เรือหลวงธนบุรี

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรือหลวงธนบุรี
ประวัติ
ประเทศไทย
ชนิด:เรือปืนยามฝั่ง
ชื่อเรือหลวงธนบุรึ (HTMS Thonburi)
ตั้งชื่อตามกรุงธนบุรี
รางวัล เหรียญกล้าหาญ
อู่เรือคะวะซะกิ เมืองโคเบะ ประเทศญี่ปุ่น
ปล่อยเรือ12 มกราคม พ.ศ. 2479
เดินเรือแรก31 กรกฎาคม พ.ศ. 2480
เข้าประจำการ5 ตุลาคม พ.ศ. 2481
ปลดระวาง26 กันยายน พ.ศ. 2484
Stricken19 มิถุนายน พ.ศ. 2502
ความเป็นไปจัดเป็นอนุสรณ์สถาน ณ โรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ (เฉพาะป้อมปืนหน้าและหอบังคับการ)
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือปืนยามฝั่ง
ขนาด (ระวางขับน้ำ):

มาตรฐาน:2301 ตัน

เต็มที่:2265 ตัน
ความยาว: 77.01 เมตร
ความกว้าง: 14.43 เมตร
กินน้ำลึก: 4.19 เมตร
ระบบขับเคลื่อน: เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง กำลัง 5,200 แรงม้าต่อเครื่อง
ความเร็ว:
  • 12.2 นอต (มัธยัสถ์)
  • 15.8 นอต (สูงสุด)
ลูกเรือ: 234 นาย
ยุทโธปกรณ์: หมู่ปืนใหญ่ 8 นิ้ว (203 มม.) Naval Gun Type 3 ป้อมละ 2 กระบอก จำนวน 2 ป้อม และปืนอเนกประสงค์ 75 มม. Type 51 จำนวน 4 กระบอก ปืนกลอากาศ 20 มม. แท่นคู่ จำนวน 2 แท่น
สิ่งป้องกัน:

ด้านข้างเรือ 63.5 มม. (2 นิ้ว) ดาดฟ้าเรือ 38+25 มม. (1.5+1) ป้อมปืน 100 มม. (4 นิ้ว)

หอบังคับการ 102 มม. (4 นิ้ว)
อากาศยาน: ไม่มี

เรือหลวงธนบุรี เป็นเรือรบประเภทเรือปืนยามฝั่งของกองทัพเรือไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงกรณีพิพาทอินโดจีน ก่อนที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2484

ประวัติ

เรือหลวงธนบุรีเป็นเรือรบประเภทเรือปืนยามฝั่ง จัดอยู่ในชั้นเรือเดียวกันกับเรือหลวงศรีอยุธยา ต่อขึ้นที่อู่ต่อเรือกาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2479 เป็นขุมกำลังสำคัญของกองทัพเรือไทยในช่วงกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส โดยเรือหลวงธนบุรีได้เข้าทำการรบอย่างกล้าหาญในยุทธนาวีเกาะช้างเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 จนสามารถขับไล่ข้าศึกได้สำเร็จ แต่เรือได้รับความเสียหายอย่างหนักมาก เรือหลวงช้างจึงลากจูงให้มาเกยตื้นในเย็นวันเดียวกันที่แหลมงอบ จังหวัดตราด

ภายหลังเมื่อมีการกู้เรือหลวงธนบุรีแล้ว กองทัพเรือได้ลากจูงเรือมาทำการซ่อมใหญ่ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2484 แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเสียหายหนักเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ จึงปลดระวางจากการเป็นเรือรบ และใช้เป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนปลดระวางประจำการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ทางราชการจึงได้นำส่วนป้อมปืนเรือและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ภายในโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

ชื่อของเรือหลวงธนบุรีได้มาจากนาม "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" อันเป็นนามของราชธานีไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. 2310 – 2325)

เกียรติยศ

หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีน เรือหลวงธนบุรีได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติจากการปฏิบัติหน้าที่ในยุทธนาวีเกาะช้าง ปรากฏหลักฐานในแจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 หน้า 2810 ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2484 ทั้งนี้ มีกำลังพลของกองทัพเรือที่ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญพร้อมกัน จำนวน 18 นาย ในจำนวนนี้เป็นกำลังพลของเรือหลวงธนบุรี 14 นาย ซึ่งได้แก่ [1]

  1. นาวาเอก หลวงพร้อมวีระพันธ์ (พร้อม วีระพันธ์) (เสียชีวิตในการรบ)
  2. นายเรือเอก เฉลิม สถิระถาวร
  3. นายเรือโท ขัน วงศ์กนก (เสียชีวิตในการรบ)
  4. นายเรือตรี พรม รักษ์กิจ (เสียชีวิตในการรบ)
  5. นายเรือตรี สมัย จำปาสุต (เสียชีวิตในการรบ)
  6. พันจ่าเอก ทองอยู่ เงี้ยวพ่าย
  7. พันจ่าเอก เอี้ยว อึ้งหลี (เสียชีวิตในการรบ)
  8. พันจ่าเอก นวล เสี่ยงบุญ (เสียชีวิตในการรบ)
  9. พันจ่าเอก ลบ นุดนา (เสียชีวิตในการรบ)
  10. พันจ่าเอก ลำดวน ทัพพะเกตุ (เสียชีวิตในการรบ)
  11. พันจ่าเอก ยู่เล้ง อาจสาคร (เสียชีวิตในการรบ)
  12. พันจ่าเอก เพื่อน สุดสงวน
  13. พันจ่าเอก ชุน แซ่ฉั่ว
  14. พันจ่าเอก เอ่ง แซ่ลิ้ม

ส่วนเกี่ยวข้อง

  • ก่อนหน้าที่จะมีการจัดซื้อเรือหลวงธนบุรีนั้น ชื่อของเรือนี้ได้ปรากฏอยู่ในบทละครพูดเรื่อง ร.ต.ล. นนทรี ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารสมุทรสาร ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2459
  • การถ่ายถอดชื่อเรือหลวงธนบุรีเป็นอักษรโรมันมีหลากหลายรูปแบบ เช่น Dhonburi, Dornbury สำหรับกองทัพเรือไทยใช้ว่า Thonburi[2]

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

  1. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญ. 26 สิงหาคม 2484" ราชกิจจานุเบกษา. 58 (2 กันยายน 2484) : 2810-2811.
  2. เรือรบในรัชสมัย ร.8 - บทความชุด วันจักรี ของเว็บไซต์กองทัพเรือไทย

แหล่งข้อมูลอื่น