เจ้าหญิงราเซนดรานูรู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราเซนดรานูรู
ประสูติค.ศ. 1860
อาณาจักรมาดากัสการ์
สิ้นพระชนม์9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901
แอลเจียร์ แอลจีเรียของฝรั่งเศส
พระสวามีอาดรีอานาลี
พระบุตรเจ้าชายรากาตูเมนา
เจ้าหญิงราซูเฮรีนา
เจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา
ราชวงศ์ฮูฟา
พระบิดาอันดรีอันซีมีอานาตรา
พระมารดาเจ้าหญิงราเกตากา

เจ้าหญิงราเซนดรานูรู (อักษรโรมัน: Rasendranoro; ค.ศ. 1860 – 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901) เป็นเจ้าหญิงแห่งมาดากัสการ์ เป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของมาดากัสการ์ หลังจากมาดากัสการ์ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส พระองค์เสด็จลี้ภัยในดินแดนของฝรั่งเศส และดำรงพระชนม์ในบั้นปลาย ณ อาณานิคมแอลจีเรียของฝรั่งเศส

พระประวัติ[แก้]

เจ้าหญิงราเซนดรานูรู เป็นพระธิดาพระองค์หนึ่งจากทั้งหมดเก้าพระองค์ของเจ้าหญิงราเกตากา (Raketaka) กับพระภัสดานามอันดรีอันซีมีอานาตรา (Andriantsimianatra) ซึ่งเป็นพระประยูรญาติ[1] พระชนนีเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวที่ยังทรงพระชนม์ของพระเจ้าราดามาที่ 1[2] เจ้าหญิงราเซนดรานูรูเป็นพระเชษฐภคินีของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3[3] หลังพระขนิษฐภคินีเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เจ้าหญิงราเซนดรานูรูจึงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักภายในพระราชวังอันตานานาริโว[4]

เจ้าหญิงราเซนดรานูรูเสกสมรสกับอันดรีอานาลี (Andrianaly) ซึ่งเป็นชายผู้ดี ใน ค.ศ. 1881[5] ประสูติการพระบุตรสามพระองค์คือ เจ้าชายรากาตูเมนา (Rakatomena), เจ้าหญิงราซูเฮรีนา (Rasoherina) และเจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา (Razafinandriamanitra)[6]

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1897 หลังระบอบกษัตริย์ของมาดากัสการ์ถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยการปกครองของเจ้าอาณานิคมประเทศฝรั่งเศส เจ้าหญิงราเซนดรานูรู พร้อมด้วยเจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา พระธิดา และเจ้าหญิงรามาซินดราซานา พระมาตุจฉา ทรงลี้ภัยออกจากพระราชวังไปประทับร่วมกับสมเด็จพระราชินีนาถ ณ โตมาซีนา (Toamasina)[3] ต่อมาเจ้านายทั้งหมดเสด็จลงเรือ "ลาปีรุส" (La Peyrouse) ลี้ภัยไปเกาะเรอูว์นียง[7] เมื่อประทับอยู่โรงแรมยุโรป (Hotel de l'Europe) ในแซ็ง-เดอนีได้ไม่นานนัก เจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา พระธิดา ก็มีพระประสูติการ และสิ้นพระชนม์ลงจากพระอาการแทรกซ้อนหลังจากนั้นไม่กี่วัน[8] หนึ่งเดือนต่อมาได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถและพระราชวงศ์ ไปประทับ ณ เรือนของมาดามเดอวีลเลนทรัว (Madame de Villentroy) ใกล้สถานที่ราชการของฝรั่งเศส พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพที่นั่นได้สองปี ก็ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสส่งไปประทับที่เมืองมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศส และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน สมเด็จพระราชินีนาถและเหล่าพระราชวงศ์ก็ถูกส่งไปประทับในวิลลาในเมืองแอลเจียร์ แอลจีเรียของฝรั่งเศส[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. Le dictionnaire universel des créatrices. Didier, Béatrice, 1935-, Fouque, Antoinette, 1936-2014, Calle-Gruber, Mireille, 1945-. Paris: Des femmes-A. Fouque. 2013. ISBN 978-2-7210-0651-6. OCLC 1033526247.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  2. "Madagascar: Les sillons du passé - Raketaka la discrète meurt en 1866".{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 Ela, Mpirenireny (27 February 2014). "dadabe saina gasy par "mpirenireny ela": Barrier Marie-France Ranavalo derniére reine de Madagascar Balland 1996".
  4. Maisons royales, demeures des grands à Madagascar. KARTHALA Editions. 1 January 2005. ISBN 9782811138578 – โดยทาง Google Books.
  5. "La Revue maritime". Les Grandes éditions francaises. 29 June 1884 – โดยทาง Google Books.
  6. Crémazy, Laurent (29 June 1883). "Notes sur Madagascar". Berger-Levrault et Cie – โดยทาง Google Books.
  7. Mahetsaka, Par (20 January 2010). "Madagascar: Rapatriement des restes mortels royaux - Les noms des quatre princesses connus". fr.allafrica.com. สืบค้นเมื่อ 2019-06-29.
  8. Aldrich, Robert (18 January 2018). Banished Potentates: dethroning and exiling indigenous monarchs under British and French colonial rule, 1815-1955. Oxford University Press. ISBN 9781526135315 – โดยทาง Google Books.
  9. Barrier 1996, pp. 269–271.