เจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา
ราซาฟีนันดรีอามานีตรา | |
---|---|
ประสูติ | ค.ศ. 1882 อาณาจักรมาดากัสการ์ |
สิ้นพระชนม์ | 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 แซ็ง-เดอนี เรอูว์นียง |
พระบุตร | เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ |
ราชวงศ์ | ฮูฟา |
พระบิดา | อันดรีอานาลี |
พระมารดา | เจ้าหญิงราเซนดรานูรู |
ศาสนา | โปรเตสแตนต์ |
เจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา (อักษรโรมัน: Razafinandriamanitra; ค.ศ. 1882 – 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1897) เป็นเจ้าหญิงแห่งมาดากัสการ์ เป็นพระราชภาคิไนยของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 และเป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐานของอาณาจักรมาดากัสการ์
พระประวัติ
[แก้]เจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตราประสูติเมื่อ ค.ศ. 1882 เป็นพระธิดาพระองค์เล็กของเจ้าหญิงราเซนดรานูรู (Rasendranoro) พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3[1][2][3] กับพระภัสดาสามัญชนชื่ออันดรีอานาลี (Andrianaly)[4] พระองค์มีพระเชษฐาคือ เจ้าชายรากาตูเมนา (Rakatomena) และพระเชษฐภคินีคือ เจ้าหญิงราซูเฮรีนา (Rasoherina)[5] ครอบครัวของพระองค์ประทับในพระราชวังอันตานานาริโว ตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 พระมาตุจฉา เสวยราชย์[6]
ขณะมีพระชันษาเพียง 14 ปี ก็ทรงครรภ์กับทหารฝรั่งเศสไม่ปรากฏนามนายหนึ่ง[7] กระทั่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1897 หลังระบอบกษัตริย์ของมาดากัสการ์ถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยการปกครองของเจ้าอาณานิคมประเทศฝรั่งเศส เจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา, เจ้าหญิงราเซนดรานูรู พระชนนี และเจ้าหญิงรามาซินดราซานา พระมาตุจฉาของพระชนนี ทรงลี้ภัยออกจากพระราชวังไปประทับร่วมกับสมเด็จพระราชินีนาถ ณ โตมาซีนา (Toamasina)[1] ต่อมาเจ้านายทั้งหมดเสด็จลงเรือ "ลาปีรุส" (La Peyrouse) ลี้ภัยไปเกาะเรอูว์นียง[8] หลังจากนั้นไม่นาน พระองค์ก็มีพระประสูติการพระธิดาคือเจ้าหญิงมารี-หลุยส์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1897
เจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตราสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 จากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการคลอดบุตร หรือหลังการประสูติการพระธิดาได้ห้าวัน[9] พระศพถูกบรรจุที่ป่าช้าในแซ็ง-เดอนี[10] ส่วนเจ้าหญิงมารี-หลุยส์ พระธิดา สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ทรงรับไว้เป็นพระราชธิดาบุญธรรม และเป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐานของมาดากัสการ์คนต่อมา[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Ela, Mpirenireny (27 February 2014). "dadabe saina gasy par "mpirenireny ela": Barrier Marie-France Ranavalo derniére reine de Madagascar Balland 1996".
- ↑ Aldrich, Robert (18 January 2018). Banished Potentates: dethroning and exiling indigenous monarchs under British and French colonial rule, 1815-1955. Oxford University Press. ISBN 9781526135315 – โดยทาง Google Books.
- ↑ Legros, Jean-Claude. "La " Petite fille du Bon Dieu " au cimetière de Saint-Denis (2)". 7 Lames la Mer.
- ↑ "La Revue maritime". Les Grandes éditions francaises. 29 June 1884 – โดยทาง Google Books.
- ↑ Crémazy, Laurent (29 June 1883). "Notes sur Madagascar". Berger-Levrault et Cie – โดยทาง Google Books.
- ↑ Maisons royales, demeures des grands à Madagascar. KARTHALA Editions. 1 January 2005. ISBN 9782811138578 – โดยทาง Google Books.
- ↑ Barrier 1996, p. 260.
- ↑ Mahetsaka, Par (20 January 2010). "Madagascar: Rapatriement des restes mortels royaux - Les noms des quatre princesses connus". fr.allafrica.com. สืบค้นเมื่อ 2019-06-29.
- ↑ Aldrich, Robert (18 January 2018). Banished Potentates: dethroning and exiling indigenous monarchs under British and French colonial rule, 1815-1955. Oxford University Press. ISBN 9781526135315 – โดยทาง Google Books.
- ↑ "La " Petite fille du Bon Dieu " au cimetière de Saint-Denis (2)". Montray Kréyol. 15 April 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-25. สืบค้นเมื่อ 2021-01-06.
- ↑ Barrier 1996, pp. 260–266.