส่งโครงสร้างจะคาดว่าความสัมพันธ์จากขอบเขตหนึ่งในนี้จะถูกอนุมานไปหาอีกขอบเขตผ่านแนวเทียบ[24]

การวางแนวโครงสร้าง

การวางแนวโครงสร้างเป็นกระบวนการหนึ่งในทฤษฎี structure mapping[23] เวลาวางแนวระหว่างสองขอบเขตซึ่งถูกนำมาเปรียบเทียบ บุคคลหนึ่งจะพยายามระบุความคล้ายคลึงร่วมกันระหว่างทั้งสองระบบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ในขณะเดียวกันก็จะคงความสอดคล้องกันหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างสมาชิกต่าง ๆ (นั่นคือ วัตถุ คุณสมบัติ และความสัมพันธ์)[23] ในตัวอย่างแนวเทียบระหว่างน้ำไหลและไฟฟ้า การเทียบท่อน้ำกับสายไฟแสดงถึงความสอดคล้องกันแบบหนึ่งต่อหนึ่งและไม่สอดคล้องกับสมาชิกอื่น ๆ ในแผงวงจร มากไปกว่านั้น การวางแนวโครงสร้างยังมีคุณสมบัติเป็นการเชื่อมต่อแบบขนาน นั่นหมายความว่า เมื่อมีการสอดคล้องกันแบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในทั้งสองระบบ (เช่นอัตราไหลของน้ำเพิ่มขึ้นเมื่อความดันเพิ่มขึ้น คล้ายกับเวลาที่กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเมื่อแรงดันไฟฟ้าเพิ่มขึ้น) วัตถุและคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องย่อมสอดคล้องกันด้วย (นั่นคือ อัตราไหลของน้ำสอดคล้องกับกระแสไฟฟ้า และความดันของน้ำสอดคล้องกับแรงดันไฟฟ้า)[25]

การอนุมานโดยใช้แนวเทียบ

การอนุมานโดยใช้แนวเทียบเป็นกระบวนการที่สองในทฤษฎี structure mapping และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อจากการวางแนวโครงสร้างระหว่างสองขอบเขตที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ [24] ในกระบวนการนี้ บุคคลจะทำการอนุมานเกี่ยวกับขอบเขตเป้าหมายโดยใช้สารสนเทศจากขอบเขตพื้นฐานกับขอบเขตปลายทางนั้น[22] ตัวอย่างดังต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นถึงกระบวนการดังกล่าว[25] โดย 1 แสดงถึงข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตพื้นฐาน 2 แสดงถึงความสอดคล้องกันระหว่างขอบเขตพื้นฐานและปลายทาง และ 3 แสดงถึงการอนุมานเกี่ยวกับขอบเขตปลายทาง:

  1. ในระบบท่อน้ำ ท่อเล็กทำให้อัตราไหลของน้ำลดลง
  2. ท่อขนาดเล็กสอดคล้องกับตัวต้านทานในวงจรไฟฟ้า และน้ำสอดคล้องกับไฟฟ้า
  3. ในวงจรไฟฟ้า ตัวต้านทานทำให้อัตราไหลของไฟฟ้าลดลง

การประเมินผล

การประเมินผลเป็นกระบวนการที่สามในทฤษฎี structure mapping และเกิดขึ้นหลังการวางแนวโครงสร้างและการอนุมานเกี่ยวกับขอบเขตปลายทางสำเร็จ ระหว่างการประเมินผล บุคคลจะตัดสินว่าแนวเทียบที่ได้มานั้นเกี่ยวข้องและเป็นไปได้ไหม[24] กระบวนการนี้ถูกบรรยายว่าเป็นการแก้ปัญหาของการเลือกในแนวเทียบ[26] หรือการอธิบายว่าบุคคลหนึ่งเลือกการอนุมานมาใช้ส่งระหว่างขอบเขตพื้นฐานและปลายทางอย่างไร เพราะแนวเทียบจะไร้ประโยชน์หากจะอนุมานทุกอย่างที่อนุมานได้ เวลาประเมินแนวเทียบอันหนึ่ง บุคคลมักตัดสินมันด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้:  

  • ความถูกต้องเท็จจริง - เวลาประเมินการอนุมานหนึ่งว่าถูกหรือผิด บุคคลจะเปรียบเทียบการอนุมานนี้กับความรู้ที่มีอยู่แล้วของเขาเพื่อหาว่าการอนุมานนี้จริงหรือเท็จ[22] ในเหคุที่ไม่สามารถหาความถูกต้องได้ บุคคลอาจพิจารณาที่การนำมาใช้ได้ของการอนุมาน หรือความเรียบง่ายของการดัดแปลงความรู้เมื่อเคลื่อนย้ายมันจากขอบเขตพื้นฐานมาขอบเขตปลายทาง[24]
  • เป้าหมาย ความเกี่ยวข้อง - เวลาประเมินแนวเทียบ เป็นสิ่งสำคัญที่การอนุมานจะให้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตรงหน้า ตัวอย่างเช่น เวลาพยายามแก้ไขปัญหาหนึ่ง การอนุมานดังกล่าวนั้นทำให้เราเข้าใจและทำให้เราเข้าใกล้คำตอบขึ้นหรือไม่[22] หรือสร้างความรู้ใหม่ที่อาจเป็นประโยชน์หรือไม่[26]

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบ

ภาษา

ภาษาสามารถอำนวยการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบได้โดยการใช้ป้ายแสดงความสัมพันธ์เพื่อทดแทนความโปร่งใสในระดับต่ำ[27] ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ อาจมีปัญหาในการระบุโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกล่องแต่ละชุด (เช่น ชุดที่หนึ่ง: กล่องขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ชุดที่สอง: กล่องขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ) เด็กมักเชื่อมโยงกล่องขนาดกลางในชุดที่หนึ่ง (ซึ่งเป็นขนาดกลางในชุดนี้) กับกล่องขนาดกลางในชุดที่สอง (ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กที่สุดในชุดนี้) และไม่สามารถรับรู้ได้ว่าพวกเขาควรเชื่อมโยงกล่องที่เล็กที่สุดในชุดที่หนึ่งกับกล่องที่เล็กที่สุดในชุดที่สอง หลังจากติดป้ายแสดงความสัมพันธ์แล้ว เช่น 'baby' 'mommy' และ 'daddy' (พ่อ แม่ ลูก) ความสามารถของเด็กในการระบุความสัมพันธ์นี้ดีขึ้นกว่าเดิม[28]

เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ว่า ในขณะที่ภาษาอาจช่วยในการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบ มันไม่ใช่สิ่งจำเป็น งานวิจัยได้พบว่าลิงที่มีความสามารถทางภาษาที่จำกัดสามารถให้เหตุผลได้โดยใช้ความสัมพันธ์ แต่นี่เกิดขึ้นเมื่อต้นทางและปลายทางนั้นวางแนวตรงกันในระดับสูงเท่านั้น[29]

ความโปร่งใส

ความคล้ายกันระหว่างวัตถุซึ่งถูกเชื่อมโยงกันส่งผลต่อการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบ เมื่อความสอดคล้องเชิงวัตถุระหว่างระบบต้นทางกับปลายทางนั้นมีความคล้ายกันสูง นี่เรียกว่าการมีความโปร่งใสสูง ซึ่งช่วยในกระบวนการแนวเทียบ[24] ความโปร่งใสสูงเป็นประโยชน์ต่อการใช้แนวเทียบเพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหา[22] ตัวอย่างเช่น หากนักเรียนคนหนึ่งถูกถามให้คำนวณหาว่านักกอล์ฟแต่ละคนจะต้องใช้ลูกกอล์ฟกี่ลูกในการแข่งขันครั้งหนึ่ง เขาจะสามารถนำคำตอบนี้ไปประยุกต์ใช้กับปัญหาในอนาคตได้เมื่อวัตถุนั้นคล้ายกันมาก (เช่น การให้เหตุผลว่านักเทนนิสแต่ละคนจะต้องใช้ลูกเทนนิสกี่ลูก)[22]

ความสามารถในการประมวล

เพื่อที่จะกระทำกระบวนการทางแนวเทียบ บุคคลจะต้องใช้เวลาเพื่อทำงานผ่านกระบวนการวางแนว การอนุมาน และการประเมินผล หากมีเวลาไม่เพียงพอเพื่อทำการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบ บุคคลนั้นมีโอกาสที่จะสนใจในความสอดคล้องเชิงวัตถุระดับล่างระหว่างทั้งสองระบบ แทนที่จะระบุความสัมพันธ์ระดับสูงแบบแนวเทียบที่น่าจะให้ข้อมูลมากกว่า[24] ผลลัพธ์เดียวกันก็อาจเกิดขึ้นหากความจำเพื่อใช้งานของบุคคลหนึ่งมีภาระการใช้งานทางประชานสูงในขณะนั้น (เช่น บุคคลกำลังพยายามให้เหตุผลด้วยแนวเทียบในขณะเดียวกันที่กำลังจำคำศัพท์คำหนึ่งเก็บไว้ในหัว)[24]

พัฒนาการของความสามารถใช้แนวเทียบ

งานวิจัยยังได้พบว่าเด็กมีความสามารถใช้การเปรียบเทียบเพื่อเรียนรู้แบบแผนที่เป็นนามธรรมได้ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องมีการกระตุ้นจากผู้อื่น[28] คำกล่าวอ้างดังกล่าวได้ถูกทดลอง โดยนักวิจัยได้สอนให้เด็กอายุ 3 ถึง 4 ขวบรู้ถึงความสัมพันธ์อย่างง่ายผ่านการแสดงรูปให้ดูเป็นชุด ๆ แต่ละภาพมีสัตว์สามตัวชนิดเดียวกันและติดป้ายชื่อว่า "toma" ให้เด็ก เด็กบางคนถูกบอกให้เปรียบเทียบระหว่าง 'toma' แต่ละฝูง ในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่ได้บอก หลังจากได้เห็นรูปภาพแล้ว เด็ก ๆ ก็ถูกทดสอบว่าได้เรียบรู้แบบแผนนามธรรมหรือไม่ (ว่า 'toma' หมายถึงกลุ่มของสัตว์ชนิดเดียวกันสามตัว) เด็กได้ดูรูปอีกสองรูปแล้วถูกถามว่า "อันไหนคือ 'toma'" ภาพแรกเป็นคู่จับเชิงสัมพันธ์และแสดงภาพของสัตว์ชนิดเดียวกันสามตัวซึ่งพวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน ในขณะที่ภาพที่สองเป็นคู่จับเชิงวัตถุและแสดงภาพของสัตว์คนละชนิดกันสามตัวชนิดที่เด็กได้เห็นไปก่อนแล้วในขั้นตอนการเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์นี้ เด็กที่ถูกบอกว่าให้เปรียบเทียบระหว่าง toma ระหว่างเรียนรู้มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ถึงแบบแผนและเลือกคู่จับที่เป็นเชิงสัมพันธ์ในขั้นตอนการทดสอบ[27]

เด็กไม่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นเสมอไปเพื่อเปรียบเทียบและเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์แบบนามธรรม สุดท้ายอย่างไรเด็กก็จะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพันธ์ ซึ่งหลังจากนั้นพวกเขาจะเริ่มสนใจที่ระบุโครงสร้างความสัมพันธ์ที่คล้ายกันระหว่างบริบทที่แตกต่างกันมากกว่าแค่ระบุวัตถุที่จับคู่กัน[28] การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งสำคัญในพัฒนาการทางประชานของเด็ก เพราะหากเด็กยังมุ่งสนใจในวัตถุแต่ละอัน ก็จะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้แบบแผนแบบนามธรรมและการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบนั้นถดถอย[28] แต่นักวิจัยบางคนเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพันธ์อันนี้ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยการเติบโตของความสามารถทางประชานพื้นฐานของเด็ก (เช่นความจำเพื่อใช้งานและการยั้งคิดไตร่ตรอง) แต่กลับถูกขับเคลื่อนโดยความรู้เชิงสัมพันธ์ของเด็กเอง เช่นการมีป้ายชื่อสำหรับวัตถุซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ต่าง ๆ นั้นชัดเจนขึ้น[28] อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะกำหนดได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพันธ์นี้เกิดจากการเติบโตของความสามารถทางประชาน หรือการมีความรู้เชิงสัมพันธ์เพิ่มขึ้น[24]

มากไปกว่านั้น งานวิจัยได้ระบุปัจจัยหลายส่วนซึ่งอาจเพิ่มโอกาสที่เด็กจะทำการเปรียบเทียบและเรียนรู้ความสัมพันธ์แบบนามธรรมโดยไม่จำเป็นมีการส่งเสริม[27] การเปรียบเทียบมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าเมื่อวัตถุที่ถูกนำมาเปรียบเทียบนั้นมีความใกล้กันเชิงปริภูมิกาล[27] มีความคล้ายกันสูง (แต่ไม่มากสะจนกลายเป็นวัตถุที่จับคู่กัน ซึ่งจะขัดขวางกระบวนการระบุความสัมพันธ์)[24] หรือมีป้ายชื่อร่วมกัน[28]

การประยุกต์ใช้และชนิด

แนวเทียบเป็นสิ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหา (problem solving) การตัดสินใจ (decision making) การให้เหตุผล (argumentation) การรับรู้ การวางนัยทั่วไป การจำ การสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ การคาดการณ์ ความรู้สึก การอธิบาย (explanation) การวางกรอบความคิด (conceptualization) และการสื่อสาร มันเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของภารกิจพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การระบุสถานที่ วัตถุ และผู้คน เช่น การรับรู้ใบหน้า (face perception) และการรู้จำใบหน้า มีข้อคิดเห็นหนึ่งกล่าวว่าแนวเทียบเป็นส่วนสำคัญของประชาน[30]

แนวเทียบซึ่งแสดงออกเป็นภาษาประกอบด้วยการยกตัวอย่าง การเปรียบเทียบ (Comparison (grammar)) อุปมา อุปลักษณ์ อุปมานิทัศน์ และการเล่านิทานคติสอนใจ แต่ไม่รวมถึงนามนัย (metonymy) ข้อความ (message) ที่มีวลีเช่น "และอื่น ๆ" "เป็นต้น" "อย่างกับว่า/ดังว่า" "อย่าง/ดัง/เหมือน" "ฯลฯ" ฯลฯ เป็นข้อความที่ผู้รับสารต้องใช้ความเข้าใจแบบแนวเทียบ แนวเทียบไม่ได้สำคัญเฉพาะในปรัชญาภาษาสามัญ (ordinary language philosophy) และสามัญสำนึกเท่านั้น (เช่นสุภาษิต (proverb) และสำนวน (idiom) ก็เป็นตัวอย่างของการใช้แนวเทียบแบบนี้) แต่ยังเป็นสิ่งที่สำคัญในวิชาวิทยาศาสตร์ ปรัชญา กฎหมาย และมนุษยศาสตร์ด้วย ในสาขาวิชาภาษาศาสตร์ปริชาน (cognitive linguistics) แนวคิดมโนอุปลักษณ์ (conceptual metaphor) อาจเป็นอย่างเดียวกันกับแนวเทียบ แนวเทียบยังเป็นฐานของการให้เหตุผลเชิงเปรียบเทียบ รวมไปถึงการทดลองต่าง ๆ ซึ่งผลของการทดลองถูกนำไปใช้กับวัตถุซึ่งไม่ได้รับการทดลอง (เช่น การทดลองกับหนูแล้วเอาผลการทดลองไปใช้กับมนุษย์)

ตรรกศาสตร์

นักตรรกวิทยากระทำการวิเคราะห์วิธีการใช้การให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบในการอ้างเหตุผลจากแนวเทียบ (Argument from analogy)

แนวเทียบสามารถกล่าวออกมาได้โดยใช้วลี เป็นอะไรกับ และ อย่างที่/แบบที่ เมื่อแสดงถึงความสัมพันธ์แบบแนวเทียบระหว่างนิพจน์สองอัน ตัวอย่างเช่น "รอยยิ้มเป็นอะไรกับปาก อย่างที่กระพิบตาเป็นอะไรกับตา" ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ เราสามารถเขียนอย่างเป็นรูปนัยได้ด้วยเครื่องหมายทวิภาคเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์แบบนี้ โดยใช้ทวิภาคอันเดียวเพื่อแสดงถึงอัตราส่วน และใช้ทวิภาคสองอันเพื่อแสดงถึงสมการ[31]

ในการสอบ เครื่องหมายทวิภาคซึ่งแสดงถึงอัตราส่วนและสมการถูกยืมมาใช้ และตัวอย่างดังกล่าวสามารถเขียนเป็น "รอยยิ้ม : ปาก :: กระพิบตา : ตา" และอ่านออกเสียงในแบบเดิม[31][32]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Martin, Michael A. (2003). ""It's like... you know": The Use of Analogies and Heuristics in Teaching Introductory Statistical Methods". Journal of Statistics Education. 11 (2). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มีนาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2012.
  2. Turney 2006
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Shelley 2003
  4. พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล (8 เมษายน 2007). "เอกัตถะ (Univocal) ยุคลัตถะ (Equivocal) และสมานัตถะ (Analogous)". gotoknow.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2021.
  5. Hochschild, J. P. (2010). The semantics of analogy: rereading Cajetan's De nominum analogia. นอเตอร์เดม รัฐอินดีแอนา: University of Notre Dame Press. ISBN 9780268081676.
  6. Hallaq, Wael B. (1985–1986). "The Logic of Legal Reasoning in Religious and Non-Religious Cultures: The Case of Islamic Law and the Common Law". Cleveland State Law Review. 34: 79–96 [93–5].
  7. Mas, Ruth (1998). "Qiyas: A Study in Islamic Logic" (PDF). Folia Orientalia. 34: 113–128. ISSN 0015-5675. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กรกฎาคม 2008.
  8. Sowa, John F.; Majumdar, Arun K. (2003). "Analogical reasoning". Conceptual Structures for Knowledge Creation and Communication, Proceedings of ICCS 2003. Berlin: Springer-Verlag. pp. 16–36. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 เมษายน 2010.
  9. 9.0 9.1 Gentner 1983
  10. Holyoak, K.J., and Thagard, P. (1997). The Analogical Mind.
  11. Hummel, J.E., and Holyoak, K.J. (2005). Relational Reasoning in a Neurally Plausible Cognitive Architecture
  12. Doumas, Hummel & Sandhofer 2008
  13. Keane, M.T.; Brayshaw, M. (1988). "The Incremental Analogical Machine: a computational model of analogy.". ใน Sleeman, D.H. (บ.ก.). EWSL'88: Proceedings of the 3rd European Conference on European Working Session on Learning. กลาสโกว์: Pitman. pp. 53–62. ISBN 9780273088004. {{cite conference}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |booktitle= ถูกละเว้น แนะนำ (|book-title=) (help)
  14. Keane, M.T. Ledgeway; Duff, S. (1994). "Constraints on analogical mapping: a comparison of three models" (PDF). Cognitive Science. 18 (3): 387–438. doi:10.1016/0364-0213(94)90015-9.
  15. Keane, M.T. (1997). "What makes an analogy difficult? The effects of order and causal structure in analogical mapping". Journal of Experimental Psychology: Learning, Memory, and Cognition. 23 (4): 946–967. doi:10.1037/0278-7393.23.4.946.
  16. Chalmers, French & Hofstadter 1996
  17. Forbus et al. 1998
  18. Morrison & Dietrich 1995
  19. Cornuéjols, A. (1996). "Analogie, principe d'économie et complexité algorithmique" (PDF). Actes des 11èmes Journées Françaises de l’Apprentissage (ภาษาฝรั่งเศส). Sète. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 มิถุนายน 2012.
  20. Rissanen, J. (1989). Stochastical Complexity and Statistical Inquiry. World Scientific Publishing Company. doi:10.1142/0822. ISBN 9789814507400.
  21. Wallace, C. S.; Boulton, D. M. (สิงหาคม 1968). "An information measure for classification" (PDF). Computer Journal. 11 (2): 185–194. doi:10.1093/comjnl/11.2.185.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 22.6 Gentner, Dedre (2006), "Analogical Reasoning, Psychology of", Encyclopedia of Cognitive Science (ภาษาอังกฤษ), American Cancer Society, doi:10.1002/0470018860.s00473, ISBN 978-0-470-01886-6, สืบค้นเมื่อ 2020-12-09
  23. 23.0 23.1 23.2 Gentner, D.; Gunn, V. (June 2001). "Structural alignment facilitates the noticing of differences". Memory & Cognition. 29 (4): 565–577. doi:10.3758/bf03200458.
  24. 24.00 24.01 24.02 24.03 24.04 24.05 24.06 24.07 24.08 24.09 24.10 Gentner, Dedre; Smith, Linsey A. (2013-03-11). Reisberg, Daniel (บ.ก.). "Analogical Learning and Reasoning". The Oxford Handbook of Cognitive Psychology (ภาษาอังกฤษ). doi:10.1093/oxfordhb/9780195376746.001.0001. ISBN 9780195376746. สืบค้นเมื่อ 2020-12-09.
  25. 25.0 25.1 25.2 Gentner, Dedre; Stevens, Albert L. (2014-01-14). Mental Models (ภาษาอังกฤษ). Psychology Press. doi:10.4324/9781315802725. ISBN 978-1-315-80272-5.
  26. 26.0 26.1 Clement, Catherine A.; Gentner, Dedre (1991-01-01). "Systematicity as a selection constraint in analogical mapping". Cognitive Science (ภาษาอังกฤษ). 15 (1): 89–132. doi:10.1016/0364-0213(91)80014-V. ISSN 0364-0213.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 Gentner, Dedre; Hoyos, Christian (2017). "Analogy and Abstraction". Topics in Cognitive Science (ภาษาอังกฤษ). 9 (3): 672–693. doi:10.1111/tops.12278. ISSN 1756-8765. PMID 28621480.
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 28.5 Hespos, Susan J.; Anderson, Erin; Gentner, Dedre (2020), Childers, Jane B. (บ.ก.), "Structure-Mapping Processes Enable Infants' Learning Across Domains Including Language", Language and Concept Acquisition from Infancy Through Childhood: Learning from Multiple Exemplars (ภาษาอังกฤษ), Cham: Springer International Publishing, pp. 79–104, doi:10.1007/978-3-030-35594-4_5, ISBN 978-3-030-35594-4, สืบค้นเมื่อ 2020-12-09
  29. Christie, Stella; Gentner, Dedre; Call, Josep; Haun, Daniel Benjamin Moritz (February 2016). "Sensitivity to Relational Similarity and Object Similarity in Apes and Children". Current Biology. 26 (4): 531–535. doi:10.1016/j.cub.2015.12.054.
  30. Hofstadter 2001
  31. 31.0 31.1 Research and Education Association (June 1994). "2. Analogies". ใน Fogiel, M (บ.ก.). Verbal Tutor for the SAT. Piscataway, New Jersey: Research & Education Assoc. pp. 84–86. ISBN 978-0-87891-963-5. OCLC 32747316. สืบค้นเมื่อ 25 January 2018.
  32. Schwartz, Linda; Heidrich, Stanley H.; Heidrich, Delana S. (1 January 2007). Power Practice: Analogies and Idioms, eBook. Huntington Beach, Calif.: Creative Teaching Press. pp. 4–. ISBN 978-1-59198-953-0. OCLC 232131611. สืบค้นเมื่อ 25 January 2018.

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiquote
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: แนวเทียบ