เซี่ยตู
下都 | |
แผ่นกระเบื้องสมัยรัฐเยียน | |
ที่ตั้ง | ประเทศจีน |
---|---|
ภูมิภาค | มณฑลเหอเป่ย์ |
พิกัด | 39°37′00.84″N 116°03′21.6″E / 39.6169000°N 116.056000°E |
พื้นที่ | 32 ตร.กม. |
ความเป็นมา | |
สมัย | ประมาณ 697 ก่อน ค.ศ. – 226 ก่อน ค.ศ. |
วัฒนธรรม | เยียน |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ค้นพบ | ค.ศ. 1929 |
เซี่ยตู (จีน: 下都; พินอิน: Xià dōu) เป็นหนึ่งในเมืองหลักของรัฐเยียน ระหว่างยุครณรัฐของจีนโบราณ อาจเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ 400 ถึง 300 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีประชากรสูงสุดประมาณ 300,000 คน[1] เยียนจ้าวหวาง (燕昭王) เจ้าผู้ครองรัฐเยียน (ประมาณปี 311–279 ก่อนคริสต์ศักราช) ได้ย้ายเมืองหลวงของรัฐเยียนไปยังเมืองจี้ (薊) (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) และก่อตั้งเซี่ยตูเป็นเมืองหลวงรองของรัฐ[2][3]
ราวปี พ.ศ. 2472[4] กลุ่มนักโบราณคดีชาวจีนภายใต้การนำของหม่าเหิง (馬衡) นักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ค้นพบซากเมืองโบราณแห่งนี้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ห่าง 7 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเขตเทศมณฑลอี้ (易县), นครเป่าติ้ง ตอนกลางของมณฑลเหอเป่ย์[5] ซึ่งห่าง 100 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงใต้จากใจกลางกรุงปักกิ่ง[6] การขุดค้นเต็มรูปแบบดำเนินการโดยทีมวิจัยด้านวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2504[5] ซากที่ขุดพบเผยให้เห็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างในพื้นที่สี่เหลี่ยมสองกลุ่มที่มีอายุย้อนไปถึงสองช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันคือ กลุ่มหนึ่งจากยุคชุนชิว และอีกกลุ่มจากยุครณรัฐ[7]
เมืองถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนตะวันออกและตะวันตก โดยคั่นด้วยกำแพง[5][8]
สิ่งก่อสร้างกลุ่มแรกทางทิศตะวันออกประกอบด้วยกำแพงและลำคลองที่ไหลไปทางเหนือและใต้ผ่านใจกลางเมืองไปสู่แม่น้ำอี้ ขนาดของเมืองครอบคลุมพื้นที่ 32 ตารางกิโลเมตร ล้อมรอบด้วยคูเมืองและกำแพงดิน ฐานกำแพงเมืองกว้างที่สุด 40 เมตร ส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองเก่าที่มีความสูงถึง 6.8 เมตร ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ เมืองเซี่ยตูมีห้าเขตประกอบด้วยพระราชวัง, โรงปฏิบัติงาน, ย่านที่อยู่อาศัย, สุสาน และแม่น้ำ[5] การขุดค้นได้พบโครงสร้างอันใหญ่โตประกอบด้วยอาคารไม้ที่มีหลังคาเซรามิก, ร้านงานฝีมือ, โรงหล่อเพื่อผลิตสัมฤทธิ์และเหล็ก และโรงกษาปณ์เพื่อผลิตเหรียญสัมฤทธิ์, โรงปฏิบัติงานผลิตวัสดุเซรามิกและอาวุธ[7]
นอกจากนี้ยังพบโครงสร้างสำหรับพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งหลุมที่ใช้สำหรับบูชายัญสัตว์ พบสุสานที่สำคัญในพื้นที่ตอนเหนือของแหล่งขุดค้น ประกอบด้วยสุสานขนาดใหญ่ 13 แห่งที่ตกแต่งด้วยแจกันเซรามิกและของประดับตกแต่งต่าง ๆ พบอาวุธจำนวนมากอยู่ในสุสานบางแห่ง[7] วังและสุสานหลวงก็ตั้งอยู่ในเมืองส่วนทิศตะวันออกเช่นกัน มีการค้นพบสุสานหลวงสองแห่งซึ่งมีการฝังรถศึกและม้า[9] มีการค้นพบที่สำคัญในปี พ.ศ. 2508 คือพบหลุมศพขนาดใหญ่ซึ่งมีอายุในช่วงต้นทศวรรษของปี 200 ก่อนคริสตกาล ภายในกำแพงเมืองเซี่ยตู หลุมศพประกอบด้วยร่างทหารของรัฐเยียนอย่างน้อย 22 นายพร้อมอาวุธ หมวก และอุปกรณ์[4]
เมืองถูกสร้างขึ้นในเทือกเขาไท่หาง ขนาบข้างด้วยแม่น้ำเป่ย์อี้ทางทิศเหนือและแม่น้ำจงอี้ทางทิศใต้ ภูมิประเทศที่ทุรกันดารทำให้ง่ายต่อการป้องกันจากการถูกโจมตี เมืองมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาจากตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ซึ่งได้รับการปกป้องสามด้าน และเปิดโล่งไปทางทิศใต้สู่ที่ราบภาคกลางของจีน[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ George Modelski, World Cities: –3000 to 2000, Washington DC: FAROS 2000, 2003. ISBN 0-9676230-1-4.
- ↑ "Chinese History - The Feudal State of Yan 燕". ChinaKnowledge.de (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2016.
- ↑ "Site of the Second Capital of State of Yan" (ภาษาอังกฤษ). Hebei Government. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2016.
- ↑ 4.0 4.1 Wagner, Donald B. (2012). "4.10. A mass grave of fallen soldiers of the state of Yan". Iron and Steel in Ancient China (ภาษาอังกฤษ). BRILL. pp. 176–182. ISBN 978-9004096325.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 "Site of Yan Xiadu" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2018.
- ↑ "Ancient Yan state city of Xiadu". Wikimapia (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2016.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Roberto Ciarla (1998). Atlante di Archeologia (ภาษาอิตาลี). Torino: Utet. p. 518. ISBN 978-8802050218.
- ↑ 8.0 8.1 Xiadu. Il mondo dell'archeologia (ภาษาอิตาลี). Istituto dell'Enciclopedia Italiana. 2002–2005. OCLC 492851086. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2018.
- ↑ 西周燕都遗址博物馆 [Western Zhou Dynasty Yandu Site Museum] (ภาษาจีน). 北京旅游局. 23 มิถุนายน 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 สิงหาคม 2008.
บรรณานุกรม
[แก้]- Kwang-chih Chang (1986). The Archaeology of Ancient China (ภาษาอังกฤษ) (4 ed.). New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0300037821.
- Kwang-chih Chang (1976). Early Chinese Civilization: Anthropological Perspectives (ภาษาอังกฤษ). Cambridge MA: Harvard University Press. ISBN 978-0674219991.
- Zhong Yuanzhao; Chen Yangzheng; และคณะ (1986). History and Development of Ancient Chinese Architecture. 中国科学院自然科学史研究所 (ภาษาอังกฤษ). Beijing: Science Press. ASIN B0000CQJGQ. S2CID 127848598.
- 杨宽 (2003). 《中国古代都城制度史研究》 (ภาษาจีน). 上海: 上海人民出版社. ISBN 7-208-04003-6.