ไฮน์ริชที่ 5 เคานต์พาลาไทน์แห่งไรน์
ไฮน์ริชที่ 5 ผู้อาวุโสแห่งเบราน์ชไวค์ (เยอรมัน: Heinrich der Ältere von Braunschweig; ค.ศ. 1175 – 28 เมษายน ค.ศ. 1227) เป็นเคานต์พาลาไทน์แห่งไรน์ตั้งแต่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1195 ถึง ค.ศ. 1213
ประวัติ
[แก้]ไฮน์ริชเป็นบุตรชายคนโตของไฮน์ริชสิงห์ ดยุคแห่งซันเซินและไบเอิร์น กับมาทิลดาแห่งอังกฤษ[1] พระราชธิดาคนโตของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษกับอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน และเป็นพี่ชายของอนาคตจักรพรรดิอ็อทโทที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หลังบิดาถูกจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บาร็อสซาแห่งราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินถอดออกจากตำแหน่งดยุคแห่งซัคเซินและไบเอิร์น ไฮน์ริชได้ติดตามบิดาซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในอังกฤษ ในราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 และได้เติบโตในอังกฤษ เมื่อครอบครัวเดินทางกลับเยอรมนีในปี ค.ศ. 1189 ไฮน์ริชผู้ลูกได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเองด้วยการปกป้องที่พักในเบราน์ชไวค์ของตระกูลเวล์ฟจากกองทัพของพระเจ้าไฮน์ริชที่ 6 พระราชโอรสของจักรพรรดิ ปีต่อมาตระกูลเวล์ฟได้ลงนามสงบศึกกับราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟิน ไฮน์ริชกับโลทาร์ผู้เป็นน้องชายตกเป็นตัวประกันของกษัตริย์ เขาได้เข้าร่วมกับกองทัพเยอรมันในการสู้รบในปี ค.ศ. 1191 กับราชอาณาจักรซิซิลีของอิตาลีและมีส่วนร่วมในการปิดล้อมเนเปิลส์ แต่สุดท้ายเขาได้ทิ้งการสู้รบหนีไปมาร์แซย์ และกลับไปเยอรมนีเพราะเข้าใจผิดว่าจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 6 สวรรคตแล้ว เป็นเหตุให้จักรพรรดิไฮน์ริชต้องถอนทัพออกจากซิซิลีและจักรพรรดินีคอนสแตนซ์ถูกคุมขัง
ไฮน์ริชกลายเป็นทายาทในรัฐพาลาทิเนตแห่งไรน์จากการสมรสกับอักเน็สแห่งโฮเอินชเตาเฟิน ลูกพี่ลูกน้องของจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 6 ซึ่งเป็นธิดาและทายาทของค็อนราท เคานต์พาลาไทน์แห่งไรน์ในปี ค.ศ. 1193 ซึ่งในตอนแรกบิดาของเธอมีแผนจะให้เธอสมรสเข้าราชวงศ์ฝรั่งเศส แต่เมื่อจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 6 ต้องการจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินกับตระกูลเวล์ฟ อักเน็สจึงถูกบิดาและจักรพรรดิจับให้สมรสกับไฮน์ริชเพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูล หลังการสมรสไฮน์ริชได้กลายเป็นพันธมิตรคนสนิทของจักรพรรดิและได้ติดตามพระองค์ไปพิชิตซิซิลีในปี ค.ศ. 1194/95
ในปี ค.ศ. 1195 ค็อนราท บิดาของอักเน็ส และไฮน์ริชสิงห์ บิดาของไฮน์ริชได้ถึงแก่กรรม ไฮน์ริชได้สืบทอดทั้งรัฐพาลาทิเนตของพ่อตาและดัชชีซัคเซินของบิดา ในปี ค.ศ. 1197 เขาได้ออกเดินทางไปทำสงครามครูเสดร่วมกับจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 6[2] หลังการยุติลงของสงครามครูเสดและการสวรรคตอย่างกระทันหันของจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 6 ไฮน์ริช เคานต์พาลาไทน์ได้เดินทางกลับเยอรมนีและเข้าไปพัวพันในการแย่งชิงบัลลังก์จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1198 ระหว่างราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินกับตระกูลเวล์ฟ โดยในตอนแรกไฮน์ริชได้เลือกอยู่ฝั่งตระกูลเวล์ฟซึ่งนำโดยอ็อทโท น้องชายของตน แต่ความเกรียงไกรของฝ่ายโฮเอินชเตาเฟินซึ่งนำโดยฟิลลิพแห่งชวาเบินทำให้การรักษารัฐพาลาทิเนตไว้เป็นเรื่องยาก ไฮน์ริชจึงย้ายไปอยู่ฝั่งโฮเอินชเตาเฟินในปี ค.ศ. 1204 หลังแบ่งดินแดนของตระกูลเวล์ฟกับอ็อทโทและวิลเฮ็ล์มผู้เป็นน้องชาย ไฮน์ริชได้ย้ายไปปกครองอาณาเขตทางเหนือของซัคเซินและได้รับการรับรองตำแหน่งเคานต์พาลาไทน์จากฟิลลิพแห่งชวาเบิน การแย่งชิงบัลลังก์สิ้นสุดลงหลังฟิลลิพถูกสังหารในปี ค.ศ. 1208 อ็อทโทได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นจักรพรรดิอ็อทโทที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และไฮน์ริชได้ย้ายกลับมาอยู่ฝั่งน้องชายอีกครั้ง
หลังได้สืบทอดดินแดนสำคัญของซัคเซินต่อจากวิลเฮ็ล์มผู้เป็นน้องชายในปี ค.ศ. 1213 ไฮน์ริชได้เกษียณตัวจากรัฐพาลาทิเนตและได้ยกรัฐให้แก่ไฮน์ริชที่ 2 บุตรชายซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่พอ แม้จะปกครองดัชชีซัคเซินเพียงอย่างเดียว แต่เขายังคงขนานนามตนเองว่าเคานต์พาลาไทน์และดยุคแห่งซัคเซิน ในปี ค.ศ. 1214 ไฮน์ริชผู้ลูกถึงแก่กรรมโดยไร้ซึ่งทายาท ทรัพย์สินที่ดินส่วนของตระกูลเวล์ฟจึงตกเป็นของอ็อทโท บุตรชายของวิลเฮ็ล์มที่ภายหลังได้ขึ้นเป็นดยุคแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์คคนแรกในปี ค.ศ. 1235 ขณะที่รัฐพาลาทิเนตตกเป็นของอักเน็ส น้องสาววัยยี่สิบต้น ๆ ของไฮน์ริชผู้ลูกที่ถูกจับหมั้นหมายไว้กับลุดวิจ บุตรชายของอ็อทโท ดยุคแห่งไบเอิร์นซึ่งอยู่ฝั่งราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟิน
ไฮน์ริชถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1227 ที่เบราน์ชไวค์ ร่างของเขาถูกฝังในอาสนวิหารเบราน์ชไวค์
ครอบครัว
[แก้]ในปี ค.ศ. 1193 ไฮน์ริชได้สมรสกับอักเน็สแห่งโฮเอินชเตาเฟิน[3] ธิดาของค็อนราท เคานต์พาลาไทน์แห่งไรน์ ทั้งคู่มีบุตรธิดาด้วยกัน คือ
- ไฮน์ริช (เกิด ค.ศ. 1197) สืบทอดตำแหน่งเป็นเคานต์พาลาไทน์ต่อบิดาที่เกษียณตัว สมรสกับมาทิลดา ธิดาของอ็องรีที่ 1 ดยุคแห่งบราบันต์
- เอียร์เมินการ์ท (เกิด ค.ศ. 1200) สมรสกับแฮร์มันที่ 5 มาร์เกรฟแห่งบาเดิน
- อักเน็ส (เกิด ค.ศ. 1201) สมรสกับอ็อทโทที่ 4 ดยุคแห่งไบเอิร์น
ราวในปี ค.ศ. 1209 ไฮน์ริชได้สมรากับอักเน็สแห่งลันทซ์แบร์ค ธิดาของค็อนราทที่ 2 มาร์เกรฟแห่งเลาซิทซ์[1]
อ้างอิง
[แก้]- Henry V, Count Palatine of the Rhine
- Heinrich (I.) der Ältere von Braunschweig - Die Pfalzgrafen bei Rhein
- ↑ 1.0 1.1 Lyon, Jonathan R. (2013). Princely Brothers and Sisters: The Sibling Bond in German Politics, 1100-1250. Cornell University Press, p. 243.
- ↑ Nicholson, Helen (2001). Love, War, and the Grail. Brill, p. 12
- ↑ Schutz, Herbert (2010). The Medieval Empire in Central Europe: Dynastic Continuity in the Post-Carolingian Frankish Realm, 900-1300. Cambridge Scholars Publishing, p. 239.