เจิง กั๋วฟาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจิง กั๋วฟาน
อี้หย่งโหฺวขั้นหนึ่ง
เจิง กั๋วฟาน
อุปราชจื๋อลี่
ดำรงตำแหน่ง
1868–1870
ก่อนหน้ากวนเหวิน
ถัดไปหลี่ หงจาง
อุปราชเหลี่ยงเจียง
ดำรงตำแหน่ง
1860–1864
ก่อนหน้าHe Guiqing
ถัดไปMa Xinyi
ดำรงตำแหน่ง
1870–1872
ก่อนหน้าMa Xinyi
ถัดไปHe Jing
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1811(1811-11-26)
เซียงเซียง, หูหนาน, จักรวรรดิชิง
เสียชีวิต12 มีนาคม ค.ศ. 1872(1872-03-12) (60 ปี)
ปักกิ่ง, ราชวงศ์ชิง
การศึกษาJinshi degree in the Imperial Examination
อาชีพรัฐบุรุษทั่วไป
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ราชวงศ์ชิง
สังกัดทัพเซียง
ประจำการ1853–1872
ผ่านศึกกบฏเมืองแมนแดนสันติ
กบฎเหนียน
การสังหารหมู่เทียนจิน

เจิง กั๋วฟาน (จีน: 曾國藩; พินอิน: Zēng Guófān; 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1811 – 12 มีนาคม ค.ศ. 1872) ชื่อเกิดว่า เจิง จื่อเฉิง (曾子城) ชื่อรองว่า ปั๋วหาน (伯涵) และบรรดาศักดิ์ว่า อี้หย่งโหฺวขั้นหนึ่ง (一等毅勇侯) เป็นชาวจีนสมัยปลายราชวงศ์ชิง เป็นรัฐบุรุษ นายทหาร และปรัชญาเมธีลัทธิขงจื๊อ มีชื่อเสียงจากการจัดตั้งและวางระเบียบทัพเซียง (湘軍) ซึ่งช่วยกองทัพราชวงศ์ชิงในการปราบขบวนการเมืองแมนแดนสันติ (太平天國運動) และรื้อฟื้นความเป็นปึกแผ่นของราชวงศ์ เขายังมีส่วนในการวางรูปแบบการปฏิรูปถงจื้อ (同治中興) พร้อมด้วยคนสำคัญอีกสองคน คือ จั่ว จงถัง (左宗棠) และหลี่ หงจาง (李鴻章) เพื่อยับยั้งความล่มจมของราชวงศ์[1] นอกจากนี้ เขาเป็นที่รู้จักเพราะวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ ความสามารถในการปกครอง และบุคลิกภาพอันสูงศักดิ์ตามหลักปฏิบัติขงจื๊อ แต่ก็มีความโหดร้ายรุนแรงต่อกบฏที่ปราบได้ เขายังเป็นตัวอย่างของผู้ซื่อสัตย์ภักดีในยุคสมัยอลหม่าน แต่ก็มีผู้มองเขาเป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิขุนศึก

ต้นชีวิต[แก้]

เขาเกิด ณ เซียงเซียง (湘乡) ในหูหนาน (湖南) เป็นบุตรของเจิง หลินชู (曾麟書) สืบเชื้อสายมาจากเจิงจื่อ (曾子) ปรัชญาเมธีขงจื๊อ เขาศึกษา ณ วิทยาลัยเยฺว่ลู่ (嶽麓書院) ในฉางชา (长沙) สอบขุนนางระดับเมืองผ่านใน ค.ศ. 1833 และสอบขุนนางระดับมณฑลผ่านในปีถัดมา ครั้น ค.ศ. 1838 เขาอายุได้ 27 ก็สอบขุนนางระดับชาติผ่าน ได้เป็นราชบัณฑิตชั้นจิ้นชื่อ (進士) จึงได้รับแต่งตั้งไปสถาบันฮั่นหลิน (翰林院) เพื่อทำหน้าที่ทางอักษร[2] เมื่อเข้าสถาบันฮั่นหลินแล้ว เขาเปลี่ยนชื่อตัวจาก "จื่อเฉิง" (子城) เป็น "กั๋วฟาน" (國藩) เพื่อให้ดูอลังการขึ้น และปฏิบัติราชการอยู่ในนครหลวงเป่ย์จิง (北京) เป็นเวลากว่า 13 ปี หน้าที่ส่วนใหญ่เป็นการตีความวรรณกรรมคลาสสิกของจื๊อ เขาได้รับเลื่อนขั้นเร็วมากเพราะความอนุเคราะห์ของอาจารย์ คือ มู่จางอา (穆彰阿) ภายในห้าปีก็มีตำแหน่งสูงถึงขั้นสอง

การเข้าสู่การเมือง[แก้]

ใน ค.ศ. 1843 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจข้อสอบมณฑลซื่อชวน (四川鄉試正考官) หกปีให้หลัง เขาได้เป็นรองเจ้ากรมพิธี (禮部侍郎) ต่อมาใน ค.ศ. 1851 มารดาของเขาเสียชีวิต เขาจึงต้องกลับหูหนานไปปลงศพสามปี ขณะนั้น ขบวนการเมืองแมนแดนสันติ (太平天國運動) ก่อการกำเริบทั่วหูหนาน สามารถยึดครองเมืองตลอดสองฝั่งฉางเจียง (長江) จึงมีราชโองการพิเศษให้เขาไปช่วยผู้ดำรงตำแหน่งสฺวินฝู่ (巡撫) แห่งหูหนานในการรวบรวมกำลังต่อต้านกบฏ เขาริเริ่มจัดตั้งทัพเรือและทัพปืนใหญ่เพื่อใช้ปราบกบฏ กองกำลังของเขาภายหลังได้ชื่อว่า "ทัพเซียง"[3] ในการควบคุมทัพเซียง เขาใช้นโยบาย "ผูกพันฉันครอบครัว รับผิดชอบเป็นรายคน ใช้วินัยยืดหยุ่นแต่ต้องรู้จักรับผิดชอบ เพิ่มเบี้ยหวัดทหาร เคารพซึ่งกันและกันในกองทัพ สร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งในไพร่พล"[4]

เมื่อปะทะกันครั้งแรก ตัวเขาเองไม่อาจเอาชนะกลุ่มกบฏได้ แต่ผู้บังคับบัญชารองจากเขาทำหน้าที่ได้สำเร็จลุล่วงดีกว่าเขา เพราะสามารถยึดฉางชา เมืองหลวงของหูหนาน คืนได้ ทั้งยังทำลายทัพเรือกบฏป่นปี้[5] หลังจากผู้ใต้บัญชาประสบชัยชนะดังกล่าวแล้ว เขาจึงสามารถยึดเมืองอู่ชาง (武昌) และฮั่นหยาง (漢陽) คืนจากกบฏ เขาได้รับปูนบำเหน็จเป็นรองเจ้ากรมยุทธ์ (兵部侍郎)[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Franklin Ng (1995). The Asian American encyclopedia, Volume 5. Marshall Cavendish. p. 1457. ISBN 1-85435-684-4.
  2. William Joseph Haas (1996). China voyager: Gist Gee's life in Science. M.E. Sharpe. p. 59. ISBN 1-56324-675-9.
  3. John King Fairbank, Merle Goldman (2006). China: a new history (2nd ed.). Harvard University Press. p. 212. ISBN 0-674-01828-1.
  4. Maochun Yu, The Taiping Rebellion: A Military Assessment of Revolution and Counterrevolution, in A Military History of China 149 (David A. Graff & Robin Higham eds., 2002)
  5. David Hartill (2005). Cast Chinese Coins. Trafford Publishing. p. 425. ISBN 1-4120-5466-4.
  6. Pamela Kyle Crossley (1991). Orphan warriors: three Manchu generations and the end of the Qing world (reprint, illustrated ed.). Princeton University Press. p. 125. ISBN 0-691-00877-9.