เพกมาไทต์
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
เพกมาไทต์ (อังกฤษ: Pegmatite) เป็นหินอัคนีแทรกซอน (Intrusive igneous) มักปรากฏอยู่เป็นสายแร่ ทำให้มักเรียกเป็น "สายแร่เพกมาไทต์" (Pegmatite veins) ประกอบด้วยแร่หลักเพียงควอตซ์ และ เค-เฟลด์สปาร์ และอาจมีมัสโคไวท์, ไบโอไทต์, ทัวร์มาลีน หรือแร่อื่นอยู่บ้างเป็นส่วนประกอบรอง ผลึกแร่ในเพกมาไทต์โดยปกติแล้วจะมีขนาดใหญ่กว่า 2.5 เซนติเมตรแต่บางครั้งอาจมีขนาดใหญ่มากถึง 10 เซนติเมตรได้ ทั้งนี้เนื่องจากสารละลายร้อนมักมีความเข้มข้นน้อย (มีน้ำและไอมาก) และมีพื้นที่สำหรับการตกผลึกดีกล่าวคือมีช่องรอยแตก (fracture) ในหินทำให้สารละลายร้อนและไอค่อย ๆ ทำการตกผลึกช้า ๆ และมีเวลาเพียงพอให้เกิดการตกผลึกใหญ่ ๆ ได้
ส่วนประกอบ
[แก้]เพกมาไทต์มีส่วนประกอบคล้ายกับส่วนประกอบหลักของหินแกรนิต ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงเพกมาไทต์ส่วนมากจะเข้าใจโดยปริยายว่าเป็น "แกรนิตเพกมาไทต์" แม้ว่ามันอาจเกิดได้ในหินอัคนีบาดาล (Plutonic igneous rock) อย่างอื่นบ้างเป็นส่วนน้อย การตกผลึกพร้อมกันช้า ๆ ของควอตซ์ และไมโครคลายน์ ทำให้ได้ลักษณะของผลึกประสานเสียบกันระหว่างสองแร่เป็นลักษณะเฉพาะตัวเรียกว่า "กราฟิกแกรนิต" (Graphic granite)
การเกิดสายแร่
[แก้]สายแร่เพกมาไทต์นั้นเข้าใจว่ามีความเกี่ยวข้องกับการตกผลึกของหินหนืด (Magma) มวลมหาศาล นั่นคือเกี่ยวข้องกับหินอัคนีบาดาลด้วย โดยมีการตกผลึกที่ทำให้เกิดธาตุที่เป็นไอมากขึ้นเรื่อย ๆ ลงในส่วนที่เป็นของเหลวเช่น โบรอน ฟลูออรีน คลอรีน ฟอสฟอรัส และไอน้ำ การมีไอมากขึ้นทำให้ความข้น (หนืด) ของหินหนืดลดลง ทำให้สภาวะการตกผลึกดี ขนาดผลึกใหญ่ขึ้น ซึ่งในขณะการเป็นไอนั้นทำให้ความดันสูงขึ้นด้วยสามารถผลักดันสารละลายแทรกซอนเข้าไปในหินท้องที่ เป็นสายแร่ได้
การตกผลึกทีละครังของสารละลายที่เข้าไปในสายแร่ทำให้ได้เพกมาไทต์ที่มีลักษณะโซน (Zone) ของแร่ได้ โดยมีการตกผลึกที่ผนังสองข้างของรอยแตกก่อนแล้วสารละลายจึงแทรกเข้าไปตรงกลางเปิดช่องว่างให้กว้างขึ้นอีก และแร่รุ่นใหม่กว่าจึงงอกตกผลึกออกจากผนังช่องว่างเรียกว่า “วัค” หรือหากมีรูปทรงคล้ายลูกมะพร้าวเรียก "จีโอด"
ความสำคัญ
[แก้]ความสำคัญของสายแร่เพกมาไทต์ คือ การที่มีธาตุอื่น ๆ ซึ่งมีธาตุรองอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังคงหลงเหลือในสารละลายร้อนและจะมีโอกาสตกผลึกในสายแร่เพกมาไทต์นี้ ซึ่งแร่สำคัญเหล่านี้ได้แก่ เลพิโดไลท์ ทัวร์มาลีน เบริล สปอดโดมีน, แอมบลิโกไนท์ (Ambligonite), โทแพซ อะพาไทต์ และฟลูออไรต์ กลุ่มแร่หายากที่สามารถเกิดได้ในสายแร่เพกมาไทต์ ได้แก่ โคลัมไบต์ แทนทาไลท์ โมนาไซต์ โมลิบดีไนท์ และแร่ที่มีธาตุยูเรเนียม ประกอบอยู่ ซึ่งบางครั้งแร่หาหยากเหล่านี้บางครั้งมีขนาดผลึกใหญ่มากทำให้เป็นแร่เศรษฐกิจที่ดี
อ้างอิง
[แก้]- เอกสารประกอบการบรรยายวิชา Mineralogy I (เล่มที่ 1) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิโรจน์ ดาวฤกษ์
- L.G. Bery & Brain Mason (1959), Mineralogy, Freeman and Co., 611p.
- Klein & Hurlburt (1993), Manual of mineralogy (After Dana) 21st Edition, John Wiley & Sons, Inc., 681p.
- S.I. Tomkeieff (1983), Dictionary of Petrology (Edited by E.K. Walton, B.A.O. Randall, M.H. Battey, O. Tomkeieff), John Wiley & Sons, Inc., 680 p.