ข้ามไปเนื้อหา

โจอิจิโร ทัตสึโยชิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โจอิจิโร ทัตสึโยชิ
โจอิจิโร ทัตสึโยชิ ในพิธีเปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ครั้งที่ 28 เมื่อปี พ.ศ. 2558
เกิดโจอิจิโร ทัตสึโยชิ
17 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 (54 ปี)
คูราชิกิ ประเทศญี่ปุ่น
ชื่ออื่น浪速のジョー
Naniwa no Joe (โจแห่งนานิวะ)
สถิติ
น้ำหนักแบนตัมเวท
ซูเปอร์แบนตัมเวท
ซูเปอร์ฟลายเวท
ส่วนสูง163 เซนติเมตร (5 ฟุต 4 นิ้ว)

โจอิจิโร ทัตสึโยชิ (ญี่ปุ่น: 辰吉丈一郎โรมาจิTatsuyoshi Jo'ichirō) อดีตนักมวยสากลชื่อดังชาวญี่ปุ่น แชมป์โลก WBC รุ่นแบนตัมเวท 2 สมัย

ประวัติ

[แก้]

เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ที่เมืองคูราชิกิ จังหวัดโอกายามะ[1] แต่ต่อมาได้อพยพมาอาศัยและเติบโตที่โอซากะ จังหวัดโอซากะ โดยชื่อ โจอิจิโร นั้นมาจากชื่อ ยาบูกิ โจ ตัวละครเอกในหนังสือการ์ตูนเรื่อง Tomorrow's Joe (โจ สิงห์สังเวียน) โดยพ่อเป็นผู้ให้ตั้งเอง โดยหวังจะให้ลูกชายตนเองเป็นแชมป์โลกเหมือนในการ์ตูน

ทัตสึโยชิเคยเป็นนักมวยญี่ปุ่นที่ชกน้อยครั้งสุดแล้วเป็นแชมป์โลก (ปัจจุบันสถิตินี้ได้ถูกทำลายลงโดย​ โคเซ ทานากะ ด้วยการชกในเวลา 5 ครั้ง​ในปี พ.ศ. 2558) เมื่อการชกครั้งที่ 8 ก็ได้ขึ้นชิงแชมป์โลก WBC รุ่นแบนตัมเวท กับ เกร็ก ริชาร์ดสัน นักมวยชาวอเมริกัน และเป็นฝ่ายเอาชนะอาร์ทีดี​ไปได้ในยกที่ 10 แต่หลังจากนั้น โจอิจิโร ทัตสึโยชิ ก็มีปัญหาทางสุขภาพ เนื่องจากจอตาเสีย ต้องหยุดพักเพื่อรักษาตัวนานถึง 1 ปี และต่อมาก็ป้องกันตำแหน่งกับบิกตอร์ ราบานาเลส นักมวยชาวเม็กซิกัน ซึ่งเป็นแชมป์เฉพาะกาลในรุ่นนี้ และเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอ​ราบานาเลสไปอย่างบอบช้ำ

ต่อมาแก้มือชิงแชมป์เฉพาะกาล WBC รุ่นแบนตัมเวทที่ว่าง กับบิกตอร์ นาบานาเรส อีก ก่อนชนะคะแนนไปแบบไม่เป็นเอกฉันท์ แต่ทางสมาคมมวยอาชีพญี่ปุ่น (JBC) ไม่รับรองผลการชก เพราะอาการบาดเจ็บที่จอตา ทัตสึโยชิต้องเดินทางไปชกนอกรอบที่อเมริกา ในปี พ.ศ. 2537 ก่อนจะเดินเรื่องกลับมาชกที่ญี่ปุ่นได้ เพื่อมาชิงแชมป์โลกจริงกับนักมวยเจ้าของแชมป์​ชาวญี่ปุ่น​ด้วยกัน คือ "ยาซูเอะ ยากูชิจิ" แม้มือซ้ายของทัตสึโยชิหักตั้งแต่ยก 1 แต่ก็กัดฟันสู้พลางถอยพลาง จนครบ 12 ยก เป็นฝ่ายแพ้คะแนนไปอย่างไม่เอกฉันท์ ก่อนที่จะเลื่อนรุ่นไปชกในรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวทจนติดอันดับรองแชมป์โลก WBC อันดับ 1 รุ่นเดียวกัน ต่อมาทัตสึ​โยชิ​ได้ขึ้นชิงแชมป์โลกกับดานิเอล ซาราโกซา นักมวยเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก WBC รุ่นซูเปอร์​แบนตัมเวท​ชาวเม็กซิกันผู้มากประสบการณ์ ในต้นปี พ.ศ. 2539 แม้จะได้เปรียบซาราโกซาในช่วงต้น แต่เมื่อซาราโกซาตั้งตัวได้ติด ก็ได้ชกจนทัตสึโยชิเป็นแผลแตกที่เปลือกตาและตาแทบปิด กรรมการยุติการชกยกที่ 11 ต่อมาแม้จะขอแก้มือกับ ดานิเอล ซาราโกซา อีกแต่ก็แพ้คะแนนเอกฉันท์ ในต้นปี พ.ศ. 2540

จนกระทั่งปลายปีเดียวกันได้ตัดสินใจชิงแชมป์โลกอีกครั้ง โดยการชกครั้งนี้เป็นการตัดสินชะตาชีวิตบนสังเวียนผ้าใบของทัตสึโยชิ หากแพ้ก็จะแขวนนวมทันที โดยลดรุ่นมาชิงในรุ่นเดิม คือ แบนตั้มเวท กับ ศิริมงคล สิงห์มนัสศักดิ์ แชมป์โลกชาวไทย โดยใช้ชื่อศึกครั้งนี้ว่า "Final Judgement" ซึ่งการชกครั้งนี้ศิริมงคลต้องประสบปัญหาการลดน้ำหนักตัวเป็นอย่างมาก ถึงวันชกสภาพร่างกายซูบซีด แก้มตอบ ตากลวงลึกโบ๋ แต่ศิริมงคลก็ยังอดทนกัดฟันแลกหมัดกับทัตสึโยชิและเกือบน็อกทัตสึโยชิได้หลายครั้ง แต่ทัตสึโยชิซึ่งสภาพร่างกายดีกว่าเป็นฝ่ายชกหมัดซ้ายตรงเข้าลิ้นปี่ศิริมงคลทรุดลงให้กรรมการนับในยกที่ 7 ก่อนจะรัวหมัดใส่ศิริมงคลจนต้องยุติการชกในยกเดียว​กัน ทัต​สึ​โยชิ​เป็นฝ่ายชนะทีเคโอได้แชมป์โลก WBC รุ่นแบนตัมเวท อีกครั้งเป็นสมัยที่ 2

จากนั้นจึงป้องกันตำแหน่งครั้งแรกชนะคะแนน โฆเซ ราฟาเอล โซซา นักมวยชาวอาร์เจนไตน์ แล้วป้องกันครั้งที่สองไปอย่างไม่ประทับใจเพราะเป็นฝ่ายชนะคะแนนโดยเทคนิคยอดมวยชาวอเมริกัน พอลลี อยาลา ไปอย่างน่ากังขา ก่อนที่จะมาเสียแชมป์ด้วยการแพ้ทีเคโอ​ให้ วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น ในปลายปี พ.ศ. 2541 ในการป้องกันครั้งที่สาม

ต่อจากนั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542 ได้ชกแก้มืออีกครั้งกับ วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น โดยใช้ชื่อศึกครั้งนี้ว่า "Final Chapter" เพราะพ่อของทัตสึโยชิเพิ่งจะเสียชีวิตไปก่อนการชกไม่นาน โดยทัตสึโยชิประกาศสู้ตาย ยอมตายไม่ยอมแพ้ และไม่ว่าชนะหรือแพ้จะเป็นไฟท์สุดท้ายของตน เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการชกครั้งนี้ทัตสึโยชิสวมกางเกงและรองเท้าสีน้ำเงิน ผิดแผกไปจากการชกครั้งก่อน ๆ ที่จะสวมกางเกงและรองเท้าสีขาวล้วนมาโดยตลอด ผลการแข่งขันทัตสึโยชิเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอในยกที่ 7

หลังจากแพ้วีระพลและแขวนนวมไปพักใหญ่ โจอิจิโร ทัตสึโยชิ ก็เรียก แสน ส.เพลินจิต มาชกอุ่นเครื่อง แล้วต่อยหมัดชุดอัดแสนอยู่ข้างเดียว โดยที่หมัดของแสนทำอะไรทัตสึโยชิไม่ได้เลย โดนชกอยู่ข้างเดียวจนยก 6 กรรมการก็จับแสนแพ้ทีเคโอไป ต่อมา ทัตสึโยชิในวัย 38 ปี ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นชกในญี่ปุ่น ได้มาขึ้นชกมวยสากลที่เวทีราชดำเนิน ชนะน็อก พลังชัย ชูวัฒนะ ยก 2 และต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552 ทัตสึโยชิได้เดินทางมาชกที่เมืองไทยอีกครั้ง ณ เวทีมวยราชดำเนิน โดยพบกับ ซาไก จ๊อกกี้ยิม ซึ่งปรากฏว่าไฟท์นี้เกิดการพลิกความคาดหมาย เนื่องจากทัตสึโยชิ ถูกหมัดชุดและหมัดเหวี่ยงของซาไกแพ้ทีเคโอ (กรรมการยุติการชก) อย่างสิ้นสภาพไปในยกที่ 7[2] [3]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้มีการสร้างภาพยนตร์สารคดีชีวประวัติของทัตสึโยชิ ในชื่อ "Joe, Tomorrow – 20 years with Joichiro Tatsuyoshi, a Legendary Boxing Champ" กำกับโดย ซากาโมโตะ จุนจิ โดยเปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ครั้งที่ 28 ที่กรุงโตเกียว โดยมีเนื้อหาเริ่มตั้งแต่ที่ทัตสึโยชิชนะบิกตอร์ ราบานาเรส ได้แชมป์เฉพาะกาล จากนั้นจึงประสบกับปัญหาต่าง ๆ รวมถึงชีวิตครอบครัวอีกด้วย เป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 20 ปี[4]

โจอิจิโร ทัตสึโยชิ เป็นนักมวยที่มีมาดกวน โดยมักจะทำทีท่าว่าไม่ยี่หระกับคู่ต่อสู้ นั่นเป็นเพราะตัวเขาเป็นนักมวยที่ได้รับความนิยมจากทั้งผู้เป็นแฟนมวยและไม่ใช่แฟนมวยชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นซุปเปอร์สตาร์นักกีฬาชาวญี่ปุ่นก็ว่าได้ ไม่ใช่เพราะฝีมือ แต่เป็นเพราะชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้มาตลอด เหมือนตัวละครในการ์ตูน โดยมีพ่อเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้าง แม้จะประสบปัญหาเรื่องสายตามาโดยตลอดก็ตาม แต่ก็ไม่ละทิ้งความหวัง พยายามกลับมาเป็นแชมป์โลกให้ได้หลายครั้ง

เพลงที่เปิดประกอบในช่วงเวลาเดินขึ้นเวทีประจำตัวของทัตสึโยชิ คือ "Main Theme" เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง เกมมังกร หรือ Game Of Death พ.ศ. 2521 โดยจอห์น แบร์รี

เกียรติประวัติ

[แก้]
  • แชมป์โลก WBC รุ่นแบนตัมเวท
  • แชมป์เฉพาะกาล WBC รุ่นแบนตัมเวท
  • แชมป์โลก WBC รุ่นแบนตัมเวท (สมัยที่ 2)​
  • เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
    • ชิงแชมป์โลก WBC รุ่นแบนตัมเวท 4 ธันวาคม 2537 แพ้คะแนน ยาซูเอะ ยากูชิจิ ( ญี่ปุ่น) ที่นิปปงไงจิฮอล นาโงยะ ประเทศญี่ปุ่น
    • ชิงแชมป์โลก WBC รุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวท เมื่อ 3 มีนาคม 2539 แพ้ทีเคโอยกที่ 11 ดานิเอล ซาราโกซา ( เม็กซิโก) ที่โยโกฮามะอารีนา โยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น
    • ชิงแชมป์โลก WBC รุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวท เมื่อ 14 เมษายน 2540 แพ้คะแนน ดานิเอล ซาราโกซา ( เม็กซิโก) ที่ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ โอซากะ ประเทศญี่ปุ่น
    • ชิงแชมป์โลก WBC รุ่นแบนตัมเวท เมื่อ 29 สิงหาคม 2542 แพ้ทีเคโอยกที่ 7 วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น ( ไทย) ที่เคียวเซร่าโดม โอซากะ ประเทศญี่ปุ่น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Joichiro Tatsuyoshi, Boxing Record Archive
  2. Biography of Joichiro Tatsuyoshi (อังกฤษ)
  3. สุดสลด!!ซาไก จ๊อคกี้ยิม ดวลหมัดดับ จากสนุกดอตคอม (ไทย)[ลิงก์เสีย]
  4. "ญี่ปุ่นเปิดตัวหนังสารคดีตามติดชีวิต20ปี "โจ ทัตสึโยชิ" คู่ปรับ "วีระพล-ศิริมงคล-แสน"". มติชน. 2015-10-30. สืบค้นเมื่อ 2016-10-25.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]