เกรตริฟต์แวลลีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แนวหุบเขาทรุดถ่ายจากดาวเทียม

เกรตริฟต์แวลลีย์ (อังกฤษ: Great Rift Valley) คือหุบเขารอยเลื่อนขนาดใหญ่ เป็นรอยแยกยาวต่อเนื่องขนาดยาวที่สุดในโลก ขนาดความกว้างประมาณ 30-100 กิโลเมตร เป็นหน้าผาดิ่งจากที่ราบสูงรอบ ๆ ลึกกว่า 450-800 เมตร พาดผ่าน 19 ประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ เรียงกันได้ดังนี้ เริ่มต้นจากประเทศซีเรีย เลบานอน อิสราเอล จอร์แดน เวสต์แบงก์ (ปาเลสไตน์) ผ่านเข้าสู่ทะเลแดง เลียบชายฝั่งอียิปต์และซูดาน ก่อนจะเข้าสู่เอริเทรีย เอธิโอเปีย เคนยา ยูกันดา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซาอีร์เดิม) รวันดา บุรุนดี แทนซาเนีย แซมเบีย มาลาวี และสิ้นสุดในโมซัมบิก รวมความยาวที่พาดผ่านตั้งแต่เหนือจรดใต้ ประมาณ 6,750 กิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 เท่าของเส้นรอบวงโลก (เส้นศูนย์สูตร) โดยที่ขอบด้านข้างของหุบเขาทรุดสูงมากกว่า 2,000 เมตร หุบเขาทรุดเกิดจากการที่แผนเปลือกโลก 2 แผ่นแยกออกจากกัน คือ แผ่นเปลือกโลกที่รองรับคาบสมุทรอาหรับและแอฟริกาตะวันออก กับแผ่นเปลือกโลกที่รอบรับทวีปแอฟริกาทั้งทวีป ซึ่งค่อย ๆ แยกตัวออกจากกันอย่างสม่ำเสมอทำให้เกิดแนวทรุดตัวเป็นแนวยาว เกิดที่ที่ราบทรุดตัวแม่น้ำ ร่องธารลึก และภายในยุคหน้าน้ำทะเลจะท่วมเข้ามาจนกระทั่งตัดทวีปแอฟริกาขาดออกจากกัน

ลักษณะภูมิศาสตร์[แก้]

บริเวณหุบเขาทรุดตลอดแนวขอบจะเป็นที่สูง ตั้งแนวเขา ที่ราบสูง ภูเขาสูง และภูเขาไฟ

  • แนวทรุดตอนตอนบน เริ่มต้นที่ทางใต้ของประเทศซีเรียเกิดเป็นหุบเขาที่อยู่ระหว่างแม่น้ำจอร์แดนพาดผ่านมาทางใต้มาบริเวณแอ่งที่ลึกมากที่สุดและเป็นบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมากที่สุดในโลก นั่นคือที่ราบบริเวณทะเลเดดซี
  • แนวทรุดตอนกลาง เป็นแนวทรุดที่จมดิ่งอยู่ใต้ทะเลแดง ทรุดลึกจนกลายเป็นทะเลแดงแยกทวีปแอฟริกาออกจากคาบสมุทรอาหรับ
  • แนวทรุดตอนล่าง เริ่มต้นตอนเหนือของประเทศเอธิโอเปีย บริเวณตอนกลางเป็นที่ราบสูงเอธิโอเปียและเป็นบริเวณที่มีรอยแตกสองร่องก่อนจะแยกจากกัน แนวด้านตะวันออก ที่ไปทางใต้เข้าสู่เคนยาและแทนซาเนีย ส่วนแนวตะวันตก จะพาดผ่านเข้าไปทางวันตกเฉียงใต้ผ่านเข้าสู่ยูกันดา รวันดา บูรุนดี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซาอีร์เดิม) แล้วมารวมกันอีกครั้งบริเวณทะเลสาบมาลาวี