เมืองพระรถ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เมืองพระรถ เป็นเมืองโบราณ ที่ตั้งอยู่ในตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วยโบราณสถานสมัยทวารวดี

ประวัติ[แก้]

พระสถูปโบราณบริเวณเนินธาตุ โบราณสถาน เมืองพระรถ ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม

เมืองพระรถเป็นชุมชนเมืองโบราณ อยู่ที่ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม อยู่ห่างจากตัวอำเภอพนัสนิคมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ไปทางถนนพนัสนิคม-ฉะเชิงเทรา ตัดทับส่วนหนึ่งของกำแพงและคูเมืองด้านทิศตะวันออก จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ เชื่อว่าเมืองนี้เป็นเมืองในสมัยทวารวดี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16) และเจริญสืบเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18) เมืองพระรถจัดว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่สมัยทวารวดี ตั้งอยู่ระหว่างที่สูงกับที่ลุ่มมาบรรจบกัน บริเวณรอบเมืองเป็นพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวแบบทดน้ำ มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย ลำน้ำที่ไหลผ่านเข้ามาในเขตเมืองพระรถ ได้แก่ คลองสระกลาง คลองหลวง คลองพานทอง คลองสระกลางไหลมาทางด้านทิศใต้ ผ่านตัวอำเภอพนัสนิคมและวัดเกาะแก้ว มายังคูเมืองพระรถด้านตะวันออกเรียกว่า คลองเมือง ดังนั้นเมืองนี้จึงมีสภาพเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมท้องถิ่น เพราะมีลำน้ำต่าง ๆ เชื่อมต่อกับชุมชนร่วมสมัยอื่น ๆ เช่น เมืองศรีมโหสถ

ผังเมืองโบราณสถาน เมืองพระรถ ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม

ที่ตั้ง[แก้]

หมู่ที่ 4 ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แผนที่ทหาร พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7017 ระวาง 5235 IV รุ้ง 13ฐ 27' 55" เหนือ แวง 101 ฐ 10'05" ตะวันออก พิกัดกริด 47 PQQ 346895 ขับรถผ่านโรงเรียนหน้าพระธาตุ ขับตรงไป จะมีทางแยกให้เลี้ยวขวา ขับตรงไป จะพบเจดีย์และศาลต่าง ๆ

โบราณสถาน[แก้]

โบราณสถานมีอยู่ 2 ประเภท คือ ร่องรอยผังเมือง และศาสนสถาน ได้แก่

  • ผังเมืองพระรถ

เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1,550 x 850 เมตร กำแพงเมืองเป็นคันดินสองชั้นสูงจากพื้นดินประมาณสองศอกเศษ ห่างกันชั้นละห้าวา คูเมืองกว้างประมาณสามศอก

  • เนินพระธาตุ

เป็นศาสนสถานตั้งอยู่ตอนหลังของตัวเมืองด้านตะวันตก เป็นเนินพระสถูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ เป็นฐานสถูปแบบทวารวดี ทางด้านเหนือของเนินพระธาตุมีเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ติดกับสระน้ำโบราณ ชาวบ้านเรียกว่า สระฆ้อง บนเนินนี้มีหินปักอยู่ตามมุมทิศสำคัญ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นฐานโบสถ์หรือวิหาร

โบราณวัตถุ[แก้]

โบราณวัตถุ ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบกระจายอยู่ทั่วไป ชิ้นส่วนของเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก พระพุทธรูปแบบทวารวดีปางนาคปรก หินบดยา กังสดาล และแท่นพระพุทธรูปทำด้วยหินขนาดใหญ่ ส่วนโบราณวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ที่พบได้แก่ พระพุทธรูปสำริดแบบลพบุรี พระพุทธรูปศิลาแบบทวารวดี เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนเหนือตัวพนัศบดี (พนัสบดี เป็นสัตว์ที่มีส่วนผสมของครุฑ หงส์ และโค คือมีปากเป็นครุฑ มีเขาเป็นโค และมีปีกคล้ายหงส์ ซึ่งเป็นลักษณะที่รวมพาหนะของเทพเจ้าทั้งสามในศาสนาพราหมณ์) พระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านพบที่คูเมืองด้านใต้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกกันว่า พระพนัสบดี เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอพนัสนิคม โบราณวัตถุที่พบเกือบทั้งหมดเป็นศาสนวัตถุ มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีมาถึงสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 12-18)

ประกาศกรมศิลปากร[แก้]

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมืองพระรถ ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เป็นที่สนใจของผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีตั้งแต่ พ.ศ. 2474 - สำรวจ 2495, 2510 - สำรวจและขุดแต่ง 2510, 2528

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]